“แสงแห่งความหวัง” ปัน “ความสุข” สู่สังคม


“แสงแห่งความหวัง” ปัน “ความสุข” สู่สังคม

กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีโอกาสเยี่ยมเยียน “โครงการกลับสู่ต้นน้ำ”ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมที่อยู่ในชุดการสร้างสุขภาวะทางปัญญา โดยหนนี้มีการตั้งชื่อกิจกรรมแบบเก๋ๆว่า “กิจกรรมแสงแห่งความหวัง” สายวันนั้นเรานัดพบกันที่โบสถ์แห่งหนึ่ง ใกล้โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยการรวมตัวหนนี้เป็นอีกครั้งที่นำเอานักเรียนต่างศาสนามาทำกิจกรรม และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางสังคมเช่นเคย จะพิเศษตรงที่หนนี้รวมเยาวชนทั้งที่เคยมีประสบการณ์และไม่มี เพื่อให้ผู้ที่มีทักษะแล้วเป็นผู้นำในการชักจูงให้วงกิจกรรมพยายามรับฟัง เรียนรู้และเข้าใจกับผู้ที่ “แตกต่าง” โดยเฉพาะความแตกต่างด้านศาสนา ซึ่งถือเป็นแกนกลางของหลักความคิดที่ทุกๆคนยึดถือแตกต่างกันไป 


“ครูปุ๊-วนิดา ลอยชื่น” สมาชิก “กลุ่มสานสามศาสน์” ผู้จัดการโครงการกลับสู่ต้นน้ำ บอกกับเราว่า กิจกรรมในครั้งนี้ ยังเน้นที่การให้เยาวชนผู้ร่วมกิจกรรม ที่มีทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ได้รับฟังมุมมองระหว่างกัน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดที่เชื่อมโยงถึงพื้นฐานทางศาสนาของตัวเอง ก่อนจะให้วิทยากรที่มีทั้งพระอาจารย์ ครูหรือนักบวชจากทุกศาสนาชวนตั้งคำถาม พร้อมขมวดปมประเด็นให้กลับไปคิดต่อ สู่หนทางการปฏิบัติจริง อย่าลืมว่าทางหนึ่งที่จะสร้างความสุขทางปัญญาได้นั้น คือการสร้างจิตใจให้เป็นสุข โดยที่ศาสนาคือหนทางหนึ่งเหตุนี้กลับสู่ต้นน้ำเป็นการนำศาสนิกในศาสนาต่างๆ กลับไปหาศาสดาในศาสนาของศาสนิกผู้นั้นนับถือ โดยชี้แนวทางสั่งสอนให้เยาวชนรู้จักปฏิบัติตาม ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขที่แท้จริงในสังคมที่เต็มไปด้วยการบริโภคและใฝ่หาความสุขทางวัตถุ ซึ่งศาสนาก็เปรียบเสมือนต้นน้ำที่ให้กำเนิดสายน้ำที่ให้ความสุขและสดชื่นกับมวลมนุษย์ การกลับสู่ต้นน้ำก็คือพาเขาไปสู่คำสอน อย่างที่บอกไปความพิเศษในครั้งนี้ อยู่ที่การกิจกรรม “แสงแห่งความหวัง” ที่ให้เยาวชนได้ร่วมสร้างความหวังแก่คนในสังคมที่ไร้โอกาส หรืออยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นได้


เริ่มจากการไปเยี่ยมเยียนและทำกิจกรรมกับเด็กในสถานสงเคราะห์ “บ้านเทวา” อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ด้วยการให้เยาวชนที่เปิดห้องเรียนการทำสมุดทำมืออย่างง่ายๆ และเปิดโอกาสให้เด็กกำพร้า ด้อยโอกาสได้สะท้อนเรื่องราวในชีวิตและทักษะศิลปะผ่านการทำสมุด โดยที่ทุกผลงานจะถูกใช้เป็นของที่ระลึกสำหรับเทศกาลขึ้นปีใหม่ “เป็นการให้ความหวังให้เด็กเหล่านี้ได้ทำอะไรที่สร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเขาก็ประทับใจที่ผลงานของเขาได้ถูกส่งไปยังคนอื่นต่อ เกิดความรู้สึกมีคุณค่า และเป็นประโยชน์กว่าการเป็นผู้รับอย่างเดียว” พี่ปุ๊เฉลยแกนกิจกรรม รวมไปถึงประสบการณ์อีกด้าน คือการนำเยาวชนเข้าไปสัมผัสชีวิตบ้านผู้สูงอายุ “บ้านแห่งความหวัง” ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน พร้อมกับให้เยาวชนใช้ชีวิตปรนนิบัติผู้สูงอายุ และร่วมพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์ ให้เห็นถึงวงจรชีวิต การเกิด แก่ เจ็บ ที่คงไม่มีใครหนีพ้น 


“อ้อย-จิราพร เสน่ห์หา” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนระดิ่งหินประชาสรรค์ จ.นนทบุรี สะท้อนความรู้สึกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมที่บ้านผู้สูงอายุทำให้นึกถึงญาติผู้ใหญ่ที่เคยบีบนวด โดยเฉพาะคุณยายที่เมื่อไปเยี่ยมเยียนเมื่อใด ต้องใกล้ชิดกันแบบไม่ห่างส่วนผู้สูงอายุในบ้านแห่งความหวังนั้น “เธอ” บอกว่า จากการพูดคุยมีทั้งที่เต็มใจมาอาศัยในบ้านพักคนชราเอง แต่มีไม่น้อยที่ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู ทำให้อยู่ในภาวะจำยอมที่ต้องใช้ชีวิตเหลืออยู่ในบ้านที่ไม่ใช่ของตัวเอง และนั่นมันทำให้เธอนึกไปถึงโอกาสต่อไปที่อยู่ใกล้คุณยาย ซึ่งเธอจะทำหน้าที่หลานให้ดีที่สุด สังคมในวันข้างหน้าสำหรับเธอ จึงน่าจะช่วยเหลือผู้สูงอายุ ทั้งในด้านสภาพความเป็นอยู่และการให้บริการมากกว่าที่เป็น ลองถาม “บังเลาะห์-ฮัสบุลเลาะห์ อีซอ” นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนท่าอิฐศึกษา จ.นนทบุรี ที่พื้นเพครอบครัวอยู่ที่ จ.นราธิวาส ถึงประสบการณ์การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับคำตอบว่า กิจกรรมการเยี่ยมบ้านพักคนชราและบ้านเด็กด้อยโอกาสทำให้เขานึกไปถึงหลักคำสอนของศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการตาย เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครหนีพ้น อย่างไรก็ตามในชีวิตที่มีอยู่ก็ควรจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด


“ศาสนาของผมได้สอนให้คิดถึงการตายอยู่เสมอ เพราะความตายคือเรื่องสำคัญ ไม่มีใครหนีความตายพ้น ดังนั้นเมื่อทุกคนรู้ตัวว่าต้องตายก็ควรจะต้องเตรียมตัวโดยการทำความดีให้มาก เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ชีวิตมีคุณค่าก่อนที่จะจากโลกนี้ไป“บังเลาะห์ว่า คล้ายๆกับ “อาดิ้ล” พิชชากร มณีเกียรติสกุล เพื่อนร่วมโรงเรียน ที่ให้มุมมองว่า ความสำคัญของประสบการณ์ครั้งนี้คือการได้มีโอกาสมาดูผู้ที่ประสบกับปัญหาสังคม ทั้งเรื่องของเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ไม่ดูแล เพราะในจำนวนนี้ บ้างร่างกายพิการ บ้างไม่ได้รับการศึกษา เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องมาอาศัยที่บ้านพักคนชราที่เหตุผลบางประการ ทั้งที่เลือกเองและไม่ได้เลือก “ผมเคยร่วมกิจกรรมมาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้มันช่วยตอกย้ำถึงความเป็นจริงในสังคมมากขึ้น ถ้าเราคิดสงสารอย่างเดียวไม่ทำอะไรก็คงไม่มีใครช่วยเขา หากเราพร้อมกว่า มีโอกาสดีกว่า ก็ควรช่วยเหลือสังคมบ้างเท่าที่ทำได้”เขาว่า แสงแห่งความหวังจึงเกิดขึ้นทั้ง “ผู้รับ” และ “ผู้ให้ พร้อมๆกับที่ความสุขถูกแบ่งปันจากเด็กกลุ่มหนึ่ง สู่สังคมของพวกเขาเอง

หมายเลขบันทึก: 514091เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท