"คนเป็นครู" ... (ข้าวเม็ดน้อย : เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)


ผมได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
จากหนังสือ "ข้าวเม็ดน้อย" หนังสือรวมข้อเขียนเล่มล่าสุด

ในตอน "คนเป็นครู" ที่อาจารย์เสกสรรค์เล่าไว้ในตอนที่สอนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในฐานะ "อาจารย์มหาวิทยาลัย"

ยิ่งอ่านก็ยิ่งคิดถึงตัวเอง มีหลายส่วนที่ตรงกับตัวเองมาก
ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ ความหวัง หรือปัญหาที่พบจากเด็กรุ่นใหม่


ข้อเขียนยาวเหมือนกันครับ เรียนเชิญค่อย ๆ อ่านกันไปครับ



คนเป็นครู


ในวัยเยาว์เขาเคยฝันที่จะเป็นโน่นเป็นนี่อยู่หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่อยากเป็นนักดนตรีในกองเชียร์รำวง เป็นจิตรกร นักมวย ต่อมาเมื่อเรียนหนังสือมากขึ้นก็อยากเป็นทหารบ้าง เป็นข้าราชการสายปกครองบ้าง แต่มีอย่างหนึ่งที่เขาไม่เคยฝันถึงเลยคือ อาชีพครู

ถามว่าทำไมถึงไม่อยากเป็นครู เรื่องนี้ตอบยาก เพราะจริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้มีอะไรไปต่อต้านอาชีพดังกล่าว บางทีอาจเป็นเพราะจากมุมมองของเด็ก ชีวิตครูคงน่าเบื่อ ใช่...เป็นงานที่ดี มีคุณค่า...แต่ก็ดูจำเจซ้ำซาก ในวัยที่จิตใจออกเร่ร่อน เขาย่อมไม่อยากฝันว่า พอโตขึ้น ชีวิตก็แค่เปลี่ยนมุมนั่งในห้องเรียน

แต่ก็อีกนั่นแหละ สุดท้ายเขาก็กลายเป็นคนสอนหนังสือจนได้ ถึงแม้อย่างเป็นทางการจะถูกเรียกว่า อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่โดยแก่นแท้ก็ไม่ต่างอะไรกับอาชีพครูโดยทั่วไป คืออยู่กับห้องเรียน อยู่กับตำรา และอยู่กับเด็ก ๆ รุ่นลูกรุ่นหลาน


จำได้ว่าตอนเริ่มสอนเป็นครั้งแรกเมื่อยี่สิบปีก่อน เขาแทบจะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อใช้เวลาไปในการเตรียมบรรยาย ตอนนั้นเขาไม่เพียงสอนเนื้อหาของวิชาปรัชญาการเมือง หากยังแนะนำวิธีเขียนหนังสือและทำรายงานให้กับลูกศิษย์ เขาพิมพ์คำวิจารณ์รายงานให้กับนักศึกษาทุกคน โดยหวังว่ามันจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาความสามารถของตัวเอง

แน่ละ ด้วยเงินเดือนที่ไม่ถึงห้าพันบาท ค่าตอบแทนจึงไม่ใช่แรงจูงใจที่ทำให้เขาทุ่มเทขนาดนั้น หากความประสงค์เบื้องลึกคือ การผลิต "กองร้อย" ปัญญาชน สักหลาย ๆ รุ่น เผื่อว่าเด็ก ๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้บ้านเมืองดีขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากอัตตาตัวตนดั้งเดิม เขาไม่ได้หวนคืนมหาวิทยาลัยเก่าเพียงเพื่อหางานทำ ตรงกันข้าม หลังจากหายหน้าไปนานกว่าสิบปี เขากลับสู่ธรรมศาสตร์ด้วยสำนึกที่คล้ายนักดาบโบราณ ซึ่งหวังจะสร้างกลุ่มลูกศิษย์มาสืบทอดวิชาฝีมือ และ "ออกรบ" กู้ชื่ออาจารย์ที่เคยพ่ายแพ้มา


นึกย้อนหลังไปแล้ว เขาจึงรู้ว่านั่นเป็นความฝันที่เลอะเทอะมากทีเดียว


แม้เด็ก ๆ จะพอใจกับการเอาใจใส่ของเขา และทำให้เขาได้รับการประเมินผลการสอนเป็นอันดับหนึ่งของคณะ แต่โลกก็เปลี่ยนไปแล้ว อีกทั้งเปลี่ยนไปไกล

ในช่วงของเศรษฐกิจฟองสบู่ นักศึกษาหลายคนอยากเรียนจบก่อนสี่ปี เพราะงานง่ายเงินเดือนงามรอยู่แล้วข้างนอก บางคนไม่กระตือรือร้นจะจบเร็ว แต่ก็ไม่เร่าร้อนที่จะเรียนรู้ ส่วนใหญ่มุ่งหวังเพียงปริญญา และมีอยู่ไม่ถึงหยิบมือที่สนใจเรื่องราวที่เขาสอนจริง ๆ

พูดก็พูดเถอะ ภายในเวลาอันสั้น ความฝันเรื่องสร้างหน่วยรบทางปัญญาของเขาได้จางหายไปจนแทบไม่เหลือเศษซากอันใด เขากลายเป็นอาจารย์ที่เข้าป่าและออกทะเลมากพอ ๆ กับที่อยู่ในห้องเรียน

กระนั้นก็ตาม เขาก็ยังยึดถือในอุดมคติของการเป็นครู ซึ่งมันงอกขึ้นมาตอนไหนเขาไม่ทันรู้ตัว บางทีอาจจะซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางอุดมคติสารพัดที่เขาแบกไว้เต็มหลัง หรือบางทีอาจมาจากวิถีชีวิตสมัยเก่าอันเป็นเบ้าหลอมของเขาช่วงเยาว์วัย... กระทั่งอาจจะมาจากบุคลิกภาพที่มีความโรแมนติกเป็นเจ้าเรือน

ถึงตอนนี้เขาไม่สนใจแล้วว่าลูกศิษย์จะต้องคิดเหมือนเขาหรือไม่... ขอให้คิดอะไรเป็นบ้างก็ถือว่าการสอนประสบความสำเร็จแล้ว


แต่เขาก็ไม่ยอมสอนในโครงการพิเศษใด ๆ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการปริญญาของตลาดคนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่โครงการเหล่านี้จ่ายค่าตอบแทนสูง

นอกจากนี้ เขายังไม่เคยสนใจยื่นขอตำแหน่งวิชาการอันนี้จะว่าไปก็ดูโง่ ๆ เหมือนกัน มิหนำซ้ำยังทำให้เงินเดือนของเขาต่ำกว่าอาจารย์รุ่นวัยใกล้เคียงเกือบสองเท่า กระทั่งเกษียณอายุราชการด้วยเงินเดือนที่ต่ำกว่าคนชั้นกลางกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ย

แต่เขาก็พอใจกับชีวิตที่ไม่อยากได้อยากดีในมหาวิทยาลัย หรือที่ไหนก็ตาม


พูดกันตามความจริง เขาไม่ได้ผุดผ่องหรือสูงส่งอะไรขนาดนั้น เพียงแต่ว่ากิเลสของเขาอยู่ที่อย่างอื่น อยู่ที่อยากได้ลูกศิษย์ดี ๆ ในจำนวนที่คุ้มกับการลงทุนทางจิตใจ อยากเห็นความสัมพันธ์ฉบับคลาสสิกระหว่างศิษย์กับอาจารย์ ในเมื่อมันไม่มี ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนความพอใจไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่ได้อย่างไร

"มึ...จะสอนไปทำไมวะ เงินเดือนก็น้อย คนเชื่อคนฟังก็ไม่มี" เพื่อนสนิทบางคนเคยยุให้เขาลาออกด้วยถ้อยคำทำนองนี้

แน่ละ เขาไม่ใช่คนแข็งแกร่งเหมือนหินผาเหมือนดังที่บางครั้งอยากจะสมมุติตน ความเหนื่อยหน่ายทำให้เขาเคยลาออกจากฐานะอาจารย์ถึงสองครั้ง แต่ปรากฎว่าครั้งแรกออกได้เดือนเดียวก็ต้องกลับมาใหม่ เนื่องจากความผันผวนของสถานการณ์บ้านเมือง ส่วนครั้งที่สองนั้นถูกทักท้วงโดยผู้บริหารคณะและเพื่อน ๆ อาจารย์ จนเขาใจอ่อนยอมถอนใบลาคืน


ระหว่างนี้เขาแก่เฒ่าลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องโชคดีอย่างหนึ่ง เพราะยิ่งเวลาผ่านไปเขายิ่งต้องอาศัยจิตใจที่สงบเป็นพิเศษมาเผชิญกับบรรยากาศในห้องเรียน

"คุณไม่รู้สึกว่าทำอะไรผิดบ้างเลยหรือ" ราวห้าปีก่อน เขาเคยถามเด็กหนุ่มผมยาวในห้องเรียน ซึ่งชอบหยิบแปรงขนาดใหญ่มาสางผมขณะที่เขากำลังบรรยาย

"ผิดอะไรหรือครับ"
เจ้าของแปรงถามกลับด้วยหางเสียงไม่พอใจ

"ก็ที่คุณชอบหวีผมแต่งตัวตอนอาจารย์กำลังสอนอยู่เนี่ย"

"ไม่เห็นมีอะไร มันเป็นสิทธิส่วนตัว... ผมไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน"

ในห้วงยามนั้น เขาจำได้ว่าพยายามหันไปมองนักศึกษาคนอื่น ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ปรากฎว่าไม่มีใครยอมสบตาด้วย บ้างก้มหน้ามองพื้น บ้างเบือนไปทางอื่น ไม่มีใครคิดจะออกความเห็นเข้าข้างไหน จนเขาคิดว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือ บรรยายต่อไปจนกว่าจะหมดชั่วโมง

ระหว่างนั้นก็มองเพดานบ้าง ข้างฝาบ้าง หรือยิ้มอย่างเลื่อนลอยบ้าง โดยไม่ต้องกำหนดว่ายิ้มกับใครหรือยิ้มเรื่องอะไร


ประมาณอีกหนึ่งปีถัดมา เขาได้พบกับบรรยากาศในห้องเรียนที่คล้ายกัน แต่ทว่ายิ่งหนักหน่วงเข้มข้นมากกว่าเดิม กล่าวคือ นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งในวิชาของเขา ไม่ทราบว่าตกหลุมรักลงไปลึกขนาดไหน ทุกครั้งที่เข้าเรียนก็จะโอบกอดลูบไล้แฟนของตนซึ่งเรียนห้องเดียวกันอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวลูบผม เดี๋ยวบี้คลึงใบหู อะไรทำนองนั้น

"เด็กมันรักกัน... เด็กมันรักกัน... นี่เป็นเรื่องดี ว่ากันไม่ได้ มันเป็นเรื่องฮอร์โมน..." เขาพยายามปลอบใจตัวเองด้วยทัศนะเชิงบวก


แต่ก็อีกนั่นแหละ บางเรื่องไม่ใช่จะชวนให้มองโลกเชิงบวกได้รวดเร็วนัก และเขาต้องใช้เวลานิ่งอึ้งอยู่นานกว่าจะพูดจากับนักศึกษาด้วยน้ำเสียงปกติธรรมดา

"ได้ข่าวว่าอาจารย์แจกหัวข้อรายงานแล้ว จะให้ผมทำเรื่องไหนล่ะ"
เด็กหนุ่มคนหนึ่งในวิชาผู้นำการเมืองเข้าประชิดเขาทันทีที่หมดชั่วโมง เขาถึงกับถอยไปหนึ่งก้าวด้วยสัญชาตญาณป้องกันตัว เพราะนักศึกษาชายผู้นั้นมีสีหน้าแววตาที่ไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย นอกจากนี้ยังยืนพูดในท่ามือเท้าสะเอว

"ไม่รู้สิ...ผมยังไม่ได้คิดถึงหัวข้อรายงานของคุณเลย"
เขาพยายามตอบด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ แต่ข้างในเดือดพล่านด้วยสันดานเดิม

"แต่ผมอยากได้หัวข้อวันนี้ เดี๋ยวทำงานไม่ทัน" น้ำเสียงห้วนกร้าวยังคงคุกคาม พร้อมด้วยสายตาจ้องเขม็ง

"คุณขาดเรียนไปสองอาทิตย์เต็ม ๆ ผมไม่รู้ว่าคุณจะมาวันนี้ ต้องกลับไปเช็กดูก่อนว่าหัวข้อไหนแจกให้ใครไปบ้าง" เขาอธิบายช้า ๆ ขณะที่อสุรกายที่ซ่อนอยู่ข้างในยอมกลับเข้าห้องขังโดยดี


เขารู้สึกขอบคุณฟ้าดินที่วันนั้นไม่มีอะไรร้าย ๆ เกิดขึ้น แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเด็กหนุ่มจะกล้าใช้ท่าทีเช่นนี้หรือไม่ หากรู้ว่าในจุดที่ห่างอาคารคณะไปไม่กี่เมตรเขาเคยเตะคนสลบมาแล้ว

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเหตุการณ์สมัยที่เขาเป็นนักศึกษา เมื่อเปลี่ยนมาเป็นอาจารย์ โจทย์ที่ต้องตอบย่อมแตกต่างกัน


ถึงตอนนี้เขาเริ่มรู้ชัดแล้ว การเป็นครูมิได้หมายถึง การสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว หากรวมเอาความอดทนระดับพิสดารไว้ด้วย นักศึกษารุ่นหลัง ๆ ของเขาไม่เพียงชอบหวีผมในห้องเรียน ลูบไล้แฟนไม่เลือกที่ หรือก้าวร้าวเอาแต่ใจเท่านั้น ประเภทกะล่อนไปวัน ๆ ก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

"วันนี้ผมนัดทุกคนให้เอาเค้าโครงรายงานมาส่ง ทำไมคุณไม่ส่ง" เมื่อสามปีก่อน เขาเคยถามนักศึกษาหญิงร่างเตี้ยตุ้ยที่ชอบนุ่งกางเกงขาสั้นมาเรียน

"ทำเสร็จแล้ว แต่ลืมหยิบมา" เธอตอบด้วยน้ำเสียงไม่สะทกสะท้าน

"เสร็จจริงหรือเปล่า" เขาถามอย่างไม่แน่ใจ เพราะที่ผ่านมานักศึกษาหญิงผู้นี้มักขาดเรียนเป็นประจำ

"จริง" เธอยืนยันเสียงดังพร้อมกับแกว่งกระเป๋าชอบปิ้งที่มีตราห้างดังของอังกฤษ "หนูลืมไว้ที่ท้ายรถ อาจารย์อยากได้ก็ตามมาสิ"

แน่นอน เขาย่อมไม่กล้าเดินตามเธอไป


ในวัยใกล้เกษียณ เขาแทบลืมไปแล้วว่า ตัวเองเคยตั้งความหวังไว้กับการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างไร ในแต่ละเทอมที่ผ่านเข้ามา และในแต่ละวิชาที่ต้องรับผิดชอบ เขาเพียงแต่ประคองตนให้คงความเป็นครูไว้เท่าที่จะทำได้เท่านั้นเอง

แต่ก็อีกนั่นแหละ โลกมนุษย์ไหนเลยมีเพียงด้านเดียว


ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตอาจารย์ประจำ เขาจำเป็นต้องไปสอนที่ศูนย์รังสิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่นั่นเขาได้พบกับอีกมิติหนึ่งของการทำหน้าที่ครูคน

"อาจารย์ครับ หมดชั่วโมงแล้วพอมีเวลาไหมครับ ผมมีเรื่องปรึกษา" นักศึกษาชายคนหนึ่งเอ่ยถามเขาขณะเดินเข้าห้องบรรยาย

เขาพยักหน้าตกลง และเมื่อถึงเวลานัดหมายก็ชวนกันไปนั่งที่โต๊ะสนามใกล้ ๆ ตึกเรียน

"เอ้า มีอะไรว่ามา" เขาเอ่ยกับเด็กหนุ่ม พลางคาดเดาว่าปัญหาของนักศึกษาคงหนีไม่พ้นเรื่องของเกรด หรือไม่ก็ต้องเกี่ยวข้องอะไรสักอย่างกับผลการเรียน

"คืออย่างนี้ครับ... แม่ผมหนีไปจากบ้าน ผมไม่รู้เลยว่าตอนนี้แม่อยู่ที่ไหน ทำอะไร..."

เขามองหน้าลูกศิษย์หนุ่มอย่างเพ่งพินิจ นึกไม่ถึงว่านี่คือเรื่องที่ทำให้นักศึกษาอยากคุยกับเขา ขณะเดียวกันแววหมองในดวงตาที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้าก็ทำให้เขารู้ทันทีว่า เด็กหนุ่มผู้นี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


หลังจากรับฟังเรื่องราวทั้งหมด เขายังคงนัดพบลูกศิษย์คนดังกล่าวอีกหลายครั้ง โดยมีหนังสือธรรมะติดมือไปให้อ่านครั้งละเล่มสองเล่ม จนกระทั่งฝ่ายทุกข์ร้อนเริ่มมีอาการดีขึ้น การพบปะจึงลดความถี่ลง

"จำไว้นะ คุณต้องไม่โกรธแม่เป็นอันขาด คุณยังไม่รู้ว่าเขามีเหตุผลอะไร วันหนึ่งเมื่อเขากลับมา เขาจะอธิบายให้คุณฟังเอง" เขายืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กหนุ่มผู้นั้น


สำหรับเทอมสุดท้ายของชีวิตอาจารย์ประจำ เขาขอร้องทางคณะให้ส่งเขากลับมาสอนที่ท่าพระจันทร์ เพราะที่นั่นเป็นเหมือนบ้านที่เคยอยู่มาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาอยากใช้เวลาอ้อยอิ่งกับดินแดนที่ตัวเองคุ้นเคยก่อนที่จะต้องแยกจากกัน

อย่างไรก็ดี ขณะการสอนที่รังสิตใกล้จะสิ้นสุดลง เขาบังเอิญได้พบกับลูกศิษย์ที่เคยมาปรึกษาเรื่องความทุกข์โศกส่วนตัวอีกครั้งหนึ่ง

"แม่กลับมาแล้วครับอาจารย์"
เด็กหนุ่มบอกกับเขาด้วยสีหน้าสดใสราวกับเป็นคนละคน

เขายิ้มแสดงความยินดีด้วย ขณะข้างในแอบดีใจกับตัวเอง

ดีใจที่อย่างน้อยก่อนเกษียณ เขาได้มีโอกาสทำหน้าที่ครูแบบที่อยากทำ


กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓


.......................................................................................................................................................................

สำหรับผม ...


การเป็นครูไม่ว่าระดับไหนก็ย่อมต้องมีอุดมการณ์หรือจุดยืนเป็นของตัวเอง
เราสอนหนังสือและต้องสอนคนไปพร้อม ๆ กันด้วย

อย่าให้ "ความอยาก" มันทำให้เราต้องเสียคุณค่าของความเป็นครูลงไป

หากใครทำไม่ได้ ควรลาออกไปทำอาชีพอื่นที่ตอบสนองความอยากมากกว่านี้


เหตุเผชิญหน้าของอาจารย์เสกสรรค์ ถือว่า หนัก เนื่องจากขาดการวางแผนล่วงหน้า

แต่ผมเตรียมการล่วงหน้าแล้ว ที่จะให้มาก้าวร้าวต่อครูบาอาจารย์แบบนี้มันต้องมีแผนรองรับ

เช่น กำหนดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ก่อนเริ่มต้นเรียนในรายวิชา พร้อมบทลงโทษ
หากใครไม่ยอมรับ ก็ไม่ต้องมาลงทะเบียนเรียน

หากพบพฤติกรรมแย่ ๆ ต่อหน้าทั้ง ๆ ที่ตกลงกันแล้ว ก็จะไล่ออกนอกห้องไปเลย
ไม่อยากเรียนเพื่อตัวเองก็ไม่ต้องเรียน ...

ส่วนพวกไม่มาเรียน แล้วมาทวงงานนี้ หมดสิทธิ์ตั้งแต่ไม่มาเรียนแล้ว
ไม่มาก็หมายถึง สละสิทธิ์ิชิ้นงานไป ตามนั้น
หากโวยวายเข้าขั้นก้าวร้าว จะให้ F แทน พร้อมส่งตัวสอบวินัยนักศึกษาไปเลย


แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ด้วยความเป็นครู
ต้องสอนให้เด็กเขาเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต
ไม่ใช่เป็นผู้รับจ้างสอนหนังสือเท่านั้น

ไม่ใช่ไม่ใส่ใจ หรือ สอนแบบกลัวเขาไม่รัก
กลัวเขาไม่ประเมินตัวเองให้ได้คะแนนเยอะ ๆ ตอนปลายเทอม
กลัวไม่ได้ครูดีเด่น อะไรประมาณนี้

ครูพวกนี้ เยอะอยู่
เหมือนกาฝากสังคมเกาะอาชีพครูยังไงก็ไม่รู้ ;)


ข้อเีขียนอาจารย์เสกสรรค์สะท้อนความรู้สึกนึิกคิดของตัวเองมากพอสมควร

หากมีโอกาส จะเขียนถึงตัวเองบ้างเหมือนกัน


ผมอาจจะเป็นแค่ "ครูประหลาดคนหนึ่ง" ที่เชื่อมั่นในความดีงามของคนเป็นครู
ซึ่งอาจจะเหลือน้อยเต็มทีในโลกยุค "ความอยาก" ในวัตถุนิยมแบบนี้

เพราะคนไม่อยากเป็นเพียงคนโง่คนหนึ่งเท่านั้น

คนโง่ย้ายภูเขา ประมาณนั้น


บุญรักษา ครูดีทุกท่านครับ ;)...



.......................................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือ ...

เสกสรรค์  ประเสริฐกุล.  ข้าวเม็ดน้อย.  กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, ๒๕๕๕.


หมายเลขบันทึก: 514095เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ขอบคุณเรื่องราวดีโดนใจที่นำมาฝาก...ที่จะทำให้ครูนกต้องฝึกความอดทนระดับพิศดารให้ได้มากๆ คำว่า ครู นี้ คุรุ จริงๆ เลยนะคะอาจารย์


สวัสดีค่ะ 

ได้อ่านบทความนี้ในขณะที่กำลังทุกข์ใจ ทัอแท้ และต้องการกำลังใจ  เพื่อจะก้าวต่อไป  ทำหน้าที่ของครูให้ดีที่สุด  

ขอบตุณมากค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆที่นำมาแบ่งปันกัน และส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๖ ค่ะ

  ภาพจากสายบริหารงานสื่อสารองค์กร SCB  

"ครุ" แปลว่า "หนัก" สม่ำเสมอครับ คุณครูนก noktalay ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

ขอให้คุณ ครูแป๊ว กัลยาณี เชื่อมั่นในความดีครับ

ขอส่งกำลังใจให้อย่างเต็มที่

ขอบคุณมากครับ ;)...

สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖ ครับ พี่ใหญ่ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

เป็นครู  ไม่ใช่เป็นเฉพาะถึงเกษียณ หรือเออรี แต่ต้องเป็นจนหมดลมหายใจจ้ะ  

หนูขอ ยก "ภูเขา" ด้วยคนค่ะ คุณครู
และเชื่อว่าอนาคตข้างหน้า "ครูดี" จะเกิดขึ้นเย๊อะ ค่ะ คูร  ^_^

น่าจะมีวันที่ครูอาจารย์คิดเห็นคล้ายกัน ได้พบปะสนทนากันนะคะเนี่ย

หลานสาวสองคน คุยให้ฟังถึงความหนักใจของครูแต่ละคน

รวมถึงความที่นักเรียนก็ต้องทำใจยอมรับความเป็นครูที่ นักเรียนรับยาก ก็...มากนะคะ

คุยแบบมีรายละเอียดคล้ายที่อาจารย์เสกสรรค์เล่าเลยค่ะ

(มิน่าครูอาจารย์ชอบมาทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้าน เสียดาย ปิดร้านไปหาประสบการณ์ในเมืองเสียแล้ว)

แม้โจทย์ของครูสอนมัธยมจะอ่อนกว่า แต่ความเป็นคุรุนั้น หนักไม่ต่างกันเลย

ครูบางท่านสอนเด็กเก่งได้ แต่สอนเด็กหัวไม่ดีให้เรียนดีไม่ได้

ทำใจยอมรับความจริงลำบาก ลาออกมารับเหมาขุดดิน ใช้แรงงานดีกว่า ๕๕๕

คุรุ แปลว่าหนักเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ได้อ่านจดหมายท่านอาจารย์ระพี สาคริก(ผ่านนสพ.)นานแล้ว

บันทึกนี้ ชวนให้ระลึกถึงความรู้สึกหนึ่งที่สัมผัส หัวใจความเป็นครูของท่านอาจารย์รพี

ที่ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือได้ดี เลยคิดได้... ลองคลิกไป...เจอที่นี่ ดีใจมากๆเลยค่ะ

ขอบคุณบันทึกสะท้อนความจริงที่หนักหน่วง และหนักแน่นอีกบันทึกหนึ่งนะคะ


ใช่ครับ คุณมะเดื่อ เราเป็นครูจนหมดลมหายใจ

ขอบคุณมากครับ ;)...

สมัครเรียนครูแล้ว ห้ามถอยนะ เอื้องแสงฝาง ;)...

อย่างน้อยก็ได้ครูดี จาก ๑ ใน ๔๑ ก็ยังดีนะ

ขอบใจมากจ้า ;)...

เขียนบันทึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ คุณ Tawandin ;)...

ยังมีครูดีแอบซ่อนกายอยู่อีกมากมาย

เพียงแค่รอการปรากฎตัวเท่านั้น

ขอบคุณมากครับ ;)...

 ขอบคุณกับบทความที่ดีมาก  ฉันก็เป็นครูค่ะและภูมิใจในความเป็นครูค่ะ

ขออนุญาตนำไปแบ่งปันต่อในเฟสบุ้คนะครับอาจารย์ รบกวนขอเฟสบุ้คของอาจาีย์ด้วยได้ไหมครับ 

เรียน คุณพฤหัส

ผมไ่ม่มี facebook ครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท