กระบวนทัศน์ใหม่ของการประเมินทางการศึกษา


จะให้เด็กไทยได้รับการเรียนรู้ที่ดีต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการประเมิน

ผมอ่านหนังสือใหม่ๆ ด้านการศึกษาหลายเล่ม แล้วฟันธงกับตนเอง  ว่าจะให้เด็กไทยได้รับการเรียนรู้ที่ดีต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการประเมิน

อำนาจการประเมินต้องเปลี่ยนมือ จากหน่วยงานด้านการประเมินทั้งหลาย  ไปอยู่ในมือนักเรียน นักศึกษา หรือผู้เรียน 

หมายความว่า  ผู้เรียนต้องเรียนทักษะด้านการประเมินไปพร้อมๆ กับการเรียนทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เพื่อใช้ทักษะการประเมินเป็นเครื่องมือหนุนการเรียนรู้ของตนเอง

นั่นคือ  ทักษะการประเมิน กลายเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการเรียนรู้  Self-assessment Skills เป็นส่วนหนึ่งของ Learning Skills 

ภาษาไทยเราไม่มีคำแยกแยะการประเมินต่างเป้าหมาย  ที่เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment)  กับเพื่อตัดสินได้-ตก (Summative Evaluation)  ทำให้เราสับสน  และหลงไปบูชาการประเมินแบบได้-ตก  แต่ผมมีความเห็นว่า ในยุคนี้ การประเมินที่สำคัญคือการประเมินเพื่อพัฒนา

การประเมินที่เน้นได้-ตก ทำให้คนกลัวการประเมิน  และนำไปสู่ความทุจริตฉ้อฉลทางการศึกษานานาชนิด ตามที่เรารู้ๆ กันอยู่

การประเมินเพื่อพัฒนา ทำให้การประเมินเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะ ที่คนทุกคนต้องมี และต้องฝึก

คนที่จะเป็น “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” ต้องประเมินเป็น ทั้งประเมินตนเอง และประเมินสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ โดยรอบ  ผมจึงมองว่า ทักษะการประเมินแบบ assessment เป็นส่วนหนี่งของทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking Skills)  ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นมากในการดำรงชีวิต 

การประเมินตนเองในเรื่องการเรียนรู้นั้น  นอกจากประเมินผลสัมฤทธิ์ ที่เป็นความก้าวหน้าในการเรียน  และประเมินกระบวนการเรียน แล้ว  ยังต้องสามารถประเมินขั้นตอนการเรียนของตนเองได้  ภาษาอังกฤษเรียกว่ามี metacognition skills   ความหมายในที่นี้ก็คือ คนที่มีวิธีการเรียนที่ไม่ดี จะเรียนให้รู้จริง (mastery) ได้ยาก หรือไม่ได้เลย

การหลงยึดมั่นบูชาการประเมินแบบได้-ตก  ทำให้วงการศึกษาไทยตกอยู่ในบรรยากาศของความกลัว  นักเรียนกลัวสอบตก  ครูและโรงเรียนกลัวนักเรียนตก และกลัวผลการประเมินของ สมศ. ไม่ผ่าน  หลักการของการเรียนรู้สมัยใหม่บอกว่า ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา  มี ๔ กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งตือบรรยากาศในการเรียนรู้  จะให้เรียนรู้ได้ผลดี บรรยากาศต้องเป็นอิสระ ปลอดจากความหวาดกลัว  

การหลงยึดมั่นบูชาการประเมินแบบได้-ตก  ทำให้สังคมไทยมีมิจฉาทิฐิเกี่ยวกับผลการประเมิน  มองผลการประเมินเป็นจุดสิ้นสุด  มองผลการประเมินที่พบข้อบกพร่องเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์  ไม่คิดว่านั่นคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  และนำเอาผลการประเมินที่ไม่ดีมาเป็นข้อพิจารณาเพื่อการปรับปรุงตนเอง ปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของตนเอง  ไม่ใช่ประเมินได้ผลไม่ดี ก็เสียใจ แล้วก็จบ

การประเมินที่ดี คือการประเมินสำหรับเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  ไม่ใช่การประเมินที่เน้นตัดสินได้-ตก

การประเมินที่ดี ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมแห่งความสัตย์ซื่อ 

วิจารณ์ พานิช

๘ ม.ค. ๕๖


หมายเลขบันทึก: 515949เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2013 05:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2013 05:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์

ต้องประเมินครูเพื่อการพัฒนาก่อนกระมังคะ ครูมี Self-assessment Skills แค่ไหน

การประเมินผลการศึกษาเป็นเรื่องที่มีผลต่อการเรียนการสอนมากที่สุดในประเทศไทย

พิพัฒน์ ปิ่นจินดา

สิ่งไหนที่ผู้มีอำนาจใช้ประเมิน สิ่งนั้นก็จะได้รับการปฏิบัติ ก็โรงเรียน/ครูถูกประเมินแบบได้-ตก เราก็ต้องหาวิธีที่จะไม่ถูกตัดสินให้ตก ไม่ใช่ไปหาวิธีพัฒนาซึ่งไม่ตรงกับการถูกประเมิน ถ้าผู้มีอำนาจเปลี่ยนวัฒนธรรมการประเมินใหม่ให้เป็นFormative Assessmentผมว่าการปฏิบัติของโรงเรียน/ครูก็จะเปลี่ยน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท