ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๗๐.ความขาดแคลนเป็นทรัพย์


 

 

“ความอุดมสมบูรณ์เป็นพิษ ความขาดแคลนเป็นทรัพย์”ใครเห็นด้วยบ้าง

 

          คำตอบของผมคือ yes and no   ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   ทั้งความอุดมสมบูรณ์เกิน และความขาดแคลนรุนแรง ต่างก็เป็นโทษก็ได้ เป็นคุณก็ได้    แล้วแต่เราจะใช้มันเป็นข้อเรียนรู้ฝึกฝนตนเองในด้านใด

 

          แต่ในมุมของประเทศ เราจะเห็นว่ามีประเทศมากมายหลายประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ   แถมยังอยู่ในทำเลที่ตั้ง หรือภูมิประเทศที่ภัยธรรมชาติโหดร้าย เช่นญี่ปุ่น  เกาหลี (ใต้)  สิงคโปร์  เยอรมัน   แต่กลับเป็นประเทศที่เจริญ   เพราะคนมีคุณภาพสูง   ความขาดแคลนกลายเป็นพลัง พลังสร้างคนที่ อดทน แข็งแกร่ง มีวินัย มีระบบ มีความสามัคคีกลมเกลียว

 

          ประเทศที่ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ (เช่น ประเทศไทย และอีกหลายประเทศ) กลับอ่อนแอด้านการฝึกคนและการสร้างระบบ  กลายเป็นประเทศที่ไม่ค่อยเจริญ หรือล้าหลัง    เพราะผู้คนไม่ต้องขวนขวายมาก ก็อยู่ได้

 

          ความขาดแคลนหลายอย่างเป็นพิษ   ที่ผมสนใจมากคือ ความขาดแคลนแรงบันดาลใจหรือจินตนาการ    สังคมที่ผู้คนขาดสิ่งนี้ จะเป็นสังคมล้าหลัง    ผมจึงตั้งหน้าสังเกตผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่เรารักและห่วงใย    ว่าเขามีจินตนาการในชีวิตหรือไม่

 

           ยิ่งสถาบันที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมก็หมั่นสังเกตว่า มีจิตวิญญาณ และพฤติกรรมองค์กรที่สะท้อนการมีจินตนาการหรือไม่   และพยายามผลักดันด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างจิตนาการร่วม

 

          ผมคิดว่า จินตนาการร่วม (Shared Imagination) เป็นส่วนยกระดับจาก shared purpose ซึ่งมีความเป็นรูปธรรมกว่า   ส่วน shared imagination มีความเป็นนามธรรมกว่า    ผมเชื่อว่า shared imagination เป็นองค์ประกอบของการมองการณ์ไกล หรือการมองโลกระยะยาว 

 

          โลกระยะยาวเป็นโลกแห่งความขาดแคลนแน่ๆ    ความขาดแคลนนี้คือขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งของมีค่าใกล้ตัว เช่นน้ำ อากาศ อาหาร   หากเรามีสติอยู่กับความไม่ประมาทต่อความขาดแคลนในอนาคต    เราจะมีสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า sense of urgency   ต้องมุ่งมั่นทำอะไรๆ เพื่อเตรียมพร้อม 

 

          ในกรณีเช่นนี้ “ความขาดแคลนสมมติ” หรือความตระหนักในความขาดแคลนในอนาคต เป็นทรัพย์

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 506161เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนท่านอาจารย์

ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ มีอะไรก้าวไกลกว่าประเทศที่คิดว่าพื้นที่ก็มีเยอะ คนก็มีเยอะ ชนิดที่เทียบกันไม่ได้เอาเสียเลยนะครับผม

เมื่อวันก่อนชมข่าวเห็นนักฟุตบอลไล่ตีกรรมการตัดสิน...ไม่รู้ประเทศไหน...ดูห่างไกลความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจเสียจริง ๆ

เรียนคุณหมอคะ เพราะว่าเรามีมากเกินไปอุดมสมบูรณ์มากเกินไปหรือเปล่าคะ

เห็นด้วยกับอาจารย์ ครับ ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีบรรพบุรุษที่เข้มแข็ง จึงทำให้คนไทยปัจจุบันอยู่อย่างสบาย ทุกคนเลยมองหาความง่ายและความสบาย จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมง่ายๆสบายๆ อย่างที่เป็นอยู่ ทำให้ขาดความอดทนและการคิดเชิงนวัตกรรม ทำให้คนไทยอ่อนแอ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ปัจจุบันคนไทยมุ่งเน้นที่การเรียนให้ได้ปริญญาตรัเป็นขั้นต่ำ แต่ไม่มีวิชาชีพและรายได้ที่เหมาะสมมารองรับ นักศึกษาปริญญาตรีที่จบมาแต่ละปี ไม่มีงานทำ ผู้ประกอบการไม่สามารถหาแรงงานที่มีคุณภาพ และนักศึกษาจบงานเลือกงานแต่ทำไมคนว่างงานจึงมีน้อยกว่า 1% ก็แสดงว่าคนไทยหางานได้ถ้าอยากจะทำ มีงานให้ทำมากมายที่ได้รายได้ตามความพอใจของเด็กที่อยากจะทำ แต่งานเหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ไม่มีอนาคตและความยั่งยืน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท