จากบันทึกฉบับที่แล้ว ที่ชาวเราตอบคำถามไปแล้วว่า “เรามาวันนี้เราอยากได้อะไรกลับไป” วันนี้ก็มาต่อด้านวิชาการล้วนๆซึ่งครูมุกได้บันทึกจากที่ท่านวิทยากรให้ความรู้...ได้พยายามเรียบเรียงความรู้ที่ได้รับให้ได้มากที่สุดค่ะ
ครูมุกเองก็ถือโอกาสทบทวนไปด้วย และนำมาแบ่งปันเพื่อนๆที่สนใจการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง ลองอ่านดูนะคะมีประโยชน์แน่นอนค่ะ
“การที่เราจะเขียนเล่าเรื่องนั้นประการแรกเราน่าจะมีการบันทึกประจำวัน เพราะจะเป็นการฝึกให้เราจัดลำดับความคิดได้ว่าแต่ละวันเราทำอะไรก่อนหลัง”
องค์ประกอบของการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง ดังนี้คือ
1. สาระหรือความรู้ เช่นประสบการณ์ตรง เป็นหัวใจหลัก หรือจากการศึกษาค้นคว้าบูรณาการกับประสบการณ์ตรงก็ได้
2. สีสันบรรยากาศหรือกลวิธีในการเขียนเป็นส่วนเพิ่มเติมให้เรื่องน่าอ่าน
*ฝึกให้นักเรียนเขียนบันทึก โดยในบันทึกนั้น ควรประกอบไปด้วย ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ได้เรียนรู้อะไร รู้สึกอย่างไร จะทำอะไรต่อ *
ครูโอ้ค ให้หลักการการเตรียมแนวคิดมาว่า
เราได้แนวคิดมาจากไหน... ตอบ จากการอ่าน สร้างแนวคิดจากผู้คน
ข้อแนะนำจากครูโอ้คในการฝึกสร้างแนวคิด
- สร้างภาพเล็กแทนภาพใหญ่
- เมื่อเกิดความคิดให้รีบจดบันทึกก่อนลืม(ต้องมีปากกา ดินสอ และสมุดบันทึกติดตัวไปเสมอ) พร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจจากความคิดอย่างว่องไว
- พยายามคิดจากเรื่องราวสามัญเพื่อนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์
-จัดระบบความคิดอย่างเป็นขั้นตอน และพยายามวางโครงเรื่องการเขียน
ทีนี้ก็มาถึงการเลือกประเด็นหรือเรื่องที่จะเขียน
-ประเด็น หมายถึงปัญหาหรือเรื่องที่จะเขียน คำถามในในขั้นเตรียมการเขียนก็คือ...จะเขียนเรื่องอะไร ...จะหยิบประเด็นใดมาเขียน...
- เลือกเรื่องที่อยู่ในความสนใจของตนเอง
- เลือกเรื่องที่ตนเองถนัดมีความรู้พื้นฐานมาก่อน
- เรื่องที่เลือกจะต้องไม่กว้างหรือแคบเกินไป
- เรื่องที่เลือกจะต้องไม่เกินกำลังของผู้เขียน
- เรื่องที่เลือกควรเป็นเรื่องแปลกใหม่มีความสดและทันสมัย
- เรื่องที่เลือก เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่
ข้อเสนอแนะในการจัดระบบข้อมูล
การจัดระบบข้อมูล เป็นการจัดระบบความคิดในการเขียน มีการสังเคราะห์ การวิเคราะห์ เปลียบเทียบซึ่งเกิดจากความคิดของเรานั่นเอง...โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การกำหนดจุดเน้น
- การกำหนดแก่นเรื่อง
- การกำหนดโครงเรื่อง
การกำหนดจุดเน้น
คือประเด็นหลักของเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอเป็นส่วนที่บอกให้รู้ว่าเรื่องเขียนของเราเน้นไปจุดใดเป็นสำคัญ
เช่น ก และ ข เลือกประเด็นหัวข้อเรื่อง “การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการเรียนรู้ในกลุ่มสาระภาษาไทย
ก เน้น “การกล่าวถึงความเป็นมาของการนำหลักปรัชญาฯเข้ามาใช้รวมทั้งผลที่ได้รับ”
ข เน้น “นำเสนอรูปแบบและวิธีการใช้หลักปรัชญา”
ประโยชน์ของจุดเน้น
เป็นการกำหนดขอบเขตเนื้อหาสาระของงานที่จะเขียน
ทำให้งานเขียนมีความเป็นเอกภาพ
ช่วยให้เห็นสาระสำคัญหรือจุดเน้นของงานเขียน
ช่วยให้ผู้เขียนกำหนดแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น
ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็น
การกำหนดแก่นเรื่อง
หมายถึง ความคิดอันเป็นศูนย์กลางของเรื่อง หรือแนวคิดหลักของเรื่องซึ่งเป็นความคิดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อมายังผู้อ่าน การกำหนดแก่นเรื่องทำให้งานเขียนชัดเจนขึ้น
เช่น กำหนดชื่อประเด็น “โครงการถอดบทเรียน”
จุดเน้น “ความเป็นมาของโครงการถอดบทเรียนและผลที่ได้รับจากโครงการ”
แก่นเรื่อง “จากผลที่ได้รับจากโครงการสามารถนำมาไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในสังคมได้”
ตัวอย่างโครงเรื่องที่สมบูรณ์
1. ชื่อเรื่อง “โครงการกิจกรรมการถอดบทเรียน”
2. จุดเน้น “ความเป็นมาของโครงการกิจกรรมการถอดบทเรียนและผลงานที่เกิดจากโครงการ”
3. แก่นเรื่อง “จากผลที่ได้รับจากโครงการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในสังคมได้”(เน้นด้านวิชาการ)
4. โครงเรื่อง
4.1 บทนำหรือความนำ
4.2 ความเป็นมาของโครงการฯ
4.3 วิธีการและการดำเนินการ
4.4 ผลงานหรือประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ
5. นำผลที่ได้รับจากโครงการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในสังคมได้
- ใช้ในครอบครัว
- ใช้ในชุมชน
- เผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป
6. สรุปหรือจบเรื่อง นำเสนอแนวทางในการสานต่อหรือต่อยอดโครงการ
******* ทั้งนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม*******
ครูมุกคิดว่า การเขียนเรื่องเล่า น่าจะประกอบด้วย
ที่มาที่ไปของเรื่อง
เหตุการณ์
ผลลัพธ์
ความสุข จบอย่างมีความสุข (เพื่อเร้าพลัง)
ท้ายนี้ ขอขอบพระคุณ ดร.ฤทธิไกร ไชยงามและคุณครูโอ๊ค
อย่างสูงยิ่ง และขอบคุณเพื่อนพอเพียงทุกท่านที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันค่ะ
สวัสดีครับ
นี่คืออาหารของนักเขียนเลยละครับ ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ
ขอบคุณมากค่ะ
ขอบคุณครูมุกครับ ..... ผมทำ AAR กับคุณโอ๊ค ว่า เน้นบรรยายแบบบอกมากไป กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดี ต้องบอกให้น้อย แต่อภิปรายให้มากๆ
ขอบคุณทุกท่านที่มาให้กำลังใจค่ะ