เรอ


สงสัยว่าลมมาจากไหนมากมาย เรอเท่าไรก็ไม่หมด อ่านเรื่องนี้แล้วคงคลายสงสัยได้บ้าง ที่แน่นอนกว่าคือคนที่เรอบ่อยๆ อ่านจบเรื่องแล้วจะเรอลดน้อยลงอย่างชัดเจน

เรอ หมายความว่าลมจากกระเพาะอาหารออกมาทางปาก (ผายลม ก็เป็นเรื่องลมเหมือนกัน และเป็นเรื่องวุ่นวายพอกันต้องแยกไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก) บางคนเรอสั้นบางคนเรอยาว บางคนเรอไม่มีเสียง บางคนเรอเสียงดัง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นบางคนรำคาญกลิ่นหรือกลัวคนอื่นได้กลิ่น บางคนเรออยู่ได้ทั้งวันน่ารำคาญทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น สงสัยว่าลมมาจากไหนมากมาย เรอเท่าไรก็ไม่หมดอ่านเรื่องนี้แล้วคงคลายสงสัยได้บ้าง ที่แน่นอนกว่าคือคนที่เรอบ่อยๆ อ่านจบเรื่องแล้วจะเรอลดน้อยลงอย่างชัดเจน

ถัดจากปากและคอลงไปเป็นท่อยาวผ่านตลอดอกเรียกว่าหลอดอาหารลงไปต่อกับกระเพาะอาหารในท้อง บริเวณที่หลอดอาหารต่อกับกระเพาะอาหารเป็นหูรูดหรือวาว(Valve) ปกติวาวนี้ปิดอยู่เสมอ และจะเปิดอัตโนมัติเมื่อมีการกลืนไม่ว่าจะกลืนอาหาร กลืนน้ำ กลืนน้ำลาย หรือแม้แต่กลืนเปล่าๆ (โดยมีอากาศหรือลมตามไปด้วย) เมื่ออาหาร น้ำ หรือลมผ่านเข้ากระเพาะอาหารแล้วจะย้อนกลับขึ้นมาไม่ได้เว้นเสียแต่วาวจะเปิดให้ผ่านเป็นกรณีพิเศษ

กระเพาะอาหารกว้างขวางพอสมควรถ้าเราอยู่ในท่านั่งหรือยืน อาหารจะอยู่ในส่วนล่างสุด ถัดขึ้นมาเป็นน้ำและลมตามลำดับตามความหนาแน่นซึ่งเป็นกฎทางฟิสิกส์ ในกรณีที่ความดันภายในกระเพาะอาหารสูงมาก (ผนังกระเพาะตึง)ก็อาจปรับความดันได้ด้วยการเปิดวาวเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ลมซึ่งอยู่ส่วนบนสุดใกล้กับวาวถูกขับผ่านหลอดอาหารออกมาทางปากเรียกว่าเรอ การเรอจึงเกิดขึ้นเฉพาะในท่านั่งยืนหรือเดินจะไม่มีการเรอในท่านอนเนื่องจากลมย้ายมาอยู่บริเวณหน้าท้อง ของที่อยู่ใกล้วาวคืออาหารและน้ำหากวาวเปิดอาหารและน้ำผ่านออกมาก็จะทำให้คนสำลัก คนจึงไม่เรอในท่านอน ทำให้เรารู้ความจริงข้อที่หนึ่งว่าเรอนั้นควบคุมได้ คนที่เรอดุเดือดที่สุดที่ผมเคยเห็นมาเป็นนักธุรกิจหนุ่มใหญ่เวลาคุยกับลูกค้าหรืออยู่ในห้องประชุมหลายๆชั่วโมงก็ไม่เรอ เมื่ออยู่ตามลำพังหรืออยู่ที่บ้านจะเรอไม่ยั้งแสดงให้เห็นว่าการเรอนั้นควบคุมได้ แต่การกลั้นเรอไว้นานๆก็ทำให้อึดอัดไม่สบายถึงกับใช้คำว่ามัน“ทรมาน”

กระเพาะอาหารทำหน้าที่เป็นที่พักของอาหารเพื่อรอการทยอยส่งต่อเข้าสู่ลำไส้เล็กอาหารมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากการผสมกับกรด แต่การย่อยเกิดขึ้นในกระเพาะน้อยมากถือว่าไม่มีความสำคัญจึงไม่มีการสร้างแก๊สหรือลม (ยกเว้นในกรณีดื่มน้ำอัดลมที่กรดคาร์บอนิกสลายเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์) ถ้าวิเคราะห์ลมที่อยู่ในกระเพาะอาหารก็จะพบว่าส่วนประกอบเหมือนอากาศเราจึงควรรู้ความจริงข้อที่สองว่า ลมในกระเพาะอาหารมาจากอากาศที่เรากลืนเข้าไปดังนั้น เรอจึงไม่มีกลิ่นอะไรเป็นพิเศษ นอกจากกลิ่นอาหารที่รับประทานมื้อก่อนหน้านั้น และมีความเปรี้ยวของกรดปนเล็กน้อย และอาจกล่าวต่อไปเป็นความจริงข้อที่สามว่าคนที่เรอบ่อยๆคือคนที่กลืน (อากาศ) บ่อยๆ (ถ้ายังไม่เชื่อก็อาจบันทึกโทรทัศน์วงจรปิดโฟกัสที่ลำคอจะเห็นการขยับขึ้นลงของลูกกระเดือกบ่อยกว่าคนทั่วไป หรือง่ายกว่านั้นให้เพื่อนคอยแอบสังเกตดูก็ได้ผลเช่นเดียวกัน)ปัญหาน่าจะเหลือเพียงว่า ทำไมคนบางคน (ที่เรอบ่อยๆ)จึงต้องกลืนบ่อยๆ

สาเหตุของการกลืนบ่อยๆมีสองประเภทได้แก่ ประเภทชัดเจนกับประเภทไม่ชัดเจน

ประเภทชัดเจน เช่นเคี้ยวหมากฝรั่งทำให้กลืนบ่อยสักพักจะเรอ และผู้ที่เป็นโรคอะไรก็ตามที่เป็นเหตุให้รู้สึกอึดอัดรำคาญบริเวณคอหรืออกจะทำให้กลืนบ่อยๆเพื่อแก้รำคาญก็อาจทำให้เรอบ่อยได้ เช่นโรคแพ้อากาศที่ทำให้ระคายคอเป็นประจำ หรือโรคหัวใจขาดเลือดที่ทำให้อึดอัดในอก เป็นต้น

ประเภทไม่ชัดเจน (ส่วนมากอยู่ในประเภทนี้) ก็เกิดจากความรู้สึกอึดอัด อัดอั้น หรือรำคาญเหมือนกันเพียงแต่ไม่ชัดว่ารำคาญอะไรกันแน่ แต่ก็แก้รำคาญด้วยการกลืน ถ้าหาเวลาว่าง ใช้ความคิดพิจารณาสักเล็กน้อยก็อาจค้นพบว่าอึดอัดอัดอั้นหรือรำคาญอะไร

ปัญหาถัดไปคือ การเรอมีอันตรายหรือไม่ตอบได้ว่า ลำพังการเรอไม่มีโทษ คนทั่วไปย่อมมีการกลืน (น้ำลาย)เป็นระยะๆอยู่แล้ว มีลมตามเข้าไปด้วย และบางครั้งการรีบดื่มน้ำหรือกลืนอาหารก็มีลมตามไปบ้างทุกคนจึงมีสิทธิเรอบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารมื้ออร่อยแต่ก็น่าจะเรอครั้งเดียวเลิกการเรอบ่อยๆจนมีน้ำ (ผสมกรดกระเพาะอาหาร) ย้อนตามขึ้นมาด้วย จะระคายหลอดอาหาร อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบได้ และการอักเสบของหลอดอาหารก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้อึดอัดรำคาญบริเวณอกเป็นเหตุให้กลืนและเรอมากขึ้น

           สรุปว่า การเรอเป็นธรรมชาติการเรอนานๆครั้งเป็นธรรมดา แต่เรอบ่อยๆไม่ดี ถ้าอยากแก้ไขควรทำดังต่อไปนี้

1. อย่าพยายามเรอ (แต่ถ้าเรอออกไปแล้วก็แล้วกันไป ตามกลับมาไม่ได้แล้ว) ที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะการเรอเป็นทักษะอย่างหนึ่ง คือ ทักษะการเปิดวาวยิ่งทำก็ยิ่งชำนาญ อาจกลายเป็นนิสัยได้ ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าก่อนเรอจะมีการกลืนแถมอีกสักสองสามครั้งเพื่อเพิ่มความดันภายในกระเพาะให้เพียงพอที่จะดันให้วาวเปิดนั่นคือยิ่งเรอก็ยิ่งกลืน และยิ่งกลืนก็ยิ่งเรอ เป็นวงจรไม่รู้จบ ทำให้เกิดปรากฏการณ์“เรอเท่าไรก็ไม่หมด”

2. จิบน้ำเปล่าคำเล็กๆ แทนการเรอเพื่อแก้ความอึดอัดรำคาญที่คอและอก ใช้น้ำเย็นหรืออุ่นก็ได้ แล้วแต่รสนิยมและความสะดวกน้ำจะช่วยล้างกรดที่ย้อนกลับขึ้นมาได้อีกด้วย การจิบน้ำบ่อยๆไม่มีโทษอะไร (ควรจิบช้าๆลมจะได้ไม่แอบตามเข้าไป)

3. การเรอหลังอาหารแก้ไขได้ง่าย ด้วยการลดปริมาณอาหารเฉพาะมื้อที่ตามด้วยอาการเรอหรือแม้เพียงแต่ลดปริมาณน้ำที่ดื่มหลังอาหารก็ช่วยได้มาก แล้วแก้หิวด้วยการรับประทานของว่างที่เป็นของเหลวๆเช่น นมเปรี้ยวหรือน้ำผลไม้หลังอาหารไปแล้วหนึ่งหรือสองชั่วโมง เรื่องกลิ่นก็แก้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารซึ่งเป็นที่มาของกลิ่นนั้นๆเฉพาะในระยะที่มีอาการเรอบ่อยๆและไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้กลิ่น

4. การเรออาจเป็นการระบายอารมณ์ที่อัดอั้นอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรอยาวและเสียงดัง คงมีความหมายคล้ายถอนใจ เรอแล้วรู้สึกโล่งและผ่อนคลายการเรอด้วยความพึงพอใจเป็นครั้งคราวอย่างนี้ น่าจะยอมรับได้ว่ามีโทษน้อยกว่าประโยชน์

5. ถ้าหาวิธีคลายอารมณ์ด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่าได้เรอก็จะน้อยลง แม้เพียงการรับรู้ว่าอะไรทำให้เรอก็จะทำให้เรอน้อยลงไปได้บ้างแล้วที่เหลืออยู่อาจไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อน

อำนาจศรีรัตนบัลล์

8 กุมภาพันธ์ 2556






เรื่องต่อไปน่าจะเป็นเรื่อง ผายลม


หมายเลขบันทึก: 518918เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2018 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านสนุกดีค่ะ อาจารย์ จะได้เอาไว้สังเกตทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย แต่เป็นคนไม่ค่อยเรอ นึกไม่ออกว่าเรอครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ด้วยซ้ำค่ะ ^__^

ผมไม่เคยเรอได้เองเลยครับ นอกจากเวลาเผลอๆครับ นานๆจะเรอที เรอไม่เป็นมีผลเสียไหมครับ

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

พยายามมองในแง่ดีพบว่า การเรอมีประโยชน์เล็กน้อยในสองกรณี หนึ่ง อึดอัดเรอแล้วสบายขึ้นแม้จะชั่วคราวก็ตาม และสอง การเรอเสียงดังใช้ผ่อนคลายอารมย์ และเรียกร้องความสนใจได้ แต่การเรอก็มีผลเสียตามมาดังกล่าวไว้ในบทความ หักลบกันแล้วผลดีน้อยกว่าผลเสีย จึงขอสรุปว่า ไม่น่าจะกล่าวว่าการเรอไม่เป็นมีผลเสีย

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท