อายุยืน สุขภาพดี มีความสุข


ปัจจัยที่จะนำไปสู่การมีอายุยืนสุขภาพดีและมีความสุขนั้น ล้วนอยู่ในวิสัยที่ท่านจะจัดการเองได้ทั้งสิ้น

ท่านอยากมีอายุยืนสุขภาพดี และมีความสุขหรือไม่ ถ้าอยาก มีคำตอบอยู่ในหนังสือ Aging Well โดยGeorge E. Vaillant (2003) เนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าวมาจากผลการศึกษาพัฒนาการผู้ใหญ่(Adult development) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่อ้างว่าเป็นการศึกษาพัฒนาการผู้ใหญ่แบบมีการติดตามผลไปข้างหน้ายาวนานที่สุดในโลก

กลุ่มประชากรหลักของการศึกษาครั้งนี้คือบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จำนวน 268 คน มีการติดตามกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สองในช่วงปีค.ศ.1939 – 1942 จนถึงทุกวันนี้ มีการประเมินสุขภาพของคนเหล่านี้เมื่ออายุ 75 ปี โดยประเมิน 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ (1) สุขภาพทางกายที่แพทย์เป็นผู้ประเมิน  (2) สุขภาพทางกายจากการประเมินตนเอง(3) ระยะเวลาที่อยู่ในสภาพช่วยตนเองไม่ได้ (Disability)(4) สุขภาพจิต (5) การเกื้อหนุนทางสังคม (6)ความพึงพอใจในชีวิตจากการประเมินตนเอง แล้วนำผลมาจัดแบ่งเป็นสี่กลุ่ม

      กลุ่มที่หนึ่งเรียกว่า กลุ่มสบายดี-มีความสุข (Happy-well)มี 62 คน เป็นผู้ที่ไม่เคยอยู่ในสภาพช่วยตนเองไม่ได้เลยแม้จะอายุ80 ปีแล้วก็ตาม (มีเสียชีวิตก่อนอายุครบ80 ปีเพียงคนเดียว) เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆการเกื้อหนุนทางสังคมอยู่ในระดับสูงสามในสี่ของภาพรวม สุขภาพจิตอยู่ในระดับสูงสามในสี่ของภาพรวมและความพึงพอใจในชีวิตอยู่ในระดับสูงสองในสามของภาพรวม

      กลุ่มที่สองเรียกว่า กลุ่มไม่สบาย-เป็นทุกข์(Sad-sick) มี 40 คน เป็นกลุ่มที่อยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้(Objective or subjective) อย่างน้อยห้าปี และถูกประเมินว่า “ไม่มีความสุข” อย่างน้อยหนึ่งด้าน ในเรื่อง สุขภาพจิตการเกื้อหนุนทางสังคม หรือความพึงพอใจในชีวิต

      กลุ่มที่สามเป็นผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร(มีอายุไม่ถึง 75 ปี) มี60 คน

      กลุ่มที่สี่เป็นกลุ่มที่เหลือมีลักษณะปนๆกันไป ดีบ้างไม่ดีบ้าง

ความสนใจมุ่งไปที่ความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่หนึ่งสบายดี-มีความสุข และกลุ่มที่สอง ไม่สบาย-เป็นทุกข์โดยย้อนกลับไปดูข้อมูลสมัยก่อนอายุ 50 ปี เพื่อดูว่า มีปัจจัยอะไรบ้างขณะอายุ50 ปีหรือก่อนหน้านั้น ที่สัมพันธ์กับการเป็นผู้มีสุขภาพดีและมีความสุขในวัย75 ปี ก็พบว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่หกประการตามลำดับความชัดเจนของความสัมพันธ์ ดังนี้

       1. ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกตั้งแต่ยังหนุ่ม(ผู้ที่เลิกสูบก่อนอายุ45 ปีไม่พบผลเสียในวัย 70-80 ปี กลุ่มเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมีความชุกของการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มสบายดี-มีความสุขสิบเท่า)

       2. แก้ปัญหาชีวิตด้วยกลไกการปรับตัวที่เหมาะสม(Adaptive coping style, mature defenses) เช่น รู้จักใช้วิธีมองหาประโยชน์จากปัญหา(Turn lemon into lemonade) ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่(Turn molehills into mountains) และการรู้จักให้อภัยเป็นต้น

       3. ไม่มีปัญหาจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์(ดื่มฯแบบมีปัญหาหมายถึงเคยมีปัญหากับคู่สมรส ครอบครัว ที่ทำงาน กฎหมาย และปัญหาสุขภาพเพราะการดื่มฯเป็นเหตุ) 

       4. น้ำหนักตัวไม่เกิน(มีผลต่อสุขภาพทางกาย)

       5. มีชีวิตสมรสที่ราบรื่น (มีผลต่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตและสังคม)

       6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (มีผลต่อสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตและสังคม)

 

เนื่องจากบัณฑิตฮาร์วาร์ดมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่าคนทั่วไป(IQ เฉลี่ย 130-133) จึงได้ศึกษาเปรียบเทียบกับคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเยาวชนในยุคเดียวกันจากชุมชนในเมืองบอสตันซึ่งเป็นกลุ่มผู้เสียเปรียบทางสังคม (สมัยนั้นยังเป็นคนผิวขาวร้อยละ 99 เหมือนกับนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่สมัยนั้นเป็นคนผิวขาวร้อยละ100) จำนวน 456 คน (IQ เฉลี่ย 95) พบว่าสุขภาพของกลุ่มชุมชนในเมืองแย่กว่าบัณฑิตฮาร์วาร์ดอย่างชัดเจนเช่น ก่อนอายุ 50 ปีคนกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเป็นสองเท่ามีน้ำหนักตัวเกินมากเป็นสามเท่า และสุขภาพทางกายของกลุ่มชุมชนในเมืองที่อายุ 70ปีแย่เท่ากับกลุ่มบัณฑิตฮาร์วาร์ดที่อายุ 80 ปีเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกลุ่มสบายดี-มีความสุขกับกลุ่มไม่สบาย-เป็นทุกข์ระหว่างกลุ่มชุมชนในเมืองด้วยกันก็พบว่าสุขภาพสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆดังกล่าวข้างต้นเช่นเดียวกัน (ยกเว้นเรื่องออกกำลังกายซึ่งข้อมูลกลุ่มชุมชนในเมืองไม่ชัดเจนพอที่จะนำมาคำนวณระดับการออกกำลังกาย) และพบว่ามีปัจจัยสำคัญแถมมาอีกหนึ่งข้อ คือ

        7. ได้รับการศึกษามากกว่า 12 ปี (ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือมีกลุ่มชุมชนในเมืองอยู่ 29 คนที่ได้รับการศึกษาจบชั้นปริญญาตรีปรากฏว่าสุขภาพของ 29 คนนี้เมื่ออายุ 70 ปีไม่มีความแตกต่างไปจากสุขภาพของบัณฑิตฮาร์วาร์ดที่อายุเท่ากันเลย ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการศึกษา)

โปรดสังเกตว่า ปัจจัยเรื่องสูบบุหรี่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำหนักตัวเกิน และออกกำลังกาย เป็นปัจจัยที่รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่ามีความสำคัญต่อสุขภาพที่น่าจะเป็นความรู้ใหม่คือ ข้อ 2. แก้ปัญหาชีวิตฯ ข้อ 5. มีชีวิตสมรสที่ราบรื่นและข้อ 7. การศึกษาฯ (โปรดดูหมายเหตุ)

เรื่อง แก้ปัญหาชีวิตฯจากการศึกษานี้พบว่าเมื่อคนมีอายุมากขึ้นมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นส่วนมากมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเช่น ให้อภัยคนได้ง่ายขึ้น รับเรื่องร้ายๆในชีวิตได้ง่ายขึ้นเรื่องที่เคยทำให้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟก็ไม่โกรธขนาดนั้นอีกแล้ว เป็นต้นโดยสรุปก็คือคำนึงถึงตัวเองน้อยลงและคำนึงถึงคนอื่นมากขึ้น   

เรื่อง มีชีวิตสมรสที่ราบรื่นความสำคัญอยู่ที่คู่สมรสเป็นผู้เกื้อหนุนทางสังคมที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด ผู้ที่ไม่มีคู่สมรสอาจทดแทนได้ด้วยการมีเพื่อนหรือญาติที่สนิทกันมากพอที่จะเป็นผู้ให้ความเกื้อหนุนทางสังคมได้ทัดเทียมกัน

สำหรับเรื่อง การศึกษาฯ นั้นไม่มีใครแก่เกินไปที่จะเรียนรู้   

ท่านที่อยากอายุยืนสุขภาพดีและมีความสุขคงจะได้คำตอบแล้ว และน่าจะสังเกตเห็นด้วยว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่การมีอายุยืนสุขภาพดีและมีความสุขนั้นล้วนอยู่ในวิสัยที่ท่านจะจัดการเองได้ทั้งสิ้น

อำนาจศรีรัตนบัลล์

14มีนาคม 2556

หมายเหตุ

มีข้อมูลที่อาจช่วยเสริมให้เห็นความสำคัญของปัจจัยข้อ 2. แก้ปัญหาชีวิตฯ ข้อ 5. มีชีวิตสมรสที่ราบรื่น และข้อ7. การศึกษาฯ

จากการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย พ.ศ. 2551-2553 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ (http://www.nso.go.th) ได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม(มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยใช้ข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ ซึ่งเป็นแบบมาตรฐานของกรมสุขภาพจิตขอยกข้อมูลเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้

(1) ในภาพรวมทั้ง 3 ปี พบว่าผู้ที่สมรสมีสุขภาพจิตดีที่สุด รองลงมา คือ คนโสดในขณะที่ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตแต่งงาน (หย่า และแยกกันอยู่)มีระดับสุขภาพจิตต่ำที่สุด [ข้อนี้ช่วยสนับสนุนข้อ 5.ชีวิตสมรสที่ราบรื่น]

(2) ระดับการศึกษาและสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันทั้ง3 ปี นั่นคือผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าจะมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าโดยผู้ที่มีการศึกษาในระดับ อุดมศึกษามีสุขภาพจิตดีที่สุด และผู้ที่ไม่มีการศึกษา/ศึกษาต่ำกว่าประถมมีสุขภาพจิตต่ำสุดทั้ง3 ปี [นี่ก็สนับสนุนข้อ 7.การศึกษา]

(3) เมื่อพิจารณาข้อถามสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น(15 ข้อ) จะสามารถจำแนกคะแนนสุขภาพจิตออกเป็นองค์ประกอบหลักได้ 4 ด้าน [ได้แก่ 1. สภาพจิตใจ - สภาพจิตใจที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์2. สมรรถภาพของจิตใจ – ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นการจัดการกับปัญหาต่างๆ 3. คุณภาพของจิตใจ - ลักษณะที่ดีงามของจิตใจ 4. ปัจจัยสนับสนุน – การทำงาน รายได้ ครอบครัว ชุมชน ศาสนา]จากการสำรวจในปี 2553 เมื่อแปลงคะแนนในแต่ละด้านให้เป็นร้อยละ พบว่าปัจจัยสนับสนุนเป็นองค์ประกอบที่เข้มแข็งที่สุด (ร้อยละ 82.2)ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่มีความผูกพันกันเป็นอย่างมากเนื่องจากองค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว ชุมชน และศาสนา ในทางตรงกันข้าม องค์ประกอบที่อ่อนแอที่สุดคือ สมรรถภาพของจิตใจ (ร้อยละ 63.3)ซึ่งองค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่า การที่คนไทยจะมีระดับสุขภาพจิตดีขึ้น ควรมุ่งพัฒนาสมรรถภาพของจิตใจเป็นหลัก [น่าจะช่วยยืนยันความสำคัญของข้อ2. แก้ปัญหาชีวิต]

หมายเลขบันทึก: 522468เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท