คำนิยม หนังสือ พลังเครือข่ายครู


คำนิยม หนังสือ พลังเครือข่ายครู

คำนิยม

หนังสือ พลังเครือข่ายครู โดย ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่

วิจารณ์ พานิช

..................


          คุณภาพการศึกษาไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นที่รู้กันทั่วไป  สภาพเช่นนี้ปล่อยไว้ไม่ได้  เพราะจะฉุดดึงประเทศไทยดิ่งลงเหวสู่หายนะ 

          หนังสือ พลังเครือข่ายครู เล่มนี้ คือส่วนหนึ่งของแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  เป็นบันทึกความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ ทดลองให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาค เข้าไปมีส่วนผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาระดับพื้นฐานในพื้นที่  โดยแสวงหาทรัพยากรในพื้นที่มาหนุนเสริมในรูปแบบที่หลากหลาย   สร้างเครือข่ายหนุนเสริมคุณภาพการศึกษาขึ้นในพื้นที่ 

          เป้าหมายหลักของการศึกษา คือผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ที่ตัวนักเรียน  แต่สาระในหนังสือบอกเราว่า กิจกรรมของโครงการ LLEN  ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยที่องค์ประกอบหลักของการศึกษา ๕ ส่วน  คือ ผู้เรียน  ครู  โรงเรียน/กลุ่มโรงเรียน  อาจารย์มหาวิทยาลัย  และที่ภาคีเครือข่าย

          ผมตีความว่า ความรู้ที่ได้จากชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (Local Learning Enrichment Network: LLEN)นี้ มีหลายมิติ  ทั้งด้านยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพการศึกษา  ด้านการจัดการโครงการเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง  และด้านบทบาทใหม่ของครู  รายละเอียดของการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงที่ตัวครู อ่านได้จากข้อ ๒.๒ ของบทสรุปสำหรับผู้บริหาร 

          ประจักษ์พยานของผลงานที่น่าเชื่อถือของโครงการ LLEN นี้ เห็นได้จากการที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานลงนามความร่วมมือกับ สกว. สนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการติดตามและพัฒนาครู (ระบบ Coaching)เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕  โดยโครงการมีกำหนด ๒ ปี ๕ เดือน  และ สพฐ. ลงทุน ๓๐ ล้านบาท

         และจากการที่ สกว. คัดเลือกให้โครงการนี้ ได้รับยกย่องเป็นผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕

          ดังนั้น หนังสือ พลังเครือข่ายครู จึงจะมีประโยชน์ ต่อการดำเนินการโครงการ Coaching ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการ LLEN เป็นอย่างมาก   เพราะ ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ได้บันทึกรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ LLEN ไว้เป็นอย่างดีในหนังสือเล่มนี้  โดยบันทึกสาระไว้ในระดับวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล  ซึ่งเป็นระดับการคิดชั้นสูง  มีคุณค่าทางปัญญาต่อวงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง

          คุณค่า ด้านลู่ทางการพัฒนานวัตกรรมขึ้นใช้หนุนเสริมการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนในพื้นที่ มีมากมาย  มีตัวอย่างในหนังสือ เช่น นวัตกรรมด้านการระดมทรัพยากรในพื้นที่ โดย มรภ. สุราษฎร์ธานี  ด้านระดมการมีส่วนร่วมของปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ มรภ. เพชรบุรี  ด้านการใช้พลังของการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ของ มช.  เป็นต้น

          ผมคิดว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดของผลงานในโครงการ LLEN นี้ คือ เป็นตัวชี้ทางว่าหากจะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู  หรือเน้นที่การพัฒนาครูนั่นเอง  โดยที่ต้องไม่หลงเน้นพัฒนาครูโดยการจับมาเข้ารับการฝึกอบรมอย่างที่เคยทำในอดีต  แต่ต้องเน้นส่งเสริมให้ครูได้เรียนรู้ทักษะการเป็นครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ผ่านการทำหน้าที่ ณ จุดที่ตนรับผิดชอบนั้นเอง

          ข้อสรุปในบทที่ ๕ ตอนท้ายของตอน ๕.๒"โดยภาพรวมแล้ว พบว่า ครูได้เปลี่ยนทั้งวิธีคิดวิธีการจัดการเรียนการสอน บุคลิกภาพ รวมทั้งการดำเนินชีวิต การเปลี่ยนแปลงหรือผลลัพท์ที่เกิดขึ้นที่ตัวครูส่งผลสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนจากกิจกรรมหนุนเสริมที่ดำเนินการในโครงการ พอจะเป็นเครื่องชี้ได้ว่า การหนุนเสริมศักยภาพครูโดยให้ครูได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยกิจกรรมหลากหลายอย่างเหมาะสม และพัฒนาหรือหนุนเสริมคุณภาพครูด้วยวิธีการให้คำชี้แนะ ติดตามดูแล และให้คำปรึกษา( coaching) อย่างกัลยาณมิตรแทนการอบรมแบบเดิม(training)เป็นวิธีการที่เหมาะสม  อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่าคุณภาพครูจะมีความยั่งยืนต่อไปเพียงใด การส่งเสริมให้ครูพัฒนาตนเองผ่านชุมชนทางวิชาชีพ (PLC) ต่อไปอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น"

          ผมขอเสนอว่า ในการดำเนินการโครงการสร้างนวัตกรรมในระบบการศีกษาต่อเนื่อง  ควรพิจารณาใช้พลังของการประเมิน เป็นเครื่องมือสร้างความยั่งยืนให้แก่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  การประเมินอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน  และที่ประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ (ใช้ทรัพยากรน้อย ได้ผลมาก)  จะช่วยยืนยันคุณค่าของวิธีการใหม่  เป็นช่องทางให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ

          ขอขอบคุณ ต่อ ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ที่มีความเพียรเขียนหนังสือพลังเครือข่ายครูเล่มนี้  และต่อ สกว. ที่สนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่ หนังสือที่มีคุณค่ายิ่งเล่มนี้  ผมเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเรียนรู้ทั้งระบบ  หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าในหลายระดับ  ตั้งแต่ระดับบุคคล คือตัวนักเรียน ตัวครู  ไปจนถึงระดับระบบ  ซึ่งการปฏิรูประบบการศึกษา จะเป็นตัวกอบกู้ประเทศไทย  ผมจึงขอขอบคุณแทนสังคมไทยไว้ ณ ที่นี้



วิจารณ์ พานิช

๓ ธันวาคม ๒๕๕๕


หมายเลขบันทึก: 515736เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2013 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2013 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท