หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : (ถอดบทเรียนต้นน้ำ-กลางน้ำ) การเรียนรู้คู่บริการโดยนิสิตเป็นศูนย์กลาง


เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based Education) ด้วยการสร้างทักษะการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered)

การถอดบทเรียนในระยะกลางน้ำ หรือถอดบทเรียนในระหว่างการดำเนินงาน (During Action Review : DAR) ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก  เพราะทำให้เราได้ทบทวนวิธีการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา  เพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือแม้แต่การต่อยอดกิจกรรมในช่วงเวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้-

 

โครงการอาหารปลอดภัย ชุมชนใส่ใจสุขภาพ  (สาขาโภชนาการและการจัดการความปลอดภัยในอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์)  เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าว  เมื่อจัดกิจกรรม 1 หลักสูตร 1 ชุมชนได้ในระยะหนึ่ง ก็เปิดเวทีถอดบทเรียนด้วยการให้นิสิตที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  โดยมีประเด็นสำคัญๆ ในการถกคิด (โสเหล่)  คือ  วิธีการขับเคลื่อนกิจกรรม  ความสำเร็จ  ปัญหาอุปสรรค  ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและความล้มเหลว  รวมถึงกระบวนการที่จะขับเคลื่อนในห้วงเวลาที่เหลือเพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ (Objectives)  และเป้าหมาย (Goal)

 

 

 

กระบวนการต้นน้ำ : เรียนรู้แบบเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน

 

จากการถอดบทเรียนผ่านมุมมองความคิดของนิสิต  ทำให้เห็นว่ากระบวนการขับเคลื่อนในระยะต้นน้ำนั้นมีความน่าสนใจอยู่มาก  ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญๆ ที่สะท้อนถึงกระบวนการทำงานร่วมระหว่างอาจารย์กับนิสิต รวมถึงระหว่างนิสิตกับนิสิตและระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  ดังนี้

          เลือกพื้นที่ :  ถึงแม้นิสิตจะไม่มีส่วนร่วมในการเลือกพื้นที่  เพราะเป็นช่วงปิดภาคเรียน อาจารย์จึงเป็นผู้คัดเลือกชุมชนและหาโจทย์การเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน  แต่เห็นได้ชัดว่าอาจารย์ไม่ละเลยที่จะอธิบาย หรือบอกเล่า “บริบทชุมชน”  ให้กับนิสิตฟัง  เพื่อให้นิสิตเห็นภาพโดยรวมของความเป็นชุมชน เห็นโจทย์ของ“การเรียนรู้คู่บริการ” (Service Learning) เป็นเสมือนทุนทางปัญญาเล็กๆ  ที่นิสิตสามารถไปปะติดปะต่อให้เกิดความแจ่มชัดเมื่อต้องลงสู่การสัมผัสจริงในชุมชน  ซึ่งนิสิตวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเลือกชุมชนไว้ดังนี้

  • เป็นชุมชนขนาดกลาง  มีครัวเรือนติดกัน สามารถเดินเท้าสำรวจข้อมูลได้ง่าย
  • เป็นชุมชนที่มีร้านจำหน่ายสินค้า (ร้านขายของชำ-แผงลอย) จำนวนมาก  อันเป็นโจทย์หลักของการขับเคลื่อนกิจกรรม
  • ชุมชนกำลังขับเคลื่อนเรื่องสุขาภิบาลอาหารของร้านจำหน่ายอาหารในชุมชน โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดพัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
  • อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย  สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวก

 

 

        หารือภายในกลุ่ม : นิสิตได้แบ่งภาระกิจการทำงานเป็นระบบ  โดยระยะที่หนึ่งคือการแบ่งกลุ่มเก็บข้อมูลชุมชนด้วยเครื่องมือ 7 ชิ้นที่ได้รับการถ่ายทอดจากเวทีการฝึกอบรมที่ดำเนินการโดยคณะทำงาน 1 หลักสูตร 1 ชุมชนของมหาวิทยาลัย  ตลอดจนอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาที่ได้สอนเพิ่มเติมอย่างเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จากการบรรยายในชั้นเรียนและประเมินผลการใช้เครื่องมือก่อนลงสู่ชุมชน  ซึ่งนิสิตได้สะท้อนถึงสภาพปัญหาของการทำงานในระยะต้นคือ...ความร่วมมือในหมู่คณะ  อันเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักสำคัญ  คือ

  • ความคิดเห็นไม่ตรงกัน 
  • นิสิตบางคนยังไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในครั้งนี้ 

 

 

       ประสานชุมชน :  ก่อนการเข้าสู่ชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อมูลทั่วไปและข้อมูลอันเกี่ยวโยงกับ “สุขาภิบาลอาหาร” ในชุมชน  อาจารย์และคณะทำงานได้พาแกนนำนิสิตเดินทางลงสู่ชุมชน เพื่อประชุมทำความเข้าใจกับแกนนำชาวบ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.  หากแต่การประชุมดังกล่าวมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในเรื่องเป้าหมายและวิธีการของการทำงานแบบมีส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง  แต่จะยังไม่ระบุกำหนดการที่เป็นรูปธรรมในการลงสู่ชุมชน  เนื่องเพราะอยากให้เป็นกระบวนการของการ “สุ่มเก็บข้อมูล” เสียมากกว่า  เพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นสถานการณ์จริงเกี่ยวกับระบบสุขาภิบาลอาหารให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นกระบวนการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง (Problem-based Learning)  ไปในตัว

          วิเคราะห์ข้อมูล :  ภายหลังการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสภาพทั่วไปของชุมชนและสถานการณ์จริงของระบบสุขาภิบาลอาหารในชุมชน  นิสิตได้ใช้พื้นที่ในศาลาวัด หรือแม้แต่ห้องเรียนในมหาวิทยาลัยสะท้อนข้อมูลต่างๆ สู่กันฟัง  มีการถกความคิด แลกเปลี่ยนกันอย่างจริงๆ จังๆ  จนนำไปสู่การจัดระบบข้อมูลเพื่อเตรียมสะท้อนกลับให้ชุมชนได้ร่วมรับรู้ พร้อมๆ กับการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์และแหล่งสารสนเทศอื่นๆ เพื่อจัดทำเป็นสื่อ หรือนิทรรศการ ตลอดจนแผ่นพับสื่อสารกลับสู่ชุมชน 

          ออกแบบกิจกรรม :  ภายหลังการวิเคราะห์จัดหมวดหมู่ข้อมูล  นิสิตแต่ละกลุ่มได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมเรียนรู้สู่ชุมชน  ผ่านกิจกรรมหลักคือ (1)  บรรยายให้ความรู้  (2) จัดนิทรรศการและเอกสารเผยแพร่  (3) การสาธิตผ่านฐานการเรียนรู้ต่างๆ จำนวน 7 ฐาน โดยทุกๆ กระบวนการ  เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing)  ร่วมกันระหว่างนิสิตกับชาวบ้านเป็นที่ตั้ง

 

 

 

กระบวนการกลางน้ำ : เรียนรู้คู่บริการ

 

          คืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน :  นิสิตมอบหมายภารกิจต่อกันและกันเพื่อสะท้อนข้อมูลการเรียนรู้คืนกลับสู่ชุมชนใน 2 ประเด็นหลัก คือ (1)  เรื่องราวอันเป็นบริบท หรือสภาพทั่วไปของชุมชนผ่านเครื่องมือ 7 ชนิด และ(2)  สถานการณ์ของระบบสุขาภิบาลอาหารในชุมชน  โดยเน้นการบอกเล่าแบบกันเอง  ใช้เทคโนโลยีประกอบการบอกเล่าแบบง่ายๆ  ผ่าน “ภาษาถิ่น” ที่ฟังแล้วเข้าใจได้ทันที  เน้นการสื่อสารสองทาง อันหมายถึงชวนชาวบ้านพูดคุย แสดงความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  นอกจากนั้นยังจัดทำข้อมูลและองค์ความรู้เป็นคู่มือและป้ายนิทรรศการเป็นทางเลือกให้ศึกษาเพิ่มเติม ด้วยการติดตั้งไว้ในเวทีและห้องประชุมที่นิสิตใช้เป็นสถานที่สะท้อนข้อมูลต่อชุมชน    

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่สะท้อนคืนกลับสู่ชุมชนนั้นล้วนเป็นข้อมูลที่เกิดจากการ “เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน” ของนิสิต  ข้อมูลที่ได้มา จึงเป็นข้อมูลจาก “ปากคำของชาวบ้าน” ล้วนๆ เสมือนกระจกที่ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ความจริงในบางมุมที่ชุมชนเองก็อาจจะหลงลืม หรือละเลยที่จะใส่ใจ

           ทั้งนี้ทั้งนั้นยังรวมถึงการบรรยายให้ความรู้แก่ “ผู้ประกอบการร้านค้า”  ในชุมชนเกี่ยวกับเรื่องสุขาภิบาลอาหาร เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชนร่วมกัน  อาทิ  มาตรฐานการตั้งร้านค้าและแผงลอยที่มีอยู่ในชุมชนกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค  รวมถึงการบอกเล่าถึงกระบวนการของการตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร

 

 

           เรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรม :  ภายหลังการสะท้อนข้อมูลคืนกลับสู่ชุมชน  เมื่อทิ้งระยะห่างได้ซักระยะ นิสิตก็ออกซุ้มจัดกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนด้วยฐานกิจกรรม 7  ฐานประกอบด้วย (1) สารฟอกขาว (2) ยากันรา (3) บอแรกซ์  (4) ฟอร์มาลีน  (5) การล้างมือ  (6) BMI  (7) ยาฆ่าแมลงและการล้างผัก  โดยแต่ละฐานเน้นรูปแบบการบอกเล่า  แจกเอกสาร  จัดแสดงนิทรรศการ  จัดสาธิตและการถามตอบมอบรางวัล รวมถึงการพยายามเชื่อมโยงสู่การหารือและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทักษะชีวิตของชาวบ้านในเรื่องสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือชาวบ้านทั่วไปและนักเรียน (อย.น้อย)  เมื่อมีนักเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง  กิจกรรมในบางส่วนจึงถูกออกแบบให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน  ตีกลองร้องเต้น และสอดแทรกสาระความรู้แก่นักเรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อให้นำกลับไปใช้ในโรงเรียนและครอบครัวของนักเรียนเอง  ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered)  และเปิดพื้นที่ให้นิสิตผู้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ได้เรียนรู้ผ่านกลไกของการทำกิจกรรมหรือโครงการ (Project-based Learning) เป็นที่ตั้ง

 

 

 

ปัญหาและความสำเร็จของการทำงานในระยะกลางน้ำ

 

          การถอดบทเรียนในระยะกลางน้ำของโครงการอาหารปลอดภัย ชุมชนใส่ใจสุขภาพ  (สาขาโภชนาการและการจัดการความปลอดภัยในอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์)  นิสิตได้สะท้อนข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของการขับเคลื่อนกิจกรรมไว้หลากหลายประเด็น  เช่น

ปัญหาการสื่อสาร :  เช่น 

  • การประชาสัมพันธ์ยังไม่บรรลุผล  ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจและยังไม่เห็นความสำคัญ  ทำให้เข้าร่วมกิจกรรมได้ไม่มากนัก
  • การสื่อสารกับชาวบ้าน  เพราะนิสิตบางคนสื่อสารด้วยภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอีสาน  ทำให้ชาวบ้านฟังแล้วไม่เข้าใจ

     ปัญหาเรื่องสถานที่และภูมิอากาศ  เช่น

  • สถานที่การสะท้อนข้อมูลกลับสู่ชุมชนไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นห้องประชุมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฯ  จึงรองรับจำนวนคนได้ไม่เต็มที่  ส่งผลให้เกิดความแออัด
  • สภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย เช่น  กลางคืนฝนตก ตอนเช้าแดดร้อนจัด

     ปัญหาการบริหารจัดการเรื่องเวลา เช่น

  • เวลาการทำงานที่ไม่ตรงกันของนิสิตกับชาวบ้าน  ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการนัดหมาย  ในบางโอกาสต้องเลื่อนกำหนดการออกไป  เนื่องจากชาวบ้านมีภารกิจประจำวัน  เช่นการประกอบอาชีพ

                    ปัญหาการทำงานของนิสิต

  • ความคิดเห็นไม่ตรงกัน
  • ขาดประสบการณ์ทำงานในภาคสนาม/ชุมชน

 

 

 

 

ความสำเร็จของการทำงานในระยะกลางน้ำ

 

            นิสิตก็ได้สะท้อนออกมาในหลายๆ ประเด็น  เช่น

  • การทุ่มเทและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของแต่ละคน
  • การรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  • การวางแผนที่เป็นระบบ  ใช้ข้อมูลเป็นฐานคิดในการออกแบบกิจกรรม
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างคณะทำงาน  โดยมีอาจารย์เป็นผู้เกื้อหนุนระบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • การบริหารเวลาอันจำกัดให้มีค่าที่สุด
  • ความรักความสามัคคีของนิสิต
  • ความร่วมมือของแกนนำชุมชน
  • การมีส่วนร่วมของชุมชน  เช่น การร่วมคิดและร่วมตัดสินใจในการเลือกประเด็นการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย
  • ชุมชนมีนโยบายรองรับ  เช่น กรณีที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพกำลังขับเคลื่อนชุมชนในเรื่องสุขาภิบาลอาหาร
  • การนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ  เช่น  เครื่องมือการทำงานกับชุมชน (Seven tools)  การเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องสุขาภิบาลอาหาร

 

 

 

บทสรุป

 

จากการถอดบทเรียนในเวทีดังกล่าว  โดยมุมมองของผมนั้น  ผมค้นพบปรากฏการณ์ของการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม 1 หลักสูตร 1 ชุมชนในหลายประเด็น  ดังนี้

  • เป็นการเรียนรู้ผ่านกลไกฐานคิดการทำกิจกรรมหรือโครงการ (Project-based Learning)  ควบคู่ไปกับการการเรียนรู้คู่บริการ (Service Learning)  ซึ่งการเรียนรู้ในทำนองนี้จะช่วยให้นิสิตได้ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ได้เรียนรู้การทำงานเป็นหมู่คณะ  ได้เรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านหลากสถานะทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ  รวมถึงการได้เรียนรู้กับสถานการณ์เฉพาะกิจที่ต้องคลี่คลายผ่านการบูรณาการในหลายๆ มิติ
  • เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-based Education) ด้วยการสร้างทักษะการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered)  โดยไม่ติดยึดกับการเรียนรู้แบบเดิมๆ ที่เน้นครูเป็นศูนย์กลางซึ่งมักมุ่งเน้น (Input)  “การใส่ความรู้” หรือ “ให้ความรู้” แก่ผู้เรียนมากกว่าสอนให้เกิดการเรียนรู้ 
  • เป็นการเรียนรู้ที่สอนให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านสถานการณ์จริง โดยใช้ประเด็นปัญหาเป็นความท้าทายของการเรียนรู้ (Problem-based Learning)  ซึ่งประเด็นปัญหาที่นำเป็นโจทย์การเรียนรู้ก็คือเรื่อง “ระบบสุขาภิบาลอาหารในชุมชน”
  • เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งให้นิสิตนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ผ่านระบบและกลไกของการ “เรียนรู้คู่บริการ”  โดยมีชุมชนเป็นฐานที่มั่น หรือเป็น “ห้องเรียนชีวิต”  และในกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละขั้นตอนก็เน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  มีการแบ่งปันความรู้ร่วมกันเป็นระยะๆ(Knowledge sharing) 
  • ฯลฯ

 

 

หมายเหตุ

     1.กิจกรรมถอดบทเรียนครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยกิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอ  เน้นให้นิสิตได้วาดรูป หรือไม่ก็เขียนเรื่องเล่าสั้นๆ ที่เกี่ยวกับความทรงจำในการจัดกิจกรรมกับชุมชนผ่านโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน

           2.เครื่องมือการทำงานกับชุมชน  (Seven tools)   หมายถึง เครื่องมือที่คุณหมอโกมาตร จึงเสถียร   ทรัพย์ และคณะได้จัดทำขึ้น    ประกอบด้วยแผนที่เดินดิน  ประวัติศาสตร์ชุมชน  โครงสร้างองค์กรชุมชน  ระบบสุขภาพชุมชน  ปฏิทินชุมชน  ชีวประวัติ/ประวัติชีวิต  ผังเครือญาติ

 

 

หมายเลขบันทึก: 507066เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2012 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรียนท่านอาจารย์แผ่นดิน

  • อาจารย์ทุ่มเทให้กับงานมากเลยนะคะ อีกอย่างเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ภาพในฝัน คุณยายติดตามอ่านมาตลอดค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้อีกแรงนะคะ
  • ทำดีได้ดีมีแน่นอนค่ะ

สวัสดีครับ พี่ มนัสดา

  • ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจนะครับ
  • บันทึกนี้เกิดขึ้นในหลายเดือนที่ผ่านมา  ผมมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้กับนิสิตที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการเนื่องในนโยบาย 1 หลักสูตร 1 ชุมชน
  • การถอดบทเรียนครั้งนั้น  เน้นการสรุปผลการดำเนินงานในระยะต้นน้ำ-กลางน้ำ  เน้นการสานสัมพันธ์ของคณะทำงาน และค้นหาวิธีการขับเคลื่อนในห้วงเวลาที่เหลือ
  • ผมชอบที่อาจารย์ฯ  ได้สอนเครื่องมือการเรียนรู้ช่วยแก่นิสิต  และมีการประเมินผลความเข้าใจของนิสิตก่อนลงสู่ชุมชน  รวมถึงการให้อิสระกับนิสิตในการคิดและออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยผู้สอน  ผันตัวเองมาเป็น "โค้ช"...
  • การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ  และสัมผัสจริงกับชุมชน  จะก่อเกิดเป็น "โลกทัศน์-ชีวทัศน์" ที่ดีแก่นิสิต....
  • ...
  • ขอบพระคุณครับ

มาร่วมสนับสนุนกิจกรรมนิสิตลงสู่ชุมชนอย่างใกล้ชิดเช่นนี้..อยากเห็นการขยายผลในสถานศึกษาอื่นๆด้วยเช่นกัน..ขอบคุณค่ะ..

เรียนอาจารย์แผ่นดิน กระบวนการเรียนรู้ผ่านการถอดบทเรียน ทำให้ มองรู้ ดูออก บอกได้ ถึงที่มา ที่ทำ และที่ไป เหนืออื่นใดคือได้ทบทวน ตัวเอง เพื่อนร่วมงาน ทบทวนโครงการ และทบทวนความคิด.... ขอบคุณการนำเรียนรู้ผ่านบันทึก ได้คิด ตรึก ตรอง ตาม

  • สุดยอดค่ะ
  • อาจารย์ ถ้าไปร่วมวงเสวนา นำเรื่องนี้ไปพูดในวงด้วยนะคะ นำอนุทินมาส่งให้อาจารย์เตรียมตัวค่ะ
  • http://www.gotoknow.org/journals/entries/116209 และบันทึกเชิญชวนมาฝากค่ะ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/506306
  • สำหรับที่พักของอาจารย์ พี่นุชเตรียมห้องไว้แล้วนะคะ
  • อาจารย์มารถโดยสารหรือรถไฟ จะให้คนไปรับค่ะ มีอะไรคุยหลังไมค์ได้นะคะ รบกวนขอเบอร์โทรมือถือด้วยค่ะ ฝากไว้ในอีเมล์ก็ได้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ชอบ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ อาจารย์เขียนละเอียดดีค่ะ

ไม่ค่อยได้ทบทวนระหว่างปฏิบัติการ

จะนำไปใช้บ้างค่่ะ

  • เยี่ยยมาก
  • สามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือได้ดีมาก
  • ได้ข้อมูลที่หลากหลายดี
  • ขอชื่นชมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท