Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ธุรกิจประกันชีวิตสนใจพิจารณารับประกันคนถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และบัตรชนกลุ่มน้อยตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรแล้วค่ะ


พวกเขาทั้งหมดก็มีสถานะเป็น “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People)” โดยภูมิลำเนา (Domicile) ซึ่งลมหายใจของเขาย่อมสร้างสรรค์แผ่นดินอาเซียน ดังนั้น ความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของเขาก็ “ควร” ได้รับการดูแลโดยธุรกิจประกันชีวิตไทย คิดถูกแล้วค่ะที่สมาคมประกันชีวิตไทยริเริ่มความคิดดีๆ เช่นนี้ค่ะ ขอขอบคุณมากๆ ค่ะ ประชาชนอาเซียนทุกคนควรมีความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพค่ะ ....สุดยอดมากค่ะ

นโยบายศึกษา : สมาคมประกันชีวิตไทยกำลังพิจารณารับประกันชีวิตให้แก่คนถือบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนและชนกลุ่มน้อย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อวิเคราะห์กฎหมายและนโยบายด้านการจัดการประชากร

เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151557013243834

-----------------------------------------------

เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ คุณปริญญา  สันติพงษ์ ผู้ประสาน คณะอนุกรรมการพิจาณารับประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย ได้อีเมลล์เชิญ อ.แหวว เป็นวิทยากรในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนและชนกลุ่มน้อย” 

ซึ่งคุณปริญญาอธิบายว่า งานสัมมนาตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า “เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทย มีแรงงานต่างด้าวมากขึ้น รวมทั้งผู้หลบหนีเข้าเมือง และชนกลุ่มน้อยบนพื้นที่สูง ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่ต่ำกว่า ๓ – ๔ ล้านคน ผู้พิจารณารับประกันภัย ของบริษัทประกันชีวิต จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพื่อทราบถึงความเป็นมาของแต่ละกลุ่ม สิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย รวมถึงปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับการพิจารณารับประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น” 

งานสัมมนาจะจัดในวันพุธที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.”  

เป็น “ข่าวดีมาก” สำหรับ “เหล่าคนไร้สัญชาติที่มีสถานะเป็นราษฎรไทย” และพวกเขาเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยเลยอาจจะเป็น “คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สิทธิดังกล่าวต่อกรมการปกครอง” และไม่ว่าพวกเขาจะมีสิทธิในสัญชาติของรัฐใด พวกเขาทั้งหมดก็มีสถานะเป็น “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People)” โดยภูมิลำเนา (Domicile) ซึ่งลมหายใจของเขาย่อมสร้างสรรค์แผ่นดินอาเซียน ดังนั้น ความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของเขาก็ “ควร” ได้รับการดูแลโดยธุรกิจประกันชีวิตไทย คิดถูกแล้วค่ะที่สมาคมประกันชีวิตไทยริเริ่มความคิดดีๆ เช่นนี้ค่ะ ขอขอบคุณมากๆ ค่ะ ประชาชนอาเซียนทุกคนควรมีความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพค่ะ

แนวคิดทางธุรกิจแบบนี้เป็นเรื่องของธุรกิจเพื่อสังคม (Business for Society) ทั้งนี้ เพราะธุรกิจในลักษณะนี้จะไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นในแก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำงานในประเทศไทย และจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมในประเทศไทย ธุรกิจในลักษณะนี้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการเอง (๒) ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งยังมีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย จนไม่อาจเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพในลักษณะที่พอเพียง และ (๓) ผลประโยชน์ทางสังคม อันเกิดจากความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพของประชากรของรัฐไทย 

ข้อสังเกตอีกประการ ก็คือ บันทึกนี้อาจจะเป็นครั้งแรกที่ อ.แหวว มีโอกาสบันทึกถึง “นโยบายของภาคเอกชน” ในการจัดการประชากร เรื่องนี้เป็นแนวคิดของนักธุรกิจประกันชีวิตที่รวมตัวกันภายใต้ “สมาคมประกันชีวิตไทย” เป็นเอนจีโอทางธุรกิจก็ว่าได้ เมื่อกฎหมายเอกชนไทยก็รับรองสิทธิในเสรีภาพที่จะทำสัญญาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และกฎหมายขัดกันไทยก็ยอมรับให้ใช้กฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ของไทยเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับความสามารถที่จะทำสัญญา หากบุคคลดังกล่าวตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย อันทำให้มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทย แต่ด้วยความเป็น “บุคคลไร้เอกสารรับรองตัวบุคคล” (Undocumented Person) ของคนดังกล่าวจึงอาจทำให้ตกเป็น “บุคคลที่ไม่อาจพิสูจน์ทราบตัวบุคคลได้ (Unidentified Person)”  แต่เมื่อรัฐไทยใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่บุคคลดังกล่าวใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ  (๑) การบันทึกรายการสถานะบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และ (๒) การให้เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และ (๓) การออกบัตรประจำตัวให้ถือแสดงตัว ดังนั้น ในระหว่างที่การแก้ไขปัญหาการรับรองสถานะสัญชาติของบุคคลดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จลง จึงมีความเป็นไปได้ที่บุคคลดังกล่าวจะมีพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคล 

....สุดยอดมากค่ะ

-----------

หมายเหตุ

-----------


บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ออกโดยอาศัยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่เป็นไปตามด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  ๑๘  มกราคม  ๒๕๔๘  ว่าด้วยยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลไร้สถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม  โดยให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร  และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสอง  และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร  พ.ศ. ๒๕๓๔ 


หมายเลขบันทึก: 530924เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2013 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2013 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นความรู้ใหม่ครับอาจารย์...ขอนำข้อมูลไปแจ้งต่อนะครับ

สิ่งที่ผมคิดก็คือ เอกสารที่จะพิสูจน์ตนของผู้รับผลประโยชน์ตามกรรมธรรม์ กรณีผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร  หรือมีเอกสารทางทะเบียนแต่ถูกจำหน่ายรายการ ในการยื่นขอรับผลประโยชน์นั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท