Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การจำแนกประเภทของสิทธิในสัญชาติไทยของรัฐไทย


บทวิเคราะห์แนวคิดของรัฐไทยในการจัดการสิทธิในสัญชาติของมนุษย์ : ข้อกฎหมาย ข้อนโยบาย และความเป็นไปได้ในการป้องกันและเยียวยาปัญหาความไร้สัญชาติหรือปัญหาความหลายสัญชาติที่เกิดขึ้น โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖

๑.สัญชาติไทยโดยการเกิดและสัญชาติไทยภายหลังการเกิด ?

นักกฎหมายสัญชาติไทยมักจะจำแนกประเภทสัญชาติโดยจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเจ้าของสัญชาติ อันทำให้การจำแนกสัญชาติภายใต้แนวคิดนี้จึงมี ๒ ลักษณะย่อย กล่าวคือ (๑) สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด และ (๒) สิทธิในสัญชาติไทยภายหลังการเกิด

โดยทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐที่มีเหนือดินแดนและบุคคลที่เป็นประชากร  เราจึงสังเกตว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีจุดเกาะเกี่ยว “ตั้งแต่การเกิดกับรัฐ ๓ จุด กล่าวคือ (๑) เมื่อมนุษย์ทุกคนย่อมเกิดบนดินแดนของรัฐ มนุษย์ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับรัฐเจ้าของดินแดน (๒) เมื่อมนุษย์ทุกคนย่อมเกิดจากมารดา มนุษย์ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมารดา ซึ่งอาจหมายถึงรัฐเจ้าของสัญชาติหรือภูมิลำเนาของมารดา และ (๓) เมื่อมนุษย์ทุกคนย่อมเกิดจากบิดา มนุษย์ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบิดา ซึ่งอาจหมายถึงรัฐเจ้าของสัญชาติหรือภูมิลำเนาของบิดา เราพบต่อไปว่า กฎหมายสัญชาติของนานารัฐใช้จุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดนี้เป็นข้อเท็จจริงในการให้สัญชาติแก่มนุษย์ ดังนั้น สัญชาติที่มาจากจุดเกาะเกี่ยวทั้งสามคนจึงได้รับการรับรองในสถานะสัญชาติโดยการเกิด

โดยผ่านทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐที่มีเหนือดินแดนและบุคคลที่เป็นประชากรเช่นกัน  เราจึงสังเกตว่า มนุษย์ทุกคนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ “ภายหลัง” การเกิด ๒ จุด กล่าวคือ (๑) เมื่อมนุษย์ทุกคนย่อมมีครอบครัว และคนในครอบครัวได้สัญชาติภายหลังการเกิดของรัฐใดหรืออพยพไปมีภูมิลำเนาบนดินแดนของรัฐใด ความเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐกับมนุษย์ย่อมเกิดขึ้นภายหลังการเกิดได้ด้วย และจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิดในหลายลักษณะจากสถานการณ์นี้ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติของรัฐที่เพิ่งเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด สัมพันธภาพภายหลังการเกิดระหว่างรัฐและมนุษย์ในสถานการณ์นี้เป็นไปภายใต้หลักบุคคลหรือบางตรกูลความคิด เรียกว่า “หลักความสัมพันธ์ผ่านครอบครัว” สัญชาติโดยการสมรสหรือสัญชาติโดยการแปลงสัญชาติของบุตรของคนสัญชาติโดยการแปลงสัญชาติเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดในทิศทางนี้ และนอกจากนั้น  (๒) เมื่อมนุษย์ทุกคนอาจมีโอกาสแสดงความจงรักภักดีต่อแผ่นดินของรัฐต่างประเทศหรืออพยพเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกับรัฐต่างประเทศ  ความเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐกับมนุษย์ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ย่อมเกิดขึ้นภายหลังการเกิดเช่นกัน และจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิดในหลายลักษณะจากสถานการณ์นี้ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติของรัฐที่เพิ่งเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด สัมพันธภาพภายหลังการเกิดระหว่างรัฐและมนุษย์ในสถานการณ์นี้เป็นไปภายใต้หลักดินแดนหรือบางตระกูลความคิด เรียกว่า “หลักจงรักภักดีต่อดินแดน” ตัวอย่างของสัญชาติที่มาจากแนวคิดในทิศทางนี้ ก็คือ สัญชาติโดยการแปลงสัญชาติของคนที่ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินของรัฐ หรือสัญชาติโดยการแปลงสัญชาติเพราะอาศัยอยู่จนกลมกลืนกับรัฐเจ้าของสัญชาติ

๒.  สัญชาติไทยโดยผลของอัตโนมัติของกฎหมาย และสัญชาติไทยโดยผลของคำสั่งของฝ่ายบริหารของรัฐ

นอกจากนั้น นักกฎหมายสัญชาติไทยมักจะจำแนกประเภทสัญชาติโดยความสามารถที่จะใช้สิทธิในสัญชาติ อันทำให้การจำแนกสัญชาติภายใต้แนวคิดนี้จึงมี ๒ ลักษณะย่อย กล่าวคือ (๑) สิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย และ (๒) สิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของคำสั่งของฝ่ายบริหารของรัฐ

โดยทั่วไป สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจะมีลักษณะเป็นสัญชาติโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ในขณะที่สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนนั้น อาจมีทั้งที่เป็นไปโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย และโดยผลของคำสั่งของฝ่ายบริหารของรัฐ ในส่วนของสิทธิในสัญชาติไทยภายหลังการเกิดนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติโดยผลของคำสั่งของฝ่ายบริหารของรัฐ ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสถานการณ์พิเศษในอดีตเท่านั้นที่สัญชาติไทยภายหลังการเกิดมีลักษณะเป็นสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย

ตัวอย่างที่ดีของสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ก็คือ กรณีสิทธิในสัญชาติไทยของนายยุทธนา ผ่ามวัน หรือกรณีสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวฟองจันทร์ สุขเสน่ห์

สำหรับกรณีศึกษานายยุทธนา ผ่ามวัน[1]นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘ที่โรงพยาบาลอุดรธานี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จากบิดาและมารดาเชื้อสายเวียดนามที่เกิดในประเทศไทย เขาก็ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๗ (๓) แห่ง มาตรา ๗ (๓) และมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมายให้แก่มนุษย์ที่มีข้อเท็จจริง ๓ ประการดังต่อไปนี้ (๑) เป็นคนที่เกิดในประเทศไทยในระหว่างช่วงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บทบัญญัติข้างต้นมีผล[2] แต่ในกรณีของนายยุทธนานั้น เขาเกิดเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘ จึงเกิดในช่วงเวลานี้ (๒) บิดาและมารดามิใช่คนต่างด้าวที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร[3] แต่ในกรณีของนายยุทธนานั้น บิดาและมารดาของเขามีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ดังนั้น แม้บิดาและมารดาของนายยุทธนาจะเป็นคนต่างด้าว แต่เป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย จึงมิใช่คนเข้าเมือง และ (๓) บิดาและมารดามิใช่คนต่างด้าวที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีนี้ ก็ปรากฏชัดเจนว่า แม้บิดาและมารดาของนายยุทธนาเป็นคนต่างด้าว แต่ก็มิใช่บุคคลที่มีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อวิเคราะห์แล้วว่า นายยุทธนามีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายสัญชาติไทยที่มีผลกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของนายยุทธนา เขาจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ดังนั้น การที่อำเภอสว่างแดนดินบันทึกรายการสถานะบุคคลของเขาในทะเบียนราษฎรตั้งแต่เวลาที่เขาเกิดจนถึง พ.ศ.๒๕๔๗ ในสถานะคนสัญชาติเวียตนาม จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อกฎหมาย และมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิในสัญชาติไทยของเขา และเมื่อปรากฏต่อมาว่า เขาและบุพการีชั้นบิดามารดา ตลอดจนปู่ย่าตายาย ก็ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติเวียดนามโดยรัฐเวียดนามซึ่งเป็นเจ้าของสัญชาติเวียด การกระทำของอำเภอสว่างแดนดินก็ย่อมมีผลทำให้นายยุทธนาตกเป็นคนไร้สัญชาติ การกระทำดังกล่าวจึงมีผลทำให้รัฐไทยมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการจัดการสิทธิในสัญชาติของมนุษย์ที่ผูกพันมาตั้งแต่การยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Right or UDHR) ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights or ICCPR) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙

สำหรับกรณีศึกษานางสาวฟองจันทร์ สุขเสน่ห์[4]นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงได้ว่า เธอเกิดที่โรงพยาบาลแม็คคอร์มิค ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ จากบิดาสัญชาติและมารดาซึ่งมีสัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีลักษณะการเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย แต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว ขอให้ตระหนักว่า ทั้งนายยุทธนาและนางสาวฟองจันทร์ต่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยชุดเดียวกัน กล่าวคือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

โดยผลของกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยชุดดังกล่าว เธอก็ย่อมมีเพียงสิทธิที่จะร้องขอใช้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดตามข้อ ๒ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ นั่นหมายความว่า เธอไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา ๗ (๓) แห่ง มาตรา ๗ (๓) ดังเช่นนายยุทธนา มาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ทั้งนี้เพราะว่า เธอไม่มีข้อเท็จจริง ๓ ประการครบตามบทบัญญัติที่รับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย กล่าวคือ (๑) แม้เธอจะเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ อันเป็นช่วงระหว่างวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ จนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บทบัญญัติข้างต้นมีผล  (๒) บิดาและมารดาของนางสาวฟองจันทร์เป็นคนต่างด้าวสัญชาติอเมริกันซึ่งทั้งสองมีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร และ (๓) แม้บิดาและมารดาต่างด้าวของนางสาวฟองจันทร์จะมิใช่บุคคลที่มีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วว่า นางสาวฟองจันทร์ไม่มีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายสัญชาติไทยที่มีผลกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายดังเช่นที่นายยุทธนามี ดังนั้น การที่เทศบาลเมืองเชียงใหม่บันทึกรายการสถานะบุคคลของเธอในสูติบัตรตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในเวลาที่เธอเกิดในสถานะคนสัญชาติอเมริกัน มิใช่คนสัญชาติไทย จึงเป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้การกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อการใช้สิทธิในสัญชาติไทยของเธอ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า กงสุลอเมริกันรับรองสถานะคนสัญชาติอเมริกันให้แก่ฟองจันทร์ และใน พ.ศ.๒๕๔๗ เมื่อฟองจันทร์ร้องขอให้เขตจตุจักรบันทึกเธอในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขตนี้จึงบันทึกรายการสถานะบุคคลของเธอในสถานะคนต่างด้าวสัญชาติอเมริกันที่มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว การกระทำดังกล่าวจึงใม่มีผลทำให้รัฐไทยมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการจัดการสิทธิในสัญชาติของมนุษย์ที่ผูกพันมาตั้งแต่การยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Right or UDHR) ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights or ICCPR) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ แม้ฟองจันทร์จะเกิดในประเทศไทย แต่เธอไม่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติ เธอมีประเทศสหรัฐอเมริกันเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ ประเทศไทยย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่ฟองจันทร์

แต่อย่างไรก็ตาม ฟองจันทร์ก็ยังเป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของกฎหมายสัญชาติพิเศษ กล่าวคือ มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไม่ยอมรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดให้แก่เธอ แม้จะเธอจะร้องขอ แต่เมื่อมีการประกาศใช้มาตรา ๒๓ นี้ ฟองจันทร์ก็มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของกฎหมายในวันที่มาตรา ๒๓ มีผลบังคับ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

ในท้ายที่สุดของการทบทวนแนวคิดของรัฐไทยเกี่ยวการจำแนกประเภทสัญชาติไทยโดยความสามารถที่จะใช้สิทธิ  เราน่าจะกล่าวถึงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการสมรสโดยผลของกฎหมาย ซึ่งเป็นสถานการณ์ข้อยกเว้น แม้ว่าข้อกฎหมายนี้จะปรากฏในประเทศไทยในระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ จนถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๓ เท่านั้น แต่ก็มีหญิงต่างด้าวที่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยประเภทนี้ไม่น้อย

ตัวอย่างของคนสัญชาติไทยในสถานการณ์นี้ ก็คือ กรณีนางแอนนาเบล[5] ซึ่งเกิดในประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ จากบิดามารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เธอได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐอังกฤษในสถานะคนสัญชาติอังกฤษโดยการเกิดเช่นกัน เธอได้สมรสตามกฎหมายสิงคโปร์กับนายสตีเฟนสัน เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งนายสตีเฟน เป็นคนเกิดในประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.๒๔๕๐ จากบิดามารดาซึ่งเป็นชาวอังกฤษ เขาจึงมีสัญชาติอังกฤษโดยการเกิด แต่ต่อมา ติดตามบิดามารดาเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๐ เมื่อนางแอนนาเบลได้สมรสตามกฎหมายกับนายสตีเฟนคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติใน พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยที่มีผลในขณะนั้น ก็คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ และ พ.ร.บ.แปลง รศ.๑๓๐ ดังนั้น จะเห็นว่า โดยผลของมาตรา ๓(๔) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ หญิงต่างด้าวที่สมรสกับชายสัญชาติไทยย่อมได้รับสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายตามสามีนับแต่วันที่การสมรสตามกฎหมายมีผลสมบูรณ์ จึงสรุปได้ว่า นางแอนนาเบลย่อมได้สัญชาติไทยโดยการสมรสตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒ ทั้งนี้โดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย กล่าวคือ โดยไม่ต้องร้องขอให้มีคำสั่งของรัฐแต่อย่างใด

------------------------------------------------

[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติไทยของนายยุทธนา ผ่ามวัน, ความเห็นอันเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย : แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ, เสนอต่อสาธารณะ เมื่อวันที่  ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=115&d_id=115 (เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖)

[2] ทั้งนี้ เพราะกฎหมายของรัฐที่มีผลกำหนดสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดของมนุษย์ย่อมได้แก่กฎหมายสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติที่มีผลในขณะที่มนุษย์ผู้นั้นเกิด และโดยผลของมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ บุคคลที่เกิดในประเทศไทย ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด

[3] ทั้งนี้ เพราะข้อ ๒ แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งมีผลในช่วงเวลานี้ บัญญัติว่า บุคคลย่อมไม่มีสิทธิในสัญชาติไทย หากเกิดในประเทศไทยจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มารดามีสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กรณีศึกษานางสาวฟองจันทร์ สุขเสน่ห์ : จากคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยสู่คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑, กรณีศึกษาในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๑ http://learners.in.th/blog/notes-of-archanwell-on-private-international-law/361388(เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖)

[5] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, กรณีศึกษานางแอนนาเบล : กรณีศึกษาเกี่ยวกับหญิงต่างด้าวที่สมรสตามกฎหมายกับชายสัญชาติไทยตั้งแต่ก่อนวันที่ ๒ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๕๐๓, กรณีศึกษาในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, เมื่อวันพุธที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=3&s_id=41&d_id=41(เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖)


คำสำคัญ (Tags): #สิทธิในสัญชาติ
หมายเลขบันทึก: 534488เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 01:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 01:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท