ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เตือนภัยเรื่องเห็ด


เห็ด เป็นอาหารที่มีประโยชน์มากด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แต่อย่างไรก็ตามในการบริโภคเห็ดป่าก่อนการกินต้องระมัดระวังด้วยว่าเป็นเห็ดที่ปลอดภัยหรือไม่

ข้าวปลา อาหาร  หมู เห็ด เป็ด ไก่   เป็นสำนวนที่กล่าวกันมาแต่โบราณกาล  ซึ่งไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้  นั่นแสดงให้เห็นว่า เห็ด  น่าจะเป็นอาหารที่บริโภคกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  เนื่องจากเห็ดที่กินได้ส่วนใหญ่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และสมุนไพร ดังนั้น จึงเกิดอาชีพการเพาะเห็ดขึ้นทุกหย่อมหญ้าของเมืองไทยเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค 

เห็ดที่หากินยาก  ยังมีเห็ดอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่สามารถเพาะได้ แต่ความต้องการบริโภคของประชาชนทั่วไปสูง ได้แก่ เห็ดระโงก เห็ดโคน เห็ดไคล เห็ดผึ้ง เป็นต้น ซึ่งเห็ดพวกนี้สามารถหากินได้ปีละ 1-2 ครั้ง ดังนั้นพอถึงต้นฤดูกาลเห็ดพวกนี้ออกมา ผู้คนต่างก็แก่งแย่งกันในการเก็บ และหาซื้อเพื่อการบริโภคอย่างรีบเร่งโดยอาจจะยังไม่ทันได้ระมัดระวังอย่างรอบครอบ

กินเห็ดต้องระวัง  ด้วยความเป็นห่วงพี่น้องชาว KM ที่ชอบบริโภคเห็ดป่า ดังนั้นผมจึงใคร่อยากจะเล่าประสบการณ์ ที่พอมีอยู่บ้างสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์และมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ในเรื่องของการบริโภคเห็ดป่านั้น ควรพิจารณาดังนี้

1. ควรเลือกกินเห็ดที่เคยกิน ในการบริโภคเห็ดที่เราไม่เคยกินอาจจะเสี่ยงเกินไปต่อชีวิต ดังนั้นในการกินเห็ดควรเลือกกินเห็ดที่เราเคยกินเป็นอันดับแรก หรือหากมีเพื่อนๆ มาบอกว่าเห็ดชนิดนี้ก็กินได้เช่นกัน รสชาติอร่อยมาก หากเราอดใจไม่ได้ก็พยายามกินแต่น้อย และรอดุอาการของตนเองเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6-8 ชั่วโมง เราไม่แสดงอาการข้างเคียงใดๆ ในครั้งต่อไปค่อยกินเพิ่มมากขึ้น ไม่เช่นนั้นผู้ที่รักท่านเขาจะเสียใจ

2. ควรเลือกกินเห็ดที่มาจากแหล่งที่ปลอดภัย  ถึงแม้จะเป็นเห็ดที่เราเคยกินอยู่ทุกวัน แต่พื้นที่การเก็บเห็ดมาที่แตกต่างกันก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นพิษแก่ท่านได้เช่นกัน เนื่องจากว่าการเก็บเห็ดป่าจะเก็บมาจากธรรมชาติ เป็นส่วนใหญ่ หากเป็นป่าที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่มีการใช้สารเคมี เช่น ไร่อ้อย ไร่แตงโม เห็ดอาจจะได้รับสารพิษจากสวนดังกล่าวได้ เนื่องจากเห็ดจัดป็นพืชที่สามารถดูดซับสารเคมีได้ค่อนข้างดี ดังนั้นในการเก็บควรพิจารณาดูให้ดีด้วย หรือสำหรับท่านที่ซื้อเขามาควรที่จะสอบถามแหล่งที่มาด้วย ซึ่งจะทำให้เราได้กินเห็ดได้อย่างสบายใจยิ่งขึ้น

3. ควรปรุงอาหารจากเห็ดให้สุก  เห็ดป่าที่กินได้บางชนิดอาจจะมีสารพิษอ่อนๆ เช่น เห็ดแดง หรือเห็ดน้ำหมาก หรือกระทั่งเห็ดที่ไม่มีพิษ แต่ได้รับสารจากวัสดุเพาะ เช่น การเพาะเห็ดฟางจากกากมันสำประหลัง ทะลายปาล์ม เห้ดอาจจะได้รับอิทธิพลจากวัสดุต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นในการนำมาบริโภค ควรทำให้สุกเสียก่อนจะได้ปลอดภัย และกินอย่างมีความสุข

อย่างไรก็ตามการได้กินของที่ชอบ และการได้กินของที่มีความอยาก ถือเป็นความสุขทางใจ แต่ก็ขอให้เรากินแต่พอประมาณนะครับ "โภชเน มตัญญุตา" จะได้ทั้งสุขทางใจ และสุขทางกาย

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

26 กันยายน 2549

หมายเลขบันทึก: 51914เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท