ตัวตนไทโซ่ ดงหลวง ที่ Pullman กลางกรุงเทพฯ


เมื่อวันที่ 26 ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power Hotel มีการประชุมนำเสนอบทเรียนที่เรียกว่า Rural Development Model based on Sufficiency Economy for Asia Rural Community in the Future ซึ่งจัดโดย JICA และ สปก. และทีมงานเก่าโครงการ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฎิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรผสมผสาน หรือ คฟป. ที่ผมเคยประจำที่ อ.ดงหลวง มุกดาหารมาเกือบ สิบปี

เป็นเรื่องน่าสนใจมากเพราะเป็นการสรุปบทเรียนการทำงานมาทั้งหมดโดยทีมงานวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัย Chubu แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะมุมมองของ Prof. Masato Noda หยิบเอาเรื่องพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ไปเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก ที่ญี่ปุ่นสนใจเอาไปเป็นทางเลือกทางรอดของสังคมของเขา  รายละเอียดค่อยเจาะกันต่อไป

ผมมีประเด็นเล็กๆที่จะหยิบมาสะท้อน กล่าวคือ การประชุมครั้งนี้ทางผู้จัดมิได้เปิดกว้างทั่วไปจะเชิญวงในเฉพาะส่วนที่เคยเกี่ยวข้องกับโครงการ คฟป. มาก่อน เช่น ตัวแทนผู้นำเกษตรกร ข้าราชการที่เคยร่วมงาน หน่วยงานราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวง ฯลฯ

ฝ่ายต่างประเทศนั้นผมเห็นคนญี่ปุ่นมากันเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ JICA และสถานทูตญี่ปุ่น และบริษัทที่ปรึกษา

บรรยากาศในงานเป็นการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยทั้งของนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น มุมแสดงกิจกรรมที่สำคัญ เช่นตลาดชุมชน กลุ่มข้าวพื้นบ้านและผักปลอดสารพิษ การเกษตรผสมผสาน และอื่นๆ

ตลอดงานช่วงเช้าที่ผมอยู่ร่วมงาน เสียดายที่ตอนบ่ายผมต้องเดินทางไปนครชัยศรี นครปฐมจึงไม่ได้ร่วมงานช่วงบ่าย ตลอดช่วงเช้ามีการนำเสนอผลการวิจัยของคุณ Noda ที่ผมสนใจมากๆ

ตลอดการสัมมนาครั้งนี้ ตัวแทนชาสบ้านจากจังหวัดที่มีโครงการ คฟป.นั้น นั่งกระจายกันอยู่ แต่ที่เดาออกโดยไม่ต้องหันไปดูคือ เกษตรกรจาก ดงหลวง มุกดาหารนั้นจะนั่งหลังสุด ติดฝาห้องเลย นี่หากแทรกฝาได้คงแทรกเข้าไปแล้ว อิอิ (ผมก็กล่าวให้เว่อร์ไป) ทั้งนี้ในฐานะที่ผมคลุกคลีกับดงหลวงมานานจึงรู้ดีว่า นี่คือตัวตนของกลุ่มคนไทโซ่ ดงหลวง

ไทโซ่จะถ่อมตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนต่ำ ล้าหลัง เป็นน้อง เป็นผู้ด้อยกว่า..... ทุกครั้งที่เราจัดประชุมสัมมนาร่วมกับเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ภาพทำนองนี้ในลักษณะต่างๆจะปรากฏ หากเราเป็นคนช่างสังเกต  ทำไมเป็นเช่นนี้ ก็ต้องเข้าในรากเหง้าของไทโซ่ ใครสนใจก็ไปศึกษาได้จาก เรื่องเล่าจากดงหลวง ที่ผมรวบรวมไว้นั่นแหละครับ

พฤติกรรมเหล่านี้ นักพัฒนาสังคมต้องเข้าใจ เรียนรู้ และอ่านรหัสนัยนี้ให้ออกเพื่อการเดินกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มไทโซ่ที่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับตัวตนของเขา

นักการศึกษา หากเอา Pattern การศึกษาที่ใช้กันทั่วไปมาใช้ก็จะไม่ได้ผลเต็มที่

ในทัศนะของผม คำที่ว่า  “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ดูจะเป็นคำที่มีความหมายมากกว่าการท่องบ่น และพูดอ้างกันทั่วๆไป.....

หมายเลขบันทึก: 510287เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นครชัยศรีบ้านผมเองครับ เสียดายตอนนี้มาธุระอยู่ มหาสารคาม ไม่งั้นคงได้เจอพี่บางทราย

อ้าว พี่มาเป็นผู้ดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน กรณีกรมทางหลวงชนบท ได้งบประมาณรัฐบาลมายกระดับถนนให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันอุทกภัย มีหลายสาย พี่ไปที่อำเภอพุทธมณฑล ครับ แต่ก็จบไปแล้ว จะไปอีกทีกลางปีหน้า และปลายปีหน้าครับ สำหรับงานนี้นะครับ เขากำหนดการประชุมสามช่วง ก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้างและหลังการก่อสร้างครับ พี่จะเป็นคนดำเนินการเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท