เนื้อหานิทรรศการ "ก้าวพอดีที่เพลินพัฒนา" : สิบปีของการพัฒนาหน่วยวิชามานุษกับโลก (๑)


หน่วยวิชามานุษกับโลกเป็นหน่วยวิชาที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเริ่มก่อตั้งโรงเรียน  เนื่องด้วยเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาในมุมมองของผู้ก่อตั้งที่ว่า “การศึกษาคือการพัฒนามนุษย์ให้เต็มตามศักยภาพ”


การศึกษาเรื่องโลกภายนอกด้วยกระบวนการ และวิธีการที่สอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียนในวัย ๗-๙ ปี คือโจทย์ของครูในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของหน่วยวิชามานุษกับโลก ที่ต้องเน้นไปที่การเรียนรู้เรื่องราวรอบตัว ที่เชื่อมโยง กว้างขวาง ต่อเนื่องและมีความหมายต่อชีวิต และยังต้องรักษาวิธีการเรียนรู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการของเด็กในวัยนี้


พัฒนาการของเด็กในวัย ๗-๙ ขวบ ตามทฤษฏีพัฒนาการของอิริคสัน เชื่อว่ามนุษย์จะพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามขั้นต่างๆ ซึ่งในช่วงอายุ  ๖–๑๒ ปี จะอยู่ในบันไดขั้นที่ ๔ คือขั้นของความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกต่ำต้อย (Industry vs. Inferiority) เป็นระยะที่เด็กมีความเจริญเติบโตและมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากขึ้น การเสาะแสวงหาสิ่งต่างๆ ทำให้เด็กมีประสบการณ์กับสิ่งใหม่ ๆ รอบตัว เด็กในวัยนี้ต้องการแสดงความคิดเห็นและแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นผู้ใหญ่


จุดสำคัญของพัฒนาการระยะนี้คือการได้แสดงออกว่าเขามีความคิดและมีความสามารถ  การให้โอกาสให้เด็กได้พิสูจน์ความสามารถของตนองในขอบเขตอย่างเหมาะสมทำให้เด็กในวัยนี้มีความเชื่อมั่น เกิดความขยันหมั่นเพียร รู้สึกสำเร็จและมั่นใจในตนเอง  แต่เมื่อใดที่ผู้ใหญ่ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้พิสูจน์ความคิดหรือความสามารถของตนหรือทำให้เด็กรู้สึกล้มเหลวเด็กจะสร้างความรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยขึ้นมาแทนที่


การศึกษาแบบบูรณาการจะช่วยสร้างให้ผู้เรียนเกิดสายตาในการพิจารณาปัญหาแบบเชื่อมโยง และค่อยๆ เกิดความคิดเชิงระบบขึ้น อันก่อให้เกิดจริยธรรมอันดีในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วย


พัฒนาการของการเรียนวิชามานุษกับโลกในช่วงชั้นที่ ๑ มีการพัฒนามาโดยลำดับ โดยมีจุดเน้นที่การสร้างมวลประสบการณ์ให้กับนักเรียนผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นในชั้นเรียน  และผ่านกิจกรรมภาคสนามที่เป็นพื้นที่ฝึกฝนให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ หรือเครื่องมือการเรียนรู้ที่เรียนรู้ที่ได้เรียนมาจากห้องเรียนอย่างเต็มที่ สุดท้าย ผู้เรียนต้องนำมวลประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมดสร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานประมวลสรุป  โครงงานคำถามที่สนใจ (PBL- Ploblem Base Learning )


หน่วยวิชามานุษกับโลกเน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัส สังเกต ตั้งคำถาม ทดลอง สืบค้น ค้นคว้า บันทึก สรุปความเข้าใจ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตัวเอง (Active Learning) แล้วแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนในกลุ่ม หรือเพื่อนต่างห้อง ในรูปของโครงงานการเรียนรู้ตามประเด็นความสนใจของแต่ละบุคคล


ยุคแสวงหา (ในช่วงก่อตั้งโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๔๖ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๐)

หน่วยวิชามานุษกับโลกในยุคนี้แสวงหาแนวทางการเรียนที่สอดคล้องกับพัฒนาตามวัยและสอดคล้องกับบริบทของสังคมชานเมืองที่โรงเรียนตั้งอยู่  เน้นที่การเรียนรู้ผ่านการประยุกต์ใช้ในการงาน หรือในสถานการณ์จริง  เป็นการเรียนรู้ผ่านการขยายระดับความสัมพันธ์ โดยเริ่มจาก

·  รู้จักตัวเองสู่ระดับครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ห้องเรียน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สถานที่ส่วนต่างๆในโรงเรียน

·  ขยายสู่ระดับชุมชนท้องถิ่นรอบๆ บ้าน หรือโรงเรียน และแต่ละจังหวัดโดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงของผู้เรียนจนเห็นความเป็นภูมิภาค สะท้อนให้เห็นลักษณะนิเวศของแต่ละพื้นที่

·  ขยายสู่ระดับประเทศจากไทยสู่นานาชาติและโลก ตามประเด็นและเหตุการณ์ที่อยู่ในสนใจของผู้เรียน


มีการบูรณาการเนื้อหาของวิชาสังคมศึกษา

ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เข้าด้วยกันเนื่องจากสาระวิชาทั้ง ๓ นี้ต่างก็เป็นบริบทของกันและกัน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิชาในกลุ่มเดียวกัน 


หมายเลขบันทึก: 532782เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2013 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2013 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

รออ่านตอนที่ ๒ ครับ

วิจารณ์

..... เด็กมีการพัฒนา "สมวัย" นะคะ .... สา'สุข ก็เน้น เรื่องนี้เหมือนกันค่ะ ..... ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

เพลินพัฒนา...พัฒนาเพลินๆมาสิบปี  มีเรื่องดีๆมาบอกเล่า

จะรอตอนต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท