ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 29. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (9) โครงร่างความคิด


เครื่องมือโครงร่างความคิด ใช้ชักจูง นศ. คิดประเด็นยากๆ และซับซ้อน ที่ต้องใช้การวิเคราะห์และวิจารณญาณ เครื่องมือนี้เป็นบทเรียงความที่ครูเขียนขึ้น แล้วตัดส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระออกเสีย เหลือแต่ส่วนโครงร่างความคิด มอบให้ นศ. นำไปเขียนเสียใหม่ตามความคิดของตนเอง

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 29. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (9) โครงร่างความคิด

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๒๘ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 9 :  Frames

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 9  โครงร่างความคิด     

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอ่าน การเขียน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

เครื่องมือโครงร่างความคิด ใช้ชักจูง นศ. คิดประเด็นยากๆ และซับซ้อน   ที่ต้องใช้การวิเคราะห์และวิจารณญาณ   เครื่องมือนี้เป็นบทเรียงความที่ครูเขียนขึ้น   แล้วตัดส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระออกเสีย    เหลือแต่ส่วนโครงร่างความคิด   มอบให้ นศ. นำไปเขียนเสียใหม่ตามความคิดของตนเอง  

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูเลือกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรายวิชา ที่ต้องการให้ นศ. ได้วิเคราะห์อย่างใช้วิจารณญาณ 
  2. กำหนดวิธีคิดที่ต้องการให้ นศ. ได้ฝึกหัด  เช่น ประเมินแนวทางที่ขัดแย้งกัน และตัดสินว่าแนวทางใดดีที่สุด,   ตรวจสอบความถูกต้องของข้อโต้แย้งหรือข้อสรุป,   ท้าทายสมมติฐานของตนเอง,  เป็นต้น  
  3. เขียนเรียงความที่แสดงเป้าหมาย และมีโครงสร้างความคิดที่ชัดเจน   คัดลอกโดยตัดข้อความที่เป็นเนื้อหาหรือสาระออก   เหลือแต่โครง    โดยที่เรียงความนี้อาจสั้นมาก  ดังตัวอย่าง

ทฤษฎี ก เสนอว่า ____________________ และมีประโยชน์ช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่อง _______________________    ในทางตรงกันข้าม ทฤษฎี ข ซึ่งเสนอว่า __________________   ดีกว่าในการอธิบายเรื่อง _________________

หรืออาจเป็นข้อเขียนที่ยาว    ดังตัวอย่าง

ประเด็นหลักของผู้เขียนเรียงความนี้ คือ __________________    โดยมีหลักฐานสนับสนุนคือ _______________   ในทางตรงกันข้าม มีผู้โต้แย้งว่า _________________  โดยมีหลักฐานหรือเหตุผลสนับสนุนคือ ______________________   ดังนั้นเรื่องนี้จึงอาจเป็น ____________________  หรือ ____________________ ความเห็นของพวกเราคือ ______________________    ถึงแม้ว่าเราเห็นด้วยว่า ____________________  แต่เราก็ยังสงวนความเห็นว่า _______________________  เพราะ _________________________________________________________________________

  1. ตรวจสอบว่า โครงที่เหลือกำหนดให้ นศ. ต้องเติมข้อมูล อย่างชัดเจน พร้อมกับเปิดช่องให้ปรับปรุงได้
  2. ถ่ายสำเนาโครง  และคำสั่งของครู เตรียมมอบให้ นศ.   เก็บเรียงความของเดิมไว้ใช้ประกอบการประเมิน
  3. แจก “โครง” พร้อมคำสั่ง   และอธิบายว่า นศ. ต้องทำอะไร   พร้อมชี้แจงหรือตอบคำถาม
  4. นศ. เขียนเรียงความ  โดยใช้ “โครง” เป็นแนวทาง
  5. ครูเก็บเรียงความของ นศ. มาประเมินโดยใช้เรียงความเดิมของครูเป็นตัวเทียบ    

 

ตัวอย่าง

วิชารัฐบาลและการเมืองอเมริกันเบื้องต้น

เพื่อช่วยให้ นศ. เข้าใจผลประโยชน์พิเศษที่นักการเมืองอเมริกันได้รับ    หลังจากครูบรรยายเรื่องนี้แล้ว    ครูแบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม ๓ คน   และแจก โครง ต่อไปนี้

ในเรื่องผลประโยชน์พิเศษของนักการเมือง คนทั่วไปเห็นพ้องกันว่า ________________________    แม้ว่าจะเห็นพ้องกัน แต่ก็ยังทีคำถามค้างคาเรื่อง _________________________   โดยที่บางคนเชื่อว่า __________________ แต่บางคนเห็นแย้งว่า ______________    ความเห็นของเราคือ __________________   แม้ว่าเราเห็นพ้องว่า _________________  เราเชื่อว่า ____________________  เราคิดว่าประเด็นนี้สำคัญเพราะ ____________________  

 

การประชุมปฏิบัติการเรื่องวิชาการด้านการสอนและการเรียน

เพื่อช่วยให้ผู้เข้าประชุมสื่อสารผลงานวิจัยของตนกับเพื่อนๆ อย่างลึก    วิทยากรใช้ “โครง” ช่วยดังต่อไปนี้

ในการอภิปรายเรื่อง _____________ เมื่อเร็วๆ นี้  เกิดข้อโต้แย้งว่า ______________   ในด้านหนึ่ง มีผู้เสนอว่า _______________   อีกฝ่ายหนึ่งเสนอว่า _______________   ประเด็นสำคัญจึงมีว่า สิ่งที่ถูกต้อง คือ _________ หรือ __________    ข้าพเจ้าเห็นว่า อาจเป็นได้ว่า ________________  เพื่อไขความกระจ่าง ข้าพเจ้าจึงออกแบบการวิจัยเพื่อ ________________  คำถามหลักคือ ______________   เพื่อช่วยการสรุป ข้าพเจ้ายึดข้อมูลต่อไปนี้ : ______________________    วิธีการหลักๆ ที่ใช้สร้างข้อมูลคือ __________________  ปัญหาที่ประสบคือ _________________  แต่ก็น่าตื่นเต้นมาก เมื่อ ______________ เกิดขึ้น    ข้อค้นพบของข้าพเจ้ามีความสำคัญเพราะ _____________________

 

การปรับใช้กับการเรียน online

วิธีการนี้ใช้ในการเรียน online ได้    โดยจัดกลุ่ม นศ. ให้อภิปรายกันใน wiki, discussion forum, web site messaging, e-mail, instant messaging หรือโทรศัพท์   แล้วส่งผลงานเป็น e-mail attachment    โดยแสดงบทบาทของ นศ. แต่ละคนโดย track changes ใน word processing

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

o  ให้ นศ. แต่ละกลุ่มช่วยกันเขียนเรียงความบน flip chart    โดยมี “โครง” ให้เขียนข้อโต้แย้งหลัก  แนวทางแสดงเหตุผล   ข้อมูลหลักฐานที่ดีที่สุด   ข้อโต้แย้งกลับที่เข้มแข็งที่สุด   ข้อมูลหลักฐานที่แม่นยำ ที่สนับสนุนข้อโต้แย้งกลับ   และประเด็นหลักระหว่าง ๒ แนวทาง    ให้เวลาแต่ละทีมเขียนเรียงความบน flip chart    เสร็จแล้วไปดูผลงานของกลุ่มอื่น    เพื่อหาผลงานที่ดีที่สุด (นอกจากของตนเอง)    ตามด้วยการอภิปรายทั้งชั้นเพื่อเรียนรู้หลักการ เช่น ปัจจัยที่ทำให้เหตุผล/หลักฐาน น่าเชื่อถือ    ให้ นศ. จดบันทึก “มาตรฐาน” วิธีคิดที่ดีสำหรับเอาไว้ใช้ในกรณีอื่นๆ    หรือทดลองเอามาใช้กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน 

o  “โครง” อาจนำมาใช้กับ SET 10 : เชื่อและไม่เชื่อ   ซึ่งอยู่ในบันทึกตอนหน้า  

 

 คำแนะนำ

มีผู้กังวลว่าเทคนิคนี้จะทำให้ นศ. เรียนแบบรับถ่ายทอด (passive)    ซึ่งไม่จริง  หากครูมีวิธีชักจูงให้ นศ. คิด

การเขียนไม่ง่าย ยิ่งเขียนร่วมกันยิ่งท้าทาย    การใช้ “โครง” ทำให้การเขียนร่วมกันเป็นไปได้

การเขียนตาม “โครง” ช่วยป้องกันการคัดลอก    และการขโมยผลงาน มาจากแหล่งอื่น

“โครง” มีความแข็งตัว    อาจช่วย นศ. ส่วนใหญ่ให้เขียนได้ง่ายขึ้น    แต่อาจมีปัญหากับ นศ. ที่มีความคิดเป็นอิสระของตนเอง    ไม่ชอบเข้ากรอบ

การเขียน “โครง” ให้มีข้อความพอเหมาะ ที่จะเป็นโครง    และให้มีส่วนที่ขาดหายไปพอเหมาะ ที่จะให้ นศ. ได้เขียนถ้อยคำของตน เพื่อให้ได้ฝึกเขียนเรียงความที่ดี ได้ฝึกความคิดวิเคราะห์และวิจารณญาณเป็นเรื่องท้าทายสำหรับครู    

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Graff G, Birkenstein C. (2006). “They say/I say” : The moves that matter in academic writing. New York : Norton. 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ต.ค. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 505780เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 05:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 05:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นวิธีที่สนุก ในการเรียนรู้ และได้ค้นคว้่า...ค้นใจตนเอง และผู้อื่นอย่างมีระบบมากครับ...ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท