พี่มาก..พระโขนงกับ 21 Century Skills


"พี่มาก..พระโขนง ดูไป หัวเราะไปและคิดไป"

             มีเวลาและโอกาสไปนั่งดูภาพยนตร์ที่ทำเงินเป็นอันดับสองรองจากพระศรีสุริโยทัย คือ พี่มาก..พระโขนง ที่โกยเงินคนไทยไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท เมื่อไปนั่งดู มันก็ได้แค่ดู เลยถอดบทเรียนมาพิเคราะห์ว่า อะไรที่ทำให้ภาพยนตร์พี่มาก..พระโขนง เป็นภาพยนตร์แนวรักใคร่ สยองขวัญ และตลก ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องแม่นากพระโขนง ผีพื้นบ้านไทย กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกุล ผู้มีชื่อเสียงจากผลงาน สี่แพร่ง ตอน คนกลาง, ห้าแพร่ง ตอน คนกอง และ กวน มึน โฮ กับทั้งนำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ เป็นพี่มาก กับดาวิกา โฮร์เน่ เป็นแม่นาก พร้อมด้วยณัฏฐพงษ์ ชาติพงษ์ พงศธร จงวิลาส วิวัฒน์ คงราศรี และกันตพัฒน์ สีดา ซึ่งเคยร่วมแสดงใน สี่แพร่ง และ ห้าแพร่งมาแล้

             ผมนั่งดูไปพานนึกถึงการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ขึ้นมาจับใจ ภาพยนตร์เรื่องนี้ มันกำลังตอบโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงแห่งยุค การก้าวสู่การเรียนรู้เพื่อเป็น มิใช่เพื่อความรู้เพียงอย่างเดียว หรือในโลกนี้ไม่ได้ขาดคนรู้ แต่ขาดคนเป็น

              ผมขอวิเคราะห์จากแนวคิดเพียงสองประเด็นคือ ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)กับทักษะการคิด (Thinking Skills) ดังนี้

                                  

1.  Communication Skills: ทักษะการสื่อสาร

           ภาพยนตร์สื่อสารโดยใช้ภาษาสมัยใหม่ และอวัจนภาษาของนักแสดง 4 เกลอที่นำเสนอออกมาได้อย่างดียิ่ง เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจ เข้าถึงภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดาย โดยพลิกความคิดเก่าๆที่จะต้องสร้างภาพยนตร์ย้อนยุค โดยรักษาลักษณะภาษาให้เป็นในยุคนั้น มีภาพยนตร์หลายเรื่องทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก เพียงแต่ถ้าเป็นไปอย่างลักษณะเดิมอาการเอียนต่อภาษา วรรณกรรมเดิมๆอาจจะนำมาซึ่งความน่าเบื่อหน่ายมากกว่าสร้างความน่าสนใจ ทั้งนี้ ผมขอขยายความวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิด หลักการสื่อสารอย่างมีประสิทธิผลยุคใหม่ หรือหลักง่าย ๆ คืนสู่สามัญ (Back to the Basic)ของรองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา ดำรงเกียรติศักดิ์ อดีตรองอธิการบดีและคณบดีคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดังนี้

Comprehension: เข้าใจ เข้าถึง

            ภาพยนตร์สื่อความหมายแก่ผู้รับสารให้ Get message ได้ด้วยภาษาร่วมสมัยเข้าใจในแนวคิดหลักหรือ Main Idea โดยเน้นย้ำด้วยเสียงประกอบ ดนตรี ภาพ บรรยากาศเพื่อสร้างเนื้อหาและตอกย้ำความเป็นผีมหาอมตะที่แสนดุแห่งท้องทุ่งพระโขนง ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์จึงมีการหักมุมจากความน่ากลัวเป็นเสียงหัวเราะได้อย่างผสมกลมกลืน และที่สำคัญคือ อารมณ์ของคนดูสามารถเข้าถึงเนื้อหาหรือ Content ของความเป็นภาพยนตร์แบบแฟนตาซีได้ทันที นอกจากเนื้อหาชัดเจนและเฉียบคม ไม่เยิ่นเย้อ นำเสนอภาพเก่าที่ผู้ชมสามารถจดจำได้จากความทรงจำเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากเก็บมะนาว ฉากในโบสถ์ ห้อยหัว แต่การเน้นย้ำถึงความรัก ความผูกพันระหว่างมากกับนากยิ่งทำให้ภาพยนตร์มีอรรถรส เรียบง่าย แต่ยังฉายภาพยนตร์ในมุมคิดของมากได้อย่างน่าติดตาม

Connection: มีความหมาย เร้าอารมณ์

            เนื้อหาของภาพยนตร์สอดคล้องกับประสบการณ์และชีวิตของผู้รับสาร คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่รู้จักศักดาของผีนางนากที่รอคอยการกลับมาของมาก โดยเนื้อหาแสดงให้เห็นความหมายของความรักกับความสำคัญในการดำรงชีวิตของทั้งคู่ในคำมั่นสัญญาว่า จะกลับมาดูแลกันและกัน มาก กลับจากการรับใช้ชาติ และนาก กลับจากความตายเพื่อมาดูแลกันและกัน โดยกลไกที่ใช้ในการตอบสนองเชิงอารมณ์ คือ การแสดงออกทางสีหน้าของนักแสดงที่ทำให้ผู้รับสารรับรู้ได้ถึงความกังวล ความตื่นเต้น ความโกรธ ความหลงใหลความสนุก ความสุข ความเศร้า ซึ่ง นักแสดงผู้ชาย 4 เกลอล้วนสร้างสรรค์ให้ภาพยนตร์มีความสนุกสนาน เร้าอารมณ์ตลอดเวลา

Credibility: เชื่อถือ ศรัทธา

             ความเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะแม้ผู้ชมจะสามารถเข้าใจ และรู้สึกเร้าอารมณ์กับภาพยนตร์ได้หากแต่ในรายละเอียดของภาพยนตร์ขาดความน่าเชื่อถือก็ไร้ผล โดยตัวละครผู้ชายใส่แว่นที่ผู้เขียนบทให้มีคุณลักษณะเป็นผู้ที่มีความนิ่ง สุขุม และชอบขบคิดอยู่ตลอดเวลา คือ เต๋อ ถูกวางตัวให้เป็นผู้เล่าเรื่องและสร้างประเด็นความสงสัยอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ชมคล้อยตามและเชื่อว่า นาก ยังไม่ตาย หากแต่ มาก ต่างหากที่ตายแล้ว

Contagiousness: แพร่กระจายง่ายติดไปทั่ว

              และเมื่อภาพยนตร์ถูกกล่าวถึงในวงกว้างของความแตกต่าง สนุกสนาน และไม่เขย่าขวัญพรั่นพรึงจนหัวใจจะวาย ทำให้ผู้ชมกลุ่มหนึ่งบอกเล่าถึงคุณภาพของสินค้า อวดอ้างสรรพคุณต่างๆนานา แม้แต่บทความที่ผมกำลังเขียน ผมก็ได้รับอิทธิพลจากความสนุกในเนื้อหาที่ผู้เขียนบทต้องการหรือจงใจให้ผู้ชมเผยแพร่ข่าวสารให้กระจายไปรอบ เพราะเนื้อหาของพี่มาก..พระโขนงแพร่กระจายได้จากการที่เรื่องเล่ามีพลัง กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ใหม่ๆ มีความแตกต่าง ชวนจดจำ เร้าให้เกิดการกระทำหรือแสดงออก เพื่อเล่าเรื่องต่อไปแบบมุขปาฐะ ส่งผลให้ผู้คนต้องลองเข้าไปสัมผัสการนำเสนอมุมมองของนางนากในมุมที่เราอาจจะไม่รู้ หรือจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตามแต่ของพี่มาก พระโขนง

                      

2.  Thinking Skills: ทักษะการคิด

             “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” คำพูดของไอน์สไตน์ผุดขึ้นมาทันที่ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะภาพยนตร์เปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องจากมุมของผีนางนากมาเป็นมุมของของมาก ผู้ที่แทบจะหาประวัติไม่ได้ว่า เขาเป็นใคร รูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร ดังนั้น ภาพยนตร์จึงนำจินตนาการของชายหนุ่มรูปงามที่นางหลงรักและรอคอยการกลับมา แม้จะวิญญาณจะจากโลกนี้ไปก็ยังไม่ยอมไปไหน นั่นแสดงให้เห็นว่า มาก ต้องเป็นชายหนุ่มรูปงาม เอาใจเก่ง ขี้อ้อนคนหนึ่ง แต่กระบวนการคิดของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีมุมมองที่หลากหลายตามมุมคิดส่วนตัวของผมจริงๆๆดังนี้

Paradigm shift: การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์

               ภาพยนตร์ฉีกกฎความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมเดิมของภาพยนตร์ผีให้มีสีสัน และฉีกมุมมองความคิดที่ว่า ผีต้องน่ากลัว ต้องมีการล้างแค้น อาฆาตมาดร้าย อีกทั้งยังฉีกมุมคิดว่า ภาพยนตร์ย้อนยุคต้องมีสำนวนภาษาและการต่างกายที่โบราณตามไปด้วย เปล่าเลย ภาพยนตร์นำเสนอภาษาปัจจุบันที่ไม่วัยรุ่นจนเกินจะรับได้ เช่น จุงเบย หรือบ่องตง อีกทั้ง ยังปรับเปลี่ยนมุมคิดจากที่มองในมุมของนางนาก แล้วมากเล่า คิดเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์ดังกล่าว

Creative Thinking: ความคิดสร้างสรรค์

               ผมนั่งดูไปก็วิเคราะห์ว่านี่แหละคือ ทางรอดของธุรกิจไทย ถ้าวันนี้ เรามัวแต่เดินตามรอยของภาพยนตร์ต่างชาติทั้งฮอลลีวูด บอลลีวูดหรือแม้แต่ K-POP เราคงจะผุดจะเกิดยากมาก เพราะแม่นากเป็นวรรณกรรมของไทยที่ดัดแปลง สร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัย ง่ายต่อการบริโภค เพียงพัฒนาให้ดีขึ้น และสร้างความน่าจดจำใหม่ๆ เปิดมุมมองใหม่ให้คนไทยได้มองหลากหลายมุมมากขึ้น ผสมผสานกับการสร้างบรรยากาศของความหลากหลายในอรรถรส เชื่อเถิดว่า ถ้าเรานำเอา “ความคิดสร้าง”มาสรรสร้างอุตสาหกรรมต่างๆของไทยให้เป็นรูปธรรม รับรองว่า เราจะหาส้นตีนหรือจุดยืนของเศรษฐกิจชาติไทยเจอแน่นอน

นี่อย่างไรที่ผมบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการเรียนรู้ของไทย ไปดูเพื่อให้คิดเป็นมากกว่าอ้าปากหัวเราะเพียงอย่างเดียว

ส่วนผมยังคงอยู่ในวังวนของแวดวงวิชาการเดิมๆ คือ คิดได้ แต่ทำแบบเขาไม่ได้ เหมือนเดิม

                                                 

หมายเลขบันทึก: 532714เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2013 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ฉีกแนวจริงๆ ค่ะ หัวเราะตลอดเรื่อง คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักแม่นาค ก็คงคิดว่าตำนานต้องเป็นแบบนี้แน่ๆ เลย

  • สนุกจริงครับ
  • น่าเป็นห่วงเรื่องของความถูกต้องทางประวัติศาสตร์
  • แต่...มันน่าจะทำให้เขาสนใจใคร่รู้ และค้นหาเพื่อรู้ให้ลึกมากขึ้นจริงไหมครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท