ศาสตร์ยาว ชีวิตสั้น



          อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ส่งบทความเรื่อง Evolutionof microbe and viruses : a paradigm shift in evolutionary biology?ทำให้ผมตาสว่าง  ว่าคนเรามักคิดเข้าข้างตัวเสมอ  คิดว่ามนุษย์เป็นยอดของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต  ซึ่งมองมุมหนึ่งก็จริง  แต่มองจากความเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครือข่ายชีวิต (web of life)  ไม่ใช่จุดศูนย์กลางหรือจุดยอด

          ที่จริงสาระของบทความทบทวนองค์ความรู้เรื่องวิวัฒนาการ ขนาดยาว ๑๕ หน้าเรื่องนี้  บอกว่าวิธีคิดเรื่องวิวัฒนาการ ซึ่งเริ่มโดย ชาร์ลส ดาร์วิน นั้น ต้องมีการปรับปรุงเป็นระยะๆ  และคราวนี้ก็จะเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่

          ที่ต้องปรับปรุงทฤษฎี ก็เพราะมี “ข้อมูลใหม่”  ที่ได้จากยุคจีโนมิกส์  ทำให้สามารถศึกษาลำดับยีน ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะจุลชีพ  ทำให้ค้นพบว่าสิ่งมีชิวิตต่างกลุ่ม มีการถ่ายเทยีนซึ่งกันและกัน “ในแนวนอน” มากกว่าความเข้าใจเดิมๆ อย่างมากมาย

          เราจึงได้ความรู้ใหม่ ว่าวิวัฒนาการนั้น ไม่ใช่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแนวตั้งเท่านั้น  กระบวนการเปลี่ยนแปลงยังเกิดจากกระบวนการแนวนอนด้วย

          เรามีความเชื่อกันเรื่อยมาว่า วิวัฒนาการเดินตามเส้นทาง “เพิ่มความซับซ้อน” (complexification)  แต่ผลการวิจัยในสิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นเซลล์สมบูรณ์ (Prokaryoyes)  ได้แก่แบคทีเรีย และ Archaea พบว่ามีวิวัฒนาการสู่สภาพ “ลดความซับซ้อน” (Streamlining) ด้วย  คือมีการขจัดยีนที่ไม่จำเป็นออกไป

          ตอนเรียนเรื่องวิวัฒนาการ ตำราจะเล่าว่า Lamarck ผิดที่สร้างทฤษฎีว่าสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นให้ลักษณะของสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนไปตามเหตุผลของการใช้งานหรือไม่ใใช้งาน  Charles Darwin ต่างหากที่เสนอทฤษฎีที่ถูกต้อง ว่าวิวัฒนาการเกิดจาก random selection (เรียกว่า ทฤษฎี Stochastic)บัดนี้มีหลักฐานใน Prokaryotes ว่า ทฤษฎีของ Lamarck(เรียกว่า ทฤษฎี Deterministic) ก็ถูกด้วยในบางกรณี  เท่ากับมีหลายกลไกของวิวัฒนาการ  โลกแห่งวิวัฒนาการไม่ได้มี ๒ ขั้ว  แต่เป็น spectrum ของกลไกที่หลากหลาย 

          บทความทบทวนความรู้ใหม่เรื่องนี้ บอกว่า หลังจากเข้าสู่ยุค จีโนมิกส์ ก็มีการศึกษาไวรัสได้อย่างกว้างขวาง  เกิดทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต  ว่าประกอบด้วย ๒ อาณาจักร (empire)  คืออาณาจักร ไวรัส (Virus Empire)  กับอาณาจักร เซลล์ (Cellular Empire)  ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างกันอย่างซับซ้อน

          โดยอาณาจักรไวรัส ใหญ่กว่าอาณาจักรเซลล์มาก  และยิ่งกว่านั้น ในสารพันธุกรรมของสัตว์ มีสารพันธุกรรมของไวรัสเป็นองค์ประกอบถึงครึ่งหนึ่ง  ตัวเลขนี้ในสารพันธุกรรมของพืช สูงถึงร้อยละ ๙๐ 

          วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตซับซ้อนกว่าที่ ชาร์ลส ดาร์วิน เสนอไว้ อย่างมากมาย  และมีวิวัฒนาการกลับทาง คือกลับไปสู่ความซับซ้อนน้อยกว่าเดิมด้วย

          ทำให้ความเชื่อของผมว่า มนุษย์เราไม่มีวันค้นพบความลี้ลับของธรรมชาติได้หมด  ยังมี “ความรู้” ที่ฝังแฝงอยู่ในธรรมชาติ ให้ค้นคว้าวิจัยได้ไม่จบสิ้น   น่าจะเป็นจริง  ผมจึงตั้งชื่อบันทึกนี้ว่า “ศาสตร์ยาว ชีวิตสั้น”  เพราะผมเรียนมาทางแพทย์  และทางพันธุศาสตร์  ทั้ง ๒ ศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างมากมายในเวลา ๕๐ ปี ที่ผมได้สัมผัส


วิจารณ์ พานิช

๑๓  ม.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 517875เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2013 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"ศาสตร์ยาว..ชีวิตสั้น"..จริงๆเจ้าค่ะ..ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท