ทฤษฎีการเกิดบั้งไฟพญานาค (แบบถางทาง)


เรื่องบั้งไฟพญานาคในแม่น้ำโขง ผมขอเสนอทฤษฎีดังนี้ (คิดไว้เมื่อประมาณ พศ. ๒๕๔๓ )

มีปลาไหลยักษ์ ที่จำศีลอยู่ใต้ดินท้องแม่น้ำทั้งปี  จะออกจากจำศีลก็ในวันเพ็ญเดือน 11 พอดีเท่านั้นพอออกมา สิ่งแรกที่ทำคือการ เรอ เอาแก๊สในท้องที่สะสมตลอดปีออกมา แก๊สลอยขึ้นผิวน้ำ พลันที่ได้รับออกซิเจนจากอากาศ  ก็เกิดการจุดติดไฟได้ด้วยตนเอง (auto ignition)  ก็กลายเป็นลูกไฟลอยขึ้นไปในอากาศ  ให้เราเห็นเป็นบั้งไฟพญานาค

เรื่องสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำออกมาทำกิจกรรมในคืนวันเพ็ญปีละครั้งไม่ใช่เรื่องแปลก เช่น เต่าวางไข่ แมงดาทะเล ปลาแซลมอน และปลาอื่นๆ  เข้าใจว่าเป็นเพราะพวกเขามีประสาทที่สัมผัสแรงดึงดูดโลกได้  ส่วนปลาไหลนั้นก็สามารถอยู่ใต้ดินได้เป็นปีอยู่แล้วตามปกติ

เมื่อออกมาจากจำศีลใต้ดินก็หายใจออก (เรอ) เป็นครั้งแรก เพื่อคายแก๊สที่สะสมไว้ในท้องเป็นเวลาหนึ่งปีออกมา แก๊สนี้เกิดจากอาหารที่กินเข้าไปแล้วหมักไว้หนึ่งปีเต็ม แล้วแก๊สนี้ก็ลอยขึ้นไปบนผิวน้ำ พอผสมกับอากาศก็เกิดการเผาไหม้

แสดงว่าแก๊สนี้ไม่ใช่แก๊สมีเทน (CH_4 ธรรมดา) เพราะแก๊สมีเทนจะไม่ติดไฟที่อุณหภูมิบรรยากาศปกติแต่เป็นแก๊สที่ไวไฟกว่านั้นมาก.. ที่คงมีอนุมูลอิสระที่ไวไฟปนอยู่มากจนเกิดการสันดาปเริ่มต้นด้วยตนเองได้ที่อุณหภูมิบรรยากาศ  (เช่นอาจเป็น พวกอนุมูลอิสระ ของ H CO OH เป็นต้น หรือแม้แต่อะไรที่ไวไฟกว่านี้ ซึ่งนักเคมีน่าจะลองศึกษากันดูนะ ในระบบวิทยาศาสตร์ฝรั่งก็มีคำว่า ambient combustion ..การเผาไหม้ในสภาวะธรรมดา หรือspontaneous combustion)

เผอิญเรื่องนี้ไปพ้องกับหนังสือที่ผมเคยอ่านไว้นานมากแต่สมัยเป็นหนุ่มแล้ว  เป็นอัตตชีวประวัติของพระธุดงค์รูปหนึ่ง (ลืมชื่อท่านไปแล้ว) ปักกลดอยู่ริมโขง วันหนึ่งท่านได้กลิ่นคาวมากๆ จากระยะไกล จึงไปสำรวจดู พบว่าเป็นกลิ่นมาจากปลาไหลยักษ์ที่เลื้อยออกมาจากรูริมน้ำโขง มีขนาดยาวสัก 3 วา (ก็ขนาดงูเหลือมยักษ์นั่นเอง) มีหลายตัวมาก แต่ละตัวมีสีเหลือบแวววาวหลากหลายสี ท่านเล่าไว้อย่างนั้น โดยบริบทที่เล่าไม่เกี่ยวกับบั้งไฟพญานาคแต่ประการใด

ผมเลยลองเอาปลาไหลยักษ์ที่ว่ามาเชื่อมกับบั้งไฟพญานาคดู

มีปลาบางชนิดสามารถอยู่ใต้น้ำได้ตลอดกาลโดยไม่ต้องโผล่มาหายใจ โดยสามารถดูดออกซิเจนเอาได้จากน้ำนั่นเอง นับเป็นวิวัฒนาการที่แปลกประหลาดพอสมควร


ปลาไหลยักษ์ที่ว่านี้อาจโผล่ออกมาจากใต้ดินปีละครั้งและหากินอยู่ใต้ท้องแม่น้ำโขงโดยไม่โผล่ขึ้นมาให้ใครจับได้เลย เขากำหนดว่าต้องโผล่จากใต้ดินมาในวันเพ็ญเดือน 11 เท่านั้นด้วยเหตุผลต่างๆนานาที่สุดเดา อาจเป็นว่า


1. เป็นช่วงน้ำลึกมาก ทำให้ปลอดภัยต่อการถูกล่า

2. เป็นช่วงเวลาที่มีอาหาร เช่น ปลาเล็กๆให้กินมาก (ปลาเล็กๆหลายชนิดก็มีพฤติกรรมมาชุมนุมปีละครั้งเช่นเดียวกัน โดยยึดหลักจันทรคติ ปลาไหลยักษ์ท่านก็เลย timing มาให้เวลาตรงกันเสียเลย เช่น เสือก็จะออกลูกยามที่มีกวางมากนั่นแหละ เพื่อจะหาอาหารมาเป็นนมให้ลูกดื่มกินได้ง่าย) พอกินปลาเล็กเสร็จก็ผสมพันธุ์ วางไข่ แล้วดิ่งลงใต้บาดาลต่ออีกหนึ่งปี

ท่านไม่ต้องดูไกล ปลาไหลที่เราเอามาแกงกินก็จำศีลใต้ดินเกือบทั้งปีตลอดฤดูอยู่แล้ว  พอฝนตกมีน้ำลึกก็ไม่โผล่หน้ามาให้เห็นหรอก ชอบอยู่แต่ก้นบึงเท่านั้น ไม่ออกมาหายใจให้เห็นด้วย เอาเบ็ดไปตกก็ไม่ได้กินเขาหรอก เพราะเขาหากินที่ก้นน้ำเท่านั้น แต่คนอีสานเขาเก่ง รู้นิสัยปลาไหลดี ก็เอาลันไปดัก โดยต้องเอาหินถ่วงให้ปากลันอยู่ติดก้นหนองน้ำ เอาหอยโข่งทุบไว้ส่งกลิ่นไปล่อให้ปลาเข้าลัน

เร็วนี้ ผมได้ไปค้นเน็ต หาเจอข้อมูลการเผาไหม้แบบที่เรียกกันว่า เผาไหม้ด้วยตนเอง หรือ spontaneous combustion หรือ Pyrophoricity

http://en.wikipedia.org/wiki/Pyrophoricity

การเผาไหม้แบบนี้ชอบน้ำ และหรือ ความชื้นเสียด้วย และสามารถก่อเปลวเพลิงได้เองในอุณหภูมิห้องธรรมดา โดยไม่ต้องเอาไม้ขีดไปจุดแต่อย่างใด (ดังนั้นจึงเรียกว่า Spontaneous หรือ Self combustion ไงล่ะครับ)

ผมเคยเสนอให้กองทัพเรือไทย สร้างเรือดำน้ำ ลงไปกวาดถ่ายหาปลาไหลยักษ์นี้ที่ท้องแม่น้ำโขง ในคืนวันเพ็ญนั้น โดยนำเสนอต่อนายพลเรือ หลายคน ที่มาเลี้ยงรุ่นกัน ปลากดว่า (ปลาไหลไม่รู้จะว่าด้วยไหม) ไม่มีท่านใดสนใจ เห็นคุยกันแต่เรื่องตีกอล์ฟ

...คนถางทาง (๙ เมษายน ๒๕๕๕)



หมายเลขบันทึก: 507412เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2012 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เดี๋ยวมาอ่าน ยุ่งค่ะอยู่เวร

มันเป็นตำนานที่น่าสนใจมากๆค่ะ แต่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ อย่างน่าเชื่อถือ แล้วไอ้รอยคล้ายงูยักที่ชอบมาเลี้ยงบนหลังคารถ มีทุกปีเนอะ นี่ก็อีกหนึ่ง ทฤษฎีที่น่าสนใจค่ะแต่คนอ่านความรู้ไม่มากพอ ในการแลกเปลี่ยน เรื่อง ปลาไหลยัก. แก๊สในท้องปลา งั้น.. ช่วยให้ดอกไม้ค่ะ แฮ่ :)

ปลาไหลยักษ์หน้าตาเป็นอย่างไร มีใครเคยพบเห็นหรือศึกษามั้ยครับว่ามันอยู่ตระกูลใหน อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท