ผายลม


ผายลมเป็นเรื่องธรรมชาติ เช่นเดียวกับการเรอ ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่เป็นเรื่องที่ถือกันว่าน่ารังเกียจจึงเป็นปัญหา จำเป็นต้องหาทางควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น

ในภาวะปกติธรรมดาเราทุกคนมีลมผ่านออกมาทางทวารหนักวันละลิตรกว่าๆ (1200 ซีซี) เนื่องจากทยอยกันออกมาเราจึงไม่รู้ตัว ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีลมปริมาณมากออกมาด้วยความเร็วสูงจนเรารู้สึกได้ (ที่น่าเดือดร้อนกว่าคือคนอื่นพลอยรู้สึกไปด้วย)เรียกว่า ผายลม ในความเป็นจริงผายลมเป็นเรื่องธรรมชาติเช่นเดียวกับการ เรอ ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ แต่เป็นเรื่องที่ถือกันว่าน่ารังเกียจจึงเป็นปัญหาจำเป็นต้องหาทางควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น การควบคุมความเร็วลมทำได้ยากแต่การควบคุมปริมาณลมทำได้ง่ายกว่า

เรื่องผายลมมีคนสนใจศึกษาไว้ลึกซึ้งพอสมควร จากผลการวิเคราะห์ประเภทของแก๊ส(แก๊สเป็นภาษาเทคนิคมีความหมายจำเพาะมากกว่าลม แก๊สหมายถึงลมแต่มิได้หมายถึงการเคลื่อนที่ของลมแต่ลมหมายถึงการเคลื่อนที่ของแก๊สและหมายถึงแก๊สด้วย) ที่ออกมากับผายลมทำให้บอกได้ว่าแก๊สของผายลมมีที่มาจากสองแหล่งใหญ่  

แหล่งที่หนึ่งคืออากาศที่เราหายใจนี่แหละ ที่รู้ว่าเป็นอากาศเพราะพบแก๊สไนโตรเจนในปริมาณสูง(ที่อุตส่าห์เรียนมาจากโรงเรียนว่า อากาศประกอบด้วยไนโตรเจนร้อยละ 80และออกซิเจนร้อยละ 20 ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้เอง) และถ้าได้อ่านเรื่อง “เรอ”มาแล้ว ก็น่าจะจำได้ว่า คนเรากลืนอากาศกันทุกคน ส่วนที่กลืนเข้าไปถ้าไม่ถูกเรอออกมาก็เดินทางต่อเข้าสู่ลำไส้ ออกซิเจนเป็นแก๊สที่ถูกดูดซึมได้ง่ายจึงถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแทบหมดไนโตรเจนเป็นแก๊สที่ถูกดูดซึมได้ยากจึงคงอยู่ในลำไส้ เดินทางต่อไปจนกระทั่งถูกขับออกทางทวารหนักผายลมจึงมีแก๊สไนโตรเจนในปริมาณสูง โชคยังดีที่ไนโตรเจนเป็นแก๊สไม่มีกลิ่น (แต่ก็พากลิ่นอื่นๆออกมาบ้าง) เมื่อมีเหตุทำให้กลืนบ่อยและเรอออกมาไม่หมดก็จะกลายเป็นผายลม

แหล่งที่สองคือการผลิตแก๊สในลำไส้ใหญ่ลำไส้ใหญ่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่อย่างเป็นมิตรกับคน ใช้กากอาหารที่คนย่อยไม่ได้และไม่ต้องการแล้วเป็นอาหารผลพลอยได้จากการย่อยอาหารของแบคทีเรียคือน้ำและแก๊สหลายชนิด บางชนิดไม่มีกลิ่นเช่น ไฮโดรเจนถูกดูดซึมได้ดีและขับออกทางปอด แก๊สส่วนใหญ่มีกลิ่นไม่สู้ดีแต่ก็ไม่ถูกดูดซึม(โชคดีไป ไม่เช่นนั้นเราคงจะเดือดร้อนกับลมหายใจของตนเอง) และถูกขับออกมาทางทวารหนัก คนที่ท้องผูกประเภทหลายๆวันถ่ายครั้งไม่ควรแปลกใจว่าอุจจาระหายไปไหนหมด อุจจาระที่ไม่ได้ถ่ายออกมาจะถูกแบคทีเรียนำไปใช้เป็นอาหารได้เกือบทั้งหมดผลผลิตที่เหลือเป็นน้ำและแก๊ส และก็ไม่ควรแปลกใจอีกเช่นกันว่าทำไมจึงผายลมบ่อย อย่างไรก็ตามควรทราบด้วยว่าแบคทีเรียพวกนี้ยังช่วยผลิตวิตามินและสารอาหารอีกหลายชนิดที่ลำไส้ดูดซึมไปใช้ประโยชน์จะได้ไม่นึกรังเกียจแบคทีเรียเหล่านี้มากเกินควร ถ้ามองทางด้านเทคนิค ลำไส้ใหญ่ก็เป็นแหล่งผลิตแก๊สชีวภาพขนาดย่อมที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งนั่นเองถ้าแหล่งผลิตได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง (ในที่นี้หมายถึงผลิตแก๊สได้มาก)ก็จะผลิตแก๊สมากขึ้นเป็นพิเศษ เช่น อาหารประเภทถั่ว (รวมทั้งนมถั่วเหลือง) กระเทียม หัวหอม ผักตระกูลกะหล่ำ(กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก รวมถึงบร็อคโคลี)และนมสด (มีน้ำตาลแล็กโตส)ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นสารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่คนย่อยไม่ได้หรือย่อยไม่หมดเมื่อเดินทางมาถึงลำไส้ใหญ่ก็จะเป็นอาหารพิเศษของแบคทีเรียได้แก๊สเป็นผลผลิตมากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ 

  สรุปว่า การผายลม ไม่ใช่ความผิดปกติ การผายลมบ่อยๆก็เป็นความผิดปกติเล็กๆน้อยๆความสำคัญอยู่ที่ความน่ารังเกียจเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียง เสียงเกิดจากลมปริมาณมากผ่านที่แคบออกมาอย่างรวดเร็ว(ถ้าเปรียบเทียบกับการเป่าแตรน่าจะเข้าใจได้ดี) ส่วนที่พอจะควบคุมได้คือปริมาณลมใครที่มีปัญหาอาจสำรวจตนเองว่ามีปัญหาลมมากจากแหล่งผลิตใดถ้าเกิดจากการกลืนโปรดอ่านเรื่อง “เรอ” ถ้าเกิดจากอาหารบางประเภทที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ต้องลดปริมาณอาหารเหล่านั้น(โปรดสังเกตว่าแนะนำให้ลด ไม่ได้แนะนำให้เลิก)

  ถาม – การดื่มน้ำอัดลมมากๆจะทำให้ผายลมบ่อยหรือไม่

  ตอบ – ไม่เนื่องจากแก๊สในน้ำอัดลมคือคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อน้ำอัดลมเข้าสู่กระเพาะอาหารคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในรูปของกรดคาร์บอนิกและที่ละลายอยู่ในน้ำ จะสลายตัวเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำให้รู้สึกว่าท้องพองจนทำให้เรอได้ สักครู่เดียวก็หมด แก๊ส คาร์บอนไดออกไซด์ถูกดูดซึมได้ง่ายมากส่วนที่ไม่ถูกเรอออกมาจึงถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและถูกขับออกมาทางลมหายใจอย่างรวดเร็วไม่มีเหลือพอที่จะผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่ได้ น้ำอัดลมจึงไม่เกี่ยวกับผายลม (โทษอันแท้จริงของน้ำอัดลมอยู่ที่น้ำตาล)

  ถาม – ถ้านมสดทำให้ผายลมบ่อยหากงดนมสดก็จะขาดอาหารที่ดีไป

  ตอบ – หนึ่งโปรดสังเกตว่าแนะนำให้ลดไม่ได้แนะนำให้เลิก (เช่นครั้งละครึ่งแก้ววันละสองครั้ง ก็เท้ากับได้วันละหนึ่งแก้ว โดยปัญหาจะลดลงเหลือน้อยกว่ากว่าหนึ่งแก้ววันละครั้ง) สอง ดื่มนมเปรี้ยวแทนมีสารอาหารดีๆของนมอยู่ครบถ้วนส่วนที่ขาดไปคือน้ำตาลแล็กโตสซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดแก๊ส แต่มีส่วนที่เกินมาคือน้ำตาล(มากไปก็อาจทำให้เกิดโรคอ้วน) บริษัททำนมเปรี้ยวบางบริษัทเริ่มลดปริมาณน้ำตาลลงแล้วจาก 8% เป็น 5% เป็นต้นหรือใช้โยเกิร์ตชนิดจืดแทนก็ได้   

  ถาม - การงดถั่ว (รวมทั้งนมถั่วเหลือง) กระเทียม หอม กล่ำ ก็ทำให้ขาดอาหารดีไปอีกหลายอย่าง รวมทั้งขาดผักหลายชนิด

  ตอบ – ย้ำอีกครั้งแนะนำให้ลดไม่ได้แนะนำให้เลิก คนที่รับประทานอาหารเหล่านี้จนผายลมบ่อยๆมักจะเกิดจากการรับประทานมากเกินไป เช่น ใช้กระเทียมเป็นยา (ปริมาณมาก) แทนที่จะใช้เป็นอาหาร (ปริมาณน้อย) เป็นต้น การรับประทานในขนาดพอประมาณไม่น่าจะมีปัญหาอนึ่งการรับประทานผักมีหลักอยู่แล้วว่า ควรรับประทานให้หลากหลายชนิดหลากหลายสี จะได้ประโยชน์มากกว่าชนิดเดียวมากๆ

อำนาจศรีรัตนบัลล์

17 กุมภาพันธ์ 2556


หมายเลขบันทึก: 519845เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2018 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท