ชีวิตที่พอเพียง : 1741. ชีวิตนักเรียน


ผมฝึกอ่านหนังสือ แล้วตีความออกเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ออกสู่ cyber space และค้นพบว่า นี่คือวิธีการหนึ่งในการฝึกตนเองให้เรียนรู้แบบ “รู้จริง” และแล้ว ผมก็บอกตัวเองว่า วิธีการดังกล่าวได้ผลเพียง “พอรู้” ไม่ใช่รู้จริง เพราะจะรู้จริงได้ ต้องผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ผมแก่เกินไปที่จะลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองเสียแล้ว ผมจึงต้องยอมรับความเป็น “เณรน้อย” ตลอดชีวิต

ชีวิตที่พอเพียง  : 1741. ชีวิตนักเรียน

“แก่แล้ว ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคมได้บ้าง ก็จงทำเถิด  ดีกว่าอยู่เปล่าๆ”  คือคำที่ผมให้พรตัวเองในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๖ 

ว่าแล้วผมก็ลองประเมินชีวิตของตนเองใน ๑ ปีที่ผ่านมา คือปี พ.ศ.​ ๒๕๕๕ 

ผมสรุปว่า ผมเป็น “นักเรียนชรา” คนหนึ่ง  ที่สนุกกับการเรียน

เมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว ระหว่างวิ่งออกกำลังกาย ผมถามตัวเองว่า ผมเป็นเด็กไม่รู้จักโตหรือเปล่า  ที่ตั้งหน้าตั้งตาเรียน เรียนรู้อย่างไม่รู้จบ 

บัดนี้ผมได้คำตอบ เป็นคำตอบจาก “ปฏิเวธ” ของตนเอง  ว่าการเป็น “เด็กไม่รู้จักโต” ในเรื่องการเรียนรู้  เป็นคนที่ไม่เคยอิ่ม ในเรื่องการเรียนรู้  มีคุณต่อชีวิตของผมอย่างยิ่ง   ทำให้มีชีวิตที่สนุกสนาน และมีคุณค่า   ได้ดำเนินชีวิตเข้าไปในขอบฟ้ากว้างที่ไม่เคยรู้จัก และไม่เคยคิดว่าจะเข้าไป

ผมเป็น “novice” ในเรื่องต่างๆ  อย่างสนุกสนาน  โดยที่คนอื่นๆ จำนวนหนึ่งยกย่องว่าผมเป็น “ผู้รู้”  แต่ผมบอกตัวเองว่า ผมเป็นแค่ “ผู้เรียน”   

ผมต้องคอยกำกับสติตนเอง อย่าให้เหลิงไปตามการยกย่อง 

ผมเสียดาย คนที่ถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะ บางคนที่ผมยกย่องอัจฉริยภาพของเขา  แต่เขาหลงอัจฉริยภาพของตนเอง  จึงเหลิง  และนำตนเองไปสู่ความเสื่อม 

ผมตั้งตัวเป็น “เณรน้อย” (novice) ในเรื่องต่างๆ  แต่งตั้ง “ขรัวตา” ของตนเอง  เอาไว้สอนตนเอง  โดยที่ “ขรัวตา” ทำหน้าที่สอน “เณรวิจารณ์” โดยเขาไม่รู้ตัว  เมียและลูกๆ ของผม ก็โดนผมแต่งตั้งให้เป็น “ขรัวตา” ด้วย  รวมทั้งสุนัข ๒ ตัวที่บ้านลูกสาว ที่อยู่ติดกันด้วย

มีหมาเป็นครู  เท่อย่าบอกใคร

คิดเตลิดต่อไปว่า  หากผมทำพิธีไหว้ครู คงต้องทำหุ่นหัวหมาขึ้นหิ้งบูชาด้วย  นอกเหนือจากชื่อคนมากมายหลายร้อยหลายพัน  ทำให้คิดต่อว่า ไหว้ครูหมาแบบนี้เป็นการทำตามวิธีคิดของคน  จะให้เป็นการรู้คุณหมาจริงๆ ต้องไหว้แล้วหมาปิติ  คงต้องไหว้ด้วยกระดูกเป็ดที่เขาชอบมาก  ซึ่งผมก็เซ่นไหว้เขาบ่อยๆ อยู่แล้ว  และเพราะให้กระดูกเขานี่แหละ เขาจึงมีพฤติกรรมที่สอนใจผม 

ผมฝึกอ่านหนังสือ แล้วตีความออกเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ออกสู่ cyber space  และค้นพบว่า นี่คือวิธีการหนึ่งในการฝึกตนเองให้เรียนรู้แบบ “รู้จริง” 

และแล้ว ผมก็บอกตัวเองว่า วิธีการดังกล่าวได้ผลเพียง “พอรู้” ไม่ใช่รู้จริง  เพราะจะรู้จริงได้ ต้องผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง  ผมแก่เกินไปที่จะลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองเสียแล้ว  ผมจึงต้องยอมรับความเป็น “เณรน้อย” ตลอดชีวิต 

คิดไปคิดมา จึงค้นพบว่า คนแก่เป็นคนไม่รู้จริง  

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 518170เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2013 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2013 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คำโบราณว่าไว้.."ไม่มีใครแก่เกินเรียน" ค่ะ..

เรียนอาจารย์วิจารณ์ พานิช ที่นับถือ

ผมติดตามอ่านบทความของอาจารย์ใน gotoknow ตลอดมา ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆจากอาจารย์มากมาย แต่เหนือกว่านั้น จากการอ่านหนังสือและตีความของอาจารย์ที่นำออกเผยแพร่ ทำให้ผมได้รับคำตอบในเรื่องที่ผมคิดและรู้ในเรื่องที่อาจารย์นำมาเผยแพร่ ผมรู้จากการปฎิบัติ เมื่อได้อ่านบทความที่อาจารย์นำมาเผยแพร่ ทำให้เป็นการยืนยันสิ่งที่ผมรู้และสามารถนำบทความของอาจารย์ไปเผยแพร่กับคนอื่นต่อ  ผมรู้จากการปฎิบัติและการมีประสบการด้วยตัวเอง สำหรับอาจารย์อ่านจากหนังสือและนำมาตีความ  ความรู้ที่ได้ตรงกัน

ผมได้เรียนรู้การเผยแพร่ความรู้ของอาจารย์มาเป็นตัวแบบ หันมาอ่านและตีความและเผยแพร่ตามแนวทางของอาจารย์ เพราะสิ่งที่ผมรู้จากการปฎิบัติ นำไปเผยแพร่ให้คนที่ไม่เคยปฎิบัติ เขาไม่เข้าใจและไม่สามารถให้ความรู้กับเขาได้ ดังนั้นจึงเป็นการยืนยันว่า นักทฤษฎี และนักปฎิบัติ ต้องร่วมมือกันในการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ 

บทสรุปของอาจารย์

"ผมฝึกอ่านหนังสือ แล้วตีความออกเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ออกสู่ cyber space  และค้นพบว่า นี่คือวิธีการหนึ่งในการฝึกตนเองให้เรียนรู้แบบ “รู้จริง” 

และแล้ว ผมก็บอกตัวเองว่า วิธีการดังกล่าวได้ผลเพียง “พอรู้” ไม่ใช่รู้จริง  เพราะจะรู้จริงได้ ต้องผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง  ผมแก่เกินไปที่จะลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองเสียแล้ว  ผมจึงต้องยอมรับความเป็น “เณรน้อย” ตลอดชีวิต 

คิดไปคิดมา จึงค้นพบว่า คนแก่เป็นคนไม่รู้จริง  

จากบทสรุปของอาจารย์ข้างบน ผมไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า "ผมแก่เกินไปที่จะลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองเสียแล้ว" เพราะอาจารย์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก อาจารย์ลงมือปฎิบัติมาตลอดชีวิตของอาจารย์ ดังนั้นอาจารย์จึงรู้จริงในเรื่องที่อาจารย์เคยปฎิบัติ แต่ถึงแม้นบางเรื่องอาจารย์ยังไม่เคยปฎิบัติในสิ่งนั้นตรงๆ แต่เมื่ออาจารย์ค้นคว้าและหาอ่านจากหนังสือและอาจารย์นำมาตีความนำมาเผยแพร่เป็นความรู้ใหม่สำหรับคนที่ไม่เคยปฎิบัติ และตรงกับความรู้ที่ผู้เคยมีประสบการณ์ที่เคยปฎิบัติมาแล้ว ก็ถือว่าอาจารย์รู้จริงเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่ถึง 100% เพราะยังไม่ได้สัมผัสด้วยตัวเองเหมือนกับยังไม่ได้รู้รสด้วยตัวเอง 

สำหรับประโยคที่อาจารย์กล่าวว่า "คิดไปคิดมา จึงค้นพบว่า คนแก่เป็นคนไม่รู้จริง " ผมขอแย้งอาจารย์เต็มๆเลยครับ ถ้าอาจารย์หมายถึงอาจารย์ หรือแม้นกระทั่งคนแก่ทั่วๆไป จะสรุปว่าเป็นคนแก่ทุกคนรู้ไม่จริงทั้งหมดคงไม่ได้ คนแก่แต่ละคนเคยมีประสบการณ์และเคยปฎิบัติมาก่อน สิ่งที่เขาเคยมีประสบการณ์และเคยปฎิบัติมาย่อมทำให้เขารู้จริงในสิ่งนั้นๆ เพียงแต่เมื่อเขารู้แล้ว จะนำความรู้ที่เขาได้นั้นนำไปปฎิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเขาและสังคมประเทศชาติได้อย่างไร

เรียนอาจารย์วิจารณ์ พานิช ที่นับถือ

เมื่อผมอ่านบทความของอาจารย์และได้เขียนแสดงความคิดเห็นในบันทึกนี้แล้ว ผมเกิดความคิดว่าน่าจะนำเผยแพร่ในบันทึกของผมใน gotoknow ด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทางสร้างสรรค์ จึงขออนุญาตอาจารย์มา ณ.ที่นี้ และต้องขอประทานโทษที่ได้นำไปเผยแพร่โดยยังไม่ได้รับการตอบรับจากอาจารย์ เนื่องจากผมสังเกตว่า อาจารย์ไม่เคยเข้ามาตอบหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมในบันทึกของอาจารย์ที่มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นเลย ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์เคยกลับมาอ่านบันทึกที่อาจารย์นำเผยแพร่และมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นหรือไม่ ถ้าเคยเข้ามาอาจารย์อ่านแต่อาจารย์ไม่เคยตอบกลับ 

สำหรับผมถือว่าการเรียนรู้ที่ดีจะต้องเป็นการเรียนรู้แบบ 2 ทาง ไม่ใช่การเรียนรู้แบบทางเดียว อีกประการหนึ่ง ผมคิดว่าเมื่อมีคนสนใจและแสดงความคิดเห็นในบทความของเรา เราควรจะมีการสื่อสารกลับไป เป็นการเรียนรู้ 2 ทาง และเป็นการรักษามารยาทด้วย

หวังว่าอาจารย์คงไม่โกรธในการแสดงความคิดเห็นตรงๆด้วยความจริงใจ และยืนยันว่าผมเคารพอาจารย์ด้วยความจริงใจ และไม่มีเจตนาที่ไม่ดีต่ออาจารย์

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

มาร่วมเสนอความคิดเห็นกับท่าน ชาญโชติ ด้วยคนค่ะว่า จากประสบการณ์ของตัวเองและอีกหลายๆท่านที่รู้จัก ที่เคยได้รับความเห็นจากท่านอาจารย์วิจารณ์ เชื่อว่าอาจารย์ท่านมาอ่านความคิดเห็นของพวกเรานะคะ แต่ท่านเลือกที่จะตอบหรือไม่เท่านั้นเองค่ะ หรือสำหรับตัวเองแม้ท่านไม่ได้ตอบในนี้แต่เมื่อได้พบท่าน ก็จะทราบได้ว่าท่านอ่านความเห็นของเราและจำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ และเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของท่านค่ะ 

ขอบคุณทั้ง มล. ชาญโชติ และ อ. โอ๋ ครับ   ผมตอบไม่ไหวน่ะครับ   ยอมเสียมรรยาท

วิจารณ์

เรียนอาจารย์วิจารณ์ และอาจารย์ โอ๋ ที่นับถือ

ดีใจจริงๆครับ เพียงแค่อาจารย์ตอบกลับมาสั้นๆแสดงว่าอาจารย์ได้ติดตาม ผมก็ใจสั่นด้วยความปิติยินดีแล้วครับ        ที่อาจารย์ตอบกลับมาว่า "ผมตอบไม่ไหวน่ะครับ ยอมเสียมารยาท" ผมเข้าใจและเห็นใจอาจารย์ ครับ เพราะอาจารย์มีผู้ติดตามมาก และอาจารย์ก็มีบทความมาก แถมมีงานและภาระกิจอื่นๆที่สำคัญอีกมากจึงไม่สามารถเข้ามาตอบได้ทุกราย แต่จะเลือกตอบบางรายก็จะกลายเป็นทำให้คนที่ไม่ได้รับตอบเกิดคิดน้อยใจ หรือคิดอะไรที่ไม่ดีได้ 

กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ และขอให้อาจารย์อย่าถือโทษและอภัยให้ผม หากข้อความของผมบางประโยคไม่เหมาะสม

ขอบพระคุณอาจารย์ โอ๋ ที่ทำให้ผมรู้จักอาจารย์วิจารณ์ มากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าเคยพบกับอาจารย์หรือไม่ แต่เชื่อว่าเคยพบท่านครั้งหนึ่ง ผมไปแนะนำตัวผมและชื่นชมกับการบรรยายของท่าน แต่ไม่มีโอกาสได้สนทนากับท่านเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้พบท่านเป็นการส่วนตัว ได้แต่ติดตามผลงานของท่านจาก gotoknow และสรุปได้ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือมีความรู้มาก ทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ ในขณะนี้ผมมีผู้ใหญ่ที่ผมยกย่องและนับถือที่สุดอยู่สองท่าน ที่ผมติดตามเรียนรู้จากท่านตลอดเวลา และเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่น่านับถือทำประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ ที่ควรยึดถือเป็นต้นแบบ คือ ท่าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ และ ท่าน ศ.วิจารณ์ พานิข ( ผู้ใหญ่ที่ผมกล่าวถึงหมายถึงเฉพาะคนสามัญธรรมดา ไม่ได้รวมถึงพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ )

ด้วยความเคารพและนับถืออย่างสูง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท