ค้นหา "อัตตา" ... (ผ่านพ้นจึงค้นพบ : เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)


หนังสือ "ผ่านพ้นจึงค้นพบ" ของอาจารย์ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"
เป็นงานเขียนที่ขึ้นคำโปรยว่า "แกะรอยจิตวิญญาณในงานเขียน"

อันเป็นทบทวนย้อนกลับไปยังงานเขียนต่าง ๆ ที่ผ่านมา
ในแนวคิดในช่วงวันเวลาและวัยต่าง ๆ

อ่านแล้วสำนึกตรึกตรองกรองความคิดกับตัวเองที่สุด


แล้วก็ได้ไปพบความหมายของ "อัตตา" กับบท "ลากกระป๋องไปตามซอย"

เป็นการอธิบายอย่างสังเขป แต่ลื่นไหล


ผมจึงอยากจับบางตอนที่เกี่ยวกับ "อัตตา" มานำเสนอ



ลากกระป๋องไปตามซอย


มันมาถึงตั้งแต่เรายังไม่รู้เดียงสา เข้ามาอยู่ข้างในของ คอยบัญชาการให้ทำโน่นทำนี่ บังคับให้ดีใจเสียใจกับเรื่องต่าง ๆ สั่งให้เรามองโลกด้านเดียว และเก็บความทรงจำใส่หัวเฉพาะด้านนั้น นอกจากนี้ยังพาเราไปทะเลาะกับคนอื่น หรือไม่ก็เกลียดชังตัวเอง เราเป็นอย่างที่เป็นอยู่ไม่ได้ และต้องหาอะไรมาลิ้มเร้าอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายมักจมดิ่งอยู่กับความขัดแย้งแบบใดแบบหนึ่ง มีความพอใจอันแสนสั้น แต่เต็มไปด้วยความคับแค้นอันยืดเยื้อ ฯลฯ

ใช่ มันคือสิ่งที่เรียกว่า อัตตา (ego) หรือตัวตน (self) ซึ่งเป็นมายาภาพใหญ่สุดที่มนุษย์มีต่อการดำรงอยู่และนำไปสู่มายาคติต่อสรรพสิ่งที่เหลือ กล่าวอีกแบบหนึ่งคือ มันทำให้เรามองโลกผิดไปจากความจริง โดยเริ่มจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเอง

อัตตามาจากไหน เกาะติดเรามาแต่ครรภ์มารดาใช่หรือไม่? อันนี้เรียนตรง ๆ ว่าผมไม่ทราบ แต่เท่าที่ลองย้อนพินิจดู ก็คงต้องยอมรับว่ามันก่อรูปขึ้นเมื่อเราทุกคนยังเยาว์วัยมาก ดูได้จากการแผดเสียงร้องไห้เรียกความสนใจ แย่งของเล่นกับพี่น้อง เศร้าโศกเสียใจกับเรื่องขี้หมูขี้หมา ตัดพ้อพ่อแม่ว่ารักลูกไม่เท่ากัน ฯลฯ ยิ่งเติมใหญ่ การยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางและเรียกร้องให้โลกขานรับก็ยิ่งหนักหน่วงขึ้นตามกำลัง

จะว่าไปอันนี้แหละที่เป็นลักษณะแรกของอัตตา คือ การมองตัวเองว่าเป็นองค์อิสระแยกออกจากผู้อื่น สิ่งอื่น กระทั่งโลกทั้งโลก สรรพสิ่ง และสรรพชีวิตที่เหลือทั้งปวง ความเข้าใจผิดเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้เรามองไม่เห็นความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่นำมาสู่การก่อเกิด และการดำรงอยู่ของชีวิต และยิ่งมองไม่เห็นการเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนของเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดดับเป็นแค่ปรากฎการณ์ชั่วคราว ไม่มีอันเที่ยงแท้ หรือมีตัวมีตน

พูดภาษาธรรมก็คือ มันทำให้เรามองไม่เห็นสุญตา (ความว่าง) มองไม่เห็นอนัตตา (ไร้ตัวตน) และลืมนึกถึงอนิจจัง (ไม่ยั่งยืน) อันประกอบขึ้นเป็นความจริงของโลก ดังนั้น ความคิดเรื่องตัวกูของกู หรือการมองตัวเองเป็นหน่วยอิสระ ไม่ขึ้นต่อ และไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด โดยเนื้อแท้แล้วคือการคล้องโซ่ห่วงแรกให้กับตัวเอง ซึ่งกลายเป็นพันธนาการล่ามร้อยเราไว้กับภาพลวงตาอื่น ๆ แต่ละวันมันทำให้เราเหมือนเด็กที่ชอบลากกระป๋องไปตามตรอกซอย แล้วพานคิดว่าเสียงพิลึกพิลั่นที่เกิดขึ้นคือ ขบวนแห่อันเลิศหรู

แน่นอน เมื่อมองตัวเองแบบแยกส่วนแล้ว ที่เหลือก็ไหลลื่นไปตามตรรกะของมัน ใช่หรือไม่ว่าพอแรกรุ่นเราเริ่มเปรียบเทียบสูงต่ำกับคนอื่น ต่อมาเริ่มขัดแย้งกับสมาชิกในครอบครัวก่อนจะขยายไปขัดแย้งกับผู้คนภายนอก สิ่งใดสร้างความพอใจเรารัก สิ่งไหนขัดต่อจริตเราชัง จากนั้นเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้เป็นนิยายส่วนตัว สักพักหนึ่งอาจประกาศต่อโลกว่านี่แหละคือความเป็นเรา อัตลักษณ์ของฉันประกอบด้วยความแตกต่างสารพัด ฉันชอบแบบนี้ไม่ชอบแบบนั้น ใครไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะนี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล

ก็ถูก ที่ผมพูดมาทั้งหมดออกจะรวบรัดไปหน่อย อันที่จริงเรื่องของอัตตาสลับซับซ้อนกว่านี้ เช่น การอยากทำดีเพื่อเสริมค่าให้ตัวเองเป็นอัตตาแบบหนึ่ง ในขณะที่การข่มเหงเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นก็เป็นอัตตาอีกแบบหนึ่ง ทั้งสองแบบอาจส่งผลต่อเพื่อนต่างกัน แม้โดยพื้นฐานแล้วจะคล้ายกันตรงที่เอาตนเองเป็นแกนหมุนก็ตาม

...
...
...

หลังจากครองตัวเป็น "นักเดินทาง" อยู่หลายปี ในที่สุดผมจึงเริ่มตื่นตระหนักว่า ชีวิตแท้จริงแล้วไม่ใช่การเดินทาง ความไม่เข้าใจชีวิตต่างหากที่ทำให้ต้องเดินทาง


...............................................................................................................................................................................

คิดตาม ...


เราทุกคน "มี" ใช่ไหม ?


อัตตา


เราเลือกที่จะแบกไว้จนตาย หรือ ปลดปล่อยตอนนี้ดี


สวัสดีวันพระ

บุญรักษา ทุกท่าน


..............................................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือ ...


เสกสรรค์ ประเสริฐกุล.  ผ่านพ้นจึงค้นพบ.  พิมพ์ครั้งที่ ๒.  กรุงเทพฯ : สามัญชน, ๒๕๕๑.


หมายเลขบันทึก: 530929เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2013 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2013 01:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ผมชอบงานอาจารย์เสกสรรมากครับ...สำนวนและเนื้อหาครบรส...ลุ่มลึก...ขอบคุณอาจารย์มากครับที่นำเรื่องราวดีๆ มาชวนให้กระหายอ่านครับ

ขอบคุณกับการทำให้ผมรู้จักอัตตาตนเองได้มากขึ้นเลยทีเดียวนะครับ

เล่มนี้ยังไม่ได้อ่านเลย ของสำนักพิมพ์สมาัญชนนะครับ

ขอบคุณครับที่แนะนำ

ยิ่งแบกอัตตา ยิ่งทุกข์หนัก..ปลดปลงตนจากลาภ ยศ เกียรติสรรเสริญ..โปร่งเบาใจร่มเย็นเป็นสุข..ขอบคุณค่ะ

ดีใจที่แม้มิได้มีโอกาสอ่านทั้งเล่ม...แต่ยังมีโอกาสอ่านสิ่งที่ดีที่สุด(สำหรับวันนี้) ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

ชีวิตแท้จริงแล้วไม่ใช่การเดินทาง ความไม่เข้าใจชีวิตต่างหากที่ทำให้ต้องเดินทาง

อืม...ใช่จริงครับอาจารย์ ประโยคนี้ทำให้ผมทบทวนว่า การเดินทางอย่างรู้ตัวตน ทำให้ชีวิตไม่หลงทางได้ ซึ่งตอนนี้ผมหลงทางมาไกลมากแล้ว กำลังหาทางกลับอยุ่ครับอาจารย์...

ขอบคุณบันทึกดีๆ จะติดตามครับ...

แม้จะเป็นข้อความสั้นๆ  แต่ก็ทำให้เห็นตัวตนได้ชัดเจน ขอบคุณงานเขียนดีๆ ชิ้นนี้ค่ะ คงต้องไปหาอ่าน

ยินดีและขอบคุณครับ คุณหมอ ทิมดาบ 700 ;)...

ยินดีและขอบคุณมากครับ ท่านอาจารย์ ชยพร แอคะรัจน์ ;)...

สำนักพิมพ์สามัญชนครับ ท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง  ;)...

ผมก็ชอบประโยคนี้เช่นกันครับ ท่าน พ.แจ่มจำรัส ;)...

ขอบคุณมากครับ

ยินดีและขอบคุณเช่นกันครับ คุณ พเยาว์ ทักษิณ ;)...

มาตามรอย อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลค่ะ

  •  "...อัตตา คือ การมองตัวเองว่าเป็นองค์อิสระแยกออกจากผู้อื่น สิ่งอื่น กระทั่งโลกทั้งโลก สรรพสิ่ง และสรรพชีวิตที่เหลือทั้งปวง ความเข้าใจผิดเบื้องต้นดังกล่าว ทำให้เรามองไม่เห็นความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่าง ๆ.."
  • ขออนุญาต ลปรร. คะ เข้าใจว่าเด็กเกิดมาคงมีอัตตา (Self center) กันแทบทุกคน อย่างตัวเองตอนเด็กๆ อยากกินเนื้อเค็ม แต่ไม่มี ก็นึกโมโหคนรอบข้างที่กินหมดไปก่อน..โตมาหน่อย ทำในสิ่งทีตัวเองคิดว่าเข้าท่า มีคนชื่นชมยกย่องน้อยกว่าที่หวัง ยกเว้นที่ถูกใจบางส่วน ก็โมโห 
  • ต้องขอบคุณสังคมรอบข้าง ที่ช่วยกล่อมเกลา..


ลปรร. ชัดเจน เปลี่ยนครับ คุณหมอบางเวลา ป. ;)...

ขอบคุณมากครับ

... สุดท้ายมักจมดิ่งอยู่กับความขัดแย้งแบบใดแบบหนึ่ง

มีความพอใจอันแสนสั้น แต่เต็มไปด้วยความคับแค้นอันยืดเยื้อ ฯลฯ


... การอยากทำดีเพื่อเสริมค่าให้ตัวเองเป็นอัตตาแบบหนึ่ง

ในขณะที่การข่มเหงเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นก็เป็นอัตตาอีกแบบหนึ่ง...


.... ชีวิตแท้จริงแล้วไม่ใช่การเดินทาง

ความไม่เข้าใจชีวิตต่างหากที่ทำให้ต้องเดินทาง...


อาจารย์เสกสรรค์ช่างแจกแจงและสรุปได้ถูกใจยิ่งนัก

ถ้า...ไม่มีการทำโจทย์ชีวิตมาเป็นลำดับ

ถามว่า... จะมีคำตอบสุดท้ายไหม?


ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ

ท่านกฤษณะ มูรติ ท่่านนำพาเราศึกษา ให้เริ่มจับตั้งแต่รากของความคิด

ซึ่งเป็นต้นตอของความขัดแย้ง แต่...น้อยคนที่จะใช้วิธีการหยั่งให้ถึงสภาวะนั้น ตามท่านได้

ผู้รู้สมัยใหม่บางท่านจึงเห็นว่า ท่านกฤษณะมูรติ บรรลุธรรมชั้นสูง แต่ไม่มีขั้นตอนให้คนรุ่นหลัง


ผู้รู้ทางตะวันออกเรา ส่วนมาก เข้าถึงสภาวะนี้ด้วยวิธีการหยั่ง แบบเซ็น
แต่... การแจกแจงรายละเอียดของอัตตาได้อย่างชัดเจน กลายเป็นนักถอดบทเรียนทางตะวันตก



อ.เสกสรรค์ ผ่านบทเรียนที่เรียนรู้จากภายนอก จนสุดทาง

แล้วย้อนกลับมาตามเก็บภายใน จึงชัด


บทเรียนส่วนตัว เนื้อๆ คือเมื่อนิ่ง แต่หยั่งไม่ถึงรากความคิด ก็เป็นผลึกอัตตา อีกรูปแบบหนึ่ง

พอขยับตัว จึงเห็นว่า ตัวตน...อัตตา หนาหลายชั้นกว่าคนเดินทาง (น้ำนิ่ง เน่าเลยอะ)

เหมือนน้ำนิ่งกับน้ำไหล... น้ำไหล...อย่างน้อยก็ผ่านหินเกร็ดหินกรวด

พบความเจ็บปวดของการยึดมั่นถือมั่น... สะท้อนให้มีการถอดตัวถอดตนเป็นระยะๆ


... โจทย์จริงวันนี้...เมื่อไม่มีระบบ เป็นกรอบควบคุม ผลักดันไม่มีฯลฯ

จึงชัดว่า จะต้องสะสาง...อัตตากี่ชั้น ... ช้า... แต่กล้าๆ ทนดู...ความเป็นไปให้เต็มตา

การไม่สนองความต้องการบางอย่าง เป็นการฟังเสียงหัวใจข้างใน

คล้ายสัญญาณเตือนภัยว่า...การเดินหน้า คือระเบิดเวลา ฝังกลบตัวเอง

โอ้... ความเห็นยาวจัง ลงดื้อๆนี่หละ :))

ถ้าอ.วัส แลกเปลี่ยนความคิดตอบ น่าจะได้แลกเปลี่ยนอีกค่ะ

ขอบคุณ บันทึกที่น่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สุดนี้มากนะคะ

ขอบคุณครับ คุณ  Tawandin ;)....

สุดท้าย คือ การค้นพบด้วยตัวของเราเอง ;)...

ปล่อย อัตตา ตอนนี้เลยยยยยยยย

แต่... มันคอยแอบกลับมาอยู่เรื่อย แบบเนียนๆ ไม่ค่อยรู้ตัวเสียด้วยซี...  :)

เค้าเรียก "มาแบบค่อย ๆ" นะครับ คุณ หยั่งราก ฝากใบ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท