ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 58. เจตคติและคุณค่า (4) ข้อโต้แย้งเชิงจริยธรรม


เป็นเทคนิคฝึกให้ นศ. คิดด้วยชุดจริยธรรมที่ตนยึดถือ ในท่ามกลางความเป็นจริงของสังคม และในสถานการณ์ของวิชาที่เรียน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 58. เจตคติและคุณค่า  (4) ข้อโต้แย้งเชิงจริยธรรม

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๘นี้ ได้จาก Chapter 17  ชื่อ Attitudes and Values  และเป็นเรื่องของ SET 38 : Ethical Dilemmas

บทที่ ๑๗ ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ด้านคุณค่าและความหมายในชีวิต  รู้จักตนเอง และพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเอง  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 35 – 40  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  

SET 38  : Ethical Dilemmas  

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

เป็นเทคนิคฝึกให้ นศ. คิดด้วยชุดจริยธรรมที่ตนยึดถือ  ในท่ามกลางความเป็นจริงของสังคม  และในสถานการณ์ของวิชาที่เรียน

นศ. ได้รับเรื่องราวของสถานการณ์ (ที่เกี่ยวกับวิชาที่เรียน) ที่ผู้คนต้องเผชิญ และต้องตัดสินใจเลือกดำเนินการทางใดทางหนึ่ง ใน ๒ - ๓ ทางเลือก  ที่แตกต่างกันด้านการยึดถือความมั่นคงเชิงจริยธรรม 

นศ. มีเวลาคิดไตร่ตรองเงียบๆ ระยะเวลาหนึ่ง  เพื่อเลือกทางเลือกของตนอย่างอิสระ และโดยไม่เปิดเผยว่าตนเลือกแนวทางใด  ครูใช้ผลของการกระจายทางเลือกในชั้นเป็นแนวทางอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สำหรับให้ นศ. ได้เข้าใจทางเลือกตัดสินใจเชิงจริยธรรม ว่ามีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง  สำหรับสั่งสมประสบการณ์ไว้ใช้ในชีวิตข้างหน้า

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดประเด็นเชิงจริยธรรม สำหรับเป็นประเด็นเรียนรู้  เชื่อมโยงกับวิชาที่เรียน

2.  กำหนดกรณีตัวอย่างหรือกรณีศึกษา ที่มีข้อโต้แย้ง ที่เป็นจริงหรือสมจริง

3.  เขียนคำถาม ๒ - ๓ คำถามให้ นศ. แสดงจุดยืนทางจริยธรรม และอธิบายว่าทำไมจึงเลือกทางเลือกนั้น

4.  ให้ นศ. เขียนคำตอบอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา  โดยไม่ต้องลงชื่อ

5.  ให้เวลา นศ. เขียน หรือให้กลับไปทำเป็นการบ้าน

ตัวอย่าง

วิชาสัมมนาสำหรับ นศ. ปี ๑ : ทักษะในการเรียน และการพัฒนาตนเอง

วิชาสหวิทยาการนี้มีเป้าหมายหลายอย่าง  ได้แก่ แนะนำให้ นศ. ได้เข้าใจค่านิยม และมาตรฐาน ของชุมชนวิชาการ  ครูต้องการให้ นศ. เข้าใจความมั่นคง (integrity) ต่อจริยธรรมทางวิชาการ  ครูจึงเขียนเรื่องของ นศ. ๒ คน คือ แอนน์ กับเพื่อนร่วมห้องชื่อ บาร์บาร่า  บาร์บาร่า บอก แอนน์ ว่าตนวางแผนเข้าสอบแทนเพื่อนชายในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งแอนน์ก็เรียนวิชานี้ด้วย   ครูกำหนดให้ นศ. แต่ละคนเขียนคำตอบสั้นๆ ครึ่งหน้าต่อคำถาม  (๑) แอนน์ควรทำอย่างไร  เกี่ยวกับการที่ บาร์บาร่ากับแฟนจะโกงการสอบ  (๒) ตามคำตอบข้อ ๑  จงบอกเหตุผลที่แอนน์ควรทำหรือไม่ควรทำตามข้อ ๑

ครูให้เวลา นศ. เขียนคำตอบ ๑๐ นาที แล้วเก็บกระดาษคำตอบ  นำไปอ่านหลังจบชั้นเรียน  และแปลกใจมากที่ นศ. ประมาณร้อยละ ๖๐ บอกว่า แอนน์ไม่ควรทำอะไร  แต่ให้เหตุผลต่างๆ กัน  โดยส่วนใหญ่เน้นความเป็นเพื่อนระหว่างแอนน์ กับ บาร์บาร่า  หนึ่งในสี่ของ นศ. บอกว่า แอนน์ควรโต้แย้งห้ามปราม บาร์บาร่า ว่าไม่ควรโกงการสอบ  มีสองสามคนบอกว่า แอนน์ควรแจ้งผู้รับผิดชอบการสอบของมหาวิทยาลัย 

ครูนำผลมาอภิปราย ลปรร. ในชั้นเรียน  และให้ นศ. บอกว่าค่านิยมที่เป็นฐานของคำตอบแต่ละแบบเป็นอย่างไร  มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  และสะท้อนว่า นศ. ได้เข้าใจหลักการของ academic integrity

วิชา  Microcontroller Programming

วิชานี้เป็นวิชาเชิงเทคนิค  คือการเขียน software  ครูต้องการให้ นศ. ได้เรียนรู้ประเด็นเชิงสังคม และเชิงจริยธรรม  จึงเขียนฉากสถานการณ์ต่อไปนี้

“ท่านเป็น software engineer ในบริษัท start-up ขนาดเล็ก  ที่ทำหน้าที่พัฒนา โค้ด สำหรับ embedded microcontroller สำหรับใช้ในเครื่องมือช่วยชีวิตผู้ป่วย ในหอผู้ป่วยวิกฤติ  software ที่กำลังเขียนนี้ เป็นความเป็นความตายของบริษัท  หากทำไม่สำเร็จ บริษัทอาจล้ม  ท่านจะตกงาน  และเวลานี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี หางานยาก  มีการกำหนดวันส่งมอบผลงานไว้ล่วงหน้าแล้ว  และจะมีพิธีแถลงข่าวและสาธิตการทำงานของผลิตภัณฑ์  แต่เมื่อท่านนำ software ใส่ลงผลิตภัณฑ์ ก็พบข้อบกพร่อง (bug) ที่ software อาจทำให้เครื่องหยุดทำงาน  แต่โอกาสเกิดก็มีน้อยมาก  และกำหนดปรับปรุง software คือ ๓ เดือนหลังส่งมอบ  และท่านรู้ว่าหัวหน้าจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขในเบื้องต้น  คุณจะทำอย่างไร”

ครูฉายทางเลือก ๒ ทางขึ้นจอ คือ (๑) ส่งมอบผลิตภัณฑ์โดยไม่บอกอะไร  (๒) รายงานให้รู้ว่ามีข้อบกพร่อง 

แล้วให้เวลา นศ. คิดครู่หนึ่งจึงตอบโดยใช้ clicker  ก่อนแจ้งผล ครูให้ นศ. เดาว่า นศ. ส่วนใหญ่จะตอบว่าอย่างไร  เพราะอะไร  และให้ นศ. จับคู่แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน  แล้วจึงอภิปรายทั้งชั้น 

วิชาสถิติ

เพื่อให้ นศ. ได้เรียนรู้ประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับสถิติ  จึงเล่าเรื่องที่ตนประสบสมัยเป็น นศ. ระดับบัณฑิตศึกษา 

“มีเพื่อน นศ. กำลังจะจบปริญญาเอก  (สมมติว่าชื่อ จอร์จ) และกำลังทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยของอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินผลงานวิทยานิพนธ์  อาจารย์ท่านนี้ได้รับการว่าจ้างทำวิจัยจากบริษัทยาใหญ่แห่งหนึ่ง  ให้วิเคราะห์ทางสถิติเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งของบริษัท  ครูส่งข้อมูลให้แก่ จอร์จ และพูดว่า ‘นี่คือข้อมูล  จัดการให้ผลออกมาเป็นเชิงบวก’”

ครูให้เวลา นศ. คิดครู่หนึ่ง ว่าหากตนเป็น จอร์จ จะทำอย่างไร  แล้วให้เขียนคำตอบสั้นๆ แล้วครูเก็บคำตอบ  แล้วให้จับกลุ่ม ๕ คน เพื่ออภิปรายกัน  เน้นให้คุยกันเรื่องความท้าทายที่คนเราต้องเผชิญ เมื่อต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเชิงจริยธรรม   ระหว่างที่ นศ. กำลังอภิปรายกลุ่ม ครูตรวจคำตอบ  แล้วเสนอผลต่อชั้น  และเล่าเรื่องการทำผิดจริยธรรมในวงการสถิติ  จบลงด้วยการให้การบ้านไปศึกษาและเขียนรายงาน จาก American Statistical Association’s Ethical Guidelines for Statistical Practice

การประยุกต์ใช้ online

การตอบคำถามเชิงจริยธรรมต้องทำแบบไม่แสดงตัว  ดังนั้นหากจะให้ตอบคำถาม online ต้องมีเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ นศ. ตอบแบบไม่แสดงตัว  แล้วครูใช้ผลจากคำตอบเป็นเครื่องนำการอภิปรายใน discussion group  

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  ให้ นศ. ค้นหาเรื่องราวที่เป็นข้อโต้แย้งเชิงจริยธรรม  ที่เหมาะสมสำหรับนำมาเป็นกรณีศึกษา

·  อาจใช้เทคนิค เล่นละคร (role-play) สำหรับทำความเข้าใจข้อโต้แย้งต่างแนวคิด

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Angelo TA, Cross KP. (1993). Classroon assessment techniques. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 271-274. 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 509324เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2012 05:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท