สัมผัสแรก......ของความรู้สึก


ใจเขา ใจเรา

       มาระยะหลังๆดิฉันได้มีโอกาสไปใช้บริการด้านการรักษาที่อื่น (แม่เป็นผู้รับบริการตัวจริงค่ะ) .....แรกๆก็รู้สึกกังวลใจเหมือนกันว่า จะต้องไปเจออะไรบ้าง?......เจ้าหน้าที่เขาจะพูดจาดีไหม?  หมอจะดุแม่เราไหม?  เราเป็นพยาบาลยังกังวลเลย.....แล้วคนทั่วไป ชาวบ้านล่ะ...ความรู้สึกของพวกเขาเมื่อต้องไปโรงพยาบาลจะเป็นอย่างไร...ไม่อยากจะคิดเลยค่ะ

       สัมผัสแรกที่ สถาบันประสาทวิทยา การต้อนรับผู้ป่วย และทำให้หัวใจน้อยๆของดิฉันมีความสุขขึ้นบ้าง ถึงแม้จะทุกข์อยู่แล้ว เพราะห่วงสุขภาพแม่ก็ตาม คือเจ้าหน้าที่เวรเปล จะยืนคอยรอรับผู้ป่วย  ไม่ว่าจะมีสตางค์หรือไม่ และคอยถามไถ่ว่า สามารถเดินได้เองหรือไม่ น้องๆเวรเปลที่นั่นบริการอย่างดี แม้กระทั่งแม่ดิฉันเข้าห้องน้ำ เขาก็ช่วยพาไปถึงที่เลยค่ะ

     แม่ และพี่สาวจะชมทุกครั้งที่เราไปหาหมอ น้องๆ เขาก็จะยิ้มอย่างภูมิใจในสิ่งดีๆที่เขาทำ (มันมากกว่าคำว่า หน้าที่เสียอีก) บางครั้งเราก็จะให้เป็นผลไม้ไว้กินกัน คลายเหนื่อย

     ด้วยความที่เป็นอาชีพพยาบาล...ชอบสังเกตสิ่งต่าง ( คิดว่าสิ่งไหนดี เผื่อจะเอาไปใช้กับหน่วยงานเราได้บ้าง )

        ตอนสายๆ มีน้ำหวานบริการฟรี  ใครจะต้องการกี่แก้วก็ได้ ผู้เข็นรถก็ไม่ใช่ใคร เป็นพนักงานของบริษัททำความสะอาดนั่นเอง....เธอดูสวยอยู่แล้วเพราะรอยยิ้ม และไม่รีบร้อนทำให้เสร็จไป.......รอหมอนาน ก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครบ่นใคร...ก็สบายใจกัน

      และอีกหนึ่งความประทับใจ ไม่ทราบว่าทางสถาบันประสาทวิทยา มีมาตราการ หรือมีวิธี หรือมีระบบจัดการอย่างไรที่ทำให้ เจ้าหน้าที่ทุกระดับพูดดีกับผู้ป่วย (ไม่บ่น ไม่ดุ ไม่ว่า...จริงๆก็ไม่มีสิทธิ์ว่าผู้ป่วยอยู่แล้ว....สงสัยว่าหลายคนคงหลงลืมไปกระมัง)

        ทุกที่ ทุกบทบาท ย่อมจะมีคนดี และไม่ดี ถือเป็นเรื่องธรรมดา.....แต่หน่วยงานนั้นๆ ควรจะมีมาตราการที่ดี ที่จะจัดการคนไม่ดี ให้มีพฤติกรรมบริการที่ดีให้ได้ (ถ้ายังต้องการทำงานต่อไป)   

           บางครั้งที่งานให้การปรึกษา ต้องมาแก้ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมบริการ หลายครั้งที่ผู้รับบริการไม่อยากเอาเรื่อง ขอแค่ระบายความเครียด หรือร้องไห้ กับผู้ให้การปรึกษา)

        การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นทางวาจา หรือท่าทาง ของเจ้าหน้าที่ในองค์กรใดก็ตาม กับลูกค้าภายใน (เจ้าหน้าที่ด้วยกัน) และลูกค้าภายนอก (ผู้รับบริการ)  ........ ถ้าวัดคุณภาพอย่างง่ายๆ สำหรับชาวบ้าน ก็สามารถวัดได้ว่า  องค์กรนั้นดี หรือด้อยคุณภาพดูจากพฤติกรรมบริการอย่างเดียวก็พอ (ชาวบ้านไม่ต้องใช้ตัวชี้วัดหลายตัว....ง่ายนิดเดียว)

    สรุปได้ว่า......อยากให้เจ้าหน้าที่ของเรา (บางจุด) มีพฤติกรรมบริการที่ดีเพิ่มขึ้นค่ะ 

    ผู้ติดเชื้อบอกว่า " ถึงแม้เขาจะไม่มีญาติคอยให้กำลังใจ เพียงแต่เจ้าหน้าที่พูดกับเขาดีๆ หรือให้กำลังใจ หรือสัมผัสเขาอย่างปลอบใจ แค่นั้น เขาก็พร้อมจะต่อสู้ต่อไปแล้ว"

     แล้วผู้ให้การปรึกษาตัวเล็กๆ อย่างดิฉัน...จะบอกใครดีล่ะคะ.

หมายเลขบันทึก: 50882เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
     ที่บอกมา อย่างน้อยประชาชนคนตัวเล็ก ๆ อย่างผมก็ได้รับรู้แล้วล๊ะครับ
     ผู้ติดเชื้อบอกว่า " ถึงแม้เขาจะไม่มีญาติคอยให้กำลังใจ เพียงแต่เจ้าหน้าที่พูดกับเขาดีๆ หรือให้กำลังใจ หรือสัมผัสเขาอย่างปลอบใจ แค่นั้น เขาก็พร้อมจะต่อสู้ต่อไปแล้ว" เป็นข้อมูลสะท้อนกลับที่มีคุณค่ามากนะครับ
แค่เรายิ้มและมีการสัมผัสมืออย่างเบาๆ คนไข้ก็อุ่นใจแล้วคะ

  ดิฉันอยากเห็นสถาบันของเรา เติบโตทางด้านจิตใจ ไม่แพ้ทางด้านวัตถุค่สำหรับดิฉัน ทุกครั้งที่มองผู้รับบริการ รู้สึกเสมอว่า เขาทุกข์อยู่แล้ว และเราจะต้องไม่ไปเพิ่มความทุกข์ให้กับเขาอีก ก่อนที่จะทำหน้าที่ของเราให้ดีต่อไป...... สำหรับผู้ที่มีปัญหาพฤติกรรมบริการไม่ดี บางทีก็อาจเกิดได้จาก ขาดความภูมิใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง จึงทำเช่นนั้นออกไป ...... การอบรมฟื้นฟูทางด้านนี้ เป็นระยะก็อาจช่วยได้บ้างจริงไหมคะ คุณชายขอบ และคุณsurg BI.

การที่ได้ระบายความคิดเห็นจากประสบการณ์ ว่าสิ่งใดเป็นพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีก็เป็นการบอกกล่าวให้บุคคลอื่นได้รับทราบแล้ว  และก็ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งของการบอกล่าวแล้ว  จากข้อเขียนที่กล่าวมาจัดว่าเป็นสิ่งดีที่จะให้บุคคลในองค์กรของตนเองได้ทราบและแนวทางการปฎิบัติดีต่อกัน(ใจเขาใจเรา) ถ้าบุคคลในองค์ใดมีความคิดเช่นนี้มากๆสังคมหรือองค์กรนั้นก็จะมีความสุขในการทำงาน ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า ทุกคนรักสุขเกียจทุกข์ แต่ทั้งความสุขและความทุกข์ก็เกิดจากพฤติกรรมของคนเรา ดังนั้นทุกคนจะต้องคิดว่าพฤติกรรมใดที่ทำแล้วให้เกิดทุกข์ต่อตนเองและส่วนรวมก็ควรคิดก่อนทำจะดีกว่า ทำแล้วค่อยมาคิด เพราะจะต้องมานั่งคิดนอนคิดว่าไม่ควรทำเลย   แต่ในสภาวะสังคมปัจจุบันการที่จะไปแก้ไขบุคคลให้กระทำดีทุกคนย่อมเป็นสิ่งลำบากเพราะแต่ละคนก็มาจากสภาพครอบครัวที่แตกกต่างกัน แต่การบอกกล่าวเช่นนี้ก็จะให้เขาได้เห็นแนวทางในเรื่อง รักสุขเกียจทุกข์  และวิธีทางแก้ไขที่ได้ผลดีตามคำกล่าวตามหลักพุทธ ที่ว่า ปฎิบัติตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้คนอื่นได้นำไปปฏิบัติดีกว่าที่จะไปแนะนำคนอื่นให้แก้ไข (แก้ไขตนเองดีกว่าไปแก้ไขคนอื่น)  ผู้ที่พฤติกรรมดีต่อตนเองและสังคมย่อมพบกับสิ่งดีในสังคมเสมอไป และเป็นสิ่งที่ช่วยให้สุขภาพมารดาคุณSkywalker  แข็งแรงอีกด้านหนึ่ง
  • การอบรมฟื้นฟูทางด้านนี้ เป็นระยะก็อาจช่วยได้บ้างจริงไหมคะ
  • น่าจะดีกว่าถ้าผู้ให้บริการมี service mind ในใจของตนเอง เพราะพฤติกรรมที่แสดงออกมา มันออกมาจากความรู้สึกข้างในที่อยากให้บริการ มากกว่าการพยายามสร้างให้มันเกิดขึ้นและคงอยู่ ซึ่งมันอาจไม่ยั่งยืนและเราต้องฟื้นฟูกันบ่อยๆ
  • เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยนะคะ ที่นำประสบการณ์มา ลปรร. เพื่อเป็นแบบอย่างของการพัฒนางานบริการ
  • ขอบคุณมากนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท