ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 49. ประยุกต์ใช้ความรู้ (1) เขียนเรียงความเรื่องร่วมสมัย


เทคนิคนี้ ช่วยให้ นศ. เรียนด้วยการเชื่อมโยงวิชาหรือทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ เข้ากับเรื่องราวจริงในสังคมร่วมสมัย ซึ่งอาจเป็นข่าวในสื่อมวลชน หรือในสื่อ online นำมาเขียนเรียงความหรือเขียน บล็อก ว่าเนื้อวิชาที่ได้เรียน ใช้กับสถานการณ์จริงได้อย่างไร

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 49. ประยุกต์ใช้ความรู้  (1) เขียนเรียงความเรื่องร่วมสมัย  

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๔๙นี้ ได้จาก Chapter 16  ชื่อ Application and Performance  และเป็นเรื่องของ SET 29 : Contemporary Issues Journal

บทที่ ๑๖ ว่าด้วยเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 29 – 34  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ 

ความรู้และทักษะจะมีความหมายต่อ นศ. เมื่อ นศ. สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  และเมื่อเห็นประโยชน์​นศ. ก็จะตั้งใจเรียน 

ในบทที่ ๑๖ นี้ นศ. จะได้ลงมือประยุกต์ความรู้เชิงทฤษฎี  ให้ประจักษ์ด้วยตนเองว่า ความรู้เหล่านั้นมีที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตอย่างไร

SET 29 : Contemporary Issues Journal

จุดเน้น  :  ตัวบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน

ระยะเวลา  :  หลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

เทคนิคนี้ ช่วยให้ นศ. เรียนด้วยการเชื่อมโยงวิชาหรือทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ เข้ากับเรื่องราวจริงในสังคมร่วมสมัย  ซึ่งอาจเป็นข่าวในสื่อมวลชน หรือในสื่อ online  นำมาเขียนเรียงความหรือเขียน บล็อก ว่าเนื้อวิชาที่ได้เรียน ใช้กับสถานการณ์จริงได้อย่างไร 

ซึ่งจะช่วยให้ นศ. เข้าใจวิชาลึกขึ้น และเชื่อมโยงกับชีวิตจริง  ให้เห็นว่าวิชาที่เรียนสอดคล้องกับชีวิตจริงอย่างไร  

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ของการเขียนเรียงความ ได้แก่

o  เขียนลงบนอะไร  เช่น บล็อก (online), ทำเป็นเล่มหนังสือ, แฟ้มเอกสาร, ฯลฯ

o  นศ. ต้องเขียนบ่อยแค่ไหน  เป็นการเขียนต่อบางส่วนของรายวิชา หรือเต็มทั้งภาคการศึกษา

o  โครงสร้างการเขียน เช่น โครงสร้าง ๓ ส่วน ได้แก่  (๑) วันที่เขียน และแหล่งของข่าว  (๒) ข้อสรุป (ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร)  (๓) เหตุการณ์สะท้อนหลักการ, แนวคิด, ทฤษฎี อะไรตามที่ได้เรียน  

2.  กำหนดตัวชี้วัดคุณภาพของเรียงความ

3.  เขียนใบงาน มอบหมายงานแก่ นศ.  บอกเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมทั้งตัวอย่างข้อเขียน

4.  นศ. เขียนเรียงความ นำเสนอตามรูปแบบที่กำหนด

ตัวอย่าง

วิชาจริยธรรมประยุกต์

ครู (ศาสตราจารย์) ต้องการให้ นศ. ตรวจสอบประเด็นเชิงจริยธรรม ที่เกี่ยวข้องกับทางเลือก ในวิถีชีวิตของผู้คน  จึงมอบหมายให้ นศ. หาข่าวในสื่อมวลชนในเรื่องที่มีข้อโต้แย้งกัน  เช่นเรื่องการทำแท้ง  การใช้บริการในระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า  การทรมานสัตว์  สิ่งแวดล้อม  การควบคุมอาวุธ  เป็นต้น  ให้ นศ. บันทึกเรื่องราวอย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่อง  แล้วเขียนข้อวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนอย่างไร เป็นข้อความสั้นๆ ๑ ย่อหน้า 

ครูเก็บผลงาน ๒ ครั้งในภาคการศึกษา และให้คะแนนตามจำนวนครั้งที่เขียน และคุณภาพของการวิเคราะห์ 

ในการสอบปลายเทอม ครูให้ นศ. เลือกบันทึก ๑ เรื่อง  นำมาใช้หลักการ meta-ethics และ normative ethics ที่ได้เรียนระหว่างเทอม ในการเขียนข้อวิเคราะห์อย่างละเอียด จากหลากหลายมุมมอง  ปิดท้ายด้วยข้อคิดเห็นว่า จะแก้ปัญหาข้อขัดแย้งนั้นได้อย่างไร 

วิชาธุรกิจดนตรี

เป็นวิชาว่าด้วยประเด็นทางกฎหมายและธุรกิจ ของอุตสาหกรรมดนตรี  ในส่วนที่เกี่ยวกับการตีพิมพ์  การให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา   และการส่งเสริมการตลาด  ครูต้องการให้ นศ. ในชั้นได้เรียนรู้อย่างทันสมัย จึงให้ นศ. ติดตามเว็บไซต์ Music Industry News Network ตลอดภาคเรียน  เพื่อหาเรื่องราวในเว็บไซต์ที่สอดคล้องกับสาระในวิชาเรียน  เช่น พลวัตของกฎหมายลิขสิทธิ์ ในอุตสาหกรรม มัลติมีเดีย และ อินเทอร์เน็ต 

นศ. เขียนวันที่ ข่าว และสรุปข่าว ตามด้วยข้อวิเคราะห์ตามทฤษฎีที่ได้เรียนมา  เตรียมไว้สำหรับเอามา ลปรร. กับเพื่อนในคาบแรกของสัปดาห์ 

ในคาบแรก ครูให้ นศ. แลกเปลี่ยนข้อค้นพบกับคู่ของตน  ในช่วง ๕ นาทีแรก  โดยครูเดินไปสังเกตการณ์ และให้คะแนน นศ. ไปในตัว  แล้วจึงให้ นศ. ทั้งชั้นอภิปราย เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่จะเรียนในช่วงสัปดาห์นั้น 

การเรียน online

ทำได้ง่ายโดยใช้ บล็อก  ซึ่ง นศ. จะเขียนโดยใส่ภาพ หรือ ลิ้งค์ ได้  กำหนดให้ครูคนเดียวที่เข้าอ่าน บล็อก ของ นศ. แต่ละคนได้  โดยตกลงกับ นศ. ว่า ครูจะเข้าไปอ่านและให้คะแนนเป็นระยะๆ  หรืออาจตกลงเกณฑ์ให้คะแนนกัน

อาจจัดให้มี discussion forum ระหว่าง นศ.   

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  บอกให้ นศ. ขยายข้อเขียน  ให้มีคำถามประเด็นที่ไม่เข้าใจ  โดยเฉพาะที่ยังเรียนไม่ถึง

·  ให้มีเวทีสะท้อนความคิดของ นศ.  ว่าประเด็นนั้นๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตในปัจจุบันหรืออดีตของตนอย่างไร  โดยครูตั้งคำถามในทำนอง “นศ. เคยมีประสบการณ์ในทำนองนี้ ในชีวิตของตนหรือไม่”  “ตามที่ นศ. ได้เรียนเรื่อง ก ในวิชานี้  นศ. จะแนะนำผู้เกี่ยวข้องในเรื่องอย่างไร  เพื่อให้เกิดความราบรื่น” 

·  อาจให้ นศ. เขียนเรียงความฉบับเต็มในตอนท้ายของวิชา  ให้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินบันทึกทั้งหมดของตน

·  อาจให้ นศ. ติดตาม เว็บไซต์ข่าว หลายเว็บไซต์  เปรียบเทียบกัน

·  อาจจัดเป็น “บันทึกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้”  โดยจับคู่ นศ. เป็นทั้ง “ผู้บันทึก” และ “ผู้วิพากษ์”  แต่ละหน้าบันทึก (ใน เว็บ) มี ซีกซ้ายและซีกขวา  พื้นที่ซีกซ้ายเป็นบันทึก  และซีกขวาสำหรับ “ผู้วิพากษ์” เขียนคำถามหรือคำวิพากษ์

·  อาจจัดให้มีบันทึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งชั้น  โดยนำกระดาษบันทึกใส่แฟ้มไว้ในห้องให้ นศ. ทุกคนอ่านได้  หรือ ลง บล็อก ที่ นศ. ทุกคนในชั้นเข้าไปอ่านได้    

คำแนะนำ

นศ. บางคนอาจมีความกังวลใจต่อการเขียนเรียงความ  ครูจึงควรทำความเข้าใจคุณค่าของเทคนิคการฝึกฝนนี้ ต่อตัง นศ. เอง กับ นศ. ให้ชัดเจน 

ครูต้องหมั่นเข้าไปอ่าน และ comment ข้อเขียนของ นศ.  เพื่อให้ นศ. รู้ว่างานที่ทำมีความสำคัญ  และบอก นศ. ให้ชัดเจนว่าครูจะเข้าไปตรวจงานแบบสุ่มและให้คะแนนเป็นระยะๆ  เพื่อกระตุ้นให้ นศ. ขยันฝึกเขียน

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Bean JC. (1996). Engaging ideas : The professor’s guide to integrating writing, critical thinking, and active learning in the classroom. San Francisco : Jossey Bass, p. 109.

วิจารณ์ พานิช

๑๐ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 508318เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2012 05:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท