ตอนที่1 เกริ่นนำยุทธศาสตร์การพัฒนา




 

ตอนที่ 1  เกริ่นนำ

     เป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่ายุทธศาสตร์การพัฒนานั้นมีทฤษฎีและเนื้อหากว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมจักรวาล สามารถจับจุดเด่นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาได้ทั้งสิ้น แต่ความกว้างใหญ่ก็เหมือนดาบสองคม ที่ทำให้มองไม่เห็นความเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนหรือเห็นเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันอีกประการหนึ่ง ยุทธศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับการจัดการมาก คนส่วนใหญ่จึงเหมารวมยุทธศาสตร์เป็นการจัดการ ความสำคัญของยุทธศาสตร์จึงเลือนลางไป

  ผู้ที่เรียนจบยุทธศาสตร์การพัฒนา อาจตกงานเพราะหลายหน่วยงานไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนไม่ประกาศรับผู้จบสาขานี้ บางหน่วยงานไม่รู้ว่ามีผู้จบสาขานี้และบางหน่วยงานก็ไม่รู้ว่าจะรับมาทำงานอะไร ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนาองคาพยพของสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาให้รู้ว่ามี เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น

  หลักสูตรสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับดุษฎีบัณฑิต เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร โดยทีมงานของ ศ.ดร.เฉลียว ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแม่ของสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา มีผู้สำเร็จการศึกษาหลายสิบคน และได้นำความรู้ไปพัฒนางานของตนเองให้มีความก้าวหน้า หลายท่านได้จัดการเรียนการสอนวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาที่สถาบันของตน หรือที่ต่าง ๆ ศิษย์ทุกท่านมีความรู้ความสามรถในระดับมาตรฐาน เชื่อว่ายุทธศาสตร์พัฒนาในแง่มุมต่าง ๆ ย่อมผุดขึ้นมาในความคิดคำนึงอย่างมากมายไม่หยุดหย่อน ทุกอย่างล้วนมีค่าที่จะนำเสนอต่อนักยุทธศาสตร์ผู้อื่นและผู้สนใจ เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้และรู้จักคำว่า “ ยุทธศาสตร์ ” มองเห็น “ ความเป็นยุทธศาสตร์ ” ในแง่มุมเหล่านั้นเพื่อให้การพัฒนาสารพัดอย่างตั้งแต่งานเล็ก ๆ ไปจนถึงงานใหญ่ระดับจักรวาล ดำเนินไปอย่างถูกทางมีหลักการ เข้ารูปเข้ารอย และไม่แกว่งเลื้อยไหลไปมา

  การเงียบหายของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดูคล้ายคลื่นลูกใหญ่จากทะเลซัดเข้ามาฝั่งแล้วกลืนหายไป ถึงแม้ชะเง้อรอดูคลื่นลูกต่อไป ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาควรเป็นต้นกล้วยที่แตกหน่อแตกกอขยายใหญ่อย่างรวดเร็วแล้วออกปลีออกผลร้อยหวีให้สังคมได้ลิ้มรส ก่อให้เกิดประโยชน์และเห็นคุณค่า

  ยุทธศาสตร์เกิดขึ้นและอยู่รอบตัวของมนุษย์ทุกคนแต่ขาดการใช้สติปัญญาไตร่ตรองและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขอกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อ “ เถ้าแก่น้อย ” เนื้อเรื่องบรรยายถึงชีวิตการต่อสู้ในการผลิตสาหร่ายทอดเพื่อส่งขายตลาด มีจุดเด่นที่หน้าสนใจของเรื่อง 3 จุดคือ

  จุดที่ 1 การทอดสาหร่ายให้อร่อย เนื้อเรื่องชี้ให้เห็นว่าทุกครั้งที่ทอดสาหร่ายจะไหม้ ขม กินแล้วต้องคายทิ้ง พยายามเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จหมดสาหร่ายไปมากมาย จนคนทอดล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล บังเอิญมีซองสาหร่ายตกอยู่ข้างเตา หนึ่งซอง หลังคารั่วฝนตกลงมาเปียกทั้งถุง ผู้เป็นเถ้าแก่น้อยก็นำมาทอด ปรากฏว่าทอดออกมาแล้วกินได้อร่อย เป็นการค้นพบวิธีทอดสาหร่ายโดยบังเอิญ ผลที่ได้คือทอดสาหร่ายขายทำเงินได้มากมาย

  จุดที่ 2 สาหร่ายที่อยู่ในถุงเหม็นหืนเก็บไว้ได้ไม่นาน เถ้าแก่น้อยไปขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการ นักวิชาการก็ให้ความเมตตา โดยให้ดูดอากาศเอาออกซิเจนออก เพราะออกซิเจนทำปฏิกิริยากับน้ำมันที่ใช้ทอด ทำให้สาหร่ายเหม็นหืน แต่พอดูดอากาศออก ถุงจะแบนอากาศภายนอกกดทับทำให้สาหร่ายที่กรอบเป็นแผ่นแตกละเอียด จึงต้องอัดก๊าซไนโตรเจนเข้าไปแทน ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี

  จุดที่ 3 การขายสาหร่ายระยะแรกขายเอง จึงขายได้น้อยและต้องการทำยอดขายให้มากขึ้น จึงนำไปเสนอให้7-Eleven ขายให้

  สุดท้ายจุดแถม การสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าของ 7-Eleven ด้วยการสร้างเงื่อนไขในการผลิตของผู้ค้าส่ง ต้องมีโรงงานมาตรฐาน การบรรจุหีบห่อ ความสะอาด ถูกหลักอนามัย ส่งสินค้าได้ตรงเวลาตามปริมาณที่กำหนด

  เนื้อเรื่องตอนจบสรุปให้รู้ว่าปัจจุบัน เถ้าแก่น้อยประสบความสำเร็จทำยอดขายได้สูงมาก (เป็นร้อยล้าน) มีคนงานจำนวนมาก (เป็นพันคน)  และทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ

  นักยุทธศาสตร์พัฒนาดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วรู้ว่า มียุทธศาสตร์ในเรื่องมากมาย และที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ 3+แถม คือ

จุดที่ 1 ยุทธศาสตร์การทอดสาหร่ายให้อร่อย

จุดที่ 2 ยุทธศาสตร์การเก็บสาหร่ายทอดในถุงไม่ให้เหม็นหืน

จุดที่ 3 ยุทธศาสตร์การเพิ่มยอดขาย
จุดแถม ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าของ 7-
Eleven

  ที่ยกตัวอย่างมานี้ ไม่มีใครกล่าวถึง “ ยุทธศาสตร์ ” เลยแม้แต่คำเดียวไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ สื่อสารมวลชน หรือแม้แต่นักวิชาการ จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คนทั่วไปขาดโอกาสที่จะรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับยุทธศาสตร์

  ลองมาดูภาพยนตร์ต่างประเทศบ้าง เรื่อง “ Ironman 3 ” พระเอกสร้างเกราะเหล็ก เป็นชิ้น ๆ และเรียกให้มาประกอบหุ้มร่างตัวเองกลายเป็นชุดเกราะที่มีความสามารถสูงในการต่อสู้กับศัตรู ในตอนจบ พระเอกต่อสู้กับผู้ร้ายที่มีพลังความร้อนสูง พระเอกเรียกชุดเกราะมาสวมให้ตนเอง แล้วต่อสู้กับผู้ร้ายแต่ถูกผู้ร้ายใช้พลังความร้อนทำลายชุดเกราะจนเสียหาย ตัวเองต้องรีบออกจากเกราะเกือบตาย จึงเรียกชุดเกราะมาสวมอีกหลายชุด ก็ถูกผู้ร้ายทำลายเสียหายเหมือนเดิมทุกชุด เหลือเกราะชุดสุดท้าย แทนที่พระเอกจะสั่งให้เกราะมาสวมที่ตนเองเหมือนเกราะชุดก่อน กลับสั่งให้เกราะไปสวมที่ตัวผู้ร้ายแล้วสั่งให้ระเบิดทำลายตนเองจึงเอาชนะผู้ร้ายได้  

  นักยุทธศาสตร์การพัฒนาจะมองเห็นได้ว่าการเปลี่ยนความคิดจากที่เคยกระทำแบบเดิมเป็นการกระทำที่ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ย่อมก่อให้เกิดยุทธศาสตร์ ที่สำคัญเพื่อส่งผลต่อความสำเร็จ กรณีของพระเอกไอร่อนแมนสาม เรียกเกราะมาสวมให้ตนเอง เพื่อใช้ต่อสู้แล้วแพ้ทุกครั้ง ได้เปลี่ยนความคิดให้เกราะไปสวมที่ผู้ร้ายแล้วสั่งให้เกราะระเบิดทำลายตัวเอง จึงประสบความสำเร็จ  สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สอนให้เรารู้จักยุทธศาสตร์และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไปได้

  น่าเสียดายที่เราไม่ได้คุย “ ยุทธศาสตร์ ” กับเด็ก ๆและผู้ ที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้

เราจะคุยกันถึงเรื่อง “ ยุทธศาสตร์การพัฒนา ” ต่อไปอีกนานและมากเรื่องขอให้ช่วยกัน นักยุทธศาสตร์พัฒนาทุกคนโดยตั้งศูนย์รวมที่ โครงการผนึกกำลังการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอก  หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา  มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร หรือติดต่อโดยตรงที่ ดร.เตชิต ตรีชัย โทร. 089-409-4488 E-mail [email protected]

 


หมายเลขบันทึก: 535639เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2013 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2013 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท