การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร :๘. นร. พัฒนาการเรียนให้รู้จริง(Mastery Learning) ได้อย่างไร



          บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย 

          ตอนที่ ๘ นี้ มาจากบทที่ 4  How Do Students Develop Mastery?  

          บันทึกตอนที่ ๘อธิบายหลักการเรื่องหลักการของการเรียนให้รู้จริง(Mastery)และตอนที่๙ว่าด้วยเรื่องเทคนิคที่ครูช่วยเอื้ออำนวยให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ในระดับรู้จริง

          สาระสำคัญในหนังสือบทที่ ๔  และในบันทึกตอนที่ ๘ และ ๙ ตรงกับหลักการ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ว่าการเรียนรู้ต้องไม่หยุดอยู่แค่ทราบเนื้อหาหรือทฤษฎี  ต้องสามารถนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้  การประยุกต์ใช้เป็นในระดับช่ำชอง คือไม่ต้องคิด  เรียกว่าบรรลุผลการเรียนรู้ระดับ mastery 

          นำไปสู่หลักการว่า การศึกษาสมัยใหม่ ต้องเน้นการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ ... จนช่ำชอง  บันทึก ๒ ตอนนี้ เป็นเรื่องการฝึกใช้ความรู้  ตอนที่ ๘ เน้นทฤษฎีของการฝึกใช้ความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับรู้จริง (masrery)  และตอนที่ ๙ เน้นเทคนิค


การเรียนรู้สู่ระดับรู้จริงคืออะไร 

          หนังสือบทนี้เริ่มด้วยเรื่องราวความผิดหวังของศาสตราจารย์ ๒ คนในต่างเรื่อง ต่างวิชา  แต่สะท้อนความเขลาหรือไม่เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ของ นศ.  ว่า นศ. ต้องการการฝึกฝนหลากหลายขั้นตอน หลากหลายองค์ประกอบ เพื่อเปลี่ยนสภาพจากรู้เพียงทฤษฎี ไปสู่สภาพการเรียนรู้ในระดับรู้จริง (mastery)

          ผมมีความลำบากใจ ต่อการใช้คำภาษาไทย ที่ถ่ายทอดความหมายของคำ mastery  เดิมคิดจะใช้ “เรียนรู้ระดับเชี่ยวชาญ”  “เรียนให้ชำนาญ”  “เรียนให้รู้อย่างลึกซึ้ง”แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจใช้คำว่า “เรียนให้รู้จริง”  ซึ่งตีความด้วยหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ว่า  เป็นการเรียนรู้ในระดับประยุกต์ใช้ความรู้ได้  คือมีผลลัพธ์ที่ทักษะ ไม่ใช่แต่บอกสาระได้ 


องค์ประกอบของการเรียนรู้ระดับรู้จริง

          การเรียนรู้ระดับรู้จริงมีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ (๑) เรียนรู้ทักษะองค์ประกอบย่อยของเรื่องนั้น  (๒) เรียนรู้วิธีบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อยเข้าด้วยกัน  (๓) เรียนรู้การบูรณาการให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมต่อกาละเทศะ  ดังแสดงในรูป 



          คนเป็นครู/อาจารย์ มักทึกทักเอาเองด้วยความเข้าใจผิด ว่าเมื่อ นศ. ได้เรียนสาระและฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องครบแล้ว นศ. จะปฏิบัติหรือดำเนินการเรื่องนั้นๆ ได้  ย้ำว่า นี่คือความเข้าใจผิด  เพราะ นศ. ยังเพิ่งได้เรียนรู้หรือฝึกทักษะในขั้นตอนที่ ๑ ใน ๓ ขั้นตอนของการเรียนให้รู้จริง  ดังรูปข้างบน

          ครูยังต้องช่วยจัดมอบหมายงานงาน ให้ นศ. ได้ฝึกฝนการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ต่อไป เพื่อให้ นศ. ได้บรรลุสู่ การรู้จริง (mastery) 


ทักษะความเชี่ยวชาญ (Expertise)

          ทักษะความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ของครู ไม่จำเป็นจะก่อผลดีต่อการทำหน้าที่ครูเสมอไป  เพราะมันมักจะทำให้เกิด “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” (Expert Blind Spot)  คือทำให้ครูมองข้ามความเป็นผู้ฝึกใหม่ของ นศ. ที่จะต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน  ยังทำงานข้ามขั้นตอนอย่างครู ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้น ไม่ได้ 

          ขั้นตอนสู่ความเชี่ยวชาญ หรือทักษะรู้จริง แสดงในภาพข้างล่าง  ซึ่งเป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ปัจจัย คือ ความรู้ตัว-ไม่รู้ตัว  กับสมรรถนะ ทำไม่ได้ - ทำได้ 



          อธิบายว่า ขั้นตอนพัฒนาจาก “ผู้ไม่รู้” ไปสู่ “ผู้รู้จริง” มี ๔ ขั้นตอน  เริ่มจาก “ไม่รู้ว่าไม่รู้”  สู่ “รู้/ตระหนัก ว่าไม่รู้”  ไปสู่ “ทำได้ โดยต้องตั้งใจทำ”  และขั้นสูงสุดที่เรียกว่ารู้จริง คือ “ทำได้ อย่างอัตโนมัติ” คือโดยไม่ต้องตั้งใจทำหรือไม่รู้ตัว  เหมือนอย่างคนขับรถยนต์เป็น ขับรถโดยไม่ต้องกำหนดขั้นตอนในใจ 

          ข้อเรียนรู้สำหรับครูคือ การพัฒนาของ นศ. จากขั้นตอนที่ ๑ ไปสู่ขั้นตอนที่ ๔  ไม่ว่าในเรื่องใด ต้องการการฝึกฝนและต้องการเวลา  เพราะเป็นทักษะเชิงซ้อนที่ประกอบด้วยทักษะย่อยจำนวนมากมาย  ต้องใช้เวลาฝึก ๓ ขั้นตอนตามภาพแรกข้างบน 

          แต่ครูซึ่งรู้จริง ในระดับผู้ชำนาญ จะคิดข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็ว  ไม่ต้องบูรณาการความรู้ในขณะนั้น เพราะมี “ชุดความรู้” เป็นชุดๆ สำเร็จรูปอยู่แล้วในสมอง  ให้เลือกเอามาใช้ให้เหมาะสมตามกาละเทศะ  ซึ่งครูก็ช่ำชองเช่นเดียวกัน 

          ในสภาพความเป็นผู้ชำนาญ ที่ทำกิจกรรมข้ามขั้นตอนอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว (อย่างเป็นอัตโนมัติ)  ครูหลายคนจึงลืมไปว่า นศ. อยู่ในต่างขั้นตอนกับตนเอง  นศ. ยังเป็นผู้ฝึกใหม่ ยังต้องคิดและทำตามขั้นตอนในรูปแรกข้างบน  และครูก็ไม่สามารถบอกขั้นตอนการคิดและทำของตนได้ เพราะมันเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคิด

           ครูที่ดีจึงต้องเอาชนะ “จุดบอดของผู้เชี่ยวชาญ” และศึกษาทำความเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ ๓ ขั้นตอนตามในภาพแรกข้างบน  สำหรับนำมาเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของศิษย์ ให้ได้ฝึกฝนทักษะทั้ง ๓ ข้างบน


ทักษะองค์ประกอบย่อย (Component Skills)

          นศ. ต้องมีทักษะองค์ประกอบย่อยครบถ้วน จึงจะสามารถทำงานหรือกิจกรรมที่ซับซ้อนและต้องการทักษะเหล่านั้นได้  ครูจึงต้องมีทักษะในการแตกหรือวิเคราะห์ชิ้นงาน ว่าต้องการทักษะย่อยอะไรบ้าง  และต้องทดสอบทักษะของ นศ. ว่ามีพร้อมเพียงพอแล้วหรือไม่ ก่อนจะมอบหมายงาน  หากตรวจพบว่า นศ. ยังขาดทักษะองค์ประกอบบางอย่าง ก็ควรให้เรียนเสริมเสียก่อน  เช่นในตัวอย่างแรกของบทที่ ๔ ของหนังสือ  เมื่อมอบหมายโครงงานให้ นศ. ทำคนเดียว ได้ผลดีมาก  แต่เมื่อให้ทำเป็นทีม กลับได้ผลงานที่ไม่ดี  แสดงว่า นศ. ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม 

          ผมอ่านรายละเอียดในหนังสือ แล้วบอกตัวเองว่า ศาสตร์ว่าด้วยทักษะองค์ประกอบย่อย (component skills) ของแต่ละทักษะที่ซับซ้อน  เป็นเรื่องที่น่าจับทำวิจัยในบริบทไทยมาก  เป็นโจทย์วิจัยที่จะช่วยให้ นศ. มีผลการเรียนสูงขึ้น  และในขณะเดียวกัน ความรู้ว่าด้วยการจัดการเรียนรู้ในบริบทไทยก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย

          ดังตัวอย่างโจทย์ การฝึกทักษะย่อย ควรฝึกแยกหรือฝึกรวมกับการฝึกทักษะอื่นทั้งชุด  ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว  ขึ้นกับแต่ละวิชา แต่ละทักษะ และขึ้นกับพื้นความเชี่ยวชาญที่ นศ. มีอยู่แล้ว  ผลงานวิจัยบอกว่า ในบางกรณีที่ นศ. มีทักษะองค์ประกอบย่อยค่อนข้างสูงอยู่แล้ว  การฝึกแยกกลับให้ผลลบ คือทักษะกลับลดลง


การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย

          การบูรณาการทักษะองค์ประกอบย่อย ทำโดยฝึกพร้อมกันหรือทำเป็นเรื่องเดียวกัน  ไม่ใช่ฝึกแยกกันแล้วคิดเอาว่าเมื่อใช้พร้อมกันจะทำอย่างไร ซึ่งจะไม่มีวันบูรณาการทักษะได้  การฝึกพร้อมกันนี้ไม่ง่าย เพราะมันกินแรงสมองมาก  ภาษาวิชาการเรียกว่า cognitive load

          ในขณะที่ผู้ที่ได้ฝึกฝนจนเรียนรู้จริง (mastery) แล้ว การทำทักษะหลายๆ อย่างทั้งชุดในเวลาเดียวกันหรืออย่างคล้องจองกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ยาก ไม่กินแรงสมอง  เพราะคนที่ฝึกจนรู้จริงแล้ว จะทำทักษะเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติ ไม่กินแรงสมอง

          ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่การฝึกซ้อม หรือการทำแบบฝึกหัด  และครูที่เก่งจะเข้าใจความยากลำบากของมือใหม่อย่างศิษย์  และนี่แหละที่เป็นคุณค่าระดับสูงสุดของครูในศตวรรษที่ ๒๑ ... เป็นครูฝึกให้แก่ศิษย์  ให้ศิษย์ฟันฝ่า cognitive load ผ่านช่วงมือใหม่ ไปสู่มีชำนาญหรือรู้จริงได้ 

          แต่ผลการวิจัยชี้ว่า ยังมีการทำแบบฝึกหัด ที่ทำโจทย์ได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้เรียน  เพราะนักเรียนมีแรงสมองน้อย เอาไปทำโจทย์ก็หมดแรงแล้ว  ไม่มีแรงสมอง (cognitive resources) เหลือสำหรับการเรียนที่แท้จริง  แก้ได้โดยเครื่องมือที่เรียกว่า worked-examples (ตัวอย่างเฉลยข้อสอบ) จัดแทรกไว้เป็นระยะๆ ในหมู่ข้อสอบแบบฝึกหัด  เขาบอกว่า จะช่วยให้ นศ. ศึกษาวิธีการ และเป็นการ “ชาร์จแบต” แรงสมอง   ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า worked-example effect จะเห็นว่า ครูที่เอาใจใส่ศึกษาและทดลองใช้เครื่องมือช่วยการเรียนของศิษย์ มีเรื่องสนุกให้ทำได้มาก  และยังนำมาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อเพิ่มความเข้าใจของตน และเพิ่มผลงานวิชาการด้านการเรียนรู้ได้อีกด้วย 

          เขาบอกว่าเครื่องมือลดการกินแรงสมอง (จนไม่มีแรงเรียนรู้วิธีเรียนรู้) อีกชนิดหนึ่งคือ scaffoldingซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในหนังสือบทที่ ๗

          ที่น่าสนใจยิ่งคือ หากไม่ระวัง นศ. จะหมดแรงสมองไปกับการเรียนรู้ส่วนสาระ  ไม่มีเหลือไว้เรียนรู้ส่วนที่สำคัญกว่า คือส่วนการจัดโครงสร้างความรู้/ทักษะ และส่วนเรียนวิธีเรียนรู้ 

          และน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ที่มีผลงานวิจัยบอกว่า การลดการกินแรงสมอง (cognitive load) ไม่ใช่จะมีผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ที่รู้จริงเสมอไป  ผมสรุปง่ายๆ ว่า จะได้ผลดีต่อการเรียน หาก นศ. ลดการกินแรงสมองโดยลดความเอาใจใส่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายการเรียน (เรื่องไร้สาระ?)  ประหยัดสมองเอาไว้เรียนเรื่องสำคัญ (อย่างที่ผมฝึกมาตลอดชีวิต)


การประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้

          ศัพท์เทคนิคทางการศึกษา สำหรับการประยุกต์ใช้ทักษะ (และความรู้ ยุทธศาสตร์ วิธีดำเนินการ และนิสัย) คือ transfer และยังมีคำว่า near transfer ซึ่งหมายถึงบริบทของการเรียนกับบริบทของการประยุกต์ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน  และ far transfer สำหรับกรณีที่บริบทแตกต่างกันมาก ระหว่างตอนเรียน กับตอนประยุกต์ 

          ทักษะ transfer ที่ต้องการจริงๆ คือ far transfer  คือเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องเรียน สู่สถานที่ทำงานจริง  ผลการวิจัยบอกว่า เราไม่เข้าใจความยากลำบากของการประยุกต์ใช้ทักษะในต่างสถานการณ์เช่นนี้  และมีการปัจจัยเอื้อ และปัจจัยล้มเหลว ของการประยุกต์ 


ปัจจัยล้มเหลวของ นศ. ได้แก่

๑.  เรียนรู้เชื่อมโยงกับบริบทในห้องเรียนอย่างเหนียวแน่น  คือเรียนตามตำรา  ถ้าถามข้อความในตำราตอบได้  แต่ให้เอามาใช้ในสถานการณ์จริง ทำไม่ได้

๒.  เรียนรู้แบบผิวเผิน  ไม่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงอย่างแท้จริง  คือ นศ. หยุดอยู่ที่ know what  ไม่เรียนรู้ know why  หรือเหตุผลที่ต้องทำอย่างนั้น หรือเหตุผลที่สิ่งนั้นเป็นเช่นนั้น   นั่นคือ การเรียนรู้ทฤษฎีหรือความรู้เชิงนามธรรมเกี่ยวกับกิจกรรมที่กำลังทำ จะช่วยให้ทำได้ดีขึ้น 


ปัจจัยช่วยการประยุกต์ ของ นศ. ได้แก่

๑.  นศ. เรียนรู้ทฤษฎีหรือหลักการที่เป็นจริงในทุกบริบท  การประยุกต์ใช้ความรู้ในต่างบริบทก็จะทำได้ไม่ยาก   เขายกตัวอย่างผลงานวิจัยคลาสสิคที่ทำกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้ว (Judd 1908)  โดยให้ นศ. ปาลูกศรให้ถูกเป้าใต้น้ำ ที่อยู่ลึก ๑ ฟุต  หลังจากทดลองสักครู่ ก็แยก นศ. เป็น ๒ กลุ่ม  กลุ่มแรกไปเข้าฟังทฤษฎีการหักเหของแสง  อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ฟัง  แล้วให้ปาเป้าซ้ำ  ผลของกลุ่มแรกดีกว่าอย่างชัดเจน

๒.  การเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ  นี่ก็มาจากผลงานวิจัย  การให้ นศ. ศึกษากรณีศึกษา ๒ กรณี  โดยศึกษาเปรียบเทียบกันระหว่าง (๑) ศึกษาทีละกรณี  (๒) เปรียบเทียบกันระหว่าง ๒ กรณี โดยครูมีเกณฑ์ให้เปรียบเทียบ  ผลคือการศึกษาวิธีที่ ๒ ได้ผลการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงกว่ามาก 

๓.  ให้บอกความเหมือนหรือความต่างของสิ่ง หรือเรื่องต่างๆ

๔.  คำชี้แนะ หรือคำใบ้ ของครู อาจช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงเรื่องราวต่างเรื่อง/ต่างบริบท แต่ใช้หลักการเดียวกันได้ 


สรุป

          ครูต้อง “สอนการประยุกต์” (แบบไม่สอน!)  โดยต้องช่วยให้ นศ. เรียนรู้โครงสร้างความรู้อย่างลึกซึ้ง  เรียนรู้หลักการที่อยู่เบื้องหลัง  เรียนรู้ในบริบทการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างหลากหลาย  ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่ตนมี เข้ากับบริบทใหม่ที่จะใช้ความรู้และทักษะนั้นได้ 

          ข้อสรุปสำหรับผมก็คือ เมื่ออ่านหนังสือบทที่ ๔ นี้  ผมก็กระจ่างแจ้ง ว่าครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องทำหน้าที่โค้ช ของการเรียนรู้ของศิษย์จริงๆ  เหมือนโค้ชฟุตบอลล์  และหนังสือบทที่ ๔ นี้ คือส่วนหนึ่งของศาสตร์สำหรับ โค้ชการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑  และทำให้ผมเชื่อมากขึ้นว่า ครู/อาจารย์ ทุกคน มีโอกาสมากมายในการร่วมขยายขอบฟ้าของศาสตร์นี้ 


วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๕



หมายเลขบันทึก: 519648เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2013 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2013 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

This reminds me of a notion occurred to me when I read about Confucius. He said (something like) when he was 50 he knew the Will of Heaven and when he was 60 he acted without thinking by the Will of Heaven... Confucius had mastered his interactions with the world (Heaven)!

How can we help students learn and master a skill that best fit them? How do we judge what they can do best for their life?


I meant to ask a question on "child centred" issue.

How can we help students learn and master a skill that best fit them --individually--?

Learning service providers (or in the old model -- teachers and schools --) need skills to customize their services to meet client's needs in circumstances. This means "wholesales" approach (general curricula and current O-NET [A-NET etc.]) no longer applies. So, what "quality assurance" systems or  infrastructures can be put in place?   


กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

 

กราบขอบพระคุณอาจารย์เช่นเดียวกันค่ะ

นายวิจารณ์ สงกรานต์

กราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท