ชีวิตที่พอเพียง : ๑๖๖๗. ก้าวต่อไปของ R2R ประเทศไทย: Impact-Oriented R2R


 

 

          เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ย. ๕๕ผมไปร่วมประชุม core team ของโครงการ R2R ศิริราช    โดยที่นอกจากคุยกันเรื่องการจัดการโครงการ R2R ของศิริราชเอง    เราก็คุยกันเรื่องก้าวต่อไปของ R2R ประเทศไทยด้วย   เมื่อ ๖ เดือนที่แล้วผมเขียนก้าวต่อไปของ R2R ประเทศไทยไว้ ที่นี่

          บัดนี้ มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น   หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ R2R ที่ สวรส. เมื่อวาน    ผมปิ๊งแว้บทันทีว่า R2R ประเทศไทยถึงคราวต้องมีการจัดการให้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง 

          ใน บันทึกที่แล้ว ผมให้ความเห็นเรื่องการเน้นที่ R แรก  หรือ R หลัง    แต่คราวนี้ผมคิดว่า เราก้าวเข้าสู่สภาวะ “Beyond R” คือต้องเลย Routine และ Research   ไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของ R2R ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ ที่นี่ คือต้องหันไปเน้นที่ impact หรือผลกระทบของ R2R

          ผมเสนอให้ทีมจัดการ เน้นจัดการที่ตัวผลกระทบ    นำเอาเรื่องราวการเกิดผลกระทบของ R2R มาเล่า ทำความเข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร  

          นอกจากนั้น ยังน่าจะประกาศ theme หรือประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ของการจ้องหาผลกระทบประจำปี    สำหรับนำมายกย่อง และจัดเวที ลปรร. เคล็ดลับของความสำเร็จ

          ผมเสนอแนะทีมงาน ให้ดำเนินการเชิงรุก ในการเสาะหา impact ของ R2R   เพื่อเอามายกย่องและเอาขึ้นเวที ลปรร.   ไม่ใช่แค่รอให้เสนอขอรับรางวัลเท่านั้น   และการยกย่องน่าจะมีได้ ๒ ระดับ คือระดับสถาบัน กับระดับโครงการ

          นั่นคือ ทีมจัดการ R2R และเครือข่าย R2R ประเทศไทย ต้องร่วมกันพัฒนาเกณฑ์และวิธีวัด impact ขึ้นใช้งาน  และพัฒนาต่อเนื่อง  

 

          เกณฑ์อย่างหนึ่งที่ควรทำความชัดเจนคือ ความแตกต่างระหว่าง CQI กับ R2R

 

          ในการประชุมที่ สวรส. เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย. ๕๕ ผมติดใจมาก ที่มีผู้เสนอว่าเรายังไม่ได้นำข้อมูลและความรู้ที่ได้จากการประชุม R2R ประจำปี รวม ๕ ครั้งเอามาสังเคราะห์ยกระดับเป็นความรู้เชิงcontent ของการพัฒนาหรือวิจัยในงานประจำ    ซึ่งผมตีความว่า ยังไม่ได้เอาข้อมูลมาย่อยเป็น assets   หรือในภาษา IT ว่า ยังไม่ได้ทำ data mining จึงควรเตรียมการจัดการความรู้ที่ได้จากการประชุมประจำปีครั้งต่อๆ ไป   สำหรับให้มีการต่อยอดความรู้ได้

 

          ในการประชุมที่ สวรส. เมื่อวันที่ ๑๑ ก.ย. ๕๕ มีการพูดถึงการฝึกอบรมคุณอำนวยระดับเทพ ที่ได้จัดไปแล้ว ๘๗ คน   ผมมีความเห็นว่า น่าจะพิจารณาจัดฝึกอบรมเพิ่มอีก หากมีความต้องการในเครือข่าย 

 

          คำว่า Impact-Oriented R2R นั้น   ผมมีความเห็นว่า มอง impact ได้เป็น ๒ อย่าง    คือ (๑) impact ต่องานประจำ  หรือต่อระบบงาน   (๒) impact ต่อผลงานวิจัย หรือการสร้างความรู้ในเชิง discovery ที่มี originality สูง    หรือเป็น translational research ที่ชาญฉลาด เหมาะสมต่อบริบทนั้นๆ

 

          นี่คือ AAR จากใจของผม ซึ่งคงจะไม่ครบถ้วน และอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ย. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 505787เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท