Acad.-Edu.
นางสาว ธันย์ชนก ปานทะโชติ

โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เรื่อง การเรียนรู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยเทคนิควิจัย “วิทยาศาสตร์เชิงชาติพันธุ์”


หลักการและเหตุผล

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมางานวิจัยท้องถิ่นได้รับความสนใจจากนักวิจัยระดับชาติ และระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชน นอกจากจะสามารถอธิบายถึงความเป็นชุมชนนั้นๆและเปิดเผยให้กับสังคมภายนอกได้รับรู้และเข้าใจแล้ว ชาวบ้านในชุมชนเองยังสามารถที่จะเข้าใจตัวเองเกี่ยวกับสภาพที่เป็นจริง ตลอดจนเข้าใจถึงปัญหาที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่  ดังนั้น ชุมชนที่มีนักวิจัยเข้าไปทำการศึกษาวิจัยจะมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นและได้รับประโยชน์จากการศึกษาวิจัย และแม้ปัจจุบันจะมีชุมชนจำนวนมากที่นักวิจัยชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าไปศึกษาวิจัย  แต่ก็ยังมีชุมชนที่เหลืออยู่อีกไม่น้อยที่ยังรอนักวิจัยที่จะเข้าไปทำการศึกษาอยู่
เป็นที่น่ายินดีว่า งานวิจัยชุมชนได้รับความสนใจจาก หน่วยงานระดับประเทศ  และระดับท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง  สำหรับหน่วยงานระดับประเทศ ได้แก่  หน่วยงาน สกว. (สำนักงานเงินทุนสนับสนุนการวิจัย) หน่วยงาน สคส.  (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม)  ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค นอกจากการศึกษาวิจัยเพื่อนำผลวิจัยมาใช้ในการศึกษาแล้ว ยังมีการผลักดันให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองในลักษณะต่างๆได้แก่ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การวิจัยอย่างมีส่วนร่วม  PAR (Participation Action Research)  การจัดการความรู้  KM  (Knowledge Management)  เพื่อเป็นการเพิ่มพลังให้แก่ชุมชนให้สามารถนำตนเองไปสู่การพัฒนาต่อไป
ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงพบว่าเทคนิควิจัยหลายรูปแบบได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและทำความเข้าใจชุมชน  สำหรับเทคนิควิจัย “วิทยาศาสตร์เชิงชาติพันธุ์” (Ethnoscience) หรือบางครั้งเรียกว่า  “ชาติพันธุ์วรรณาเชิงระบบ” (Systematic Ethnography) ซึ่งเป็นกระบวนการที่นักวิจัยใช้วางแผนเพื่อศึกษาหาข้อมูลจากประชากรกลุ่มต่างๆในชุมชน ด้วยการเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้บอกเล่าหรือแสดงให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องราวของตนเอง แล้วนำข้อมูลที่ได้นั้นมาสร้างระบบ แยกแยะ จัดประเภท และให้กฎเกณฑ์ต่างๆ  เพื่อใช้อธิบายเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ เทคนิควิจัยวิทยาศาสตร์เชิงชาติพันธุ์ (Ethnoscience) นี้สามารถนำมาใช้ผสมผสานกับเทคนิควิจัยอื่นๆ  และช่วยให้มองเห็นวัฒนธรรมที่ศึกษาในแง่มุมที่ลึกซึ้งได้   มากยิ่งขึ้น

ทางคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาระดับภูมิภาคซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่วิจัยภาคเหนือตอนล่าง  ตระหนักถึงความสำคัญในการนำเสนอเทคนิควิจัยนี้ให้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อการเรียนรู้ชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศให้เข้าใจได้ลึกซึ้ง  และนำเอาผลการวิจัยที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านการศึกษาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่ หน่วยฝึกอบรม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. 0 5526 1973 หรือที่ http://www.edu.nu.ac.th/

หมายเลขบันทึก: 53133เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2006 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท