จากเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ สู่พื้นที่ความ (ไม่) มั่นคงทางอาหาร


นิสารัตน์:สงประเสริฐ


สยาม เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ’’ เป็นสมญานามของประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัย ความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหารทำให้ใครหลายๆคนคิดไกลไปถึงครัวโลก จนลืมคิดว่านั่นมันเมื่อก่อน…เรายังมีเกษตรกรทำนา ทำสวน ผลผลิตแต่ละปีเหลือกินเหลือใช้… หลายปีที่ผ่านมาพื้นที่เกษตรลดลง 1 ชาวนา ชาวสวนมุ่งหน้าเข้าโรงงานเนื่องจากผลผลิตไม่คุ้มกับค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ขาดน้ำในการทำนา เริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มหายไป ราคาอาหารเริ่มสูงขึ้น…

พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เรื่องความมั่นคงทางอาหาร2 ให้คำจำกัดความของความมั่นคงทางอาหารว่า “การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการ ตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้ง การมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา และความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติสาธารณภัยหรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร”

ประกอบกับวิกฤตอาหารโลก ปี 2551 มีการประท้วงถึงราคาอาหารและเครื่องโภคภัณฑ์ที่มีราคาสูงจนเกิดการจลาจลในหลายประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลของหลายประเทศต่างกังวลว่า ปัจจัยนี้อาจเป็นภัยคุกคาม อันส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งยังมีการแถลงของนาย Jose Graziano da Silva ผอ.องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คนใหม่  เมื่อวันที่  3 ม.ค.2555 หลังจากเข้ารับตำแหน่งว่า จากนี้ไป FAO มีภารกิจซึ่งถือเป็นความสำคัญสูงสุดและเร่งด่วน ได้แก่การแก้ปัญหาความอดอยากและการขาดแคลนอาหารของโลก ส่วนภารกิจรองลงมาได้แก่การผลักดันให้เกิดระบบการผลิตและบริโภคอาหารที่ยั่งยืน การบริหารจัดการอาหารที่ยุติธรรม การปฏิรูปองค์กรและกระจายอำนาจที่โปร่งใสและเป็นประชาธิปไตย และการส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งแสดงถึงความตื่นตัวของโลกในการรักษาความมั่นคงทางอาหารไว้ แน่นอนว่าอนาคตมีแนวโน้มจะขาดแคลนมากขึ้น


การขาดแคลนอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การบริโภคไม่สมดุลและเจ็บป่วย ซึ่งจากการศึกษาภาระโรคในปี 2552  พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาระโรคในประชากรไทยนั้น สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภค ส่งผลทำให้เกิดภาระโรคและการเจ็บป่วย การบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยลง ก่อให้เกิดโรคในกล่มโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร การเจ็บป่วยสะท้อนให้เห็นถึงโภชนาการที่ไม่เหมาะสม และนำไปสู่การสูญเสียสุขภาวะจากโรคภัยที่เกิดจากการบริโภคกำลังเพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรไทย  

ทั่วโลกหวั่นวิตกกับความขาดแคลนที่จะเกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยเองมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่อย่าลืมว่าเรายังมีภัยคุกคามความมั่นคงทางอาหารอื่นๆ เช่น แผนพัฒนาต่างๆที่ทำลายระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ภัยพิบัติต่างๆ ผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ และแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ผลิตอาหารเป็นพื้นที่สำหรับผลิตพืชพลังงาน เป็นต้น ดังนั้นการขาดแคลนอาหารจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ภัยคุกคามความมั่นคงทางอาหารยังคงมีให้เห็นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เราอาจจะเป็นครัวโลก เพราะเน้นการผลิตเพื่อส่งออก ทั้งที่คนในประเทศยังขาดแคลนเช่นนั้นหรือ การพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมสากลเป็นเรื่องดี หากพัฒนาบนพื้นฐานการรักษาทรัพยากรที่เรามีอยู่มิใช่ทำลาย…

1. Wongsaichue, T. 1986-2006 Land use in Thailand.Department of Human and Community Resource Development Facult of Education and  Development Sciences Kasetsart University, Kamphaeng Saen Capmus.

http://pirun.ku.ac.th/~fedutnw/20101112.html

2. http://www.tro.moph.go.th/data/2540/7(4)/food51.pdf


หมายเลขบันทึก: 518390เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2013 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2013 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

..... ทำอย่างไร? ..... ครัวไทย และครัวโลก.....จะส่งเสริม ... เสริมแรงกัน นะคะ โจทย์ นั้นสำคัญต่อผู้นำประเทศไทย ??? ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท