ห้องเรียนในฝัน @ ห้องเรียนแห่งความสุข


นิยามของ “ห้องเรียนแห่งความสุข” ของฉันจึงคือทุกๆมิติของการเรียนรู้ ที่มาจากการตระหนักในคุณค่าของความเป็นอยู่ ในทุกๆปัจจุบันของการใช้ชีวิต

ห้องเรียนในฝัน @ ห้องเรียนแห่งความสุข (๑)


<img http:="" cdn.gotoknow.org="" assets="" media="" files="" 000="" 832="" 212="" default_69a.jpg?1353003683"="">


ระหว่างนี้ มีบันทึกที่ปลุกไฟให้เกิดแรงบันดาลใจติดๆกันของอ.พนัส แผ่นดิน

เก็บ "แก่นความรู้" ที่จำเป็นเฉพาะหน้าสำหรับตนเอง มาใช้ทันที คือคำว่า “บันเทิง เริงปัญญา”

เพราะกำลังประสบปัญหา สมาธิสั้น ด้วยไม่เคยผ่านกระบวนการการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา

ไม่มีทักษะการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือการศึกษาพื้นฐานระดับชั้นมัธยมนั้น

ทิ้งห่าง...ว่างเว้นมานาน...จนความรู้ ที่จะนำมาต่อยอด แทบไม่หลงเหลือติดในหน่วยเก็บความจำเลย


พยายามค้นข้อมูลจาก Google เพื่อที่จะทำการบ้าน ว่าด้วย... บันเทิงเริงปัญญา

เพราะส่วนที่ยังพอเป็นความหวัง คือ...“การสร้างสือการเรียนรู้” ด้วยตนเอง

ต้องยอมรับความจริงว่า แรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือ ลดหายไปไม่น้อย

จนต้องหาวิธีป้อนข้อมูล โดยให้สมองได้ปรับคลื่น “ผ่อนคลาย” ไปด้วย

ในบางช่วง เคยอ่านหนังสือออกเสียงจบเป็นเล่ม บันทึกเสียงพร้อมเปิดดนตรีบรรเลง

แม้เสียงไม่ดีนัก แต่อย่างน้อย รอบที่บันทึก เราได้อ่านจบไปแล้ว

จึงยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เพราะทุนเดิมที่มีอยู่เต็มหัวใจคือ “ไฟฝัน”

ที่นอนเนื่องอยู่ในก้นบึ้งของมโนสำนึก


<img style="" http:="" cdn.gotoknow.org="" assets="" media="" files="" 000="" 832="" 209="" default_72a.jpg?1353003679"="">


ช่วงเรียนมัธยมนั้น จำได้แม่นมั่นว่า เวลาพักเที่ยงนั้นไม่เคยทานข้าวกลางวันเลย

สถานที่สิงสถิตส่วนตัวคือมุมหนึ่งของห้องสมุดของโรงเรียน

หนังสืออ่านชุด "บ้านเล็กในป่าใหญ่" และเรื่องราวประสบการณ์ของท่าน ลูเธอร์เบอร์แบงค์

เป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก...ด้วยว่า เนื้อหา ล้วนใกล้เคียงกับ "วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน"จริงๆ

แม้จะเรียนสายวิทย์ฯ-คณิตฯ แต่นิยมชมชอบอ่านงานที่ “สะท้อนความสุข”

ที่เกี่ยวเนื่องด้วยงานกสิกรรม และมักนำความรู้มาเล่าให้แม่ฟัง บางเรื่องแม่จึงเป็นฝ่ายปฏิบัติการ...

เช่น หลังหน้านา เกี่ยวข้าวเสร็จ เรามักไถนาปลูกถั่วลิสง ปลูกฟักทอง

เช้าๆ แม่จะถือมีดเล่มน้อยออกไปที่ทุ่งฟักทอง แปลงกายเป็นผีเสื้อ

นำเกสรดอกตัวผู้ไปเคาะใส่ดอกตัวเมีย

ฝีมือ “ผสมพันธุ์ฟักทอง”ของแม่นั้น” ไม่เคยพลาดเลยแม้แต่ดอกเดียว... “ติดทุกลูก” เลยทีเดียว

พี่ชายปลูกผักกาดเขียวปลีเต็มท้องนา หาบน้ำรดเป็นเดือน

แม้นาแล้ง ฝนไม่ตก บ้านเรามีผักไปแลกข้าวที่ต่างจังหวัดเราอยู่รอด ไม่เคยมีหนี้สินใดๆ

ทุกเสาร์อาทิตย์ และปิดเทอม เรามีงานทอผ้าทอเสื่อ จึงมีเสื่อไปแลกข้าว

นำมาใส่ยุ้งฉาง สำรองไว้กินได้ทั้งปี


<img style="" true"="" src="http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/874/235/default_DM8.jpg?1359622807" data-cf="" data-cfsrc="http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/874/235/default_DM8.jpg?1359622807">


วิถีชีวิต ที่แม่ พาทำ พาเป็น พาอยู่ ยังอยู่ในความทรงจำ ไม่ลืมเลือน

แม่ไม่เคยฝันให้ลูกไปร่ำเรียน ทำงานสบายแต่อย่างใด

แต่แม่ยินยอมให้ไป เพียงเพื่อ นำความรู้มาเพื่อช่วยให้หมู่บ้านเรา มีกินมีอยู่

พี่ชาย พาเด็กฝ่ายชาย ไปฝึกงานช่าง ส่วนฉัน นำทีมฝ่ายหญิงทอเสื่อ

แม่จึงหวังเพียงให้ฉันเป็นหน่วยประสาน หรือตัวเชื่อม “โครงการ” ระหว่างหมู่บ้านกับภาครัฐ

ฉันเล่าความฝันให้อาจารย์แนะแนวฟัง อาจารย์อึ้งไปครู่ใหญ่ ก่อนจะบอกฉันว่า

...”เธอยังเป็นเด็ก มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป งานแบบนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่ต้องคิด”!

จำได้ว่า กำลังใจฉันหล่นไปกองที่พื้นห้องแนะแนว

แม้จบม.ปลาย อาจารย์ฝ่ายปกครองและฝ่ายแนะแนวสองท่านไปที่บ้าน เพื่อขอให้ฉันไปสอบเรียนต่อ

แม่ก็ยังยืนยันว่า...ถ้าเรียนจบแล้ว ไม่ได้กลับมาอยู่ประจำหมู่บ้านเรา แม่ไม่ให้เรียน


<img style="" http:="" imagehost.thaibuzz.com="" if="" fruit.jpg"="">


เด็กคนแรกของหมู่บ้าน ที่มีโอกาสเรียนต่อระดับชั้นมัธยม คำว่า “คุณครู คุณหมอ”

ไม่เคยสร้างภาพในใจว่าอยู่ในเมือง แต่คือเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข คือ... “คนของหมู่บ้าน”...

หอสมุดแห่งชาติ จึงเป็น “ห้องเรียนแห่งความสุข” ที่สุด ของเด็กม.ปลาย ที่ความหวังใกล้พังทลาย

แต่...ยังเหลือความหวังเล็กๆ และเริ่มแสวงหาหนทางสร้างฝันของตนให้เป็นจริงด้วยตน

และแล้ว “เจ้าใบ้” คือหนังสือก็พาฉันไปพบแหล่งเรียนรู้ในฝัน

ที่พาฉันไปฝังตัวเรียนรู้อยู่นานร่วมสิบกว่าปี

ถึงกระนั้น ฉันก็ยังต้องค้นหา “คำตอบ” อีกบางส่วน ที่ยังต้อง “เติมเต็ม” แก่ตนเอง


<img style="" http:="" imagehost.thaibuzz.com="" id="" dreamgarden.jpg"="">


บัดนี้... ฉันพบคำตอบแล้ว ณ พื้นที่นี้ GotoKnow

ฉันพบ “แก่นความรู้” ที่หลากหลาย

แต่ ภาชนะรองรับ” ส่วนตัวฉัน มีความบกพร่อง

ข้อมูลที่อยู่ในถ้วยใบนี้มันไม่ได้มาก หรือเสียหายจนต้องเทออก

เพียงแต่ว่า ถ้วยใบนี้ มันเล็กและแคบเกินไป...เท่านั้น

วิธีการเติมเต็ม จำเป็นต้องมีระบบจัดการข้อมูลใหม่

ข้อมูลที่ "แตกต่าง" ที่ต้อง "เติมเต็ม" มีบ้างที่อาจยังต้องการ ความชัดเจน มิใช่การ “ต่อต้าน”


กลับมาที่...ถ้อยคำอันเป็นแรงบันดาลใจ...ทางเลือกสำหรับฉันคือ “บันเทิง เริงปัญญา” นั้น

คือ “คำตอบ” ชุดใหญ่ สำหรับ การเรียนรู้สรรพสิ่ง อย่างมีความสุข มีความยินดี และความพอใจ

หากเราไม่ไปยึดติด ตีกรอบคำว่า “บันเทิง” เป็นความหมายในเชิงเสียหายแต่เพียงด้านเดียว


<img data-cfloaded="true" src="http://imagehost.thaibuzz.com/ih/homescool1.jpg" data-cf="" style="" http:="" imagehost.thaibuzz.com="" ih="" homescool1.jpg"="">


เดือนแรกของ ปี ๒๕๕๖ ข้อสรุปเพื่อการเริ่มต้นของ “ห้องเรียนแห่งความสุข” ในฝันของฉัน

ได้มีโอกาสปูทาง ทำความชัดเจนมาเป็นลำดับ นับแต่รับอยู่ดูแลแม่...บุพการี หลายเดือนมานี้

มีบางช่วงที่อาจเป๋ไปเป๋มา แต่...ที่สุดกระบวนการกลุ่มของกัลยาณมิตร

ที่ต่าง...ใส่ใจ เกื้อกูล แบ่งปัน เติมเต็ม กันและกัน สม่ำเสมอ

จึงเป็นส่วนช่วย “ปรับทิศทาง” อย่างต่อเนื่องตลอดมา

“ห้องเรียนแห่งความสุข” เล็กๆในหมู่บ้าน

เกิดตามธรรมชาติ ของวิถีความเป็นอยู่ แบบค่อยๆก่อตัวมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ต้องดูแล

จากเรา จากหัวใจดวงเล็กดวงน้อย คนในหมู่บ้านและสังคมโลกไร้พรมแดน

หลักสูตร ในการเรียน คือ เรียนรู้ในทุกมิติของความเป็นอยู่ สถานที่จึงเป็น ทุกที่ ที่เราใช้ชีวิต

เป็นสวน เป็นบ้าน เป็นถนนหนทางเป็นพื้นที่ โลกไร้พรมแดน


<img data-cfloaded="true" src="http://imagehost.thaibuzz.com/ih/homescool.jpg" data-cf="" style="" http:="" imagehost.thaibuzz.com="" ih="" homescool.jpg"="">


ปัจจุบัน คือคำตอบ...

เรา...สามารถทำประโยชน์อะไรให้แก่คน..สังคมรอบข้างได้

เราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อะไร ในแต่ละสถานการณ์


นิยามของ “ห้องเรียนแห่งความสุข” ของฉัน

จึงคือทุกๆมิติของการเรียนรู้ ที่มาจากการตระหนักในคุณค่าของความเป็นอยู่

ในทุกๆปัจจุบันของการใช้ชีวิต


เส้นทางแห่งความสุข ในแต่ละช่วงชีวิตฉันสามารถสรุปแก่ตนเป็นภาพได้ชัดเจนประมาณหนึ่ง

๑. เบื้องต้น ... บ้าน คือแม่ ครูคนแรก นำพาให้ฉันทำความคุ้นเคยกับการ “ทาน” วัตถุ แรงกาย แรงใจ

เป็นความสุขพื้นฐาน ของมนุษย์ทุกคน เป็นการเสียสละเบื้องต้น


๒. เบื้องกลางถัดมา...แหล่งเรียนรู้ อบรมให้ฉันเห็นคุณค่า ความสุขเล็กๆ จากความภาคภูมิใจ

ของการตั้งตนอยู่ใน กรอบ กติกา ศีลธรรม อันดีงาม อันเป็นส่วนให้เกิดการเคารพในคุณค่าของตนเอง

แม้ ยังเป็นขั้นตอนของการอิงอัตตาตัวตน แต่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้พัฒนาตนเบื้องต้น


๓. ปัจจุบัน...ทุกๆบริบท ที่มีการสัมพันธ์เกี่ยวข้องทุกด้าน ทั้งงาน ชีวิต และสังคม

ล้วนสะท้อนให้เกิดการ “ตระหนักรู้ และหยั่งรู้" ในทุกสภาพธรรม

เพื่อการ ถ่ายถอน ปลด ปล่อย ปลง วาง สภาพธรรมทั้งปวง

กลายเป็นวิถีชีวิตที่...เริ่มตั้งอยู่บนรากฐานของ “ความสุขที่ยั่งยืน”

บนพื้นฐานของการ “ภาวนา”... ตระหนักในคุณค่าของชีวิตในแต่ละ “ปัจจุบันขณะ”


กระบวนการท้ายสุดของการเรียนรู้ คือการสื่อสาร...

อันเป็นการสืบทอด ขยายผลองค์ความรู้ และประสบการณ์สู่สังคม

ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงเป็นคำตอบของ...ห้องเรียนแห่งความสุข ที่ครบวงจร


<img style="" http:="" cdn.gotoknow.org="" assets="" media="" files="" 000="" 832="" 200="" default_flw__040.jpg?1353003676"="">


เคยบันทึกเป็นอนุทินสั้นๆว่า ฉันค้นพบ "หัวใจ" ของตนเอง บนพื้นที่ GotoKnow แห่งนี้

จากบันทึกชุด โรงเรียนแห่งความสุข ของท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn

และบันทึกอีกหลายบันทึกของท่านอาจารย์ พนัส แผ่นดิน

พร้อมกันนั้นในพื้นแห่งนี้ ยังมีบันทึกที่ ชี้ชวนนำพา ภาวนาหยั่งรู้ ของท่านแม่ครู Ka-Poom

อันเป็นการเรียนรู้ เพื่อเก็บละเอียดตัวตนภายในปิดท้าย ที่จำเป็นยิ่ง

และบันทึกที่สมบูรณ์ ครบพร้อมไปด้วย "ความรักและความรู้"

ของอาจารย์ ปริม ทัดบุปผา อาจารย์หมอปัทมา ป. และบันทึกอีกหลากหลายท่านหลายแนว

เป็นครู ช่วยหล่อหลอม จนกระทั่ง "หัวใจ" ความทรงจำ ความฝัน เริ่มขยับเป็นรูปเป็นร่าง

กลั่นความรู้สึก ออกมาเป็นภาษากวีง่ายๆไว้ดังนี้...

............................


ห้องเรียนนี้...

...มีพี่ มีน้อง มีผองเพื่อน

มีครู ติงเตือน เป็นเพื่อนศิษย์

เรียนรู้ ร่วมกัน ฉันท์มิตร

ครู-ศิษย์ เติบโต ร่วมกัน


ห้องเรียน ในฝัน กระชับใกล้

ความจริง เกิดได้ ใจมั่น

"ผนึกแก่น" กระจายก่อ ต่อต่อกัน

ฝั่งฝัน สวยงาม ตามจริง


นับหนึ่ง ด้วย "รัก - รู้ -ลึก"

ฐานราก แน่นผนึก ลึกยิ่ง

แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ตามจริง

ก้านกิ่ง GotoKnow แตกกอ...


<img style="" http:="" cdn.gotoknow.org="" assets="" media="" files="" 000="" 848="" 955="" default_blob?1353136661"="">


๓๑ มกราคม ๒๕๕๖

</span></span></span></span>

หมายเลขบันทึก: 518050เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2013 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2015 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ด้วยความนับถือในความเพียรเช่นกันครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท