ความรู้คิดผู้ช่วยนักวิจัย


ตอบปัญหาข้อเสนอแนะการสังเคราะห์งานวิจัย

                จากที่ผมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสังเคราะห์งานวิจัยที่น่าจะเพิ่มเติมเข้ามาในข้อเสนอแนะ ๒ ประเด็นคือ ๑) ความเปลี่ยนแปลงของนักวิจัย ๒) ความคิดเห็นของนักวิจัยที่มีต่อการบริหารการจัดการโครงการของหน่วยประสานงานกลาง และได้รับการตอบรับจากทีมประสานงานกลาง ซึ่งทำให้ผมต้องมานั่งวิเคราะห์บทเรียนที่ผ่านมา และได้รับบทเรียนระหว่างนั่งวิเคราะห์ว่า การที่เราเสนอแนะให้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจกระทำลงไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าตัวเราเองจะทำได้ง่าย ทีนี้ถ้าหลายคนเสนอแนะ หากจับกระแสความคิดหลักไม่มั่น เป้าหมายหลักก็มีอันปั่นป่วน นั่นคือบทเรียนสำหรับความคิดและสิ่งที่พยายามทำให้เกิดผลออกมาเป็นรูปธรรม (เหตุนี้ด้วยกระมังที่เหล่าผู้จบปริญญาเอก หรืออะไรสักอย่างที่ตนเข้าใจว่าเชี่ยวชาญ เกิดความเชื่อมั่นในความรู้ เอาใจใส่ต่อความคิดเห็นอื่นน้อย และกลายเป็นผู้สุดโต่งที่ยืนยันความคิดตนเท่านั้น การจัดการความรู้น่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาแก้ปัญหาความสุดโต่งของนักวิชาการนี้ได้) อย่างไรก็ตาม สิ่งดังกล่าวนี้แม้ดูเหมือนจะยากและได้สาระน้อย ผมคิดว่าเราก็ไม่ควรมองข้าม จึงพยายามวิเคราะห์ออกมาดังต่อไปนี้

               ความเปลี่ยนแปลงของนักวิจัย เราพอจะแยกมุมมองออกเป็น ๓ ส่วนคือ ๑) มุมมองของนักวิจัยที่มีต่อเพื่อนนักวิจัยต่างพื้นที่ (๕ พื้นที่) ๒) มุมมองของสมาชิกในทีมวิจัยที่มีต่อกันและกัน ๓) มุมมองของหน่วยประสานงานกลางที่มีต่อนักวิจัยแต่ละพื้นที่ ในที่นี้ขอบเขตในการแสดงความคิดของผมได้ใน ๒ มุมมองข้างต้น ส่วนมุมมองที่ ๓ อยู่ในอำนาจของหน่วยประสานงานกลางที่จะมองเครือข่ายและถอดบทเรียนออกมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างนักวิจัยมือใหม่  (ให้เป็นของเก่าที่มีคุณค่า)

                               มุมมองของนักวิจัยที่มีต่อเพื่อนนักวิจัยต่างพื้นที่  ในทัศนะส่วนตัวของผม ผมเห็นว่า แต่ละพื้นที่มีทีมงานของตนอยู่แล้ว และดูเหมือนว่าตัวหลักของการเดินเครื่องคือหัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งจะสังเกตเห็นในเวทีประชุมการนำเสนอผลการวิจัยในแต่ละครั้ง สำหรับทีมที่มีความเป็นทีมค่อนข้างสูงพอจะจัดแยกออกเป็น ๓ กลุ่มคือ กลุ่มที่ ๑ ทีมนครศรีธรรมราช กลุ่มที่ ๒ ทีมตราดและลำปาง กลุ่มที่ ๓ คือทีมสงขลาและสมุทรปราการ สำหรับทีมสงขลาและสมุทรปราการนั้น หัวหน้าทีมวิจัยค่อนข้างจะทำงานอย่างเด็ดเดี่ยว ซึ่งเราจะพบว่าคลังความรู้เกี่ยวกับงานที่รับผิดชอบจะอยู่ที่หัวหน้าทีมวิจัยเป็นหลัก (อันที่จริงเป็นอย่างไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับมองมุมของสมาชิกในกลุ่ม) ในข้อนี้เราอาจเจาะลึกลงไปว่าสภาพความเป็นทีมที่ปรากฏนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะพบว่า ๑) ความเป็นทีมคือการทำงานอย่างเสมอภาคกัน โดยที่หัวหน้าทีมวิจัยรู้สิ่งใด ทีมงานก็รู้สิ่งนั้นเสมอเหมือนกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนอยู่อย่างเสมอกัน มีการถ่ายทอดความรู้เพื่อเสริมต่อจุดอ่อนของแต่ละคนเท่าที่จะทำได้ นั้นคือการเดินร่วมกัน กอดคอกันไปอย่างสนุกสนานอันหมายถึงวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (ซึ่งอาจเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ไม่ได้หมายว่าเป็นไปไม่ได้) ๒) ความเป็นทีมคือการทำงานร่วมกันโดยเอาจุดเด่นของแต่ละคนออกมาใช้ให้กับกลุ่มเพื่อให้ความเป็นทีมมีความสมบูรณ์ อาจแตกต่างจากข้อ ๑) ที่ต่างคนต่างเรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ตนไม่มีจากความสามารถของเพื่อนสมาชิกที่มีอยู่ ส่วนใน ๒) นี้หมายถึงต่างคนต่างทำหน้าที่อย่างเช่น นาย ก. มีความเก่งในการติดต่อประสานงาน ก็ให้ทำหน้าที่นั้นเหมือนกับการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาตัวหนึ่งเพื่อทำสิ่งๆหนึ่งโดยเฉพาะ (อาจเปรียบเทียบเกินความจริง) ๓) ความเป็นทีมโดยที่หัวหน้าทีมวิจัยจะเป็นผู้รับภาระหนักแต่เพียงผู้เดียว หากจะวิเคราะห์เจาะลึกลงไป ผมมองว่าทีมสงขลาอยู่ในขอบข่าย ๓) (ในความจริงไม่รู้ แต่ภาพที่ปรากฏเท่าที่ผมพบคือเป็นเช่นนั้น) และทีมสมุทรปราการก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์นี้เช่นกัน

                                ในด้านของความเปลี่ยนแปลงจะพบว่า แต่ละกลุ่มมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีเริ่มตั้งแต่ การเขียนโครงการของทุนวิจัย บทเรียนที่ได้คือ หากทีมวิจัยเขียนโครงการวิจัยโดยมิได้ดูถึงสภาพของพื้นที่ที่อยู่ในเป้าหมาย สิ่งนี้อาจก่อปัญหาขึ้นในภายหลังได้ เช่นหากเราต้องการสร้างทีมการจัดการความรู้ในตำบลตามงานวิจัยอื่น แต่สภาพความเป็นจริงคือในตำบลหาทีมอย่างที่ว่าไม่ได้ นั้นย่อมเป็นเรื่องยากกับการบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยเวลาที่จำกัด การเปิดกระดานความคิด (บล็อก) ทำให้รู้ความเป็นไปของกันและกัน การนำเสนองานวิจัยในวันสุดท้ายทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสื่อ การเขียนงานวิจัยในระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒ มีความต่างกัน อันนี้คือการฝึกคนให้มีคุณภาพกระมัง

                                มุมมองของสมาชิกในทีมวิจัยที่มีต่อกันและกัน ในข้อนี้ สำหรับทีมสมุทรปราการนั้น ดูเหมือนว่า ภาระหนักจะตกอยู่ที่หัวหน้าทีมเป็นหลัก แต่จุดเด่นของหัวหน้าทีมคือ ๑) เป็นคนในพื้นที่เป้าหมาย ๒) บุคลิกความเป็นนักวิจัยชุมชนค่อนข้างสูง ๓) รู้จักสภาพสังคมและคนค่อนข้างดี (สะสมประสบการณ์มาตั้งแต่เด็ก) ๔) มีจิตใจเอื้อเฟื้อและให้ความสำคัญกับชุมชน ๕) ความเป็นผู้เยาว์ (จุดเด่นคือ ได้รับความเมตตาจากผู้สูงอายุ จุดด้อยคือไม่อาจเป็นผู้เด็ดขาดในบางเรื่องเมื่อเข้าสู่ชุมชน อันนี้ต้องอาศัยที่ปรึกษาซึ่งมีวัยและประสบการณ์ที่สูงกว่าอย่าง หัวหน้าทีมประสานงานกลางลงไปชุมชน ถือเป็นส่วนช่วยเดินงานได้จุดหนึ่ง) ส่วนสมาชิกในทีม ระหว่างทางที่งานวิจัยชิ้นนี้ดำเนินไป ต่างคนต่างมีภารกิจบางอย่างที่จำกัด เช่น ดวงมณี ต้องไปเตรียมตัวเรียนต่อ (และกำลังเรียนต่อในขณะนี้) อัจจิมา ต้องไปทำหน้าที่กลุ่มผู้บริหารคณะคือรองคณะบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา นอกจากนั้นภาระงานอื่นๆ ที่เป็นงานหลักของสมาชิกมีผลต่อการดำเนินการวิจัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดหัวหน้าทีมกลายเป็นเอ๋อไปเลย แต่การได้ร่วมนำเสนองานวิจัยในแต่ละช่วงถือเป็นผลดีในการกระตุ้น พบแนวทางในการเดินต่อไปได้ นอกจากนั้น สิ่งที่พบกับการที่จะต้องเป็นนักวิจัยคือ ตัวนักวิจัยต้องเชื่อมโยงกับเรื่อง ๓ เรื่องเป็นอย่างน้อยคือ ๑) เรื่องราวส่วนตัว เช่นความเกี่ยวพันธุ์กับญาติพี่น้อง ครอบครัว มิตรสหาย ๒) เรื่องราวที่เป็นงานหลัก เช่นการทำงานในมหาวิทยาลัย การทำงานในหน่วยงานต่างๆ ๓) เรื่องราวเกี่ยวกับงานวิจัย การเป็นนักวิจัยต้องมีการบริหารจัดการตัวเองให้ลงตัวในทุกด้าน ในเมื่องานทั้งหมดให้ความสำคัญกับนักวิจัยเป็นหลัก

                                                ความคิดเห็นของนักวิจัยที่มีต่อการบริหารการจัดการโครงการของหน่วยประสานงานกลาง เมื่อรวมภาพทั้งหมดที่ผ่านมาผมคิดว่า ทีมประสานงานกลางมิได้มีงานวิจัย (ชุดโครงการ) นี้เพียงชิ้นเดียว น่าจะมีงานวิจัยอื่นหรือภาระหน้าที่อื่นๆอยู่ด้วย (อาจเข้าใจผิดก็ได้) ซึ่งก็เหมือนกับนักวิจัยที่มีภาระอื่นอยู่ด้วย ดังนั้นในบางครั้งผมจึงมองเห็นว่า แผนการที่วางไว้มักจะเป็นแผนฉุกเฉิน และมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆเรื่อง ในข้อนี้เป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้เครือข่ายนักวิจัยได้มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่อาจเป็นความยุ่งยากหากแผนที่วางไว้เรามิได้มีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน เช่นกรณีที่ไปจัดตลาดนัดความรู้ที่สงขลา บางกิจกรรมแต่ละคนไม่ทราบว่าจะทำอะไร สร้างความสงสัยให้กับชาวบ้าน ดังนั้นหากจะมีการปรึกษาระหว่างเครือข่ายนักวิจัยก่อนหรือมีกิจกรรมอะไรที่เครือข่ายวิจัยควรเดินเรื่องโดยไม่กังวลว่าหากเดินเรื่องแล้วจะไม่กระทบกับกิจกรรมหลัก น่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความสงสัยในส่วนนี้ให้เบาลงได้บ้าง แต่ก็ต้องขอชื่นชมทีมประสานงานกลางที่พยายามทุ่มเทและให้โอกาสกับทุกๆ ฝ่าย ก็ขอย้อนคำพูดเดิมเมื่อครั้งปิดโครงการ การสร้างคนนั้นสร้างยาก ไม่เหมือนการสร้างตึกสูงหรือบ้านสวย และขอเพิ่มเติมในที่นี้ว่า สิ่งที่ง่ายใครๆ ก็ทำได้ แต่สิ่งที่ยากสิมันน่าท้าทาย ยิ่งยากด้วยมีประโยชน์โดยรวมด้วยยิ่งดีนักอีกนิดหนึ่ง (เพิ่งคิดได้เมื่อเขียนจบแล้ว) ทีมประสานงานกลางจะพยายามยืนยันความคิดหลักที่จะให้เครือข่ายนักวิจัยทำออกมาได้ให้ แต่ขณะเดียวกันมีที่ปรึกษา ๒ ท่านกล่าวคือ ท่านหนึ่งจะคอยหักล้างและชี้ประเด็นบางอย่างให้ความคิดนั้นเบาลง อีกท่านหนึ่ง จะคอยประสานและหาข้อยุติด้วยเหตุผล ซึ่งเป็นจุดเด่นอีกอันหนึ่งในหน่วยประสานงานกลาง ที่ทีมโครงการใหญ่น่าจะนำเป็นแบบ โดยเฉพาะความเป็นบรรยากาศของความเป็นกันเอง ซึ่งผมทราบว่างานวิจัยหลายชุดโครงการไม่ได้มีบรรยากาศเช่นนี้ จาก ๓ มุมของหน่วยประสานงานกลางพอจะเขียนเป็นภาพได้ดังนี้

                                                     หัวหน้าทีมประสานงานกลาง

 ที่ปรึกษาที่ ๑ โต้แย้ง ชี้ประเด็น         ที่ปรึกษาที่ ๒ ประสาน / หาข้อยุติด้วยเหตุผล

                                                             ข้อตกลงร่วมกัน

                  ข้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวผมในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยมือใหม่

๑.    ก่อนเข้ามาสู่โลกของการจัดการความรู้ ผมไม่เคยรู้เรื่องการจัดการความรู้มาก่อน ทำให้ผมต้องค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อย่าง Internet จึงพบว่า เมื่อเดินออกมานอกกะลาแต่ละหน่วยงานเขามีเรื่องการจัดการความรู้อย่างทั่วถึง และงานการจัดการความรู้นี้ให้ประโยชน์ต่อการสร้างคนหลายๆ ประการทีเดียว ที่พบเห็นมากคือ การจัดการความรู้ในกลุ่มแพทย์ (หรือผมอาจเปิดแต่เวปของ มอ.ก็ไม่รู้)๒.   เมื่อเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ ผมได้นำวิธีการบางอย่างไปใช้กับนักศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบ การนำไปใช้มีเหตุผลคือ ๑) เพื่อฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ๒) เพื่อทบทวนความรู้ ๓) เพื่อหาข้อบกพร่องและนำมาแก้ไข ๔) เพื่อทบสอบสิ่งที่เรียนรู้มา๓.   การที่เราจะเป็นนักวิจัย เราต้องทุ่มเทในการขบคิดให้มาก ซึ่งไม่ได้หมายถึงทุ่มเทเพื่อให้ผลการวิจัยออกมาตามเป้าหมายให้ได้ ข้อนี้นักวิจัยชุมชนน่าจะมีประสบการณ์ดี

หมายเลขบันทึก: 51880เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณอ.เอกมากคะ และขออนุญาติส่งไฟล์นี้ให้เครือข่ายให้อ่านกันทางเมลล์นะคะ..เนื่องจากว่าบางท่านไม่ได้เข้ามาอ่านในบล็อค..

ขอบคุณอ.เอกด้วยอีกคน ที่เขียนวิเคราะห์ป็นเรื่องเป็นราวจนน่าจะยกตำแหน่งหัวหน้าโครงการวิจัยให้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท