ความคิดของคนรุ่นใหม่



          ผมขออนุญาต นิสิตแพทย์ เจตน์ รัตนจีนะ  นสพ. ปี ๕ ของจุฬา  นำข้อ reflection หรือ AAR การเรียนรู้จากการเข้าร่วมวงวิจัยระบบสุขภาพ  และได้รับอนุญาต  จึงขอนำมาลงไว้ดังต่อไปนี้


เรียน อาจารย์วิจารณ์ แบบอย่างที่กระผมเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง


     ต้องขออภัยที่ใช้เวลาหลายวันกว่าจะตอบกลับนะครับ กระผมยังไม่มีโอกาสที่ได้พิมพ์สิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นลายลักษณ์อักษรนะครับแต่ถ้าหากจะให้สะท้อนมุมมอง ความคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้ กระผมขออนุญาตเรียนอาจารย์ในสิ่งที่กระผมเองนั้นคิดว่าเป็นสิ่งที่กระผมได้เรียนรู้จากตั้งแต่ในช่วงการประชุม The second global symposium on health system research ที่ปักกิ่ง ตลอดจนถึงการประชุม คณะกรรมการฯโครงการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ที่ทางคณะกรรมการได้เปิดโอกาสให้กระผมได้เสนอผลงานวิจัยของทีมงานกระผมในฐานะนิสิตแพทย์ รวมถึงสิ่งที่กระผมเองเคยมีประสบการณ์ทั้งจากการที่ได้ทำวิจัยของตนเองและสิ่งที่สนใจศึกษา พอที่จะได้เป็นประเด็นต่างๆในความคิดของกระผมดังนี้ครับ กระผมขอใช้ภาษาไม่เป็นทางการนะครับ



ชื่อเสียงและที่ยืนของประเทศไทยในเวทีโลกและระบบสุขภาพไทย

     ในประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ติดใจอยู่มานานแล้วครับว่า ในปัจจุบันท่ามกลางสภาพ ประเทศไทยแบบที่เป็นอยู่ จะมีอะไรบ้างที่กระผมเองจะรู้สึกว่า“ประเทศไทย”ของเรานั้นอยู่ในระดับโลกในเรื่องที่ดีที่เราเอาไปพูดกับนานาชาติได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ที่ไม่ใช่แค่ นึกถึงเมืองไทยจะนึกถึง ช้าง หรือ ต้มยำกุ้ง หรือว่า มีอะไรที่ “ประเทศไทย”นั้นได้รับการยอมรับระดับโลกไปยืนบนเวทีโลกและสามารถเป็นสิ่งที่ทำให้นานาชาติสนใจ (ในสิ่งที่ดีและเป็นแบบอย่าง) ซึ่งทำให้กระผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งรู้สึกถึงความภาคภูมิใจ จากการที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานนี้ทำให้กระผมได้คนพบครับ สิ่งนั้นอยู่ใกล้ตัวกระผมในฐานะนิสิตแพทย์ นั่นคือ “ชื่อเสียงเรื่องระบบสุขภาพของไทย” ครับ โดยเฉพาะเรื่อง UC (Universal Coverage) ของไทย ถึงแม้ว่าในวงการแพทย์การสาธารณสุขของเรา ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึง นโยบายสาธารณสุขต่างๆ โดยเฉพาะ ตั้งแต่มี คำว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ ข้อมูลที่กระผมทราบก็มีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยเท่าที่กระผมได้ฟังบรรยายจากหลายๆประเทศ ที่พูดเกี่ยวกับระบบสุขภาพ การปฏิรูประบบ หรือ UC ประเทศไทยมักจะได้รับการกล่าวอ้างเสมอ เสมือนเป็น Gold Standard ที่ทุกประเทศต้องกล่าวในการนำเสนอและมีใน powerpoint presentation กระผมว่าน่าภาคภูมิใจนะครับ หรือแม้กระทั่งจากการได้พูดคุย เช่นกระผมได้เจอ คุณหมอจากเวียดนาม ที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในเวียดนามก็บอกว่าคนไทยนี้โชคดีที่ระบบการเข้าถึงเกิดขึ้นมาได้ หรือแม้กระทั่งมีนักข่าวคนหนึ่งซึ่งนั่งรับประทานอาหารด้วยกันมาจากอุรุกวัยที่ทางคณะผู้จัดงานทางประเทศจีนเชิญมาสังเกตการณ์ประชุม ซึ่งเมื่อนักข่าวผู้นั้นรู้ว่ากระผมมาจากประเทศไทย ก็บอกกับผมว่า “congratulation” ทันที กระผมก็สงสัยถึงการแสดงความยินดี จึงได้ความว่า เธอไม่ค่อยรู้จักประเทศเรามาก่อนเพราะอยู่ห่างกันมาก แต่ก็ได้รู้จักจากการฟัง session plenary ที่มีการกล่าวถึงประเทศไทย ประเทศไทยโชคดีที่คนไทยมีสิทธิเข้าถึงการรักษาได้ ซึงเป็นระดับนโยบายเช่นระดับรัฐมนตรีของต่างชาติที่เป็นคนพูด ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้ทำให้กระผมหันกลับมาคิดในฐานะ ในอนาคตที่จะเป็นเฟืองตัวหนึ่งในระบบนะครับว่า ถ้ามองเป็นโอกาสนับว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยเรา ที่มีเรื่องที่สามารถไปพูดกับชาวโลกได้ ไม่เพียงเท่านั้นดีต่อประชาชนด้วยที่มีโอกาสรับการรักษา แต่ในขณะเดียวกันกระผมมองว่าหากในทางปฏิบัติอาจจะมีความเห็นที่ต่างออกไปก็ปรับแก้ให้เหมาะตามสถานการณ์ ในทางปฏิบัติที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ก็ปรับแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพประชากร คุณภาพชีวิตบุคลากร และงบประมาณชาติ กระผมว่า ระบบสุขภาพก็จะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนและนำพาประเทศได้ครับ ทำให้กระผมนึกถึง พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ สมเด็จพระบรมราชชนก มีลายพระหัตถ์ กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ตอนหนึ่งที่ว่า “การสาธารณสุข นั้น เปนการสําคัญ อย่างยิ่ง ทั้งเปนเครื่องบํารุง กําลังของชาติไทย และเปนสาธารณประโยชน์ แก่มนุษย์ชาติทั่วไปด้วย” ดังนั้นแรงบันดาลใจข้อหนึ่งของกระผมรวมถึงสิ่งที่ได้ตระหนักเลยนะครับคือกระผมมองว่า หากประเทศเรามีระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุขที่ดี ก็จะเป็นรากฐานการพัฒนาชาติไทยของเราได้ รวมถึงเป็นสิ่งที่ประกาศให้ชาวโลกได้ทราบเป็นสิ่งที่เราภูมิใจได้ครับ


 การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมประสบการณ์ตรงในเวทีระดับโลก

  

     ในประเด็นข้อนี้เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งกระผมถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้ของกระผมอย่างหนึ่งคือ ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่นิสิตอย่างกระผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมที่เป็นสนามจริงของบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศ คือ การประชุมของคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาการศึกษาของบุคลากรสาธารณสุข ในศตวรรษที่ 21 หรือในระดับโลกที่กระผมได้ส่ง abstract จนได้ไปในการประชุม HSR symposium ที่ปักกิ่ง จะว่าไปแล้วต้องกล่าวได้ว่าโอกาสต่างๆเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นเลย ถ้ากระผมไม่ได้เริ่มความคิดที่อยากทำวิจัยอะไรสักอย่างหนึ่งในหัวข้อที่สนใจ ซึ่งตั้งแต่กระผมตัดสินใจเข้าเรียนแพทยศาสตร์ก็เพราะกระผมสนใจเรื่องระบบสุขภาพและการบริหารจัดการ และเป็นความกรุณาของอาจารย์ที่กระผมได้เรียนขอคำปรึกษาคือ อ.กฤษณ์ ที่สนับสนุนงานให้ดำเนินไปได้และให้โอกาสกระผมได้ลงมือทำและเป็นเสมือนโค้ชที่คอยดูแลให้ อันนี้ถือได้ว่าเป็น โอกาสอันแรกเริ่มที่กระผมได้รับ เพราะในโรงเรียนแพทย์คงเป็นเรื่องยากที่จะหาอาจารย์ที่จะช่วยกระผมให้ได้บรรลุงานที่กระผมสนใจโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับในเรื่องของ ระบบสุขภาพและสาธารณสุข ทั้งที่ในอนาคตกระผมถือได้ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ได้ และยากยิ่งกว่าที่จะมีอาจารย์สักท่านให้เวลาและโอกาสนิสิตแพทย์ได้รบกวนเวลาจนงานเสร็จลุล่วง และสำคัญคือระหว่างการทำวิจัยกระผมได้เรียนรู้กระบวนการการทำงานเป็นทีม ทีมที่เกิดจากความสนใจร่วมกันโดยกระผมมีน้องๆ 3 คนที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำและเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน จนงานวิจัยออกมาเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จนกระทั่งได้มีโอกาสนำเสนอในเวทีต่างๆ


  โอกาสต่อมา

นั่นคือการได้ไปนำเสนอและเข้าร่วมประชุม HSR symposium ที่ปักกิ่ง อันนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งเรียนรู้ที่สำคัญ อย่างน้อยที่สุดการที่นิสิตแพทย์คนหนึ่งได้มาเวทีนานาชาติก็นับว่าเป็นแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ต่อไป และได้เปิดหูเปิดตา ได้เห็นบรรยากาศชุมชนการเรียนรู้ขนาดใหญ่มากอีกมิติหนึ่ง ที่ต่างไปจากโรงเรียนแพทย์ ได้เห็นความร่วมมือกันทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แม้กระทั่งงานของกระผมเองนั้น ขนาดเป็นงานของกลุ่มนักเรียนแพทย์ แต่กลับได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ นั่นคือ ท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช (กราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ) ท่านรองอธิการบดีอาจารย์วณิชา ที่ได้ให้โอกาสกระผมได้นำเสนออีกครั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาในการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาการศึกษาของบุคลากรสาธารณสุข ในศตวรรษที่ 21 และยังมีบุคลากรในต่างประเทศที่สนใจงานชิ้นนี้ด้วยตัวเนื้อหาของงานวิจัย ตั้งแต่ครั้งการประชุม regional meeting ของ WHO SEARO ที่ท่านอาจารย์สำลี ได้ให้โอกาสขึ้นเวทีพูดและมี Dr Khaled Hassan ซึ่งเป็น Representative to Bangladesh สนใจงานมากและขอสำเนาไว้ศึกษา รวมถึงที่ปักกิ่ง ก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการประชุม และมีบางส่วนได้ขอผลงาน ไปประยุกต์ใช้ อันเนื่องจากผลงานวิชาการดังกล่าวสอดคล้องกับปัญหาระบบสุขภาพในประเทศ อาทิเช่น Professor Dr Nay Soe Maung อธิการบดีมหาวิทยาลัยสาธารณสุข สหภาพเมียนมาร์ ได้ขอแบบสอบถามงานวิจัย เพื่อเป็นแบบอย่างนำไปใช้ในสหภาพเมียนมาร์ Dr Francis Asenso Boadi Deputy Director of National Health Insurance Authority ประเทศกาน่า ได้ขอสำเนาผลงานวิชาการเพื่อไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยบุคลากรสาธารณสุข ในประเทศกาน่า เป็นต้น

  อีกหนึ่งโอกาสนั่นคือการที่อาจารย์เปิดโอกาสให้กระผมได้เข้าร่วมนำเสนอและรับฟังการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาการศึกษาของบุคลากรสาธารณสุข ในศตวรรษที่ 21 ทำให้เป็นการให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นทำให้เกิดความเข้าใจในมุมมองของ policy maker เพราะการอยู่ในโรงเรียนแพทย์นั้นทำให้ได้ความรู้ทางคลินิก ได้เห็นการปฏิบัติการต่างๆในโรงพยาบาล ซึ่งโอกาสจะเห็นภาพตัวอย่างของระดับนโยบายถือว่าน้อยมาก นอกจากนี้ยังได้เห็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการผนึกกำลังของสถาบันแพทย์ต่างๆ รวมถึงนอกจากแพทย์ด้วย ในการที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพไปข้างหน้า
 

  โอกาสต่อๆไป (เรื่อยๆ)”
  ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่เฉพาะ “กระผม” เองที่ได้เรียนรู้ กระผมมองว่าคงจะเป็นการดีไม่น้อยถ้าจะมีนิสิตหรือนักศึกษาแพทย์ได้รับการเรียนรู้ และโอกาสต่างๆเหล่านี้แบบกระผม ตั้งแต่ยังเป็น นักเรียนแพทย์ และการที่กระผมได้รับประสบการณ์ต่างๆยังทำให้เห็นถึงความสำคัญ ของพลังในการร่วมมือกันทำงานของสถาบันต่างๆ การแลกเปลี่ยนความรู้ ความจริงใจในการร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อระบบสุขภาพทั้งในวันนี้และอนาคต กระผมมองเห็นโอกาสภึงความร่วมมือกันให้เกิดโอกาสเหล่านี้ตั้งแต่ยังเป็น นิสิตหรือนักศึกษาแพทย์ครับ เพราะอย่างน้อยก็กระผมคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสเหล่านี้ และน่าจะดียิ่งๆขึ้นไปถ้ามีการร่วมกันของส่วนต่างๆตั้งแต่ยังเป็นนิสิตและนักศึกษา ที่อาจจะมีความสนใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพ การทำวิจัย ในอนาคตครับ

ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งที่เปิดโอกาสให้นิสิตแพทย์ได้สะท้อนความคิดครับ และหวังใจว่ากระผมจะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งที่ได้นำสิ่งต่างๆที่ๆได้เรียนรู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในส่วนที่กระผมทำได้ในฐานะที่จะเป็น “แพทย์” ในอนาคตครับ
เจตน์ รัตนจีนะ


          ผมคิดว่าข้อเขียนสะท้อนความคิดอย่างไม่เป็นทางการชิ้นนี้  น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ร่วมรับผิดชอบอนาคตของระบบสุขภาพไทย  ที่จะหาทางจุดไฟแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่


วิจารณ์ พานิช

๑๘ พ.ย. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 510805เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2012 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท