สีคิ้วโมเดล


การพัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง

หากไม่กล่าวถึงสีคิ้วโมเดล ก็จะล้่าสมัยไป เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 กรมวิชาการเกษตรได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ระดับดีเด่น ประเภทบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ประจำปี 2555 ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน จากผลงานการพัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง หรือสีคิ้วโมเดล จริง ๆ แล้ว สีคิ้วโมเดล เป็นชื่อเรียกง่าย ๆ หรือจะเรียกว่าชื่อเล่นก็ได้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา เป็นที่แรกที่นำไปใช้และพัฒนากระบวนการทำงานจนประสบความสำเร็จ สีคิ้วโมเดล เน้นการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมชื่นชม องค์ประกอบหลักที่มีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จคือ การมีส่วนร่วมโดยตั้งแต่ระดับผู้บริหารแต่ละองค์กรที่ให้ความสำคัญ สามารถตัดสินใจ และกำหนดทิศทางการทำงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผลประโยชน์จึงส่งตรงแก่เกษตรกร โดยทุกภาคส่วนได้มีโอกาสทำงานในต่างภารกิจ แต่มีเป้าหมายร่วมกัน อีกทั้งในระดับผู้ปฏิบัติที่มีความจริงจัง เอาใจใส่ ร่วมใจกัน อีกทั้งมีแปลงต้นแบบที่เห็นผลของเทคโนโลยีนั้น ๆ จริง องค์ประกอบอีกหนึ่งอย่างคือ การเรียนรู้ของเกษตรกร และนักวิชาการ ผ่านการศึกษาดูงาน ลงมือทำจริง และร่วมประเมินผลเทคโนโลยี 

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมาได้เคยเขียนสรุปไว้ว่า

“รูปแบบการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังแบบครบวงจรเพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตสูงขึ้น โดยปรับเปลี่ยนจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการกับเกษตรกรมาเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ที่เกี่ยวข้องในระบบการผลิตมันสำปะหลังจัดทำแปลงต้นแบบตามสภาพปัญหาการผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่ของเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรในชุมชนต่าง ๆ ได้นำเทคโนโลยีการผลิตไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม ประโยชน์ที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานสามารถบรรลุเป้าหมายตามภารกิจในหน้าที่ของตนเอง กลายเป็นรูปแบบของความร่วมมือเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงมันสำปะหลังได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพป้อนโรงงาน สามารถผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และส่งออกนำรายได้เข้าประเทศได้ต่อเนื่องยั่งยืน”

จากวิกฤตเพลี้ยแป้งสู่...การปฏิวัติการให้บริการทางวิชาการ
ปี 2551 เกิดวิกฤตการณ์เพลี้ยแป้งสีชมพูระบาดในแหล่งปลูกมันส าปะหลังที่ส าคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยรวมของประเทศลดลง เนื่องจากในปี 2552 มีพื้นที่การระบาดของเพลี้ยแป้ง 60% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ผลผลิตลดลงประมาณ 25% และทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในปี 2553 นอกจากจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเสียหายแล้ว ยังทำให้โรงงานแป้งมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังขาดแคลนวัตถุดิบเข้าโรงงาน การแก้ปัญหาเฉพาะจุดไม่เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน เนื่องจากผลกระทบของปัญหาจะเกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน จึงเกิดแนวคิดการทำงานเชิงบูรณาการแบบหุ้นส่วน (Public - Private Partnership) ร่วมกันแก้ปัญหาเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมาอีก เริ่มจากความต้องการของผู้รับบริการ และการให้บริการเชิงรุกเพื่อให้ผู้รับบริการเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง มุ่งเน้นการสร้างพลังอำนาจ คือ ความรู้ ความเป็นสถาบันและการสร้างเครือข่าย ปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ “Center of Knowledge” ของเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตมันสำปะหลัง ได้เข้ามาศึกษา ดูงาน และนำวิธีการไปปรับใช้ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นสถาบัน 


ทำได้จริง เกิดขึ้นแล้ว

ความร่วมมือเชิงสถาบันก่อตั้งเป็นกลุ่ม KOTAC (Korat Tapioca Cluster) ที่ร่วมคิด ร่วมทำกันอย่างจริงจัง โดยมีสโลแกนการทำงานว่า “จริงใจต่อกัน จริงจังต่องาน” และมีบทบาทร่วมกัน ดังนี้

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมาเป็นหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ มีบทบาท และหน้าที่ในการศึกษา วิจัย พัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร

 โรงแป้งและโรงงานผลิตเอทานอลในจังหวัดนครราชสีมาที่เข้าร่วมโครงการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแสวงหาเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังโดยประสานงานกับหน่วยราชการ

 บริษัทจำหน่ายเครื่องจักรกล มีเป้าหมายคือมุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องจักรกล และการส่งเสริมให้เกิดการใช้เครื่องจักรกลในการผลิตพืช ผ่านการให้ความรู้ และประสบการณ์ในเครือข่ายของบริษัท ปัญหาดินดานในแปลงมันสำปะหลัง ที่ทำให้หัวมันเน่าในฤดูฝน และต้นมันแห้งตายในฤดูแล้ง สามารถแก้ไขได้จากการไถระเบิดดินดาน บริษัทฯ จึงได้ร่วมสร้างแปลงต้นแบบด้วยการไม่คิดค่าใช้จ่ายในส่วนการไถระเบิดดินดานในแปลงต้นแบบ และขยายผลการใช้เทคโนโลยีไถระเบิดดินดานให้มากขึ้นโดยประสานความร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตร

ภาคเอกชน มีธรรมาภิบาลที่ดี

ภาครัฐ โปร่งใส จริงจัง

ทำให้การทำงานใด ๆ ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายลง แต่ผลลัพธ์มากขึ้น เกษตรกรมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยง สามารถปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ได้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคมและภูมิปัญญา

 “หลังจากตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว เพราะมีเพื่อนช่วยคิด แม้ว่าจะเหนื่อยมากขึ้นแต่ก็เต็มใจ มีความสุขที่เห็นต้นมันสำปะหลังเติบโต สวยงาม ผลผลิตมาก และจะทำต่อไป” เกษตรกรกล่าวอย่างมีความสุข

ขยายผลความสำเร็จ

จากความสำเร็จดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรจึงมีแนวคิดที่จะขยายผลต่อในพืชอื่น เช่น อ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีปัญหาเรื่องโรคใบขาว โดยกรมวิชาการเกษตรจะค่อยๆลดบทบาทลงเป็นเพียงพี่เลี้ยง หลังจากที่เกษตรกรซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และเริ่มใช้แนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้กับพืชอื่นควบคู่กันไป พร้อมกับการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิผลและสอดคล้องไปกับสถานการณ์มากขึ้น ตามแนวคิดที่ว่านวัตกรรมเกิดจากการเรียนรู้และการเรียนรู้เกิดจากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์การให้บริการใหม่ที่พลิกโฉม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

หมายเลขบันทึก: 517101เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2013 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2013 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท