มะเร็งต่อมลูกหมาก รักษาโดยเคมีบำบัด ทางเลือกเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี


เคมีบำบัดมะเร็งต่อมลูกหมาก


   ขึ้นชื่อว่า โรคมะเร็ง  คงไม่มีใครอยากประสบพบเจอ

โดยเฉพาะผู้ชายกับมะเร็งที่มีชื่อว่า มะเร็งต่อมลูกหมาก


ผศ.นพ.ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสสาวะ รพ.สงขลานครินทร์ และปฏิคมและประชา สัมพันธ์ สมาคมศัลยแพทย์ ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากว่า มักพบได้ในผู้ชายสูงอายุ โดยในประเทศไทยอายุที่พบได้บ่อยคือ มากกว่า 60 ปี มีรายงานการเกิดอุบัติการณ์ล่าสุดสำหรับผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นมาเป็นอันดับ 4 จากเดิมอยู่ที่อันดับ 9


สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมากที่แท้จริงยังไม่ชัดเจน แต่หลายคนเชื่อว่า ฮอร์โมนเพศชาย และการรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากมีการเจริญเติบโตมากขึ้น โดยโรคนี้พบมากที่สุดในชาวตะวันตก นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์อีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ในระยะลุกลามซึ่งทำให้การรักษาไม่สามารถทำให้หายขาดได้


อาการของผู้ป่วยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

กลุ่มแรก  จะไม่มีอาการใด ๆ ผู้ป่วยไม่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากเลย อาจจะตรวจพบจากการตรวจร่างกายประจำปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักถูกวินิจฉัยโรคได้ในระยะเริ่มต้น เมื่อได้รับการรักษาแล้วจะสามารถหายขาดจากโรคได้

ต่อมาคือ กลุ่มที่มีอาการเกี่ยวข้องกับโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะผิดปกติ ทำให้มาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เมื่อผ่านการตรวจอย่างละเอียดอาจพบว่าเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากทางท่อปัสสาวะ เพื่อแก้ไขภาวะต่อมลูกหมากโตและพบมะเร็งจากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา

สุดท้าย กลุ่มที่มีอาการของมะเร็งโดยทั่วไป ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามร่างกาย และกระดูก อาการเหล่านี้เป็นผลจากการลุกลามของมะเร็ง ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่การรักษาจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นและอาจป้องกันการลุกลามของมะเร็งได้เมื่อทราบแน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก


แนวทางและวิธีการรักษานั้น  จะขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ระยะของโรค และอายุของผู้ป่วยรวมทั้งการประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยการรักษาในช่วงแรกมักรักษาด้วย การผ่าตัด การฉายแสง หรือการบล็อกฮอร์โมนเพศชายร่วมเข้าไปด้วยเพื่อให้การรักษาได้ผลดีขึ้น แต่ หากการรักษาไม่ได้ผลและมะเร็งมีการแพร่กระจายแล้ว แพทย์จะให้เคมีบำบัด โดยการให้ทางเส้นเลือดดำเหมือนให้น้ำเกลือ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวจะช่วยไปฆ่าเซลล์มะเร็ง มีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการลุกลามเพิ่มขึ้นของมะเร็ง และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแต่เนิ่น ๆ หรือรวดเร็ว ก็จะสามารถช่วยรักษาโรคได้ดีขึ้นและลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากมะเร็ง และมีผลดีคือทำให้ผู้ป่วยคงสภาพชีวิตเป็นปกติหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยาวนานที่สุด

สำหรับการใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาผู้ป่วย ผศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย  กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนที่จะเข้ารับเคมีบำบัดว่า ผู้ป่วยจะต้องเตรียมตัว 2 ด้านด้วยกันคือ ด้านร่างกายและด้านจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านร่างกาย ส่วนใหญ่คนมักจะเข้าใจผิดว่า ถ้ามารักษาโรคมะเร็งแล้วจะต้องจำกัดอาหาร พยายามกินแต่ผัก หรือกินแต่โปรตีนจากปลาเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจะทำให้คนไข้ขาดสารอาหาร

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเข้ารับยาเคมีบำบัดแล้วร่างกายจะทนต่อยาได้ไม่ดี เพราะยาเคมีบำบัดจะมีผลทำให้มีเม็ดเลือดต่ำ ถ้าผู้ป่วยขาดสารอาหาร เม็ดเลือดก็จะฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่ากับผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการที่ดี ต้องกินอาหารตามปกติ เน้นให้ สุก สะอาด มีสารอาหารครบ 5 หมู่ หากกินได้น้อยก็ควรจะต้องมีการเสริมบางอย่างเข้าไป โดยจะต้องเลือกอาหารที่มีคุณค่าสูง เช่น ปริมาณโปรตีนต่อน้ำหนักอาหาร ถ้ากินโปรตีนจากไข่จะได้โปรตีนที่ครบถ้วนกว่า

ารฟื้นตัวภายหลังจากการให้เคมีบำบัด คนไข้จะสามารถฟื้นตัวได้ดีภายใน 14 วัน ผลข้างเคียงที่จะพบค่อนข้างต่ำ ในบางคนอาจจะอ่อน เพลียบ้าง หรืออาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการที่สามารถป้องกันได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังรับยาเคมีบำบัดแล้วร่างกายจะดีขึ้น สบายตัวขึ้น เพราะอาการจากโรค เช่น อาการปวดกระดูกจะน้อยลง 

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า ให้เคมีบำบัดแล้วทำให้ร่างกายทรุด แต่สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นไม่ใช่ เพราะเมื่ออยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการประเมินว่าคนไข้แต่ละรายสามารถรับยาได้แค่ไหน ระดับไหน คนไข้แข็งแรงพอหรือไม่ หากคนไข้สูงอายุหรือเคยผ่านการฉายแสงมามาก อาจจะต้องมียากระตุ้นเม็ดเลือดขาวช่วยหลังจากที่ได้รับเคมีบำบัด

ในส่วนของอาหารหลัก ๆ คือ สุก สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมักดอง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อจนทำให้ร่างกายเกิดผลกระทบได้ เพราะถ้ารับประทานอาหารที่มีคุณค่าทาโภชนาการครบถ้วนและดีพอ ก็จะทำให้คนไข้พร้อมที่จะรับยาได้อย่างเต็มที่

ทางด้านสิทธิของผู้ป่วย ในการใช้ยาในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้น มาตรฐานของบัญชียาหลักแห่งชาติ ครอบคลุมการรักษาพื้นฐานของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทุกระยะของโรค รวมทั้ง การให้เคมีบำบัดในมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย เนื่องจากเคมีบำบัดเป็นการรักษาที่ช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้

ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยทุกสิทธิในประเทศไทย รวมถึง ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเข้าถึงยาเคมีบำบัดมาตรฐานนี้ได้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจายจึงได้รับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ ผู้ป่วยทุกรายจึงยังมีความหวังที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้.

“เคมีบำบัด” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ทางเลือกผู้ป่วย “มะเร็งต่อมลูกหมาก” 



( ขอบคุณ เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์อาทิตย์สุขภาพ )

ด้วยความปรารถนาดี   กานดา แสนมณี


หมายเลขบันทึก: 513674เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2012 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จะพยายามทานมะเขือเทศเยอะ ๆ ละกันครับ จะได้ไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

สวัสดีค่ะคุณมด  ดีค่ะมะเขือเทศเป็นพืชที่หาได้ง่ายด้วยนะคะ มีหลายพุนธุ์ให้เลือกซื้อด้วยปลูกเองก็ได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท