การวิจัยเชิงคุณภาพ (๕): การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเขียนบทความจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ” ตอน หลักการเขียน และ ข่วง Prewriting


ก่อนเป็นนักเขียน ต้องเป็นนักอ่าน อ่านให้หลากหลาย...อ่าน อ่าน และอ่าน

ผู้เขียนเคยเล่าประสบการณ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การวิจัยเชิงคุณภาพ" ไว้หลายบันทึก ได้แก่ ครั้งที่ 1

ตอนที่ 1 เกริ่นนำเรื่อง “การวิจัยเชิงคุณภาพ"

ตอนที่ 2 บทเรียนจากการอ่านตำราอาจารย์

ตอนที่ 3 ความจริงกับงานวิจัยเชิงคุณภาพ

และ ครั้งที่ 2 เรื่อง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการ"

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา จัดโดยหน่วยระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


คราวนี้เป็นครั้งที่ 3 ประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเขียนบทความจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ" โดยครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และระยะที่ 2 ในวันที่ 11-12 มีนาคม 2556 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 18 อาคาร สว. 1

นำบรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมา


ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล

อาจารย์กล่าวถึงความสำคัญของการนำผลงานวิจัยออกเผยแพร่ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ “...ใครไม่เผยแพร่ผลงาน ถือว่าผิดจริยธรรมนักวิจัย เพราะการวิจัยที่ได้ดำเนินการมักได้รับเงินทุนสนับสนุนและเวลา..."

ผู้เขียนเก็บประเด็นที่อาจารย์บรรยายไว้เพียงบางส่วน ในรายละเอียดศึกษาได้จากหนังสือ และเอกสารวิชาการของอาจารย์ ที่มีมากมายค่ะ

นี่ผู้เขียนก็ได้หนังสือของอาจารย์ไว้ครอบครองอีกเล่มหนึ่งแล้ว



เนื้อความจากการบรรยายขยายความของอาจารย์

“หลักการเขียนบทความจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ"

มีขั้นตอนการเขียนบทความ (ตามหลักสากล/นานาชาติ) ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 Prewriting: เป็นช่วงการ “คิด (think)" ต้องคิดเพื่อวางแผน ว่า

- จะเขียนเรื่องอะไร?

- จะเขียนให้ใครอ่าน? : เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางการเลือกวารสาร และสำนวน ภาษาที่ใช้ในวารสารนั้น

- ในงานวิจัยเชิงคุณภาพ 1 เรื่องไม่สามารถรายงานให้เสร็จใน 1 บทความได้ แต่จะแยกเป็นบทความกี่เรื่องนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

การเลือกเรื่องจากงานวิจัยเชิงคุณภาพมาเขียนบทความสามารถเลือกได้จาก 3 ส่วนของเนื้อหางาน ดังนี้

1. Review Literatures

2. Methodology : สามารถนำมาเขียนได้แม้ขณะกำลังดำเนินการวิจัย เพราะระหว่างการสังเกตก็สามารถ discuss ไปด้วยได้

3. Result : สามารถดึงประเด็นที่ “เน้น (highlight)" มาเขียนได้ ซึ่งมักสอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์

บทความการวิจัยไม่ใช่การย่อวิจัย ดังนั้นจึงควรไฮไลท์เป็นเรื่อง ๆ แล้วบอกว่า “... บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง........................."

ขั้นตอนที่ 2 Writing: ลงมือเขียน

- เขียนไปก่อน เขียนอะไรก็ได้ (ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราคิด)

- นำมาอ่านทวน

- นำมาให้เพื่อนๆช่วยดู

ขั้นตอนที่ 3 Revising: เพื่อทำให้งานเขียนดีขึ้นกว่าเดิม

- นำข้อเสนอแนะมาทบทวน แล้วเขียนใหม่

- ปรับประโยค ปรับคำพูด

- บางส่วนของเนื้อหาต้องตัดออก... บางส่วนต้องปรับเพิ่มเข้ามา

- การเขียนบางคำเป็นคำรุงรัง บางครั้งเขียนมากไป อาจารย์ใช้คำว่า “เวิ่นเว้อร์" ... เขียนอย่าให้ “เวิ่นเว้อร์"

- กลับมาอ่านซ้ำให้ได้ความเชื่อมโยง ต่อเนื่อง ไม่สะดุด

ในส่วนนี้ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์เรื่อง “เวิ่นเว้อร์" จึงต้องใช้วิธีเขียนทิ้งไว้ แล้วหันหลังให้สักพัก สัก 2-3 วัน เคยทิ้งไว้ถึงเดือนก็มี แล้ววกกลับมาอ่านใหม่ เขียนใหม่ บางคราวอ่านของตัวเอง ยังเคยต่อว่าตัวเองว่า “...เขียนไปได้ไง (วะ) อ่านเองยังไม่เห็นรู้เรื่องเลย นับประสาอะไรที่จะให้คนอื่นอ่านรู้เรื่อง..."




อาจารย์ถ่ายทอด เทคนิคการเขียนของอาจารย์ ไว้ให้พวกเราทราบดังนี้

- สร้างบรรยากาศการเขียนตามแบบของตน

- อาจารย์ชอบ เหลาดินสอให้แหลม (เปี๊ยบ) ไว้หลายๆแท่ง และเขียนบนกระดาษสีนวลๆ

- ผู้เขียนต้องคิดเอง เขียนเอง ดังนั้นก่อนเป็นนักเขียน ต้องเป็นนักอ่าน อ่านให้หลากหลาย...อ่าน อ่าน และอ่าน

- ต้องเขียนถูกหลักภาษา : ต้องอ่านหนังสือที่เป็น formal คนที่อ่านหนังสือหลากหลายจะมีต้นทุนเยอะ อาจารย์กล่าวว่า “... อ่านไปเถอะ เราจะมีภาษาสะสม แล้วดึงมาใช้ได้"

- ต้องอ่าน อ่านให้หลากหลาย จะได้ความกว้างของงาน วิจัยเชิงคุณภาพใช้ “ภาษาที่แสดงความกว้าง" มาก เป็นวาทกรรม เป็นอำนาจของภาษา ซึ่งต่างจากการอ่านด้านวิชาการ ที่จะได้เชิงลึก

- “...ไม่สาย ที่จะเริ่ม..."

ขั้นตอนที่ 4 Proofreading: เป็นช่วงของการพิสูจน์อักษร เป็นระยะการทำให้ถูกต้องที่สุด ทั้งรูปประโยคและคำต่างๆ

ขั้นตอนที่ 5 Publishing: เป็นการนำผลงานสู่สาธารณชน เผยแพร่งาน

- วิจัยฉบับสมบูรณ์จะมีชื่อผู้ร่วมวิจัยครบทุกคน แต่บทความวิจัยมีชื่อเฉพาะผู้ที่มีส่วนร่วมในการเขียนบทความเรื่องนั้นๆ

- ให้ตกลงกันก่อนว่า วิจัยเรื่องนี้จะเขียนกี่บทความ โดยใครบ้าง ลำดับชื่อกันอย่างไร

- ใครที่มีชื่อในบทความใด ต้องรับผิดชอบในเนื้อหาสาระของบทความนั้น ๆ

- สิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือ “ไปขอมีชื่อ" ถ้าคุณไม่มีส่วนร่วมใด ๆ เลยในงานวิจัยนั้น

- อย่าไปมีชื่อในบทความ หากไม่เห็นในเนื้อหา เพราะต้องรับผิดชอบในงานนั้น

- การเรียงลำดับชื่อผู้วิจัย ประเภทที่ 1) ชื่อแรกมีความสำคัญมากที่สุด ชื่อที่ 2-3 รองลงมา ประเภทที่ 2) เรียงตามตัวอักษร ถ้าชื่อภาษาอังกฤษ ให้เอานามสกุลขึ้นก่อน ประเภทนี้ต้องบอกกล่าว (declare) ว่าใคร มีส่วนร่วมทำอะไร


โดยสรุป

1. เลือกประเภทของวารสาร ต้องศึกษาว่า วารสารที่ต้องการนำผลงานไปตีพิมพ์เป็นอย่างไร?

2. อ่านคำแนะนำ รูปแบบและรายละเอียดการเขียนตามข้อแนะนำ แล้วปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

3. การกำหนด theme การเขียนไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ละงานมีความแตกต่าง จำกัดเพียงว่าให้เป็นไปตามข้อมูลที่ค้นพบ

4. การ highlight เป็นสิ่งสำคัญในการเขียนบทความนั้นๆ

และที่สำคัญ อย่าลืมว่างานวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการ “ Explore" เรื่องนั้นๆ สิ่งที่ได้จึงเป็น “ข้อค้นพบ (Finding)" การนำเสนอจึงเป็นตรรกะ


อ้อ...

ผู้เขียนได้พรจากอาจารย์ที่กรุณาเขียนไว้ให้ในหนังสือเป็นกำลังใจอีกด้วย


ดีใจจริง...


... จบข่าว ...

(ไปทำการบ้านที่อาจารย์ให้ไว้ดีกว่า เพราะในวันที่ 11-12 มีนาคม จะเป็นตอนที่ ๒ "ทดลองทำจริง" ค่ะ)


กฤษณา สำเร็จ

2 มีนาคม 2556

หมายเลขบันทึก: 521176เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2013 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณครับที่สรุปหลักการไว้อย่างดี จากประสบการณ์ของผมนั้น

- เห็นด้วยว่าอ่านให้มากๆ แล้วเรียนรู้จากผลงานที่ท่านอื่นๆเขียน แล้วปรับส่วนที่เห็นว่าดี เหมาะสมและเข้ากับสไตล์ตัวเองมาปรับใช้

- สไตล์การเขียนนั้นสำคัญ ว่าสไตล์ไหนที่คนทั่วไปในวงการชื่นชอบ สไตล์ไหนที่ไม่ค่อยชอบ เรียนรู้และพิจารณาว่าตัวเองปรับสไตล์ไปสู่แนวที่คนส่วนใหญ่ชอบได้ไหม  การชอบหมายถึง อ่านง่าย เข้าใจง่าย

- ไฮท์ไลท์ คือส่วนที่สำคัญสุด หลายท่ายจะบรรยายก่อนแล้วสรุป ไฮไลท์ บางท่าน ขึ้นมาก็ใส่คำสรุปหรือไฮไลท์เลยแล้วมาบรรยาย อธิบาย ผมคิดว่าเป็นเสน่ห์ ของการเขียน แต่การอธิบายต้องกระชับ ตรงๆและใคร่ครวญคำที่ใช้ให้ชัดเจน หากจะอ้างอิงก็ต้องทำให้ชัดเจน
- ส่วนตัวผมชอบทำ flowchart ประกอบ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจง่ายและเห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปด้วย

ชอบบันทึกนี้ครับ...

ขอขอบพระคุณ พี่บางทรายค่ะ ที่ช่วยนำประสบการณ์ตรงถ่ายทอดเพิ่มเติม ได้เห็นรายละเอียดทำให้แนวทางการเขียนบทความวิจัยเชิงคุณภาพในมุมผู้ปฏิบัติจริงมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีกค่ะ... 

ขอบคุณค่ะพี่

ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ ขอบคุณพี่ติ๋วมากๆ

มาเชียร์พี่ติ๋ว....และคารวะอาจารย์แม่ศิริพรครับ...ท่านสุดยอดมากครับ...ยิ่งผนวกกับท่านอาจารย์อรุณ...ทำให้ผมเกือบหล่นลงเวที....แต่ท่านทั้งสองทำให้ผมมีวันนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท