ฐานข้อมูลกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน


กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน สามารถแบ่งเป็นกลุ่มของกฎหมายได้เป็น ๔ กลุ่มใหญ่ๆกล่าวคือ

(๑) บทบัญญัติกฎหมายที่มีผลต่อการกำหนดสภาพบุคคล สถานะ สัญชาติของเด็ก เยาวชน เพื่อนำมาซึ่งสิทธิในด้านต่างๆ และ กฎหมายที่มีผลต่อการกำหนดภูมิลำเนาของเด็ก เยาวชน

๑.๑ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ หลักทั่วไป ว่าด้วย บุคคลธรรมดา ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ สภาพบุคคล ความสามารถ ภูมิลำเนาของเด็ก และเยาวชน (กล่าวคือ ภูมิลำเนาของเอกชนตามกฎหมายเอกชน)

๑.๒ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ บิดา มารดา และ บุตร

๑.๓พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นกฎหมายมหาชนเพื่อใช้ในการกำหนดการได้สัญชาติ การเสียสัญชาติ การกลับคืนสัญชาติ ซึ่งในทางหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การกำหนดสัญชาติของรัฐนั้นมีด้วยกัน ๒ หลัก คือ หลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายสัญชาติ ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยนับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นต้นมามีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสัญชาติ จำนวน ๔ ฉบับ กล่าวคือ 

  • แก้ไขเพิ่มโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๕ 
  • แก้ไขเพิ่มโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  • แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕
  • แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

๑.๓พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นกฎหมายมหาชนที่มีผลในการกำหนดภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ของบุคคลโดยเป็นการกำหนดภูมิลำเนาโดยใช้กฎหมายมหาชน หรือ อาจเรียกได้ว่า ภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนนั่นเอง กรณีของภูมิลำเนาของเด็ก เยาวชนตามกฎหมายทะเบียนราษฎรนี้ เป็นการจัดทำหลักฐานทางทะเบียนที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย เพื่อแสดงถึงถิ่นที่อยู่ของเด็ก เยาวชน ทั้ง การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การพิสูจน์สถานะ รวมถึง การจัดทำทะเบียนบ้าน ด้วย

(๒) บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ "พัฒนาและส่งเสริม" เด็กและเยาวชน

๒.๑ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐  นับเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กล่าวคือ นอกจากบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับการพัฒนาแล้ว ยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาสาระที่สำคัญโดยเฉพาะเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก และเยาวชน มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย

๒.๒ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒  เป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิในการได้รับการพัฒนา โดยกำหนดเรื่องของการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

 ๒.๓ พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.๒๕๔๕  เป็นกฎหมายที่มีผลต่อการกำหนดการศึกษาที่เป็นภาคบังคบ โดยบัญญัติให้การศึกษาภาคบังคับเป็นจำนวน ๙ ปี  กล่าวคือ การศึกษาชั้นปีที่หนึ่งถึงชั้นปีที่เก้าของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

๒.๔ พระราชบัญญัติการอาชีวะศึกษา พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาชีวะศึกษา เพื่อควบคุมดูแลการอาชีวะศึกษา ทำให้มีการจัดทำกฎหมายการอาชีวะศึกษาขึ้น โดยการอาชีวะศึกษา หมายความว่า กระบวนการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี

๒.๕ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๑  เป็นกฎหมายที่เข้ามาเป็นกลไกเสริมทเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อันจะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และด้วยการสนับสนุนการพัฒนาระบบการศึกษาทางด้านอุปสงค์ โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของประชาชน

๒.๖ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.๒๕๓๕  เป็นกฎหมายที่เข้าไปช่วยเหลือด้านอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนเพื่อใหได้รับอาหารอย่างเพียงพอและถูกต้องตามหลักโภชนาการ


(๓) บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ "คุ้มครอง" เด็กและเยาวชน

๓.๑ ประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ลักษณะ ๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา ๒๗๖- มาตรา ๒๘๗ ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มาตรา ๒๘๘- มาตรา ๓๐๘

๓.๒ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานรักษาการตามกฎหมาย มีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

๓.๓ พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533, พระราชบัญญัติ การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553

๓.๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐

(๔) บทบัญญัติกฎหมายที่มีผลต่อการจัดการต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยต่างๆที่อาจส่งผลต่อเด็ก เยาวชน

๔.๑ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522

๔.๒ พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๐๗

๔.๓ พระราชบัญญัติ จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พุทธศักราช 2479พระราชบัญญัติ จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2501

๔.๔ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ การอนุญาตการประกอบการกิจการร้านวีดีทัศน์ หรือ ร้านเกมคาเฟ่

หมายเลขบันทึก: 507493เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2012 04:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท