คุณค่าหลักจริยธรรมทางธุรกิจต่อองค์กร


หากธุรกิจขาดจริยธรรมและจรรยาบรรณต่ออาชีพไม่มีจริยธรรมทางธุรกิจ จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไม่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเป้าหมายในการทำธุรกิจไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด แต่ต้องเป็นการแสวงหากำไรอย่างยั่งยืน

                                     คุณค่าหลักจริยธรรมทางธุรกิจต่อองค์กร

             จริยธรรมทางธุรกิจ หมายถึง การดำเนินงานของภาคธุรกิจในด้านต่าง ๆ ขององค์กรอย่างเป็นธรรม ยุติธรรม มีคุณธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรในทุก ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าขององค์กร ลูกค้า หรือ เจ้าหนี้ โดยมีความสัมพันธ์ร่วมกันในการดำเนินงาน โดย  (จินตนา  บุญบงการ, 2541)

            จริยธรรมในธุรกิจ "หรือ " จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ "  หมายถึง กฎเกณฑ์ที่เป็นข้อปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ องค์ประกอบของจริยธรรมที่สำคัญที่กำกับพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจที่นิยมอ้างถึงเป็นประจำ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นธรรม ความเชื่อถือได้ ความไว้วางใจได้ การรักษาคำพูด เป็นต้น ค่านิยมเชิงจริยธรรมเหล่านี้ เกี่ยวพันกับกิจกรรมและกระบวนการในทุกวงการธุรกิจ 

ข้อควรนำมาปฏิบัติและข้อควรงดเว้นไม่นำมาปฎิบัติในอาชีพ มีดังนี้

             ข้อควรนำมาปฎิบัติ ในอาชีพ  ด้านจริยธรรมภายในองค์กร จริยธรรมทางธุรกิจที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้ (รัตนา อัตภูมิสุวรรณ์, 2542 ,4 – 6)

             มีจริยธรรมในการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมและการส่งเสริมพัฒนาความรู้ การฝึกอบรมแก่พนักงาน การจัดสวัสดิการ การจัดความปลอดภัยใน  ที่ทำงาน การให้ผลตอบแทนหรือส่วนแบ่งกำไรที่เหมาะสมแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้ที่ลงทุนกับองค์กร มีการอำนวยความสะดวก เครื่องมือ เครื่องใช้สำนักงานอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับงาน  การมีจริยธรรมที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน การเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็น  มีความจงรักภักดีต่อองค์กร ไม่เปิดเผยข้อมูลหรือความลับขององค์กร การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

            ข้อควรนำมาปฎิบัติในอาชีพ  ด้านจริยธรรมภายนอกองค์กร

            มีจริยธรรมต่อผู้บริโภค ความซื่อสัตย์ในการตั้งราคา การโฆษณาชวนเชื่อ  การเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีมาตรฐาน  ความรับผิดชอบต่อหน่วยงานของรัฐบาล ธุรกิจให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ตามมาตรกรของหน่วยงานของรัฐ ในด้านการเสียภาษี การจ่ายค่าแรง จริยธรรมในด้านสังคม เช่น ส่งเสริมด้านการศึกษาและการบริจาคเงินสนับสนุนในโอกาสต่าง ๆ  ธุรกิจคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและคุ้มค่าและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

            ข้อควรงดเว้นไม่นำมาปฏิบัติในอาชีพมีดังนี้  การไม่ซื่อสัตย์ต่อกิจการ. การทุจริตในด้านการจัดซื้อ  การฉ้อฉลของพนักงาน  การเอารัดเอาเปรียบนายจ้าง  ไม่เอารัดเอาเปรียบทางการค้าอย่างไม่ยุติธรรม  การทำสัญญากับผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัท โดยลูกค้าไม่เข้าใจเงื่อนไขและการผูกมัดในสัญญาเลย   การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค  การชำระภาษีไม่ครบถ้วนการไม่รับผิดชอบดูแลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร 

           กัลยาณี สูงสมบัติ. (2550 ได้แบ่งข้อควรงดเว้นไม่นำมาปฏิบัติในอาชีพไว้ 8 ประการคือ

           1. เว้นจากการเบียดเบียนลูกค้า ได้แก่ ไม่กักตุนสินค้า ไม่ส่งชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบราคาถูกแต่ไร้คุณภาพเมื่อของขาดแคลน ใช้อะไรปลอมทำให้ลูกค้าผลิตสินค้าไม่ได้ตามต้องการ หรือเกิดของเสีย (Defect) ไม่แสวงหากำไรที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค ไม่ผลิตสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐานและเป็นจริงตามโฆษณา

          2. เว้นจากการเบียดเบียนผู้จัดส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) หรือหุ้นส่วน ได้แก่ กดราคา ปิดบังข้อมูล ไม่จ่ายเงินตามกำหนด ยืดเวลาการชำระเงิน ตำหนิสินค้าว่าไม่ดีเพื่อให้ลดราคามาก ๆ เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ

          3. เว้นจากการเบียดเบียนพนักงาน เช่น ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ใช้แรงงานเด็ก กดค่าแรง ไม่ให้สวัสดิการที่ควรให้ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ส่งเสริมให้พนักงานได้พัฒนาความรู้ความสามารถ การแบ่งผลประโยชน์ให้พนักงานไม่เป็นธรรม

          4. เว้นจากการเบียดเบียนคู่แข่งผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ เช่น ไม่จ่ายเงินปันผล ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วไม่ใส่ใจในการบริหาร บริหารองค์กรเพื่อผลระยะสั้น ๆ ไม่ได้มุ่งเพื่อความก้าวหน้าขององค์กรในระยะยาว

          5. เว้นจากการเบียดเบียนคู่แข่ง เช่น ปล่อยข่าวลือที่ไม่ดี ให้สินบนหรือใช้อิทธิพลเพื่อแย่งลูกค้า ซื้อข้อมูลหรือความลับ ฯลฯ

         6. เว้นจากการเบียดเบียนราชการ เช่น หลบเลี่ยงการจ่ายภาษีทีถูกต้องจ่ายเงินให้ใต้โต๊ะ ขายอุปกรณ์ เครื่องมือให้หน่วยราชการราคาสูงกว่าปกติ ส่งงานล่าช้าทำให้เกิดผลเสียหายต่อราชการ

         7. เว้นจากการเบียดเบียนสังคม เช่น ขายของแพง โฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค กักตุนสินค้า บรรทุกของเกินทำให้ถนนทรุด หาบเร่ขวางทางเท้า

         8. เว้นจากการเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่มีระบบการจัดการกับของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ทำให้เกิดมลภาวะ ได้แก่ น้ำเสีย อากาศเสีย กากอุตสาหกรรมที่มีสารพิษ ฯลฯ ตลอดจนส่งเสียงหรือกลิ่นรบกวน ผลิตสินค้าและบริหารที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การนำจริยธรรมมาใช้ในการประกอบอาชีพจะเกิดผลดีต่อตนเองและสังคม ดังนี้

         1.จริยธรรมก่อให้เกิดความเชื่อถือ (Credit) เกิดจากความซื่อสัตย์ ทำให้ได้รับความเชื่อถือ คือที่มาของเครดิตทางการค้าทั้งด้านการลงทุนและการตลาด รวมทั้งเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กรในระยะยาว

          2. จริยธรรมก่อให้เกิดการทุ่มเท (Devotion) ของคนทำงาน  นำมาซึ่งประสิทธิภาพอันทรงคุณภาพ(Qualitative Efficiency) ต่อการผลิตที่เต็มกำลัง (Full Capacity) การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างมีมนุษยธรรมทำให้เกิดความผูกพันธ์ พนักงานย่อมทุ่มเทความสามารถต่อการผลิตหรือบริการอย่างเต็มกำลังความสามารถ

         3. จริยธรรมก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี (Good Image) มีผลต่อตำแหน่งทางการค้าของบริษัท (Positioning) และมีผลต่อความภักดีที่ผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการของบริษัท (Brand Royauity) และภาพลักษณ์ทางการค้าที่ดีมีผลโดยตรงต่อการกำหนดราคา (Pricing) และความภักดีต่อสินค้าและบริการมีผลโดยตรงต่อยอดขาย (Sales Volume) 

          4. จริยธรรมก่อให้เกิดการลดหย่อนทางกฎหมาย  หากบริษัทมีประวัติทางจริยธรรมที่ดีงาม เมื่อพลาดพลั้งไปมีคดีความกับบุคคลภายนอกองค์กร   ย่อมได้ข้อลดหย่อนในบทลงโทษที่บัญญัติไว้ ตามกฎหมายของแต่ละสังคม

          จริยธรรมขององค์กรธุรกิจ ช่วยให้ทุกคนในองค์กรรู้ว่า มาตรฐานทางจริยธรรมมีอย่างไร จะปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียในลักษณะใด ซึ่งหมายรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานต่อพนักงานด้วยกัน พนักงานกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการ พนักงานกับลูกค้าหรือคู่ค้า ตลอดจนแนวปฏิบัติขององค์กรต่อผู้ถือหุ้น ต่อชุมชนและสังคม จริยธรรมขององค์กรธุรกิจจึงมีคุณค่าต่อองค์กรผู้เกี่ยวข้องหรือประชาคมโดยรวมประโยชน์ต่าง ๆ ที่มองเห็นได้ชัดเจนดังนี้ (กัลยาณี สูงสมบัติ ,2550, http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L3/3-3-3.htm)

          1. เสริมสร้างชื่อเสียงต่อองค์กรธุรกิจในการประกอบการ ที่มีความยุติธรรมและความรับผิดชอบ
          2. ช่วยเสริมสร้างและรักษามาตรฐานความประพฤติของผู้เกี่ยวข้องทุกคนในองค์กร
          3. ช่วยให้พนักงานทุกฝ่ายทั่งทั้งองค์กรทราบและเข้าใจอย่างชัดเจนว่า องค์กรตั้งใจจะทำอะไร อย่างไร

และองค์กรคาดหวังการประพฤติของพนักงานใดมาตรฐานใด
         4. สร้างความภาคภูมิใจระหว่างพนักงานและช่วยให้จุดเน้นในการประพฤติปฏิบัติเพื่อองค์กรมีน้ำหนักและชัดเจนมากยิ่งขึ้นประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นภาพที่อำนวยประโยชน์ต่อการบริหารและการจัดการในการเสริมสร้างจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจขององค์กร หากจะมองถึงประโยชน์ที่องค์กรธุรกิจได้รับโดยตรงในการบริหารธุรกิจอย่างมีจริยธรรมซึ่ง Ethics Resource Center ได้ทำการสำรวจวิจัยพบว่า องค์กรธุรกิจได้รับประโยชน์โดยตรงดังนี้  ได้รับการปกป้องทางกฎหมาย (78%)  เพิ่มความภาคภูมิใจของพนักงานและความจงรักภักดีต่อองค์กร (74%)  เพิ่มค่านิยมของลูกค้าและสาธารณชน (ภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท) (66%) ป้องกันการสูญเสียด้านผลผลิต และได้รับผลดีขึ้น (64%)  ลดการให้สินบนและการให้เปล่า (58%)  ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ / บริการให้ดีขึ้น (14%)  การเพิ่มผลผลิตดีขึ้น (12%)

      การทำธุรกิจที่ขาดจริยธรรม ก่อให้เกิดปัญหาต่อสาธารณะ เช่น

        1. การเอาเปรียบลูกค้าในการผลิตสินค้าปลอม สินค้าด้อยคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตแต่ผลักภาระให้ผู้อื่น เช่น ปุ๋ยปลอม ปลอมปนข้าวสาร อาหารผสมเมลามีน ใช้สีผสมอาหารที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

        2. การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดของเสียโดยไม่ถูกต้องตามวิธีการ หรือไม่ได้มาตรฐาน เช่น น้ำเสีย ควัน กลิ่น เสียงดัง ฝุ่นผง ละอองสี แก๊สฟุ้งกระจาย เป็นต้น ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย สังคมรอบข้างเกิดอันตราย

        3. ทำธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนอย่างไม่มีจริยธรรม ทำไม่ถูกต้อง แทนที่จะสื่อข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริง กลับสื่อเพื่อหวังผลประโยชน์ให้แก่หมู่คณะ พวกพ้อง หรือใส่ข้อคิดเห็นโดยไม่เป็นกลาง ทำให้เกิดผลกระทบทางสังคม โดยแลกกับเงินทอง เป็นต้น

บทสรุป หากธุรกิจขาดจริยธรรมและจรรยาบรรณต่ออาชีพไม่มีจริยธรรมทางธุรกิจ  จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไม่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเป้าหมายในการทำธุรกิจไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด แต่ต้องเป็นการแสวงหากำไรอย่างยั่งยืน ดังนั้น ถ้าประเทศไทยของเรามีแต่ผู้ประกอบการที่ไม่มีจรรยาบรรณ สังคมคงไม่น่าอยู่ ถ้าผู้ประกอบการทุกคนร่วมแรงร่วมใจในการรณรงค์สร้างสังคมที่น่าอยู่ ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ และมีทรัพยากรธรรมชาติเพียงพอที่จะให้นักลงทุนที่ใช้มันให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และต่อประเทศชาติบ้านเมืองตลอดไป


เอกสารอ้างอิง

กัลยาณี สูงสมบัติ. (2550). จริยธรรมในการบริหาร. .สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ วิชา เทคนิคการจัดการสมัยใหม่

           [Online]. Available]  http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L3/3-3-3.htm)

ไกรยุทธ  ธีรตยานันท์. (2537).  จริยธรมในแวดวงธุรกิจไทยและความรับผิดชอบต่อสังคม. การประชุมทาง

           วิชาการเรื่อง " จริยธรรมธุรกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ "  

จินตนา  บุญบงการ. (2544).  จริยธรรมทางธุรกิจ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เดอะโอบี ทีวี.  (2554). CHANGE นายก(มือใหม่) หัวใจประชาชน.  [Online]. Available]

            http://www.youtube.com/watch?v=oOhaY2ZF2BM

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และรจิตกนก จิตมั่นชัยธรรม . “การคอรัปชั่นภาคธุรกิจกับบรรษัทภิบาลใน

           ไทย” กรุงเทพทัศนะ. 24 มิถุนายน 2544.

ประเวศ วะสี . ระเบียบวาระแห่งชาติ ปฏิรูปสังคมไทย . 9 กรกฎาคม 2541

ประเสริฐ บัณฑิศักดิ์. (2555).  การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล Good Governance. [Online].

             Available : http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=2b102dad2ee83deb.

ปราบ สุวรรณมงคล .  “การบริหารจัดการที่ดีกับปัญหาคอร์รัปชั่น”  ทศาภิบาล  ปีที่ 94  ตุลาคม  2542.

รัตนา  อัตภูมิสุวรรณ์ . (2542) การศึกษาธุรกิจ. กรุงเทพมหานคร : บริษัทศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์.

วิทยากร เชียงกูล. (2531) .ศึกษาบทบาทและความคิด อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์มิ่งมิตร.

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย . ความเป็นมา ธรรมาภิบาลในองค์กรภาครัฐและเอกชน .

         [Online]. Available] : http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=1219

         [2556, เมษายน 26].

สรวิศ  อยู่รอด. (2555).การคอรัปชั่นในระบบราชการไทย . ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  คณะ 

          สังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร.On - line]. Available :  http://sd-

          group2.blogspot.com/2012/12/53242643.html

สุเมธ  ตันติเวชกุล. “ปัญหาความไม่โปร่งใสและทุจริตคอรัปชั่นของภาครัฐและเอกชนและแนวทางในการ

          แก้ไข” บรรยายในการสัมมนาหลักสูตรการจัดการสมัยใหม่ . 4 สิงหาคม 2544.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2543).  สรุปผลการวิจัยเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ.

           การทำธุรกิจที่ขาดจริยธรรมก่อให้เกิดปัญหาต่อสาธารณะ.  On - line]. Available : 

           http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20081212181446AAApjS7


หมายเลขบันทึก: 533883เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2013 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2013 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท