ต้นแจ้ง..จากไม้ป่าสู่ไม้ประดับสวน



ต้นแจ้ง....ต้นไม้ที่ไม่ธรรมดา

ต้นไม้ที่ถ่ายรูปมาฝากนี้ ใครจะเรียกอย่างไรก็ตามทีเถอะ  แต่ผมขอเรียกว่า “ต้นแจ้ง” ไว้ก่อน เหตุนำมาเขียนก็เพราะต้นแจ้งต้นนี้ เกิดอยู่บนที่ดินหน้าบ้านผมมานานเท่าใดยากจะคะเน  คนแก่ในหมู่บ้านที่บอกว่าเดินผ่านไม้ต้นนี้มาตั้งแต่เด็ก ก็ล้มหายตายจากไปหลายคนแล้ว  เอาละ ตอนนี้มันกลายเป็นไม้ประดับบ้านโดยไม่ได้ตั้งใจ แขกที่มาเยี่ยมบ้านผม มักจะค้ำสะเอวดูที่ลำต้น กิ่งก้านของมัน เอ่ยคำชมว่า “ลำต้นสวยเหมือนงานประติมากรรม” ผมเคยเดินชมแหล่งขายพันธุ์ไม้ใหญ่ในเมือง เจ้าของบอกว่านักเลงไม้ประดับพากันหาซื้อกันต้นละหมื่นสองถึงสองหมื่นแล้วแต่ความสวย  ผมคิดว่าถ้าอายุมันไม่ล่วงเลยมาเป็นศตวรรษแล้ว อาจได้ขุดไปขายแก้จนสักวัน

ที่จริงต้นแจ้งนี้ คนภาคอีสานก็เรียกต้นแจ้งบ้าง ต้นแจงบ้าง บางท้องถิ่นก็เรียกต้นแก้ง เมื่อเปิดดูศัพท์ทางพฤกษศาสตร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Maerua siamensis (Kurz) Pax. เป็นพืชในวงศ์ Asclepiadaceae  ดูที่คำ siam… แล้ว ก็พอจะเดาได้ว่า เป็นไม้ที่เกิดมาคู่แผ่นดินสยามโดยแท้  ในภาคอีสานพบในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าแดง เป็นไม้ทนแล้งและชอบแสงแดด ออกใบทรงพุ่มหนา กิ่งก้านแผ่สาขาให้ร่มเงา ร่มรื่นดีมาก จึงไม่แปลกใจ เมื่อมันออกดอกออกผลในราวเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จะมีฝูงนกเอี้ยง นกเขา มาเกาะกินผลสุกเสียงระงมไปหมด  ก่อนออกดอกมันจะผลัดใบ จากใบแก่สีเขียวเข้มเป็นใบอ่อนสีเขียวอ่อน ช่วงที่เป็นยอดใบอ่อน ชาวบ้านนิยมเด็ดไปดองเป็นผักดอง รสชาติคล้ายผักกุ่มดอง รับประทานกับน้ำพริก เชื่อว่าผักดองนี้มีสรรพคุณบำรุงกล้ามเนื้อตา ไม่ให้สายตายาวเร็วกว่าปกติ เท็จจริงอย่างไรผมไม่กล้าเอา “ตา” มาทดลอง  ได้แต่ทึกทักเอาว่า เนื่องจากที่ทำให้คน “ตาแจ้ง” นี่กระมังที่ทำให้มันชื่อว่า “ต้นแจ้ง”

ความสงสัยในชื่อ “ต้นแจ้ง” ยังไม่จบง่ายๆ เมื่อผมได้สนทนากับคุณปู่อดีตพรานล่าหมูป่ามือฉมังคนหนึ่ง จึงทราบว่า ต้นแจ้งนี้ถ้าแห้งจะเป็นไม้ไวไฟ เวลามีเทศกาลงานบุญ ต้นแจ้งจะถูกตัดมาเผาเป็นถ่าน  ถ่านไม้แจ้งนี้คุณภาพสูงมาก ชาวบ้านจึงนิยมนำมาตำผสมดินประสิว ขี้ค้างคาว ทำเป็นดินปืน บรรจุปืนแก๊ป  หรือทำพลุ  ตะไล  บั้งไฟ ดังนั้นในหน้าแล้งอากาศแห้ง เมื่อเกิดไฟป่าตีนภูหรือบนภู จุดใดที่ไฟป่าโหมรุนแรง จนสว่างจ้า มองเห็นแต่ไกล คนรุ่นปู่ย่าตายายรู้ดีว่า จุดที่ไฟลุกแรงนั้น คือตำแหน่งของต้นแจ้ง  ด้วยเหตุนี้ต้นแจ้งที่เกิดในป่าจริงๆ จึงเหลือน้อย ปัจจุบันจะปรากฏให้เห็นในที่รกร้าง หรือที่สาธารณะ เช่น เขตทางหลวง  ป่าช้า  ในวัดป่า ที่โตเต็มที่และมีลำต้นอวบสวยก็อาจถูกขุดไปขายเป็นไม้ประดับบ้านหรือรีสอร์ท จนนับวันจะหายากขึ้นและมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมทึ่งที่สุดก็คือ ผมเคยตัดแต่งกิ่งของต้นแจ้ง แล้วนำไปกองสุมไว้กลางสวน พอได้ 4-5 แดด ผมก็รีบจุดไฟเผาไม่ให้รกตา  ผมตกใจ!!!  ไฟลุกแรงมาก  หากไม่เป็นที่กลางแจ้งคงเอาไม่อยู่แน่  ผมสรุปได้ในนาทีนั้นเอง นี่แหละ “ต้นแจ้ง !!” และอยากจะเรียกว่า  Lighting Tree จริงๆ...


หมายเลขบันทึก: 522412เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2013 06:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2013 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท