บ้านไต


บ้านไต

        บ้านไต (บ้านไทยใหญ่) การสร้างที่อยู่อาศัย ภายใต้พื้นที่ราบบริเวณเชิงหุบเขาอันสลับซับซ้อนและสภาพทางภูมิอากาศอันหนาวเย็น กอปรกับความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบจากป่าเขาของภูมิภาคทางตอนเหนือของประเทศไทย ชาวไตได้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ท่ามกลางความพยายามที่จะต่อสู้และปรับตัวเพื่อให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืนกับสภาวะแวดล้อมเหล่านั้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการพัฒนาอันยาวนานของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่พักอาศัยจนเกิดรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณท้องที่ของหมู่บ้านขุนยวม หมู่บ้านเมืองปอน และหมู่บ้านต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งที่ชาวไตอาศัยอยู่จำนวนมาก รูปแบบบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในปัจจุบันบางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิม แต่ก็ไม่ทิ้งลักษณะดั้งเดิมของชาวไต ที่มีรูปแบบที่โดดเด่นเป็นแบบฉบับของตนเอง ซึ่งเรือนไตในอำเภอขุนยวมนั้น หากจะจำแนกตามลักษณะของเรือนแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ 1. เรือนพักอาศัย หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการใช้สอยประกอบกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้าอยู่อาศัยแต่ละครัวเรือน โดยมีขนาดของพื้นที่อาคารและรูปแบบลักษณะเรือนแปรไปตามปัจจัยและฐานะของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจแยกได้เป็น 2 ลักษณะคือ 1.1 เรือนจั่วเดียว หมายถึงเรือนไม้ขนาดเล็กหลังคาเดียว เป็นเรือนแคบๆ ใต้ถุนเตี้ย มักเป็นเรือนของผู้มีฐานะไม่ค่อยจะสู้ดีนัก หรือผู้ที่เริ่มต้นตั้งครอบครัวใหม่ โดยใช้เป็นเรือนชั่วคราว ตัวเรือนมักเป็น 3 ห้องเสา ด้านหลังกั้นฝาใช้เป็นส่วนนอน ส่วนหน้าใช้เป็นเติ๋น (ไทยใหญ่เรียกว่า ฮ้าน) ต่อจากเติ๋นลดระดับลงเล็กน้อยต่อยื่นออกเป็นชานแคบๆ ทำบันไดพาดขึ้นเรือนใต้ชายคาที่ยื่นคลุมลงมาถึงส่วนของพื้นที่ชานทั้งหมด ด้านข้างเรือนด้านหนึ่งมักต่อชานโอบยาวไปถึงสุดอาคารเพื่อใช้ทำเป็นห้องครัว โดยชักปีกหลังคายื่นคลุมลงมาเป็นผืนเดียว ผนังห้องครัวจะต่อเป็นชั้นเล็กๆยื่นเลยออกมาภายนอกอาคารเพื่อใช้เป็นที่วางของและทำเป็นร้านน้ำ (เข่งน้ำ) ซึ่งเช่นเดียวกับส่วนของผนังห้องนอนอีกด้านหนึ่งที่ทำเป็นหิ้งพระพุทธรูป (เข่งเจ้าพะลา) เรือนประเภทนี้ โครงสร้างเรือนจะเป็นไม้เนื้อแข็ง ส่วนฝาผนังมักจะใช้ไม้ไผ่สานเป็นแผงขัดแตะ พื้นเรือนบ้างก็ใช้ไม้แป้นหรือแผ่นกระดาน บ้างก็ใช้ไม้ฟาก หลังคามุงด้วยใบตองตึง 1.2 เรือนแฝด หมายถึงเรือนไม้ขนาดใหญ่ที่ทำเป็นเรือนแฝดคู่กัน โดยทำหลังคาจั่วติดกัน 2 ตัว คลุมพื้นที่ใช้สอยซึ่งประกอบด้วยเรือนนอนหลังหนึ่งและเรือนครัวหลังหนึ่ง ตัวเรือนมักทำเป็นเรือนขนาด 5 ห้องเสา ยกพื้นเรือนสูง ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่นั่งพักผ่อน ทำงาน เก็บของต่างๆ เช่น เก็บข้าว เครื่องมือทำนา พาหนะ รวมทั้งเป็นที่พักของสัตว์เลี้ยง ความสูงของใต้ถุนจะอยู่ราว 2.50 เมตร ตัวเรือนมักจะหันด้านสกัดอยู่ในแนวทิศเหนือใต้ ทั้งนี้ คงเพื่อให้เรือนนั้นสามารถรับแสงแดดอันจะสร้างความอบอุ่นแก่ตัวเรือนยิ่งขึ้นนั่นเอง เรือนประธานซึ่งเป็นเรือนนอนขนาดใหญ่กว่าเรือนรองซึ่งเป็นเรือนครัว ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อของชาวล้านนาที่จะไม่ทำจั่วเรือน 2 หลังให้มีขนาดเท่ากัน เรือน 2 หลังแฝดนี้เชื่อมต่อกันด้วยฮ่อมริน ซึ่งมักจะทำระดับให้ลดต่ำลงกว่าพื้นห้องนอน และเติ๋นให้เพียงพอสำหรับศีรษะคนที่จะเดินลอดผ่านใต้เต้าที่จะมารับรางน้ำนั้นได้ พื้นที่ส่วนหลังใช้เป็นห้องนอน มีเติ๋นอยู่ด้านหน้า เติ๋นส่วนนี้ใช้ประโยชน์หลายอย่างทั้งเป็นที่นั่งกินข้าว รับแขก เลี้ยงพระ นอนเล่น รวมไปถึงจัดตั้งศพเมื่อสมาชิกในครอบครัวได้เสียชีวิตลง 2. เรือนพักอาศัยกึ่งร้านค้า หมายถึงอาคารเดิมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยเป็นหลัก ต่อมาได้ปรับปรุงบางส่วนของอาคารเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการประกอบกิจทางการค้าที่ทำขึ้น เรือนประเภทนี้อยู่ในเรือนทั้งที่เป็นแบบเรือนจั่วเดียวและเรือนแฝด การต่อส่วนของอาคารออกมาเพื่อกั้นเป็นห้องสำหรับวางเก็บสินค้านั้น ส่วนใหญ่มักอาศัยด้านข้างของเรือนเป็นเกณฑ์ เพราะไม่ติดขัดกับส่วนของชานเรือน โดยต่อปีกหลังคาคลุมลงมาเช่นเดียวกับการยื่นคลุมห้องครัว หากทางสัญจรอยู่ด้านสกัดของเรือน ก็มักทำเป็นเรือนจั่วยกพื้นเตี้ยๆอีกหลังหนึ่ง ต่อชิดกับด้านข้างของเรือนใหญ่นั้น เมื่อบ้านเมืองได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการหลั่งไหลของวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาสู่สังคมของชาวไต ส่งผลทำให้ลักษณะและรูปแบบของเรือนพักอาศัยของชาวไตในอำเภอขุนยวมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพดั้งเดิมค่อนข้างมาก เหลือแต่บางส่วนที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น นอกนั้นพบว่าเรือนพักอาศัยจะเปลี่ยนไปเป็นแบบร่วมสมัย หลังคาเปลี่ยนจากใบตองตึงเป็นมุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื้อง พร้อมทั้งโครงสร้างตัวเรือนไม่ว่าจะเป็นโครงหลังคา เสา ฝาผนังและพื้นเรือนก็จะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้สัก หรือก่อด้วยอิฐและปูนซีเมนต์ ทั้งนี้เรือนไตในอำเภอขุนยวมปัจจุบันแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะบางอย่างไป แต่ส่วนใหญ่ก็พอมองเห็นเค้าโครงลักษณะเดิมของเรือนไตอยู่ เรือนไตดูจากภายนอก บ่งบอกถึงผู้อยู่อาศัยว่ามีจิตใจเอื้ออารี มีความเป็นมิตรกับทุกคน ความโล่งโปร่งเปิดกว้าง เหมือนกับพร้อมจะต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนตลอดเวลา คนไตโดยนิสัยเป็นคนรักสงบ เยือกเย็น สุขุม เป็นมิตรอยู่แล้ว จึงมีน้ำใจไม่เคยขาด หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมบ้านไต จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และถือเป็นความภูมิใจที่ได้ต้อนรับผู้มาเยี่ยม

หมายเลขบันทึก: 51920เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้ามาหาความรู้ครับ

ไปพักที่โฮมสเตย์ บ้านป๋าปุ เลือกนอนหลังที่เป็นแบบดั้งเดิม สุดยอดครับ

ชอบมากค๋ะน่าจะเย็นดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท