สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 6: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคกษัตริย์สตรีแห่งปัตตานี: ราชินีอูงู


      พุทธศักราช 2167  มเหสีม่ายอูงูแห่งเจ้านครปะหัง ได้รับสถาปนาเป็นกษัตริยาองค์ที่ 3 แห่งบัลลังก์นครปัตตานี พระนางคือตำนานบทแรกแห่งรักเพื่อแผ่นดิน เกิดเมื่อครั้งที่พระพี่นางฮีเจาทรงมีบัญชาให้เสกสมรสกับเจ้าผู้ครองนครปะหัง เพื่อรักษาอำนาจของนครปัตตานีเหนือคาบสมุทรมลายู. เกือบ 3 ทศวรรษนับแต่นั้น พระมเหสีอูงูมิได้มีโอกาสคืนกลับมาเยือนมาตุภูมิอีกเลยจวบจนปลายรัชสมัยของพระพี่นางฮีเจา ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ได้ว่าเจ้าหญิงอูงู ขมขื่นหรือปรีดากับการต้องจากมาตุภูมิ สำหรับการเป็นตำนานรักบทแรกเพื่อแผ่นดินที่มีพระพี่นางฮิเจาเป็นผู้กำกับ

       เมื่อราชินีบีรูขึ้นครองบัลลังก์นครปัตตานี มเหสีอูงูพาพระราชธิดากูนิงเสด็จกลับมาประทับที่ปัตตานี ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท เนื่องเพราะราตูบีรูมิได้เสกสมรส มเหสีอูงูถวายความจงรักภักดีแก่พระพี่นางโดยมิได้ทรงแข็งขืนคัดค้าน เมื่อราตูบีรูพระราชทานเจ้าหญิงกูนิงให้เสกสมรสกับออกญาเดโช เพื่อสานสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยา

      ในราชพิธีฉลองการเสกสมรสอลังการระหว่างเจ้าหญิงกูนิงกับออกญาเดโช ไม่มีผู้ใดคาดเดาพระหทัยของมเหสีม่ายแห่งรัฐปะหังได้ว่าเป็นเช่นไร พระมเหสีสงบนิ่งอยู่ในความเงียบ ยอมรับพระบัญชาขององค์กษัตริยาบีรู ขณะที่เจ้าหญิงกูนิงนั้นเยาว์วัยเกินกว่าที่จะคิดถึงกาลภาคหน้าแห่งชีวิตสมรส. พระนางอูงูทรงนิ่งสงบอยู่ในหนทางแห่งการทูต เพื่อแผ่นดินตราบจนสิ้นรัชสมัยของราชินีบีรู

     หากพลันที่ขึ้นครองบัลลังก์ปัตตานี ขุนนางและพสกนิกรจึงประจักษ์แจ้งถึงความในพระหทัยของราชินีอูงูว่า ทรงเกลียดชังสยามเพียงใด พระนางทรงตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงศรีอยุธยา ไม่ยอมรับคำนำหน้าพระนาม "พระนางเจ้าหญิง" ที่กษัตริย์สยามทรงเรียกขานเจ้านครหญิงของปัตตานีตั้งแต่รัชสมัยของพระพี่นางฮีเจา ทรงยุติการส่งบุหงามาศราชบรรณาการไปถวายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ทั้งยังส่งกองทัพไปตีเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราชที่อยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาด้วย

     แผ่นดินปัตตานีในรัชสมัยของราชินีอูงูระอุไปด้วยไฟสงครามผสานไฟแค้นในพระหทัย ราชินีอูงูทรงเตรียมพระนครเพื่อการพร้อมรบอยู่เสมอ ทรงมีบัญชาให้สร้างกำแพงเมือง 10 ชั้น ล้อมพระนครเพื่อป้องกันการโจมตีของกรุงศรีอยุธยา ป้อมปราการริมฝั่งน้ำปาปีรี ณ เวลานั้นถูกประดับด้วยปืนใหญ่ที่พร้อมจะสาดกระสุนใส่ข้าศึกตลอดเวลา

      ช่วงปลายรัชสมัย องค์กษัตริยาทรงท้าทายพระราชอำนาจของเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ด้วยการประทานเจ้าหญิงกูนิงผู้เป็นภรรยาของออกญาเดโชให้เสกสมรสกับเจ้านครยะโฮร์

      การเปิดศึกรบจากตำนานรักนี้ ทำให้แผ่นดินปัตตานีลุกเป็นไฟ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยามีพระราชบัญชาให้ออกญาเดโชนำกองทัพประกอบด้วยไพร่พลกว่าครึ่งแสนมาตีเมืองปัตตานี ราชินีอูงูทรงออกบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง มีสุลต่านยะโฮร์ ราชบุตรเขยพระองค์ใหม่นำทหารจากนครยะโฮร์ร่วมรบ ด้วยความแข็งแกร่งของกำแพงบีรู หัวใจสู้ของข้าแผ่นดิน และปืนใหญ่ศรีนครา ศรีปัตตานี และมหาเลลา ผสมกับการขาดประสบการณ์การรบทางทะเลของกองทัพกรุงศรีอยุธยา ทำให้ออกญาเดโชต้องถอยทัพกลับไปด้วยหัวใจแหลกสลาย 18 เดือนหลังการศึก ราชินีอูงูสิ้นพระชนม์ ทิ้งบัลลังก์ปัตตานีไว้ให้พระธิดากูนิงครอบครอง

      เมื่อกล่าวถึงสงครามเกิดสงครามใหญ่ๆระหว่างปัตตานีกับสยามเกิดขึ้น2ครั้งในสมัยราชินีอูงู ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2166-2178 สงครามครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2175 และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2176 ต่อเนื่องกันจนถึงปี พ.ศ. 2177  การโจมตีครั้งที่สองของสยาม ในขณะที่ปัตตานีได้รับความช่วยเหลือจากบรรดารัฐมลายูเช่นรัฐยะโฮร์และปาหัง แต่ในช่วงเวลานี้ปัตตานีมีความเข้มแข็ง และมั่นคง สามารถเห็นได้จากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของราชินีอูงู ในการต่อต้านสยามโดยได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระนางกล่าวหาว่ากษัตริย์แห่งอยุธยาในขณะนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นผู้ร้าย และเป็นฆาตกรผู้ฆ่ากษัตริย์ที่แท้จริง ดังนั้นจึงไม่มีความเหมาะสมในการเป็นกษัตริย์

      สำหรับการเผชิญกับการโจมตีของสยามต่อปัตตานี ราชินีอูงูได้ระดมกำลังพลกองทัพถึง23,000คน เสริมด้วยการช่วยเหลือจากกลันตัน,ปาหัง, และโยโฮร์ กองทัพนี้มีกำลังทั้งหมด30,000คน ด้วยการดำเนินการวางแผนเช่นนี้ ทำให้สามารถป้องกันการโจมตีของสยามได้ทั้งสองครั้งต่อมาได้มีการดำเนินการทางการทูตเกิดขึ้น เพื่อสร้างความปรองดองระหว่างปัตตานีกับสยาม คณะทูตหนึ่งจากสยามได้เดินทางมายังพระราชวังปัตตานีในปี พ.ศ. 2179เพื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ปัตตานีองค์ใหม่คือ ราชินีกูนิงให้ขอโทษอาณาจักรสยาม พร้อมให้ส่งเครื่องราชบรรณาการ หลังจากหยุดขาดไปในสมัยราชินีอูงู

       ชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) มาเยือนปัตตานีสมัยนั้น ได้เขียนว่า"เมืองปัตตานีมี 43 แคว้น รวมถึงตรังกานูและกลันตัน แต่เมื่อโอรสของสุลต่านยะโฮร์ได้อภิเษกกับราชธิดา ของรายาปัตตานี เมือง ตรังกานูก็เข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของยะโฮร์ สุลต่านยะโฮร์ได้ส่งขุนนางคนหนึ่งไปครองที่นั่น ปัตตานี จึงเหลือเพียง 42 แคว้น....ปัตตานีมีเมืองท่าสองแห่งคือ กวาลาปัตตานี(เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเรียกว่ากวาลารา หรือกวาลาโต๊ะอาโก๊ะ) และกวาลาบึเกาะฮฺ(ปากน้ำปัตตานีปัจจุบัน...)...พลเมืองปัตตานีในขณะนั้น มีชาย ผู้มีอายุเกิน 16 ปี รวมทั้งสิ้น 150,000 คน เมืองปัตตานีมีผู้คนหนาแน่น เต็มไปด้วยบ้านเรือน นับเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่ง จากประตูราชวังจนถึงหมู่บ้านบานา(บันดัร)มีบ้านเรือน ไม่ขาดไม่สาย ถ้าหากแมวตัวหนึ่งเดินบนหลังคาบ้านเหล่านั้น จากราชวังจนถึงปลายสุด มันจะเดิน ได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องเดินบนพื้นดินเลย..." ในปี พ.ศ. 2178 รานีอูงูสิ้นพระชนม์ และรานีกูนิงขึ้นครองเมืองปัตตานีต่อ


หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล, กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข. ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ). ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชน

มุสลิมจังชายแดนภาคใต้. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.


หมายเลขบันทึก: 522469เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท