ออกแบบการถอดบทเรียนให้มีความยืดหยุ่นและมีพลวัตรไปกับเงื่อนไขปฏิบัติ


เครือข่ายแกนนำและทีมบริหารของโรงพยาบาลสร้างสุข  โรงพยาบาลละ ๑๕-๒๐ คน ประกอบด้วย โรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก โรงพยาบาลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน  โรงพยาบาลหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการสร้างสุขในโรงพยาบาล ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยเครือข่ายความร่วมมือกันของผู้อำนวยการ ๓ คนของโรงพยาบาล ๓ แห่ง กับสมาชิกทีมผู้บริหารงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรธุรกิจเอกชน ๑ คน อันได้แก่ บริษัทไลอ้อน ประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาพแนวใหม่ (คศน) และมีความสนใจที่จะนำเอาสิ่งที่ได้รับจากหลักสูตรมาทำเป็นโปรแกรมเครือข่ายการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ดำเนินการโรงพยาบาลสร้างสุข ให้เป็นเครื่องมือเชิงกระบวนการและเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ที่จะเป็นปัจจัยหลักนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ดำเนินการนำร่องใน ๓ โรงพยาบาลระดับอำเภอใน ๓ จังหวัดของประเทศ 

จากนั้น ก็ดำเนินการและจัดกระบวนการสนับสนุนให้ทีมบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ได้มาจากกลุ่มบุคลากรสหสาขาโรงพยาบาลละ ๑๕-๒๐ คน เพื่อเป็นทีมเคลื่อนไหวความร่วมมือชุมชนผู้ปฏิบัติภายในองค์กรเรียนรู้ของโรงพยาบาลที่ตนสังกัด และเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ พัฒนาความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาล ให้บรรลุจุดหมายที่ต้องการ ได้รูปแบบ ได้องค์ความรู้  และเกิดเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถชี้นำการปฏิบัติทั้งของตนเองและในระบบสังคมที่ตนเองเกี่ยวข้องด้วยความรู้ที่แยบคาย วิธีสร้างทีมและพัฒนาเครือข่ายจากกลุ่มบุคลากรสหสาขา ทั้งกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และทุกสาขา ทุกระดับปฏิบัติการในโรงพยาบาล ให้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายได้นั้น ดำเนินการโดยเชิญอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ จากสถาบัน Thaicivicnet ให้อบรมพัฒนาศักยภาพให้ ๓ ครั้ง ใน ๓ หลักสูตร ประกอบด้วย 

  • หลักสูตร ๑ Team Learning and Leadership Development 
  • หลักูตร ๒ System Thinking และ
  • หลักสูตร ๓  Personal Mastery  
โดยในการอบรมแต่ละครั้ง ก็จะสรุปบทเรียนของเวทีและวางแผน เพื่อเว้นช่วงให้กลับไปสู่วงจรการทำงานและนำเอาสิ่งที่ได้กลับไปใช้ในชีวิตประจำวันและในวงจรการทำงาน ต่อเนื่องกัน ๓ ครั้งในปีแรก 

จากนั้นก็เป็นช่วงปีที่สองซึ่งจะเน้นการดำเนินการหลอมรวมแนวคิดและประสบการณ์ทั้งมวล ตลอดจนรูปแบบที่ได้สังเคราะห์ขึ้นในระยะแรก ไปทดลองดำเนินการในสถานการณ์จริงของการทำงาน และในปีที่สามก็จะเป็นการวิจัยประเมิน สรุปบทเรียนร่วมกัน  ก่อนที่จะดำเนินการต่อไปอีก กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและการดำเนินชีวิต ในช่วงนี้ ระหว่าง ๒๕-๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ เป็นการอบรมพัฒนาศักยภาพครั้งที่ ๒ ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี 

การอบรมพัฒนาศักยภาพทั้ง ๓ ครั้ง  นอกจากจะมีการเวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพตามหลักสูตรที่ดำเนินการให้โดยอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์แล้ว แต่ละครั้งจะออกแบบให้มีกิจกรรรมการศึกษาดูงานและทัศนศึกษาตามหน่วยงานและองค์กรต่างๆด้วย ซึ่งครั้งที่สองนี้ ได้ศึกษาดูงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการจัดการความรู้เพื่อสร้างความสุขในสถานประกอบการ ๓ แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  การแสดงนิทรรศการและการประชุมนำเสนองานความรู้เพื่อสร้างสุขในหน่วยงานและในสถานประกอบการ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติศิริกิตต์ และโครงการสร้างสุขในองค์กรของบริษัทไลอ้อนประเทืศไทย บริษัทในเครือสหพัฒน์  

หลังการศึกษาดูงาน และก่อนกลับโรงพยาบาลหลังเสร็จสิ้นการอบรม ทีมนักวิจัยและเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งสามแห่ง ต้องการถอดบทเรียนการศึกษาดูงานเพื่อได้แนวคิดและแนวการทำงานกลับไปพัฒนาการดำเนินงาน แต่มีข้อจำกัดด้วยเวลา ผมและทีมวิจัยจึงช่วยดูกระบวนการ  เพื่อให้ทีมวิจัยของโรงพยาบาลและทีมบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของเครือข่าย ได้พิจารณาและวางแผนดำเนินการตามที่ต้องการให้ดีที่สุดเท่าที่เงื่อนไขต่างๆจะเอื้อให้ทำได้ ในที่สุด โดยจะต้องบรรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

  • จำเป็นต้องเดินทางไกลเพื่อกลับตาก แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์ จึงเลิกเย็นไม่ได้ 
  • ต้องไม่กระทบกับกระบวนการแต่เดิมเพื่อพัฒนาศักยภาพตามหลักสูตรของอาจารย์ชัยวัฒน์ซึ่งจะเริ่ม ๙ โมงเช้าและเลิกบ่าย ๒ โมงครึ่ง 
  • ต้องสามารถได้เรียนรู้ให้ลึกซึ้งและอย่างเหมาะสม เพื่อนำกลับไปใช้ทำงานได้พอสมควร 
  • ต้องเป็นโอกาสได้พัฒนาทีมและเครือข่าย 
  • ได้เก็บข้อมูลและบันทึกรายงาน เพื่อนำไปจัดการความรู้พัฒนาตนเอง 
  • ทีมวิชาการของโรงพยาบาล และทีมวิชาการส่วนกลางของเครือข่าย จะสามารถนำไปทำเป็นเอกสารและสื่ออย่างเป็นระบบ นำเสนอต่อหน่วยงานสนับสนุนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ 

เงื่อนไขดังกล่าวในข้างต้นนี้ ได้นำเอามาเป็นโจทย์ระดมความคิด ใช้เวลาประชุมทีมเกือบ ๒ ชั่วโมงในตอนเย็นหลังเลิกการอบรมของวันที่สอง

ในที่สุด เครือข่ายของทั้ง ๓ โรงพยาบาลและทีมวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดลและของเครือข่ายโรงพยาบาล ก็ออกแบบให้ดำเนินการ ๑ ชั่วโมงในตอนเช้าของวันสุดท้าย ก่อนการอบรมก็จะยังเริ่มไปตามปรกติได้ตามกำหนดการเดิมตอน ๙ โมงเช้า กลุ่มผู้เข้าอบรมต้องตื่นแต่เช้าและรับประทานอาหารเช้า ตลอดจนจัดการธุระส่วนตนให้เสร็จเรียบร้อย แล้วพร้อมกันที่ห้องประชุมเร็วกว่าทุกวัน  ๑ ชั่วโมงโดยเริ่มตั้งแต่ ๘ โมงเช้า 

จากนั้น ก็นั่งถอดบทเรียนการศึกษาดูงานจากแหล่งต่างๆที่ต้องการ ด้วยระยะเวลาที่จำกัด แต่เพื่อให้ได้การพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเก็บรวบรวมข้อมูลไปด้วยให้ได้ดีที่สุด ในด้านการถอดบทเรียนและเก็บข้อมูลจึงใช้เครื่องมือและวิธีการต่างๆสำหรับสร้างความรู้แบบ Empirical Knowledge  ประกอบด้วย 

  • แบ่งกลุ่มย่อย ๓ โรงพยาบาล และ ๑ สถานประกอบการของบริษัทไลอ้อน ประเทศไทย เพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลในประสบการณ์ร่วมจากหลายมุมมองของแต่ละคน 
  • การเก็บข้อมูลหลากหลายลักษณะ : บอร์ดฟลิปชาร์ต การบันทึกวิดีทัศน์ การบันทึกภาพและเสียง การเข้าสังเกตการณ์ของทีมวิจัยรายกลุ่มย่อย 
  • ประเด็นหลักของการถอดบทเรียน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการสร้างสุข
  • คำถามย่อยของการถอดบทเรียนเพื่อตอบคำถามเพื่อการเรียนรู้ประเด็นหลักและตอบโจทย์การนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน (๑) เห็นอะไรบ้าง (๒) ได้เรียนรู้อะไรบ้าง (๓) ได้ความคิด และแรงบันดาลใจ เพื่อกลับไปทำงานและดำเนินชีวิตให้มีความสุขได้อย่างไรบ้าง 

                           

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ทีมวิจัยผู้ดำเนินโครงการจากเครือข่าย ๓ โรงพยาบาล และทีมวิจัยของแต่ละโรงพยาบาล ประชุมระดมความคิด ออกแบบกระบวนการถอดบทเรียนร่วมกัน ใช้เวลาชั่วโมงกว่าของเย็นหลังเสร็จสิ้นการอบรมพัฒนาศักยภาพในวันที่สอง

                             

                             

                             

                             

                             

                                             แบ่งกลุ่มย่อย ถอดบทเรียนรายกลุ่มของแต่ละโรงพยาบาล

                             

                             

                             

                             งเ

การเตรียมเครื่องมือและวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลสรุปภาพรวมของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บทเรียนจากการศึกษาดูงานของกลุ่มย่อย ๓ โรงพยาบาล

หมายเลขบันทึก: 531631เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2013 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อาจารย์ครับ

ดูแล้วชอบทั้ง 3 หลักสูตรเลย พบอาจารย์อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ จากสถาบัน Thaicivicnet  ได้อย่างไรครับ


หลักสูตรน่าสนใจมาก

  • หลักสูตร ๑ Team Learning and Leadership Development
  • หลักูตร ๒ System Thinking และ
  • หลักสูตร ๓  Personal Mastery

 (๑) เห็นอะไรบ้าง 

(๒) ได้เรียนรู้อะไรบ้าง 

(๓) ได้ความคิด และแรงบันดาลใจ เพื่อกลับไปทำงานและดำเนินชีวิตให้มีความสุขได้อย่างไรบ้าง 


                                 


ผมพลอยได้การเรียนรู้ใหม่ๆ มากมายครับอาจารย์

เครือข่าย ๓ โรงพยาบาลในประเทศ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทั้งจากโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมเรียกกันว่า เครือข่ายสุขภาพอำเภอ.....หล่มเก่า , ท่าสองายง และ ปางมะผ้า

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
ผมได้มีโอกาสไปร่วมเป็นทีมประเมิน ถอดบทเรียนและวิจัย ให้กับโครงการของเครือข่ายนี้เขาน่ะครับ อาจารย์ชัยวัฒน์ท่านทำหลักสูตรพัฒนาทีมและสร้างศักยภาพให้กับทีมที่จะเป็นแกนหลักดำเนินโครงการระดับเครือข่ายนี้ เมื่อต้องคอยติดตามดู เก็บข้อมูล และมีส่วนร่วมในการสะท้อนการเรียนรู้ หรือให้ข้อมูลแก่เครือข่าย บนกิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการขึ้น ก็เลยได้เจออาจารย์ครับ อาจารย์ขจิตสบายดีนะครับ

สวัสดีครับ Dr.Ple ครับ
เป็นทั้งการหาวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมจากความมีประสบการณ์ของกลุ่ม ที่คิดว่าจะพอเหมาะกับกลุ่มคนทำงาน พร้อมกับพัฒนาโครงสร้างและระบบวิธีทำงานข้อมูลในหัว ให้กลุ่มคนทำงานที่มีส่วนร่วม มีความเป็นทีมวิจัยหรือ Research Team ในเรื่องของตัวเองไปด้วย โดยให้ทำ และในขณะที่ทำ ก็หาวิธีสื่อแสดงให้เห็นมิตินี้ ว่ากำลังสัมผัสกับความเป็นการวิจัยและสร้างความรู้บนการปฏิบัติอย่างเป็นระบบด้วยกระบวนการของระเบียบวิธีวิจัยอยู่อย่างไร โดยไม่ต้องใช้วิธีบรรยาย ใครเห็นและเข้าถึงได้ก็จะได้พัฒนาไปตามศักยภาพตนเอง ใครไม่เห็นก็ได้ทำงานและได้ความมีประสบการณ์อย่างมีโครงสร้าง ซึ่งหากได้สัมผัสอยู่เรื่อยๆบนวิถีการทำงาน สักวันก็มีกำลังเข้าถึงปรากฏการณ์ต่างๆที่นำไปสู่การเรียนรู้และสร้างความรู้จากการปฏิบัติของตนเองได้น่ะครับ ก็คิดและทำไป ตามแต่จะมีกำลังทำให้กันได้ และตามแต่เหตุปัจจัยต่างๆจะเอื้อให้ทำได้น่ะครับ 

สวัสดีครับทิมดาบครับ
ทิมดาบนั้น มักทำให้ประสบการณ์รอบด้านเป็นครูชีวิตการทำงานของตนเอง แล้วก็มีประสบการณ์การทำงานมากมาย ที่เป็นครูให้กับคนอื่นได้อยู่เสมอ เป็นผู้เรียนรู้ และมีความเป็นกัลยาณมิตร เป็นสภาพแวดล้อมให้การเรียนรู้สิ่งดีแก่คนอื่นอยู่เสมอๆ 

สวัสดีครับ ekkapp ครับ
เป็นมุมมองที่ดีมากครับ หากใช้หน่วยพื้นที่เป็นตัวตั้ง แล้วมองระบบสุขภาพและระบบสังคมมิติต่างๆ บนหน่วยพื้นที่เดียวกัน ให้มีความเป็นองค์รวมของระบบสุขภาพและสุขภาวะสังคมทั้งระบบ ไม่ได้อยู่ในหน่วยบริการสุขภาพซึ่งเป็นหน่วยย่อยๆขององค์รวมทั้งระบบเท่านั้น แต่ทำๆไป ก็ขยายกรอบการทำงานให้เชื่อมโยงด้วยการปฏิบัติคงได้

เป็นเครือข่ายหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ ทั้งเรื่องที่ทำ กลุ่มคนที่ทำ และพื้นที่การทำงานของเครือข่าย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท