การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๖. ประยุกต์หลัก ๗ ประการต่อการเรียนรู้ของตนเอง (จบ)



          บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching  ซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย 

          ตอนที่ ๑๖ เป็นตอนสรุป และทบทวนว่า หลัก ๗ ประการสู่การเป็น “ครูเพื่อศิษย์” ชั้นยอด เป็นอย่างไร  เอามาใช้กับตัวเราเอง ได้อย่างไร   เป็นตอนสุดท้าย ของบันทึกชุด “การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร”

          ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความสนุกและประเทืองปัญญา  และนำมาถอดความเขียนแบบตีความและเติมความ  ไม่ได้เขียนตามข้อความในหนังสือเสมอไป  อ่านแล้วบอกตัวเองว่า ความรู้ด้านการศึกษาของโลกก้าวไปไกลมาก  วงการศึกษาไทยไม่ได้ติดตาม และยังทำหลายๆ อย่างแบบผิดๆ กันอยู่ 

          ดังเมื่อผมนำบางส่วนไปพูดที่ มจธ.  อาจารย์ด้านศึกษาศาสตร์ท่านหนึ่งลุกขึ้นบอกว่า  มีส่วนที่วงการศึกษาศาสตร์ไทยยังไม่รู้  

          ขอเรียนว่า การอ่านบันทึกตีความและเติมความ ๑๖ ตอนในชุด การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร  ไม่ทดแทนการอ่านหนังสือด้วยตนเอง   เพราะสาระในหนังสือมีมากกว่านับเป็นสิบเท่า   ผมจึงอยากให้มีผู้แปลออกเผยแพร่ต่อสังคมไทย   จึงได้แนะนำต่อ ดร. ปกป้อง จันวิทย์ แห่งสำนักพิมพ์ open world  และทราบว่าคุณวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้แปลหนังสือขายดี ทักษะแห่งอนาคตใหม่กำลังแปลอยู่  และผมสัญญาว่าจะเขียนคำนิยมให้

          ผมไม่เชื่อว่า ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แตกฉานจริง  เพราะผมไม่ได้ทดลองนำไปปฏิบัติ  จึงคิดว่า บันทึก ๑๖ ตอนของบันทึกชุด การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร นี้  น่าจะมีข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย 

          สาระในหนังสือที่ผมติดใจที่สุดคือเรื่อง เรียนให้รู้จริง (Mastery Learning)  ซึ่งจะต้องเป็นเป้าหมายสำหรับผู้เรียนทุกคน  แต่เวลานี้ผมเดาว่า นักเรียนไทยไม่ถึงร้อยละ ๑๐ บรรลุการเรียนรู้ขั้นนี้ 

          คำแนะนำในหนังสือ บอกเราว่า นักเรียนทุกคนบรรลุการ “รู้จริง” (mastery) ได้  หากเราปฏิรูปการเรียนรู้ของไทยเสียใหม่   ให้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียน ปฏิบัติ (practice)  คือต้องเป็น การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (Practice-Based Learning หรือ Action Learning)  ตามด้วย การไตร่ตรองสะท้อนกลับ (Reflection) หรือ AAR ด้วยตนเอง  

          โดยครูทำหน้าที่ ครูฝึก (coach)  คอย ให้คำแนะนำสะท้อนกลับ (Feedback) เป็นกำลังใจ และแนะนำการปรับปรุงเพื่อยกระดับทักษะบางส่วนที่ยังด้อย  พร้อมๆ กันนั้น ก็ฝึกให้ นศ. รู้จักให้คำแนะนำสะท้อนกลับแก่ตนเอง (Self-Feedback)  เพื่อปูทางไปสู่ความสามารถเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง (Self-Directed Learner) ได้ 

          ผมบอกตัวเองว่า ตัวผมเองก็ต้องหมั่นฝึกฝนตามคำแนะนำในหนังสือเล่มนี้  เพื่อยกระดับการเรียนแบบรู้จริงของผมให้ยิ่งขึ้นไปอีก   ที่ทำการบ้านเขียนบันทึกลง บล็อก อยู่นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกหัด

          เพราะนักเรียนยังเป็น ผู้ฝึกใหม่ การฝึกที่ดีจึงต้องทำเป็นขั้นตอน  เริ่มจากฝึกทีละทักษะย่อย  แล้วจึงฝึกทำหลายทักษะพร้อมกัน  แล้วจึงฝึกปฏิบัติจริง  ความสำคัญของ “ครูฝึก” อยู่ตรงนี้ 

          ผมได้ตระหนักว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อครูฝึก  เพื่อช่วยให้ครูเปลี่ยนบทบาทจาก ครูสอน สู่ ครูฝึก ได้อย่างมีหลักวิชา  และมีประเด็นให้ตั้งโจทย์ เก็บข้อมูล เอามาทำวิจัย สร้างผลงานวิชาการด้านการจัดการเรียนการสอน (Scholarship of Instruction)  ได้ผลงานวิชาการแท้ สำหรับความก้าวหน้าของครู ได้อย่างสมภาคภูมิ

          สาระที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เป้าหมายของการเรียนรู้  ไม่ได้มีเฉพาะเป้าหมายเชิงปัญญา (Intellectual Development) เท่านั้น  ยังมีเป้าหมายที่พัฒนาการอีก ๔ อย่าง คือ กาย (Physical Development),  อารมณ์ (Emotional Development), สังคม (Social Development),  และจิตวิญญาณ (Spiritual Develoment)  โดยส่วนพัฒนาการด้านจิตวิญญาณนี้ไม่มีระบุในหนังสือ  ผมเติมเข้าไปเอง เพื่อให้ครบตามคติตะวันออกของเรา 

          ครูเพื่อศิษย์พึงตระหนักในเป้าหมายพัฒนาการทั้ง ๕ ด้านนี้อยู่ตลอดเวลา  และหาทางทำให้การฝึกปฏิบัติในกิจกรรมทุกกิจกรรม นำไปสู่พัฒนาการหลายด้านในเวลาเดียวกัน

          สิ่งที่ผิด คือ เมื่อต้องการพัฒนาเป้าหมายใด ก็จัดวิชาสำหรับเรียน  นั่นคือวิธีคิดแบบแยกส่วน ซึ่งผิด

          ผมได้ตระหนักว่า การเป็นผู้มีทักษะในการกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ เป็นสุดยอดของทักษะว่าด้วยการเรียนรู้   และทักษะนี้เชื่อมโยงกับทักษะการมีวินัยในตนเอง (Sefl-Discipline)  ในคาถาองค์ ๔ ที่ผมถือเป็นหัวใจของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  คือ คาถา ๓ร ๑ว  ได้แก่ ทักษะสร้างแรงบันดาลใจแก่ตนเอง (ร แรงบันดาลใจ)  ทักษะในการเรียนรู้ ( ร เรียนรู้)  ทักษะความร่วมมือ ( ร ร่วมมือ)  และทักษะความมีวินัยในตนเอง บังคับตัวเองได้ (ว วินัย)  

          ผมได้เรียนรู้ขั้นตอนการปฏิบัติ ๗ ประเด็นหลัก เพื่อการเรียนแบบรู้จริง  แล้วบอกตัวเองว่า ผมจะไม่มีวันรู้จริงในประเด็นทั้ง ๗ ในหนังสือ  เพราะผมไม่ได้ลงมือปฏิบัติในฐานะที่เป็นครูฝึก  หนังสือเล่มนี้เขียนให้ครูฝึกอ่านแล้วเอาไปปฏิบัติ   เพื่อจะได้เข้าใจลึกขึ้น และปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น 

          ผมจึงนำบันทีกทั้ง ๑๖ ตอนนี้ มาฝาก ครูเพื่อศิษย์ ทั้งหลาย  เพื่อให้ท่านมีอาวุธสำหรับการทำหน้าที่ ครูฝึกเพื่อศิษย์ ได้ผลดียิ่งขึ้น  และสนุกสนานยิ่งขึ้น  ครูเพื่อศิษย์นอกจากมีใจให้แก่ศิษย์แล้ว  ยังต้องมีทักษะของครูฝึก  ที่สอดคล้องเหมาะสมต่อสภาพของศิษย์ อีกด้วย 


วิจารณ์ พานิช

๑๓ ม.ค. ๕๖


หมายเลขบันทึก: 532720เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2013 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท