เส้นทางการเดินทางของคน “บ้านนอก” เข้าสู่กับดักของ “ทุนนิยม”


การเดินทางเข้าสู่ทุนนิยมแบบที่ 4 เกิดขึ้นในกลุ่มของคนที่มีความเชื่อมั่นว่า ระบบการศึกษาจะช่วยให้ชีวิตของตนเองและครอบครัวหลุดพ้นจากความทุกข์ยากในการประกอบอาชีพที่เคยเป็นมา ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรม ที่ขาดความรู้และความเข้าใจ อย่างถูกต้อง

ตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กบ้านนอก
เป็นช่วงจังหวะที่ระบบทุนนิยมกำลังขยับเข้ามาสู่ระบบของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว มีการสร้างถนน
สร้างทาง เชื่อมต่อระบบสังคมเข้าด้วยกัน จึงทำให้ระบบความเป็นทาสของคน ได้ขยายจากความเป็นทาสในชุมชน
ไปสู่ความเป็นทาสเมืองต่างๆ ทาสระดับประเทศ และแม้แต่ทาสระบบข้ามชาติ เนื่องด้วย
ระบบกลไกต่างๆ ของทุนนิยม ได้เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์
และทรัพยากรธรรมชาติ อย่างแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ที่ทำให้แรงผลักดันและแรงดึงของระบบทุนนิยมที่เป็นการพัฒนาระดับกระแสโลก
ได้เข้ามามีผลกระทบต่อระบบการพัฒนาครอบครัวและชุมชนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
จนทำให้คนในชุมชนบ้านนอก ขาดความรู้
ความเข้าใจที่จะต่อสู้หรือต้านทานกระแสดังกล่าวได้


ระบบของกระแสดังกล่าว
เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย
แต่มีอำนาจและมีพลังในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อน
ระบบเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะในมิติแรก
ที่เป็นมิติเชื่อมโยงกระแสระบบทาส ที่พัฒนามาจากการเกณฑ์แรงงานด้วยอำนาจทางการทหาร
การปกครอง หรือการใช้กำลังบังคับ ที่ทำให้คนที่มีแรงต้านทานน้อย
หรือมีแรงความสามารถในการต่อสู้น้อย กลายเป็นทาสโดยความจำเป็น


ลักษณะเช่นนี้เคยเป็นระบบปกติ
ของสงครามระหว่างเมืองที่มีการแย่งประชากร และพลเมืองของเมืองอื่น
เข้ามาเป็นประชากรของตนเอง ซึ่งเป็นกรณีของการเกิดทาสในยุคแรก ๆ
แต่เมื่อมีการพัฒนาระบบทาสขึ้นมาเรื่อยๆ ก็จะมีทาสที่เกิดจากผู้ที่ดำเนินชีวิตผิดพลาด
ต้องขายตัวไปเป็นทาสในระบบทาสประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นทาสในกลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกัน
ระบบทาสแบบนี้ เกิดจากความจำเป็นและความผิดพลาดในชีวิต
ซึ่งเป็นเส้นทางแห่งการพัฒนาระบบทุนนิยมในเบื้องต้น โดยมีแรงงานทาส เป็นต้นทุน
ของการพัฒนาซึ่งแทบจะเรียกว่า ได้เปล่า เพราะการทำงานของทาสทั้งหมด
จะให้ประโยชน์แก่นายทาส เป็นหลัก ทาสจะได้เฉพาะส่วนที่นายทาสปันให้ เพื่อการอยู่
การกิน เป็นพื้นฐานของความอยู่รอดเท่านั้น ซึ่งเป็นเส้นทางของการเกิดทาสในอดีต
แม้จะมีการยกเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ยังปรากฏว่า
ระบบของทาสในความเป็นจริงของสังคมก็ยังคงอยู่ในทางปฏิบัติ โดยมีผู้สวามิภักดิ์
ยอมเข้าเป็นทาสของระบบเศรษฐกิจ เพียงเพื่อความอยู่รอดของตนเองเท่านั้น



  การเดินทางเข้าสู่ระบบเป็นผู้รับใช้ทุนนิยมประเภทที่
2 ก็คือ การใช้ทรัพย์สินของตนเองไปค้ำประกันเงินกู้
ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่ก็จะเป็นทรัพย์สินที่สำคัญ ก็คือ ที่ดิน ที่บ้าน และที่นา 
ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้
ที่สามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของเงินโดยการไม่ต้องเก็บเงินไว้กับตัวเองที่ไม่ปลอดภัย
เนื่องจากระบบความปลอดภัยในอดีตยังไม่มีระบบธนาคาร หรือระบบตำรวจ
และระบบรักษาความปลอดภัย ที่จะทำให้การเก็บสะสมทรัพย์สินจำนวนมากไม่มีความสะดวกสบาย
ดังเช่นในปัจจุบัน


หลังจากกู้เงินแล้วในทางปฏิบัติแล้ว
ก็มีคนจำนวนไม่มากนักที่สามารถจะใช้คืนทรัพย์สินที่กู้ยืมมาได้
จึงทำให้มีการสูญเสียที่ดินและทรัพย์สินที่เคยมี ประกอบกับ ความรู้ความสามารถของคนในกลุ่มนี้
มักจะมีปัญหาในการประกอบอาชีพที่เป็นสาเหตุแห่งความผิดพลาด
และระดับความคิดที่ไม่เข้มแข็ง
จึงทำให้เกิดโอกาสของการสูญเสียที่ดินเกิดขึ้นได้มาก ซึ่งในที่สุด
จะกลายเป็นผู้ที่ใช้ที่ทำกินต้องไปบุกเบิกพื้นที่ใหม่ และมักจะเข้าสู่วงจรนี้ไปเรื่อยๆ
หรือไม่ก็เปลี่ยนไปเป็นครอบครัวยากจน และเป็นทาสแรงงานแบบชั่วคราว
หรือเป็นทาสจริงๆในที่สุด


การเป็นทาสแรงงานนั้น
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือทำให้ผลประโยชน์ส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการใช้แรงงานตกอยู่กับผู้จ้าง
โอกาสของผู้รับจ้างจะมีอิสระและก้าวหน้าในการประกอบอาชีพนั้นมีน้อยมาก
จึงมีจำนวนไม่มากนักที่จะหยุดระบบนี้ได้ และมักจะมีลูกจ้างที่เป็นทาสแรงงานตลอดไป
ทั้งในรุ่นลูกของตนเอง หรือลูกหลานตนเอง ซึ่งเป็นการเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบที่ 2


การเดินทางเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบที่
3 ก็คือ การอพยพแรงงานเข้าสู่ชุมชนเมือง ส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้มีความล้มเหลวในการประกอบอาชีพที่อยู่ในชนบท
หรือประกอบอาชีพทางการเกษตรที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และมีทางเลือกเหลือน้อยมาก
จึงใช้วิธีอพยพแรงงานเข้าสู่ชุมชนที่มีงานทำ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ที่พบว่า คนใช้แรงงานจะมีโอกาสพัฒนาตัวเองไปเป็นเจ้าของกิจการน้อยมาก
ทั้งแนวคิดพื้นฐาน ศักยภาพ และความสามารถส่วนบุคคล จึงเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นทั่วไป
โดยใช้ประชากรในภาคเกษตรกรรมเป็นเครื่องมือ
แต่ในระยะยาวก็จะเกิดชนชั้นแรงงานขึ้นในชุมชนเมืองที่สืบเนืองมาจากการอพยพแรงงานจากภาคชนบทเข้าสู่ชุมชนเมือง
และการเกิดชนชั้นแรงงานในชุมชนเมืองเอง ที่เป็นระบบพัฒนาอย่างทั่วไปในการพัฒนาอุตสาหกรรม


การเดินทางเข้าสู่ทุนนิยมแบบที่ 4 เกิดขึ้นในกลุ่มของคนที่มีความเชื่อมั่นว่า ระบบการศึกษาจะช่วยให้ชีวิตของตนเองและครอบครัวหลุดพ้นจากความทุกข์ยากในการประกอบอาชีพที่เคยเป็นมา ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบอาชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรม ที่ขาดความรู้และความเข้าใจ อย่างถูกต้อง
ทำให้การพัฒนาการเกษตรและการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมล้มเหลว ขาดทุน
จนทำให้ทรัพย์สินหมดไป หรือแม้กระทั่งเป็นหนี้ในภาคการประกอบอาชีพทางการเกษตร
จึงพยายามผลักดันลูกหลานของตนเองไปในเส้นทางของระบบการศึกษา
โดยใช้ตัวอย่างของคนบางคนในชุมชนที่ประสบผลสำเร็จจากระบบการศึกษาที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น


แต่โอกาสทางการศึกษาก็มิได้เปิดช่องไว้ให้ทุกคน
เพียงอาจเปิดช่องไว้ให้สำหรับคนที่มีความสามารถเหนือกว่าคนอื่นที่มีไม่มากนัก
ดังนั้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ในระยะหลังๆ นี้
จึงเดินทางเข้าสู่ระบบของการใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่
ที่ทำให้การประกอบอาชีพเป็นลักษณะที่มีรายได้เพียงเลี้ยงตัวเองเท่านั้น
เพราะระบบแรงงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของทุนนิยมทั้งหลาย
เป็นการทำเพื่อกำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุดอยู่แล้ว
เขาจึงใช้ระบบการบีบให้แรงงานทำงานมากที่สุด ได้ผลตอบแทนมากที่สุด พอหมดกำลัง
หมดแรง หรือหมดความสามารถ เขาก็จะให้ออกและรับคนอื่นที่มีความสามารถมาทำงานต่อไป
ในระบบของ “หมาล่าเนื้อ” ซึ่งมีอยู่ทั่วไปของภาคอุตสาหกรรม และเป็นไปทั้งระบบสังคม
ที่พยายามจะใช้คนที่มีความสามารถเฉพาะเรื่องในระยะเวลาอันสั้น
พอหมดความสามารถนั้นแล้วก็เปลี่ยนใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย
ที่ระบบชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถพึ่งพาระบบแนวคิดแบบนี้ได้ ในที่สุด
ก็จะกลายเป็น “หมาล่าเนื้อเขี้ยวหัก” ที่ถูกคัดทิ้งออกจากระบบ
ระบบทำให้ชีวิตลำบากมากกว่าเดิม ไม่มีความหวัง ไม่มีอนาคต นอกเสียจากจะประคองตัวได้ชั่วคราว
โดยการเปลี่ยนประเภทของงาน หรือหาลูกหลานเข้าไปทำหน้าที่แทน
และใช้ความสัมพันธ์ของระบบสังคมไทยดูแลกันไป ก็พอจะทำให้ระบบความเป็นทาสในระบบนี้พอจะประคองตัวไปได้ในระดับหนึ่ง


นอกเหนือจากระบบการศึกษาแล้ว
ก็ยังเป็นการอพยพแรงงานแบบโดยตรง โดยเฉพาะคนที่จบการศึกษาขั้นต้น
ที่ยังไม่มีฝีมือแรงงานใด ๆ คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเข้าไปเป็นระดับกรรมกร
ซึ่งถ้าเป็นการอพยพแบบชั่วคราวแล้วนำรายได้ที่เกิดขึ้นมาสนับสนุนฐานชีวิตหรือฐานการประกอบอาชีพของตนเอง
ก็ไม่มีข้อเสียมากนัก แต่ถ้าเป็นการอพยพแรงงานแบบหลุดฐาน ไม่มีสังคมหรือทรัพยากรใด
ๆรองรับตัวเองอยู่เลย การดำรงชีวิตในระบบสังคมแรงงานนั้น ก็จะเลื่อนลอยไร้ความหมาย
ประเภทเดียวกับระบบกรรมกรในประเทศอุตสาหกรรม
หรือกรรมกรในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว


ทั้งหมดนี้
จึงเป็นเรื่องของการวางกับดัก และการเดินเข้าสู่กับดัก ของคนที่มีความรู้น้อยกว่า
ที่จะถูกเอาเปรียบ โดยคนที่รู้มากกว่า หรือฉลาดกว่า จนทำให้สังคมปัจจุบัน
ที่แยกโดยหลักการนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท คือ กลุ่มนายทุน ที่มีลำดับชั้น
ของการสะสมทุน ตั้งแต่ระดับร้อยล้าน พันล้าน แสนล้าน จนถึง ล้าน..ล้าน..ล้าน
ที่เป็น ระดับซุปเปอร์นายทุนในระบบนิยม ที่เป็นเจ้าของเงินกู้ของประเทศต่างๆ
ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป เอเชีย และไม่เว้นแม้กระทั่งญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีความเก่งกาจในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ก็ยังเป็นหนี้อยู่ถึง 2 เท่าของ GDP ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
เจ้าของเงินนั้นจะต้องมีเงินระดับมหาศาล นับเป็นตัวเลขได้ยาก
เมื่อมองย้อนกลับมาในระดับนายทุนท้องถิ่น หรือนายทุนระดับชาติ
หรือแม้กระทั่งนายทุนระดับชาติก็ยังน่าจะเป็นนายทุนย่อยๆ เท่านั้น ฉะนั้น
กลไกสำคัญทั้งหมดของทุนนิยม ก็คือ การวางแผน และฉุดกระชากลากดึง และหลอกล่อให้คนเข้าไปเป็นเหยื่อของเขา
โดยหลักการของการสร้างกิเลส ทำให้คนหลงทาง นำทรัพย์สินทั้งหลาย ไปแปลงเป็นเงิน
แล้วในที่สุด ก็ถูกรวบรวมเข้าไปสู่ศูนย์กลางของระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรม
ที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในที่สุด


ระบบทุนนิยมเหล่านี้
จะมีการเติบโตไม่มีขีดจำกัด และไม่มีการพอเพียง ไม่ว่าจะมีมากเท่าไหร่ ก็จะมีมากขึ้นไปอีก
โดยไม่คำนึงว่า จะเกิดความเสียหายต่อสังคม ต่อประชาชน
ต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมขนาดใด
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ของสังคม
เข้าใจด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ให้เห็นว่า
เราจะอยู่ในระบบนี้อย่างมีความสุข ไม่เป็นทาส และยั่งยืนได้อย่างไร
จึงขอฝากให้ทุกท่านช่วยกันคิดครับ




หมายเลขบันทึก: 512730เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2012 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เนื้อหาอาจจะหนักไปนิด แต่จิตสำนึกของคนบ้านนอก อย่างผมก็เข้าถึงได้ครับ ผมคนนึงล่ะครับที่นอกกระแสสังคม เป็นคนบ้านนอก อยู่บ้านนอก "สบายดีบ้านนอก" มีอะไรเดี๋ยวขอแลกเปลี่ยนด้วยนะครับ คอ'บ้านนอก เหมือนกัน(แวะมาเยี่ยมกันได้ที่ www.konbannok.com นะครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท