๒๓. ชลประทานน้ำขวด


 ดินแถวบ้านผม     ที่บ้านห้วยส้ม ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ มีลักษณะร่วยซุยและเป็นทรายเม็ดละเอียด   เมื่อหน้าแล้งดินก็จะแข็งเหมือนดินดาน ต้นไม้ใบหญ้าจะร่วงโรยและทิ้งใบ แต่พอในช่วงฤดูฝนและเมื่อมีน้ำหน้าดินมาก ดินก็จะเละและอ่อนตัวเป็นเลน หญ้าและต้นไม้เล็กๆจะเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว หน้าดินไม่มีแรงยึด ต้นไม้ยืนต้นที่ชำใหม่และต้นไม้ที่รากไม่ลึกจะล้มเสียหายอย่างง่ายดาย ลักษณะดินจึงเหมาะสำหรับปลูกข้าวและพืชผักตามฤดูกาลกับทำสวนผลไม้ที่มีรากหยั่งลึกลงดิน ในหน้าแล้งและนอกฤดูฝน ต้นไม้เล็กๆ ไม้ที่รากสั้นๆ และพืชผัก ก็จะดูแลลำบาก รดน้ำกันไม่หวาดไม่ไหว 

ระหว่างที่ต้องเดินรดน้ำพรวนดินให้กับต้นไม้ แข่งกับความแห้งแล้ง ประคับประคองต้นไม้ใบหญ้ากับพืชผักในบ้านให้ฝ่าความแห้งแล้งไปให้ถึงหน้าฝนอีกครั้งในอีก ๔-๕ เดือนข้างหน้าโน้นให้ได้ อีกทั้งหลายครั้งก็แลเห็นในรายละเอียดระหว่างรดน้ำพรวนดินไปด้วยว่าต้นไม้ พืชผัก และไม้ยืนต้นหลายอย่างที่เพิ่งนำมาปลูกลงดินและยังยืนต้นไม่แข็งแรงดี ต้องเหี่ยวแห้งตายไปหลายแห่งจนทำให้จิตใจห่อเหี่ยวไปด้วยนั้น เมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมา หลังกลับจากไปเป็นทีมประเมินและสังเคราะห์บทเรียน เพื่อพัฒนารูปแบบและข้อเสนอแนะเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างสุขที่ตากและแม่ฮ่องสอน ก็ได้รับฟังเรื่องราวถ่ายทอดความประทับใจของทีมวิจัยจากการได้ไปเยี่ยมคารวะบ้านของ 'พี่สันโดษ' ฉายา 'คนบ้าแห่งเมืองปาย' เพื่อนหมอติ๊ก แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเป็นผู้เข้าศึกษาหลักสูตรพัฒนาเครือข่ายผู้นำสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คสน) ของ สสส ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายอย่าง และ ๑ ในนั้นก็เป็นเรื่องการใช้ขวดใส่น้ำแล้วนำไปคว่ำทิ้งไว้ตามโคนต้นไม้ในอาณาบริเวณบ้าน ทำให้น้ำไหลซึมลงดินให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ได้ขวดละ ๑ วัน

ตัวอย่างของเรื่องเล็กๆแต่มาในจังหวะที่พอดีกับความต้องการ ก็ทำให้ผมเกิดความคิดในการอยากลองทำดูไปด้วย แต่การเปิดฝาขวดใส่น้ำแล้วคว่ำลง แล้วให้น้ำต้นไม้ได้ ๑ วันนั้น เป็นโจทย์ของผมว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้ได้สักสัปดาห์หนึ่งหรือมากกว่า เลยต้องขอลองดูและน่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาการดูแลต้นไม้ขนาดเล็กและพืชผักได้ดีกับสภาพดินอย่างนี้ได้ ผมกับภรรยาเลยเดินรวบรวมสารพัดขวดพลาสติกที่ทิ้งขว้างเป็นขยะแล้วมาหาวิธีทำแหล่งให้น้ำที่โคนต้นไม้และพืชผัก

แทนการเปิดฝาขวด ซึ่งจะทำให้น้ำไหลเร็วและซึมสูญเสียลงดินไป ก็นึกถึงวิธีทำให้ขวดน้ำทำหน้าที่สัก ๒ อย่างที่โคนต้นไม้และพืชผัก กล่าวคือ ประการแรก ให้น้ำในขวดสร้างความเย็นกระจายสู่ดินเพื่อดึงความชื้นโดยรอบไว้ให้ต้นไม้ และประการที่สอง ให้มีน้ำไหลซึมออกจากขวดเลี้ยงต้นไม้โดยตรงผ่านรากฝอยโดยตรงให้มากกว่าการไหลซึมผ่านลงดิน ดังนั้น ผมจึงใช้วิธีปิดฝาขวดและใช้ตะปูปลายแหลมเล็กๆเจาะที่คอขวด ๒ ข้าง ดังภาพ

                                      

เมื่อทดลองดูแล้ว ก็พบว่าน้ำหยดซึมออกมาทีละนิด เห็นฟองอากาศผุดครั้งละประมาณ ๑ ครั้งต่อ ๑ นาที คะเนดูแล้ว ประมาณ ๒๐ ครั้งจึงจะได้สัก ๑ CC ซึ่งเกินพอที่จะทำให้น้ำในขวดปริมาณกว่า ๑ ลิตรไหลซึมในอัตรานี้ได้ตลอด ๑ สัปดาห์ นอกจากจะช่วยให้ดูแลต้นไม้ได้ทั่วถึงเท่าเทียมกับความร้อนแล้งตามสภาพดินดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว เมื่อผมไม่อยู่บ้าน ต้องไปบรรยายและไปทำงานต่างจังหวัดหลายวัน ก็จะช่วยลดภาระให้กับแม่บ้านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

                                        

                                       

                                       

                                       

                                       

                                       

                                       

ผมและภรรยาเลยช่วยกันทำเท่าทีมีขวดเปล่าให้เก็บมาทำ ตอนนี้เลยได้ประโยชน์ในคราเดียวกันหลายต่อเลยละครับ อันดับแรก ปัญหาความเป็นขยะของขวดเปล่าก็หมดไป [ คลิ๊กอ่านวิธีคิดเกี่ยวกับความเป็นขยะกับพัฒนาการของสังคมมนุษย์ http://www.gotoknow.org/posts/379917 ]  อันดับต่อมา ก็ช่วยดูแลต้นไม้ได้อย่างทั่วถึง อันดับต่อมาอีก ก็ช่วยลดการใช้น้ำและการใช้การลงมือทำกิจกรรมวนเวียนบนวงจรเดิมเป็นระยะเวลากว่า ๑ ฤดูกาล หรืออีกกว่า ๔-๕ เดือนข้างหน้า ลงไปได้เป็นอย่างมาก ทำให้มีความพอเพียงและมีความสามารถในการพึ่งตนเองทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นมากยิ่งๆชึ้น 

                                        

                                        

ขอเรียกว่า 'ชลประทานน้ำขวด' ก็แล้วกันครับ ผมกับภรรยานอกจากทำชลประทานน้ำขวดแบบนี้ให้กับต้นไม้และพืชผักในบ้านของเราได้แล้ว ก็พอจะเจียดไปทำให้ต้นไม้บนริมถนนสาธารณะของหมู่บ้านของเราซึ่งตลอดหน้าแล้งนี้ก็คงคงยากเช่นกันที่จะหาใครมาดูแลให้ทั่วถึงได้ไหว ชลประทานน้ำขวดนี่แหละกระมังที่พอจะช่วยได้

ก็เป็นแนวคิดหนึ่ง ที่วิธีที่ได้มานั้น ผมได้จากการได้พานพบความริเริ่มดีๆของผู้คนผ่านการทำงานด้วยกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กล่าวได้ว่าการได้ทำงานร่วมกันของผู้คนเป็นปัจจัยเงื่อนไขให้เข้าถึงความรู้และตัวปัญญาปฏิบัติที่อยู่กับวิถีดำเนินชีวิตของกันและกันในลักษณะอย่างนี้ เป็นการได้สติปัญญาและความบันดาลใจที่หนุนเนื่องมากับการได้นอบน้อมสู่กันและร่วมมือกันทำสิ่งดีๆให้กับสังคมทีละเล็กละน้อยของคนตัวเล็กๆในวิถีชาวบ้านและในวิถีของคนทำงานทั่วๆไป ซึ่งก็มีกระบวนการเลือกสรรและวัฒนธรรมการแบ่งปันสิ่งดีให้กัน ที่งดงามน่าประทับใจอีกแบบหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 516839เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2013 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2013 16:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

มีความคิดดีคับ เดียวจะนำไปทำที่บ้านคับ

แล้วต้นใหญ่หน่อยต้องใช้น้ำ 2 ขวดหรือเปล่าคับ

เพราะมันต้องการน้ำมากกว่าต้นเล็กๆ คับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

ชื่นชมการสร้างสรรค์มากค่ะ ;))

ท่านอาจารย์สบายดีนะคะ 

เรียนอาจารย์ วิรัตน์ 21-22 มค.นี้ มีธุระแถวเชียงใหม่ หากมีเวลาจะแวะคารวะครับ

สวัสดีค่ะ

เป็นวิธีง่ายๆ ที่น่าสนใจมากค่ะ
แล้วต้องปักปากขวดลงลึกไหมคะ

สวัสดีครับคุณ Yong ครับ
ที่ใหญ่สูงไม่เกิน ๓ เมตรนี่ผมก็ใช้ขวดเดียวครับ ใหญ่กว่านี้ยังไม่ได้ลองทำดูครับ เพราะต้นใหญ่กว่านี้ อย่างเช่นต้นฝรั่ง สูงกว่า ๒ เมตร ก็มักมีรากยาว ไม่ค่อยเห็นผลกระทบจากความแห้งแล้งครับ ดูเขียวและงอกงามดี เลยยังไม่ได้ลองทำครับ 

สวัสดีครับ ดร.ปริมครับ ขอบพระคุณครับ
ตอนนี้ก็พอได้ครับ แต่รู้สึกหนาวเย็นเอาเรื่องเหมือนกัน  

สวัสดีครับท่าบังวอญ่าจากแดนไกล
ดูสิ เป็นจังหวะที่ผมจะไปโน่น ที่หล่มเก่าเพชรบูรณ์โน่นพอดีเลยละครับ แต่จะกลับถึงบ้านเย็นวันที่ ๒๓ ครับ ตอนนั้นบังวอญ่ากลับพัทลุงแล้วหรือยัง

สวัสดีครับคุณหยั่งราก ฝากใบครับ
ต้องใช้หลักแบบนามปากกาหยั่งรากฝากใบเลยเชียวครับ คือ ต้องเซาะดินลงไปดูบริเวณที่มีรากฝอยแผ่กระจายอยู่เยอะๆ แล้วก็ปักปากขวดให้น้ำซึมถึงรากตรงๆบริเวณนั้นเลยครับ ได้ยินชาวบ้านบอกว่า การแผ่กว้างของรากฝอยของต้นไม้ต่างๆที่เป็นไม้ยืนต้นหรือที่มีลำต้นนั้น จะกินอาณาบริเวณพอๆกับการแผ่กิ่งใบที่สังเกตได้เหนือพื้นดินนั่นแหละครับ กิ่งใบแผ่กว้างขนาดไหน ก็ประมาณบริเวณการแผ่ของรากฝอยได้พอๆกับขนาดการแผ่กิ่งใบของต้นไม้นั้นๆน่ะครับ 

เรียนอาจารย์ คงอยู่ถึง  24 ครับผม 

ออกเดินทางรุ่งพรุ่งนี้ครับ

I used this method but not in Summer time -- the water in bottles when left in the Sun can be quite hot. Plants don't like hot water and they can't walk away from it.

Mulching also works but looks a bit messy ;-)

ขอบพระคุณข้อสังเกตและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ด้วยครับคุณ sr ครับ
ตอนที่ทำนั้นก็นำเอาแง่มุมนี้มาคิดอยู่เหมือนกันครับ เลยแก้ไขไว้ ๒ วิธีที่จะช่วยได้ คือใช้วิธีเจาะรู ๒ ข้างที่คอขวดซึ่งจะเป็นส่วนฝังไว้ในดิน ช่วงคอขวดและปากขวดเล็กลง อีกทั้งฝังลงดิน จะช่วยถ่ายเทความร้อนออกไปได้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่วางให้ชิดลำต้นมาก แต่ก็จะลองสังเกตดูเรื่อยๆด้วยครับ เพราะเป็นห่วงว่ามันจะร้อนและทำให้ต้นไม้เฉาเหมือนกันครับ

  • ขอบคุณคะ ชอบวิธีการสังเกตของอาจารย์จัง
  • เห็นฟองอากาศผุดครั้งละประมาณ ๑ ครั้งต่อ ๑ นาที คะเนดูแล้ว ประมาณ ๒๐ ครั้งจึงจะได้สัก ๑ CC ซึ่งเกินพอที่จะทำให้น้ำในขวดปริมาณกว่า ๑ ลิตรไหลซึมในอัตรานี้ได้ตลอด ๑ สัปดาห์ 
  • ได้ไอเดียไปจัดการกับไม้กระถาง ที่คอนโดแล้วคะ :)

ต้องลอง ๆ ค่ะ    โดยเฉพาะต้นริมรั้วที่ไกลตา

ขอบคุณค่ะอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป.ครับ
น่าจะเหมาะกับต้นไม้ในกระถางตามคอนโดและตามอาคารด้วยเหมือนกันนะครับ เพราะเป็นต้นไม้ที่มีรากสั้น นอกจากหน้าแล้งจะรวบรวมน้ำจากดินลึกๆไม่ได้แล้ว ตามดินที่อยู่ในกระถาง ก็จะแห้งมาก

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ.
ตอนนี้ผมไปเสาะหาตำลึงตามรั้วและตามกอไผ่ มาทำเป็นกอและพุ่ม โดยใช้แขนงส่วนปลายของลำไผ่มาปักลงดิน ห

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ.
ตอนนี้ผมไปเสาะหาตำลึงตามรั้วและตามกอไผ่ มาทำเป็นกอและพุ่ม โดยใช้แขนงส่วนปลายของลำไผ่มาปักลงดิน หากตำลึงโตและแตกยอด ก็จะให้มันไต่ไปตามแขนงไผ่ ก็จะได้กลายเป็นพุ่มตำลึง หากโตเป็นพุ่มแล้วจะถ่ายรูปมาอวดคุณหมอสักหน่อย

For Khun SR

I think hot water from sun It's not impact too much to the tree coz it will cool down when it drop to the soil.

And the others thing is some plants they have there own shape.  

น่าสนใจมากเลยครับ ถ้าเจาะน้อยๆก็หยดลงพื้นน้อยๆ

Hi Yong ,

I don't usually come back to see "my" comment. So, usually I don't get to see any comments on my comment ;-). This subject interests me and I want to see what people do or think about it. (so far only courtesy calls -- no real extra info.)

Try pouring 40C water on a plant's root zone and what happens. --Make sure it is not your prize plant.

Shade is good if we can keep our water bottles under shade --all the time--.


To Dr Viratana,

Holes under ground (level) does not help much because it is the water in the bottle that is exposed to the Sun. My experiments showed water in bottle can get hot 40+C in 1 hour in the Sun (like cars parked in the Sun with all windows closed), It can get hotter between 12-3PM.

I tried wrapping newspaper around the bottles. But where I live, we have hares, kangaroos and wallabies with usual curiosity, so we have paper litter up in places --not very nice to see--.

Good luck with your project. (I had problems keeping creepers climbing where they should ;-)

สวัสดีครับคุณ Yong และคุณ sr ครับ

สังเกตจากน้ำเมื่ออยู่ในสายยางกลางแดดจ้าตอนบ่าย หากเปิดก๊อก ช่วงแรกน้ำก็จะร้อนมาก ร้อนจนแม้รดที่เท้าของเราก็ต้องสะดุ้งโหยง อย่างกับน้ำต้มเลยทีเดียว ก็คงจะเป็นอย่างที่คุณ sr ให้ข้อสังเกตและแนวคิดนะครับ แต่เท่าที่ทำดู ณ เวลานี้นี่ ต้นไม้งอกงามดีครับ โดยเฉพาะต้นโกศล ต้นดอกแก้ว พริก และขมิ้นขาว ซึ่งปรกติเหี่ยวและเฉาแดดง่าย ตอนนี้ดูใบแข็งแรง สดชื่นดีมากกว่าเดิมเยอะครับ 

นอกจากจะดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ก็ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยการใช้ปริมาณน้ำที่น้อยกว่าเดิมมากครับ ปรกตินั้น หากรดน้ำครั้งหนึ่งก็จะต้องใช้น้ำต้นละประมาณ ๑-๒ ลิตร ซึ่งก็ประมาณ ๑ ขวดน้ำหรือมากกว่า ต่อ ๑ วัน แต่พอทำอย่างนี้แล้ว ก็ดูแลต้นไม้ได้หลายวันครับ บางขวดเกือบ ๒ สัปดาห์ ลดไปเป็น ๑๐ เท่าแต่ได้ผลดีกว่าเสียอีกน่ะครับ 

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
ต้องเจาะน้อยๆอย่างที่อาจารย์ว่าแหละครับ ตอนนี้ขวดที่หมดเร็วนี่หมดใน ๑ วัน และขวดที่หมดช้า อยู่ได้เป็น ๒ สัปดาห์แล้ว เลยต้องหาวิธีทำให้น้ำซึมออกน้อยๆกว่าเดิมอีกครับ

ที่ไร่จอมบึงเราทำเช่นนี้มาตั้งแต่หลังฝนปี54 อากาศร้อนระอุ ดินแข็งแน่น

เก็บเปลือกสัปรดที่แม่ค้ามาเทใต้โคนต้นไม้ใหญ่ กลุ่มอายุเกิน 1 ปีหากผ่านฝนแรกจะอยู่ได้โดยไม่ต้องรดน้ำทุกสัปดาห์ แต่ถ้ายังไม่เคยผ่านฝน จะใช้ขวดอย่างที่ท่านอ.ทำนี่แหละค่ะ แต่เจาะที่ฝาเพียงรู้เดียว อยู่ได้ 2 สัปดาห์

มีปัญหาเรื่องตะไคร่น้ำด้วยทำให้รูน้ำอุดตัน แต่แก้ด้วยการเอาต้นหญ้าแห้งวางปิดขวดน้ำไว้ และเอาแกลบ กับเปลือกมะพร้าววางรอบๆโคนต้นไม้ ช่วยให้บริเวณต้นไม้เย็น

ก่อนวางขวดจะใช้สายยางฉีดน้ำนำล่องลงไปจนถึงรากเพื่อให้น้ำได้หยดลงใกล้ๆรากแก้วและไม่ล้มลง

ทิศทางที่วางขวดก็มีความสำคัญ หากขวดเจอแดดบ่ายตะไคร่น้ำเกิดเร็วมากกว่าขวดที่โดนแดดเช้าค่ะ


สวัสดีครับ krutoiting ครับ
ขอบพระคุณมากเลยครับ เลยได้แบ่งปันกันอีกหลายวิธีเลย ดีจัง นอกจากได้วิธีดูแลต้นไม้แล้ว ก็ได้ใช้เป็นสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การพิจารณากระบวนการเรียนรู้ที่อยู่ในประสบการณ์ชีวิตของผู้คน ซึ่งมีความเฉพาะตน มีความลึกซึ้งต่อชีวิต การมองโลก การเห็นความเชื่อมโยงกันของโลกรอบข้าง จะมีโอกาสเข้าถึงและสัมผัสได้ก็โดยวิถีการดำเนินชีวิตและวิถีแห่งการงาน  ที่ทำให้ได้ทำสิ่งต่างๆด้วยกัน  ผู้คน เครือข่ายชุมชน และการทำงานอย่างนี้ เลยทำให้คนได้ใช้ชีวิตและมีความงอกงามทางความรู้ รวมทั้งความลึกซึ้งต่อเรื่องต่างๆไปด้วยอยู่เสมอ แต่เมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยอยู่ตลอดเวลา กระบวนการเรียนรู้และความมีชีวิตของความรู้แบบนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปด้วยอยู่เสมอ ได้เห็นอีกหลายๆครั้ง ก็มักจะนำเรื่องราวใหม่ๆมาสู่ประสบการณ์และการเรียนรู้ดีๆไปด้วยทุกครั้งเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณพรครับ ขอบคุณเช่นกันครับที่เข้ามาขอบคุณกัน 

ขอถามสักหน่อยได้ไหมคะ เราใช้ขวดกินน้ำแบบเล็ก (ที่ขวดอ้วนๆ สั้นๆ) ได้ไหมคะ แล้วทำไมต้องคว่ำขวดลงคะ เจาะรูที่ก้นขวดได้ไหมคะ จะได้เปิดฝาขวดไว้เติมน้ำ 

น่าสนใจมากเลยค่ะ ขอลองนำไปใช้บ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท