ไปหนองคาย...อย่าลืมแวะไปดูไหมดาหลา


 

ไปหนองคาย...อย่าลืมแวะไปดูไหมดาหลา

วิโรจน์ แก้วเรือง1/

               

 

 

            ไหมดาหลา” ถามใครเขาก็ไม่รู้จัก มีเพียงบางท่านเท่านั้นที่เคยได้ยินมาบ้าง เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไหมดาหลาในงาน“เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยมี นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น และนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม ถวายรายงานให้พระองค์ทรงทราบถึงความเป็นมาของไหมพันธุ์นี้

 

 

 

 

ความเป็นมาของไหมดาหลา

                 “ดาหลา” (Torch  Ginger: Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith) เป็นพืชล้มลุกประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์Zingiberaceae เช่นเดียวกับขิงและข่า ชอบสภาพดินที่มีความชุ่มชื้น ปลูกมากทางภาคใต้ของไทย เป็นไม้ตัดดอก นอกจากนั้นหน่ออ่อนและดอกยังใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก ประกอบอาหารอื่นๆ ได้อีกด้วย

                 กระทั่งในต้นปี พ.ศ. 2552 นายสุชาติ จุลพูล ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯหนองคาย สังกัด สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ปัจจุบันคือกรมหม่อนไหม) ได้ขอต้นกล้าดาหลาเพาะเมล็ดลูกผสมระหว่าง ดาหลาแดงกับดาหลาขาวป่านราธิวาส จากนายสุธาชีพ  ศุภเกษร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรที่สูงเลย(ภูเรือ) ซึ่งเป็นนักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวนหนองคายในขณะนั้น ตามคำแนะนำของ นายวิทยวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหม่อนไหม นำมาปลูกบริเวณรอบสระน้ำขนาดใหญ่ในศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯหนองคาย ครั้งแรกจำนวน 258 ต้น เพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์และได้ศึกษาคัดเลือกพันธุ์ดอกที่สวยงามไปด้วย ต้นดาหลามีการเจริญเติบโตดีเช่นเดียวกับการปลูกในภาคใต้ และเริ่มออกดอกในปี พ.ศ. 2553 ลักษณะดอกสวยงามมีความหลากหลายทั้งรูปทรงและสีสัน

 

 

 

                 อากาศที่ร้อนจัดของวันที่ 7 เมษายน 2554  นายพิทยา  กุศล  ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคาย ออกไปเดินชมความงามของดอกดาหลา คลายความร้อน พบหนอนชนิดหนึ่งเข้ามากินใบดาหลาที่ปลูกไว้ จึงได้ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช กำจัดหนอนชนิดนี้ โดยคาดไม่ถึงว่าจะเป็นไหมป่าชนิดหนึ่ง แต่โชคดีที่หนอนดังกล่าวตายไม่หมดจึงเหลือเข้าทำรัง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 จำนวน 7 รัง  ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคาย เห็นว่ารังของหนอนผีเสื้อชนิดนี้น่าสนใจ จึงมอบให้นายพิทยา กุศล  ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้ ศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ การเลี้ยงตัวหนอน จดบันทึกข้อมูลวงจรชีวิตของไหมป่าชนิดนี้  ขณะเดียวกันได้รายงานต่อ นายประทีป มีศิลป์  รองอธิบดีกรมหม่อนไหม เพื่อขอคำแนะนำ จึงได้ศึกษาวงจรชีวิตของดักแด้ ผีเสื้อ และการวางไข่ ท่านได้ขอความร่วมมือจาก ผศ.ชาญชัย  ถาวรอนุกูลกิจ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ให้ช่วยจำแนกผีเสื้อชนิดนี้และค้นคว้ารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

 

                   ลการค้นคว้าวิจัยร่วมกันพบว่า ไหมที่มากินใบดาหลาเป็นไหมป่าฟาการ่า (Fagara silkworm,Attacus atlas Linn.) มีอยู่ตามธรรมชาติปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี ในระยะที่เป็นหนอนและผีเสื้อจะมีขนาดใหญ่มากเมื่อทำรัง เส้นใยมีความเหนียวมากเช่นกัน พบไหมชนิดนี้มากในบริเวณรอยต่อภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ไหมป่าชนิดนี้มีวงจรชีวิต 60-65 วัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล กินพืชอาหารได้หลายชนิดแต่ยังไม่มีรายงานการกินใบดาหลาและการนำมาใช้ประโยชน์ด้านการทอผ้า พร้อมทั้งมีการทดลองนำรังไหมไปสาวเป็นเส้นด้วยเครื่องสาวไหม ซึ่งเครื่องสาวนี้ใช้สำหรับสาวเส้นไหม รังเสียหรือรังไหมที่ถูกตัดรังแล้ว พบว่าสาวเป็นเส้นได้ดีมีแนวโน้มที่จะใช้เป็นประโยชน์ต่อไปได้ จึงขยายการเลี้ยงให้มากขึ้น แล้วนำไปทอเป็นผืนผ้าไหมดาหลาผืนแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งพบว่าผ้าไหมที่ทอแล้วมีลวดลายสีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเกิดจากเส้นไหม  แม้ไม่มีการย้อมสี อีกทั้งยังมิเคยมีผู้ใดนำรังไหมดาหลามาสาวเป็นเส้นแล้วทอเป็นผืนผ้าที่สมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน


 

 

 

 

 

ลักษณะเฉพาะของไหมดาหลาคือ

 

1.  สีของเส้นไหมที่สาวได้มีสีคงตัวไม่เปลี่ยนจากสีเดิมแม้จะลอกกาวชั้นนอกออกแล้วก็ตาม

2.  ในการสาวไหมชนิดนี้ ไม่ต้องต้มรังไหม จึงไม่ต้องฆ่าดักแด้สามารถปล่อยให้เป็นผีเสื้อเพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้

3.  เป็นแนวทางในการผลิตเส้นใยธรรมชาติจากแมลงที่ไม่ใช่ไหมซึ่งกินใบหม่อนเป็นอาหาร และมีศักยภาพสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย เพิ่มมูลค่าในการผลิตผ้าไหมของไทยในอนาค

 

ลักษณะอันโดดเด่นของไหมดาหลา

 

 

1.  เป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีความสวยงามเป็น 1 ใน 10 ของโลก

 

2. เป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 10 ของโลก เมื่อแผ่ปีกกว้างเต็มที่จะมีความยาว 25-30 เซนติเมตร

3.  กินพืชอาหารได้หลากหลายชนิด (ตารางที่ 2)

 

 

 

4.  สีของรังไหมเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของพันธุ์ดาหลาและพืชอาหาร เพื่อถือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเส้นใยธรรมชาติชนิดใหม่จากดาหลาที่คณะผู้วิจัยสามารถพัฒนานำมาใช้ประโยชน์จนครบกระบวนการผลิตถึงการทอเป็นผืนผ้าได้เป็นคณะแรกในโลก และยังเป็นอีกหนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพด้ว

 

 

 

                  เนื่องจากเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของโลก และในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญานาม “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” ในการนี้ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำผ้าไหมดาหลาที่ทอขึ้นมาใหม่เป็นพิเศษซึ่งออกแบบการทอโดย   อ.เผ่าทอง  ทองเจือ และทีมงาน ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555


             ดังนั้น ไหมดาหลาจึงเป็นนวัตกรรมด้านเส้นใยธรรมชาติจากผีเสื้อที่แสนสวยงาม อันเกิดจากการพัฒนาของทีมนักวิจัยไทย จนได้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมดาหลาชิ้นแรกของโลก แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยอีกมาก ตั้งแต่การรักษาความแข็งแรงของพันธุ์ การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งสิ่งทอ เวชสำอาง และการแพทย์ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 ปี จึงจะได้คำตอบว่าการผลิตไหมดาหลาเพื่อเป็นอาชีพจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

                   เมื่อทราบความเป็นมาเป็นไปของไหมดาหลาแล้ว เราจะไปดูกระบวนการเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหมพันธุ์ดังกล่าวได้ที่ไหนและอย่างไร เรามาตั้งต้นกันที่จังหวัดหนองคายเลยนะครับ ไหมดาหลายังคงมีการเลี้ยงและศึกษาวิจัย ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯหนองคาย หรือเรียกง่ายๆ ว่าศูนย์ไหมหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโคกสว่าง หมู่ 11 ตำบลเหล่าต่างคำ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย 43120 โทรศัพท์ 042-436812,  e-mail : [email protected] การเดินทางใช้ทางหลวงระหว่างจังหวัดหนองคายกับจังหวัดบึงกาฬ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย 30 กิโลเมตร เมื่อถึงบ้านหมากก่องกิโลเมตรที่ 22-23 เลี้ยวขวาไปยังศูนย์ไหมหนองคาย ผ่านบ้านนาเมย และบ้านโคกสว่าง ผ่านเรือกสวนไร่นาอันเขียวขจีของชาวบ้าน อีกไม่นานก็ถึงศูนย์ไหมหนองคาย รับรองไม่ผิดหวังเพราะสภาพที่ตั้งแห่งนี้มีสภาพเหมือนรีสอร์ทมากกว่า


              ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯหนองคาย มีพื้นที่กว้างขวางมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ผู้ที่มาเยือนนอกจากจะเพลิดเพลินกับธรรมชาติตั้งแต่เช้าจรดเย็นแล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆศูนย์ฯ ทั้งการทำการเกษตร และการประมง ตลอดจนได้เรียนรู้การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกย้อมเส้นไหม และการทอผ้าไหม อีกทั้งที่นี่ยังมีสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ในกระบวนการทำผ้าไหมจำนวนมากจากฝีมือ นายสุชาติ จุลพูล ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคาย ซึ่งยินดีต้อนรับทุกท่าน แล้วพบกันครับ

 

ที่มา : น.ส.พ.กสิกร ปีที่ 85 ฉบับที่ 6 (พ.ย.-ธ.ค.55) เขียนโดย วิโรจน์  แก้วเรือง



 

 

 

 



 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 516441เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2013 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ไปมาแล้วแต่ไม่ได้แวะที่นี้  วันหน้าจะลองแวะไปชม

ขอบคุณที่ให้ข้อมูลครับ

 .... 

ไหมดาหลา.... ขอบคุณความรู้นี้ค่ะ 

ไหมดาหลา เลี้ยงได้ปีละหลายรุ่น  แต่ช่วงฤดูฝน สามารถขยายพันธุ์ได้ดี เช่นเดียวกับดาหลา ผู้สนใจไหมดาหลา ต้องมาที่ศูนย์ฯ ช่วงนี้ครับ  แถมได้ดูไหมป่าชนิดอื่นๆ อีก  เช่น ทาร์ซ่า  อีรี่

หมู่1ค่ะต.เหล่าต่างคำ โคกสว่าง11

มีจำหน่ายด้วยไหมครับ คุณค่าน่าสะสมครับ

เรียน คุณ Narut

ถ้าสนใจ กรุณาโทรถึง ผอ.สุชาติ จุลพูล ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคาย โทร 092-2562309 ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท