ว่าด้วยเรื่องสถิติ 2 : โปรแกรมคำนวณทางสถิติ


หลักการง่ายๆของการคีย์ข้อมูลเข้าไปในโปรแกรม SPSS คือต้องกำหนดตัวแปรก่อน โดยให้แต่ละคอลัมม์เป็นแต่ละตัวแปร และ บรรทัดที่เราเห็นตามแนวนอน 1 แถวให้เก็บข้อมูลแค่เพียง 1 ราย
        บันทึกก่อนเราคุยกันถึงเรื่องการวิเคราะห์สถิติสำหรับงานวิจัย ไม่ต้องเริ่มจากการคำนวณ  ทีนี้เมื่อกระโดดข้ามการคำนวณมาได้ ไอ้ที่บอกว่านึกถึงค่า SD แล้ว SD มันลอยมา นึกถึงค่าความถี่ แล้วความถี่มันก็กระโดดออกมา เขาทำกันยังไง สมัยนี้เขาพัฒนาแล้ว ก็เขาก็ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำกันยังไงล่ะจ๊ะ
    คราวนี้เราก็มาว่ากันด้วยเรื่องของโปรแกรมคำนวณทางสถิติ โปรแกรมด้านนี้มีสารพัด สารพัน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย แต่ส่วนใหญ่เขามักจะเขียนให้เด็กมหาวิทยาลัยใช้กัน ไอ้ชั้นประถมเริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเรา อย่าเพิ่งไปดูที่ยากๆเลย เอาแบบที่เปิดเครื่องมาแล้วเราดูรู้เรื่องกันดีกว่า ประเภทยากๆ ยกให้มือโปรเขาใช้กัน อ้าว! แล้วจะรู้ได้ไงว่าโปรแกรมไหนเหมาะกับมือโปร หรือโปรแกรมไหนเหมาะกับมือใหม่หัดขับอย่างเรา วิธีการดูง่ายๆ ก็คือ พอเปิดเครื่องออกมา ถ้าหน้าตาดูเป็นตาราง เหมือน Microsoft Excel ล่ะก็พอใช้ได้ แต่ถ้ามีที่ว่างให้พิมพ์ข้อความเข้าไปล่ะก็ ชักไม่ค่อยดีแล้ว เพราะเจ้าที่ว่างให้พิมพ์ข้อความพวกนี้ มือโปรเขาเอาไว้พิมพ์คำสั่งบอกให้เครื่องทำงาน ถ้าเจออย่างนั้นล่ะก็ มือใหม่หัดขับอย่างเราถอยออกมาก่อน แล้วหันไปหาโปรแกรมที่ไม่มีที่ว่างให้พิมพ์คำสั่ง มีแต่ที่ให้พิมพ์ข้อมูลเข้าก็พอ สำหรับมือใหม่ที่ใช้งานสถิติทั่วไป ที่ไม่ใช่สถิติเฉพาะทางนะครับ ผมแนะนำเริ่มต้นกับ SPSS ดีกว่า ทำงานได้ดีพอควร หาได้ไม่ยากนัก ใช้งานได้ไม่ลำบาก คำสั่งไม่ต้องจำ อยากได้อะไรก็คลิ๊กเอา ขอเพียงคีย์ข้อมูลเข้าไป การวิเคราะห์ก็แค่คลิ๊กเอาเท่านั้นเอง
    แล้วเขามีหลักการคีย์ข้อมูลกันยังไง เหมือน Excel มั้ย ? หลักการง่ายๆของการคีย์ข้อมูลเข้าไปในโปรแกรม SPSS คือต้องกำหนดตัวแปรก่อน โดยให้แต่ละคอลัมม์เป็นแต่ละตัวแปร ถ้ามี 10 ตัวแปร ก็จะมี 10 คอลัมม์  หรือถ้ามี 20 คอลัมม์ก็แสดงว่ามี 20 ตัวแปร กำหนดตัวแปรซะให้เรียบร้อยว่าตัวแปรของเราจะเก็บเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร เมื่อกำหนดตัวแปรเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็เริ่มต้นคีย์ข้อมูล มีหลักอยู่ง่ายๆ ว่า บรรทัดที่เราเห็นตามแนวนอน 1 แถวให้เก็บข้อมูลแค่เพียง 1 ราย ถ้ามีข้อมูลอยู่ 100 ราย ก็แสดงว่าต้องมีบรรทัด 100 บรรทัด ถ้านับคอลัมม์ได้ 25 คอลัมม์ ก็แสดงว่ามีตัวแปร 25 ตัว เห็นไหมว่าไม่ยาก
    มาถึงตอนนี้เราก็จับข้อมูลที่เรามียัดเข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ได้แล้ว ที่เหลือก็แค่คลิ๊กเอาเท่านั้นเองว่าอยากได้อะไร อยากได้ SD ก็คลิ๊กเลือก SD ค่า SD ก็ออกมา อยากได้ความถี่ก็คลิ๊กที่ความถี่ ค่าความถี่ก็ออกมา อยากได้อะไรก็ไปคลิ๊กเลือกอันนั้น ก็เท่านั้นเอง
    แล้วที่นี้จะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลของผมเป็นแบบนี้แล้วควรจะคลิ๊กเลือกค่าไหนดี ?
    โอ๊ย! ถามกันแบบนี้ ต้องคุยกันอีกยาว
หมายเลขบันทึก: 53188เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 05:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อรุณสวัสดิ์ค่ะ คุรไมโต

  • บันทึกที่คุณไมโตเขียนนี้ดีจังค่ะ  ครูอ้อยจะได้เรียนในภาคเรียนต่อไป  แต่โชคดีที่ได้เรียนกับครูไมโตก่อน  ครูอ้อยโชคดีใช่ไหมคะ
  • ต้องใช้เวลาในการอ่านพอสมควร  เพราะวิชานี้เหมือนยาขมของครูอ้อย  แต่ถ้ามีครูหล่อๆใจดีสอน  ครูอ้อยต้องตั้งใจเหมือนที่ครูไมโตตั้งใจสอนด้วย
  • เดี๋ยวอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรจะรายงานในโอกาสต่อไปนะคะ

สวัสดีตอนเช้าครับครูอ้อย

     ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางสถิติ เพราะมีคนเก่งกว่าผมเยอะ เพียงแต่ผมพอจะต้องใช้งานสถิติบ้าง แล้วก็เริ่มต้นจากการไม่รู้ และไม่ชอบสถิติมาก่อน แต่เมื่อถูกบังคับให้ต้องรู้ ก็เลยต้องเริ่้มเข้ามาจับมันอย่างจริงจัง (เลือกสนใจเฉพาะที่เราต้องใช้งาน) แล้วถึงได้รู้ว่ามันมีหลักการของการนำไปใช้ได้ ซึ่งไม่ได้ยากนัก อย่างเช่นข้อมูลแบบไหน ต้องวิเคราะห์แบบไหน ใช้สถิติตัวไหนเป็นต้น แล้วผมจะค่อยๆ ทะยอยนำมาเล่าให้่ฟังครับ แข่งกับซีรีย์หนังเกาหลี

ขอเสนอว่า..
สอนสถิติผ่าน blog   น่าจะดี
เช่นมีโจทย์ตัวอย่างมาให้   แล้วลองให้ทายดูว่า ควรใช้สถิติตัวไหน  เพราะอะไร

เคยใช้ Excel ในการหาค่าสถิติของแบบสออบถาม เช่น

  • ส่วนเบี่ยงเบน (SD) ใช้สูตร =stdev(ช่วงข้อมูล)
  • ค่าเฉลี่ย ใช้สูตร =average(ช่วงข้อมูล)
  • ความถี่ ใช้สุตร =countif(ช่วงข้อมูล,เงื่อนไข)

เหอ ๆ จำได้แค่นี้ เคยใช้ Excel หาสถิติจากแบบสอบถามทั่ว ๆ ไป แล้วก็มีคำนวณอีกแต่จะเป็นเขียนสูตรเข้าไปเอง  ไม่ได้ใช้ฟังก์ชั่น  แต่ปัจจุบันนี้ก็หันมาใช้ Spss อย่างที่คุณไมโต บอกแล้วคะ

ขอบคุณคะ

 

โปรแกรม Excel เหมาะสำหรับการคีย์ข้อมูลเข้าไปครับ ส่วนจะใช้ในการวิเคราะห์ก็ทำได้ แต่ต้องจำสูตรกันพอสมควร ซึ่งหากคุ้นเคยก็สามารถทำได้บน Excel ครับ แต่สำหรับมือใหม่ ผมคิดว่าใช้บน SPSS จะสะดวกกว่า ทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า ก็แค่คลิ๊กเลือกที่ต้องการแล้ว พิมพ์ออกมา จากนั้นไปชงกาแฟสักแก้ว แล้วค่อยกลับมาเอาผลไปนำเขียนสรุป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท