KM-DMHT 2012 : สัญญาณโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง : ความท้าทายของประเทศไทย (1)


จริงๆ แล้วการใช้ค่าตัวชี้วัด ก็เพื่อหาโอกาสในการพัฒนาระบบ... ไม่ใช่ไล่ทำตามให้ตัวเลขขยับขึ้นมา

วันที่ 27 ธันวาคม 2555 

ช่วงเช้าของวันนี้เป็นกิจกรรมในฐานการเรียนรู้อีก 2 รอบ เราพยายามจัดเวลาในกระชับขึ้นเพื่อให้ภาคบ่ายปิดการประชุมได้ไม่ช้าเกินไป ซึ่งทั้งทีมวิทยากรประจำฐานและผู้เข้าประชุมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พักรับประทานอาหารกลางวันเพียง 30 นาทีเท่านั้น

เราเริ่มกิจกรรมในภาคบ่ายในเวลา 13.00 น. เป็นการอภิปรายเรื่อง สัญญาณโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง : ความท้าทายของประเทศไทย ผู้เข้าประชุมยังอยู่ฟัง session สุดท้ายจำนวนมากเกินกว่าที่คาดไว้ ดิฉันให้จัดเก้าอี้ไว้ประมาณ 200 ตัว ปรากฏว่าต้องยกเก้ากี้มาเติมอีกหลายรอบ น่าชื่นใจจริงๆ 

อาจารย์ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ ทำหน้าที่เป็นพิธีกร แนะนำแพทย์หญิงอารยา ทองผิว ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการอภิปรายแทนดิฉัน ซึ่งป่วยจากอาการหวัดลงคอ เสียงแหบแห้ง และพูดอย่างต่อเนื่องไม่ได้



อาจารย์ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ พิธีกรภาคบ่าย


อาจารย์อารยาเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม ต่อมไร้ท่อและเบาหวาน ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน เป็นที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพระบบ  Hospital  Accreditation ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน  กรรมการ Terumo  Diabetes  Patient  Care  Team  Award และ Sanofi  Aventis Diabetes Distinguished Service Award และกรรมการด้านวิชาชีพอีกหลายชุด

อาจารย์อารยา เป็นผู้มีจิตอาสาสูงมาก ร่วมทำงานและให้การสนับสนุนเครือข่ายเบาหวานในทุกด้าน ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะร้องขอสิ่งใด ทั้งกำลังความคิด กำลังใจ กำลังกาย กำลังงาน (ทีมคนทำงาน) กำลังทรัพย์ ฯลฯ ท่านจะมอบให้เครือข่ายเสมอ เป็น “อาจารย์แม่” ของพวกเราตลอดมา

วิทยากรประกอบด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รับผิดชอบการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พัฒนาเครื่องมือการประเมินความเสี่ยงต่อเบาหวานหรือ Diabetes Risk Score และนักวิจัยหลักของโครงการ DPP Thailand

นายแพทย์สมเกียรติ โพธิสัตย์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ TCEN เบาหวาน โครงการพัฒนาระบบบูรณาการการป้องกันและจัดการโรคเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง กรณีสกลนคร ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยชุดโครงการวิจัยภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการจัดการโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนทางคลินิก 

นายแพทย์สมเกียรติร่วมทำงานกับเครือข่ายเบาหวานมาหลายปี ให้การสนับสนุน หาทุนและเชื่อมโยงแหล่งทุนให้อย่างต่อเนื่อง ร่วมทั้งยังเป็นนักวิจัยหลักในโครงการ DPP Thailand

นายแพทย์กิตติ ปรมัตผล ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคเรื้อรังและโรคเฉพาะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคนหน้าใหม่สำหรับชาวเครือข่ายเบาหวานฯ 



แพทย์หญิงอารยา ทองผิว ผู้ดำเนินการอภิปราย


อาจารย์อารยาบอกผู้เข้าประชุมว่าชั่วโมงต่อไปเป็นชั่วโมงปราบเซียน เราจะไม่หลับ... เรามาด้วยความปรารถนาดี... เชิญชวนให้ส่งความสุขด้วยความสุขที่เราจะไปมอบแก่ประชาชนคนไทยของเราที่มีโรคเรื้อรัง แนะนำวิทยากรผู้ร่วมอภิปรายว่าจะนำสัญญาณจากที่ใดมาบอกกล่าวบ้าง และให้แต่ละท่านโชว์หุ่นที่ไม่มีส่วนเกินด้วย 

นายแพทย์สมเกียรติ โพธิสัตย์

เริ่มพูดเป็นคนแรก บอกว่าจะมาฉายภาพจากระดับสากลจนถึงระดับรายบุคคล ในระดับสากล ปีที่แล้ว UN นำเอาเรื่องการควบคุม NCD เข้าที่ประชุม เป็นเรื่องที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2001  ทำให้คนทั่วโลกสนใจว่าโรคนี้ได้คุกคามสันติภาพของโลกแล้ว เพราะ UN ทำงานเรื่องสันติภาพของโลก สิ่งที่เขาให้ความสำคัญเรียกว่า 4x4, 4 โรคและ 4 ความเสี่ยงร่วม 4 โรคคือ เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง (ประเทศไทยอาจต่างไปเล็กน้อย) 4 ความเสี่ยงร่วมคือ บุหรี่ เหล้า อาหาร และการไม่ออกกำลังกาย ความจริงยังมีภาวะร่วมที่ทำให้เกิดอีกคือ น้ำตาลสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติ และอ้วน



นายแพทย์สมเกียรติ โพธิสัตย์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์


ภาพรวมยุทธศาสตร์การดำเนินงานสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เป็น concept ที่จะ movement โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ (Basic package, Strategic focus, Specific issue) เป้าหมายคือประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจเติบโต... 2 อันแรกเกี่ยวกับ P&P โดยจะเอาอำเภอเป็นฐานสำคัญ... 

นายแพทย์สมเกียรติยังกล่าวถึง 12 พวงบริการ เป้าหมายคือ ลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย มาตรฐานการบริการ เข้าถึงบริการ ลดค่าใช้จ่าย... จะสอดคล้องกับแผนประเทศคือแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย... โดยแผนฯ จะมีการแบ่งประชาชนเป็น segmentation เพื่อให้มีมาตรการและเป้าหมายสอดคล้องกับแต่ละกลุ่ม

เช่น กลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย กลุ่มป่วยมีภาวะแทรกซ้อน แต่ละกลุ่มจะมีเป้าหมายและมาตรการที่แตกต่างออกไป… แต่ละพวงบริการจะให้มีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีการแบ่งเป็น 10 เรื่องสำคัญ… NCD มาทีหลัง แต่แซงไปอย่างรวดเร็ว



ส่วนหนึ่งของผู้เข้าประชุม


อีกเรื่องที่เป็นเป้าหมายเหมือนกันคือกลุ่ม KPI กำลังเคลื่อนไหว ปลัดกระทรวงฯ จะเอาเป็นตัวขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่าง...ในระดับที่พวกเราทำงานกันอยู่ก็มีชุดของเป้าหมาย เช่น ตัวชี้วัด TCEN ของเบาหวานมี 18 ตัว ของความดันโลหิตสูงมี 7 ตัว

เรื่องตัวชี้วัด ต้องระวังอันตรายของการใช้ตัวชี้วัดที่ทำไม่ถูกกับจุดประสงค์ที่สำคัญของเขา... แสดง flow ของข้อมูล… มาจาก individual data/record โดยใช้จังหวัดเป็นฐานเรียกว่า data center ของจังหวัด จุดประสงค์จริงๆ เรื่องของข้อมูลตรงนี้ก็เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการบริการ NCD ให้ต่อเนื่องกัน แต่ว่าได้ประโยชน์อย่างอื่นตามมาคือตัวชี้วัด แต่ถ้ามีตัวชี้วัดออกมาแล้วให้ไปทำตามนั้นหรือสั่งมาให้ทำ ในมุมมองของนายแพทย์สมเกียรติเห็นว่าผิดจุดประสงค์ เช่นบอกว่าต้องมีการเจาะ A1C อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง คนไหนยังไม่ได้เจาะก็ไปเจาะ แล้วยังไง ไม่ได้ไปดูอะไร เจาะเพื่อให้มีค่าของบุคคลอีกคนหนึ่งกระนั้นหรือ แบบนี้ผิด

สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดเหล่านั้น ใช้ในการดูสมรรถนะของระบบ แต่การที่จะเจาะหรือไม่เจาะหรือการที่จะปฏิบัติดูแลรักษาอย่างไรเป็นเรื่องของวิชาชีพ เป็นแนวปฏิบัติที่ทีมผู้ดูแลพิจารณาแล้วว่าคนนี้มีความเหมาะสมตามแนวเวชปฏิบัติ ตาม guideline เวชปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว… แต่ guideline ก็เป็น guideline ต้องไปดูสภาพจริงด้วยว่าผู้ป่วยสมควรประการใด… ทั้งหมดแล้ว ถึงจะเป็นตัวชี้วัดที่ดูในเชิงสมรรถนะของระบบ

แนวทางการตั้งค่าเป้าหมายตัวชี้วัด 3 แบบคือ เปรียบเทียบกับผลงานของตนเองในอดีต เปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นที่ควรเป็นคู่เทียบ (คู่ควรเปรียบ) โดยคำนึงถึงขนาดองค์กรและทรัพยากรที่ใกล้เคียงกัน และเปรียบเทียบกับมาตรฐานเพื่อความเป็นเลิศ

จริงๆ แล้วการใช้ค่าตัวชี้วัด ก็เพื่อหาโอกาสในการพัฒนาระบบ... ไม่ใช่ไล่ทำตามให้ตัวเลขขยับขึ้นมา

สรุปว่าได้พูดถึง 5 points ที่สำคัญคือการ movement ในระดับสากล ในระดับประเทศ ซึ่งมีการ movement ให้เกิดการใช้ทรัพยากรและการบริหารจัดการต่อเนื่องกัน ระดับที่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน ความดันฯ ต้องดูทั้งเชิงกลุ่ม (พื้นที่หรือ community) ระดับบุคคล (มี guideline อยู่แล้ว) และเมื่อมีการกำหนดค่าเป้าหมายและการควบคุมแล้วให้ใช้ให้ถูกต้อง

Download ไฟล์ PowerPoint ที่นี่

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 516122เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 20:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท