ระบบส่งเสริมการเกษตรที่ควรเป็น


ระบบส่งเสริมการเกษตรที่ควรเป็น

ระบบส่งเสริมการเกษตรที่ควรเป็น

-----

     ระบบส่งเสริมการเกษตร  หมายถึง  กระบวนการทำงานส่งเสริมการเกษตรที่เชื่อมสัมพันธ์องค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน  ได้แก่ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการทำงานของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และผลผลิต  ผลลัพธ์ของงาน

     สำหรับวิธีการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ยังแบ่งย่อยออกเป็น  1) การวางแผน ทั้งแผนการดำเนินงานตามโครงการประจำปี และแผนปฏิบัติงานของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำปี  2) การปฏิบัติงานในพื้นที่ของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  ได้แก่  การวางแผนปฏิบัติงานประจำเดือน  วิธีการทำงาน (ศึกษาชุมชน  ค้นหาความต้องการและปัญหาของเกษตรกร  จัดตั้งองค์กร  พัฒนาวิสาหกิจชุมชน  สร้างเครือข่ายเป็นคณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร  การติดตามและประเมินผลองค์กรเกษตรกร)  การฝึกอบรม/ประชุม/สัมมนา  การประชาสัมพันธ์  การจัดเก็บข้อมูลการเกษตร  เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน  เกณฑ์การวัดผล  การติดตามนิเทศงาน  3) การควบคุมงาน  ได้แก่ การวัดผลการปฏิบัติงาน  การกำหนดวิธีการให้รางวัล  4) การประเมินระบบการทำงาน  ได้แก่ ผลสำเร็จของงานเปรียบเทียบกับเป้าหมาย  ประเมินผลระบบทำงาน และแก้ไขระบบการทำงาน

     ระบบส่งเสริมการเกษตรที่ควรเป็น  จะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวนั้น เชื่อมสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน  มิใช่แยกพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

     ผู้เขียนได้ทำการวิจัย ระบบงานส่งเสริมการเกษตรจังหวัดยะลา  เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตั้งแต่มกราคม 2542 ถึง มีนาคม 2545

     สรุปผลการวิจัย ดังนี้

     1.  วัตถุประสงค์การส่งเสริมการเกษตร  ระดับเกษตรกร  ได้แก่ มีรายได้เพิ่มขึ้น  มีคุณภาพชีวิต  พึ่งพาตนเอง  ระดับชุมชน  ได้แก่  ชุมชนเข้มแข็ง  มีกองทุนสวัสดิการ  มีธุรกิจชุมชน  สุขภาพชุมชนดี  สภาพแวดล้อม  ได้แก่  เกษตรกรรมยั่งยืน  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (โครงการต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นเครื่องมือเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว  โครงการตามงบประมาณต่างๆ จึงมิใช่เป็นวิธีการทำงานส่งเสริมการเกษตร หรือเป็นวัตถุประสงค์ของงานส่งเสริมการเกษตรโดยตรง)

     2.  เป้าหมายการส่งเสริมการเกษตร  ได้แก่  องค์กรเกษตรกรในพื้นที่  เช่น กลุ่มอาชีพ  กลุ่มสถาบันเกษตรกร  วิสาหกิจชุมชน และองค์กรเครือข่ายต่างๆ (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล จะต้องกำหนดเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจน ทั้งปริมาณและคุณภาพ)

     3.  วิธีการทำงานของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ 

      3.1  การวางแผน  ในแต่ละปี สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ  จะต้องทบทวนนโยบายรับบาล กระทรวง กรม และจังหวัด  เพื่อวางกรอบให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่นำไปปฏิบัติ  ให้สอดคล้องกับแผนงานขององค์กรเกษตรกรในพื้นที่

     สำหรับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล  จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี  โดยบูรณาการให้สอดคล้องกันระหว่างแผนการปฏิบัติงานขององค์กรเกษตรกรในพื้นที่ และนโยบายจากส่วนกลาง  (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล จำเป็นจะต้องร่วมกับองค์กรเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน  จัดทำแผนขององค์กรเกษตรกรนั้นๆ ก่อนที่จะทำแผนปฏิบัติงานประจำปีของตนเอง)

       3.2  วิธีการปฏิบัติงานของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ระดับตำบล

          1)  การวางแผนปฏิบัติงานประจำเดือน  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรประจำเดือน  โดยถอดมาจากแผนปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรประจำปี ตามข้อ 3.1  แล้วระบุกิจกรรมเน้นหนัก เพื่อประชาสัมพันธ์ไว้อย่างน้อย  1 กิจกรรมต่อเดือน สำหรับวิธีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพการเกษตร  ได้แก่ การศึกษาชุมชน  การสร้างจิตสำนึกแกนนำ  การกระตุ้นแกนนำรวบรวมสมาชิก  การส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์หรือการลงหุ้น  การส่งเสริมให้องค์กรเกษตรกรจัดทำกิจกรรมรวมกันซื้อ-ขาย หรือแปรรูป  เพื่อสนับสนุนเป็นวิสาหกิจชุมชน  การประเมินผลกิจกรรม เพื่อจัดทำแผนงานปีต่อไป  กรณีการพัฒนากลุ่มอาชีพการเกษตรเดิม หรือวิสาหกิจชุมชนให้มีคุณภาพ มีวิธีการดังนี้  ส่งเสริมสมาชิกออมทรัพย์  มีการลงหุ้น  ส่งเสริมสมาชิกจัดทำกิจกรรมรวมกันซื้อ รวมกันขาย หรือแปรรูป  การประเมินผลกิจกรรมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานปีต่อไป  สำหรับส่งเสริมองค์กรเครือข่ายของกลุ่มระดับตำบล และการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  ได้แก่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของกลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล  จากนั้น เชิญประชุมตังแทนองค์กรเกษตรกรต่างๆ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ผู้นำศาสนา  เพื่อเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารงานชั่วคราว (ดูรายละเอียดการวิจัยแบบ PAR  เรื่อง การสร้างเครือข่าย ของผู้เขียน)

         2)  การฝึกอบรมประจำเดือน  สำนักงานเกษตรจังหวัด ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอ  จัดให้มีการฝึกอบรมประจำเดือนของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล  (แบ่งเป็นสายให้สอดคล้องกับพื้นที่)  โดยนำแผนปฏิบัติงานประจำเดือนและผลการปฏิบัติงานประจำเดือนของแต่ละคนร่วมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรด้วยกัน  นอกจากนั้น จัดให้มีการบรรยายทางวิชาการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การปลูกพืชแต่ละเดือน

          3)  การประชาสัมพันธ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล  นำประเด็นประชาสัมพันธ์ของตนเองแต่ละเดือนให้ผู้รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์ระดับอำเภอ และจังหวัดตามลำดับ และให้ผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ ทำการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ

          4) การจัดเก็บข้อมูล  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล  ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์การบริหารส่วนตำบล  จัดเก็บข้อมูล โดยมีรายละเอียดถึงระดับหมู่บ้าน

     ข้อมูลดังกล่าว สามารถคำนวณเป็นมูลค่าพืชของแต่ละหมู่บ้าน/ตำบล  นำมาวิเคราะห์เป็นรายได้เฉลี่ยประจำปีของเกษตรกร  สามารถทำนายมูลค่าผลิตผลการเกษตร และคาดการณ์ความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติได้  ข้อมูลดังกล่าวจะต้องมีเวทีร่วมปรึกษาหารือ ทบทวนระหว่างนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรกับผู้นำท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี

          5) เกณฑ์การวัดผลสำเร็จขององค์กรเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย  ในแต่ละปีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล จะต้องวิเคราะห์ประเมินผลและวัดผลองค์กรเกษตรกร  วิสาหกิจชุมชน เพื่อนำเป็นข้อมูลในการวางแผนในปีต่อไป

          6) การติดตามนิเทศงานของอำเภอ/จังหวัด  เกษตรอำเภอ และคณะติดตามงานของจังหวัด ออกติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเป็นรายเดือน หรือรายงวด  เพื่อนำเข้าสู่การทบทวนการปฏิบัติงานในการประชุมเกษตรอำเภอประจำเดือน

    4. การควบคุมงาน  ได้แก่ การวัดผลการปฏิบัติงาน  ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และวัดการปฏิบัติงานมีหลายมิติ ทั้งความสำเร็จของงาน  ความพึงพอใจของเกษตรกร เป็นต้น  รวมทั้งการพิจารณาความดี ความชอบ หรือให้รางวัลแก่ผู้ทำงานได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

     5. การประเมินระบบการทำงานส่งเสริมการเกษตร  ในแต่ละปี ผู้เกี่ยวข้องระดับจังหวัดจะต้องทำการประเมินผลระบบการทำงานส่งเสริมการเกษตร  เพื่อนำปรับปรุงแก้ไขในปีต่อไป

     รายละเอียดผลงานวิจัย ยังมีอีกหลายประเด็น  ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่า สภาพปัญหาของแต่ละจังหวัดคงไม่เหมือนกัน  จึงหยิบยกเฉพาะประเด็นสำคัญๆ ที่น่าสนใจมารายงานเท่านั้น

                                                               -----------

หมายเลขบันทึก: 53266เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ดีแล้วครับ แต่ยังขาดเป้าหมายการตลาด กอ่นกำหนดเป้าหมายการผลิต ฃึ่งคงต้องมองขนาดของตลาด แหล่ง พฤติกรรมการบริโภค สำหรับการเก็บข้อมูลให้ดูตามที่ได้แจ้งให้จังหวัดจัดเก็บ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง ทั้งดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ แสงแดด ความชื้นส้มพัทธ์ และสิ่งแวดล้อม ฃึ่งควรจะเก็บอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเป็นรายเดือน

สวัสดีครับ เข้ามาเยี่ยมชม ได้ความรู้แนวทางการส่งเสริม เพื่อปรับใช้ในจังหวัด และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

วิธีปฎิบัติของ นวส.น่าจะเพิ่มการประสานงานที่มืประสิทธิภาพ

แนวคิดและทฤษฎีนั้น สุดยอดครับ

แต่สวนทางกับวิถีการเมืองที่ยึดติดกับราชการ

...........ฮาๆๆๆๆครับ

ขอบคุณท่านสำหรับไอเดียดีๆครับ

ทำให้คนทำงานมีอะไรที่ทำให้ไม่ยอมแพ้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท