ครูนักไตร่ตรอง (reflective teacher)


ครูต้องเป็นนักไตร่ตรองเพื่อให้การเรียนสอนพัฒนาอยู่เสมอ

ครูนักไตร่ตรอง (reflective teacher)

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

            ความสามารถในการคิดไตร่ตรอง (reflective  thinking)  เป็นความสามารถทางปัญญาประการหนึ่ง   ที่นิยมนำมากำหนดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนในระดับต่างๆ  การไตร่ตรองหรือการสะท้อนคิด คือ   การที่บุคคลพิจารณาความคิด  หรือแนวทางในการปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ที่อาจจะยังมิได้ดำเนินการ  หรือได้ดำเนินการไปแล้วของตนว่า  มีความถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่อย่างไร โดยอาศัยหลักของเหตุและผล ตลอดจนข้อมูลสนับสนุนต่างๆ อย่างเพียงพอ  เพื่อที่จะได้ตัดสินใจปฏิบัติ  หรือปรับปรุงแก้ไขความคิด  หรือแนวทางนั้นให้ดีมากยิ่งขึ้น

 

            ที่จริงแล้ว การพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถที่จะไตร่ตรองเรื่องต่างๆ ได้นั้น คงจะต้องมีพื้นฐานมาจากการที่ครูจะต้องเป็นผู้มีลักษณะเป็นครูนักไตร่ตรอง (reflective teacher) ส่วนหนึ่งด้วย  คำว่าครูนักไตร่ตรองในที่นี้ หมายถึง  การที่ครูมีมุมมองต่อการเรียนการสอนในลักษณะของการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา หรือก็คือ การพิจารณว่า การเรียนการสอนที่ได้ใช้อยู่  หรือได้ดำเนินไปแล้วนั้น ย่อมมีปัญหาปรากฏเป็นธรรมดา  แต่ปัญหานั้นคืออะไร มีลักษณะอย่างไร และเป็นปัญหา ณ จุดใด  ย่อมเป็นคำถามที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูนักไตร่ตรองให้ความสำคัญมากกว่า  เพื่อครูผู้นั้นจะได้สามารถแสวงหาแนวทางการแก้ไข และปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง 

             

             จากลักษณะของครูนักไตร่ตรอง ที่จะต้องมุ่งการแก้ปัญหาข้างต้น  ครูนักไตร่ตรองจึงจะต้องเป็นผู้ที่ปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองเสียใหม่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอน  หรือระบบที่อยู่แวดล้อมอื่นๆ  นั้น มิใช่สิ่งที่เป็น  "อุปสรรค"  แต่กลับเป็น “โอกาส” ที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ  และสมรรถนะด้านการสอนของตนเอง  ในฐานะของครูนักไตร่ตรอง  พวกเขาจะเป็นผู้ที่ยอมรับว่าการเกิดขึ้นของปัญหาเป็นภาวะปกติธรรมดา  แต่การละเลย เพิกเผย หรือหลีกหนีปัญหาต่างหาก ที่เป็นภาวะที่ผิดปกติและยากจะยอมรับได้ในการปฏิบัติวิชาชีพ

 

            นักการศึกษา อาทิ  Dewey มีความคิดเห็นต่อผู้เรียนว่า  โดยธรรมชาติ พวกเขามีลักษณะเป็นนักสืบสอบ (inquirer) และต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง  หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า  ในอีกมิติหนึ่งของชั้นเรียน  ครูย่อมมีสถานะเป็นผู้เรียนด้วย  เช่นนี้  ครูก็ย่อมจะต้องเป็นนักสืบสอบ   ซึ่งยิ่นดีอย่างยิ่งที่จะเผชิญปัญหา และมีความสุขต่อการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ด้วยการทดลองในลักษณะต่างๆ กระทั่งค้นพบแนวทางปฏิบัติดีที่สุด (best practice) ที่จะแก้ไขหรือจัดการปัญหาในการเรียนการสอนของตนเอง  จากที่กล่าวมา  ครูนักไตร่ตรองจึงจะต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต คือ เป็นผู้ที่สามารถมองเห็นประเด็นหรือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างรวดเร็ว  สามารถที่จะสร้างแนวทางที่หลากหลาย  ที่จะใช้ดำเนินการกับปัญหา  ให้ความสำคัญกับวิธีการหรือเทคนิคที่ใช้จัดการปัญหานั้น โดยอาศัยหลักความรู้และ    การค้นคว้าที่ถูกต้อง  และพิจารณาประเมินว่า วิธีการหรือสิ่งที่นำมาใช้นั้น สามารถแก้ไขปัญหาได้แท้จริงเพียงใด  และมีระดับการแก้ไขที่สามารถยอมรับได้และคงไว้หรือไม่ 

 

            การยอมรับกระแสต่างๆ โดยมิได้ตั้งคำถาม มิใช่คุณลักษณะของครูนักไตร่ตรอง  นโยบายหรือแนวทางที่ส่งผ่านมาจากเบื้องบนในลักษณะของการบังคับบัญชา จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องถูกไตร่ตรองโดยครูเป็นผู้นำ  การปล่อยผ่านโดยไม่ตั้งประเด็นคำถามใดๆ ต่อสิ่งเหล่านั้น  เพื่อที่จะค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด หรือคุ้มค่าที่สุด ต่อการแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน  ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อผู้เรียนโดยตรงนั้น ย่อมเป็นการเพิกเฉยต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพครู   ดังที่กล่าวมานี้ ครูนักไตร่ตรอง จึงต้องเป็นผู้มีคุณลักษณะสำคัญ ได้แก่  เป็นผู้ที่ตั้งคำถามต่อแนวคิด นโยบาย การปฏิบัติ หรือสิ่งที่ได้ดำเนินการอยู่กับผู้เรียน  ว่าแนวคิด นโยบาย หรือ      การเรียนการสอนที่ดำเนินการอยู่ หรือจะได้ดำเนินการต่อไปนั้น เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริงหรือไม่  คุ้มค่าต่อการลงทุน และทรัพยากรที่ใช้หรือไม่อย่างไร  ที่สำคัญคือ  ครูนักไตร่ตรองจะต้องเป็นผู้ที่สามารถระบุได้ว่า  เบื้องหลังคำถามที่ตั้งขึ้นนั้น  เกิดขึ้นจากการพิจารณาข้อดี ข้อด้อยของแนวคิด นโยบายหรือการปฏิบัติ ว่ามีความสมเหตุสมผล หรือถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วหรือไม่ อย่างไร  ในลักษณะข้อนี้ ครูนักไตร่ตรองจึงต้องเป็นผู้ที่สามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างหลากหลาย จากแหล่งข้อมูลอันน่าเชื่อถือ หรือได้รับการยอมรับทางวิชาการ มาประกอบการตัดสินใจ ที่จะนำเสนอความคิดใหม่ไปในทางใดทางหนึ่ง  กล่าวได้ว่า นอกจากจะเป็นนักตั้งคำถามที่ดีแล้ว  ครูนักไตร่ตรองยังจะต้องเป็นผู้ตอบคำถาม หรือเสนอแนวทางที่ดีด้วย 

  

            คำถามต่อไปนี้ เป็นคำถามพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อครูนักไตร่ตรอง ในการพิจารณาการเรียนการสอนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว  หรือกำลังอยู่ในขั้นวางแผนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ได้แก่

 

            1.  จุดประสงค์หรือเป้าหมายของการเรียนการสอนในครั้งนี้คืออะไร  จุดประสงค์นี้จะมาได้จากที่ใด และที่ตั้งขึ้นแล้วถูกต้องเหเหมาะสมมากน้อยเพียงใด 

 

            2.  การประเมินที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้างต้นคืออะไร  การประเมินดังกล่าวเน้นให้ผู้เรียนได้แสดงความสามารถหรือการเรียนรู้ที่ได้เรียนไปอย่างแท้จริงหรือไม่ และอยู่ในระดับใด  การประเมินดังกล่าวมีความตรงและความเที่ยงมากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างในการใช้วิธีการประเมินนี้  และมีวิธีการประเมินที่ดีกว่าวิธีนี้หรือไม่ อย่างไร  

 

            3.  กิจกรรมการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนได้รับ  และจัดการข้อมูลที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ต่างคืออะไร กิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าว ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง หรือเกิดการเรียนรู้ที่คงทนหรือไม่อย่างไร กิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้มีการให้สิ่งเร้าอันได้แก่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้หรือไม่  ผู้เรียนได้มีโอกาสจัดการข้อมูลให้มีความหมายด้วยตนเอง จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเพื่อนหรือไม่  มีอะไรที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคของการใช้กิจกรรมการเรียนรู้  มีทรัพยากรอะไรที่จะต้องใช้บ้าง และมีความคุ้มค่าต่อการใช้อีกต่อไปหรือไม่ และแนวทางในการปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้ควรเป็นอย่างไร 

 

                   การไตร่ตรองการออกแบบและการจัดการเรียนการสอน จะต้องอาศัยครูที่เป็นนักตั้งคำถามที่ดีและนักตอบคำถามที่ดี  คือเป็นคำถามที่จะหาแนวทางที่ดีที่สุดให้แก่ผู้เรียน  และเป็นคำตอบตามหลักวิชาที่เชื่อถือได้  การเรียนการสอนทุกครั้ง หากปราศจากการไตร่ตรองของครู ที่สุดแล้ว ก็จะเป็นการสอนที่ขาดชีวิต เพราะไม่มีพัฒนาการของการเรียนการสอน เป็นการสอนที่คงที่ คือเหมือนเดิมทั้งในส่วนของเป้าหมาย เนื้อหา กิจกรรมและการประเมินที่ใช้  ผลที่ตามมาก็คือ  ผู้เรียนย่อมไม่อาจยอมรับต่อการเรียนการสอนที่ขาดชีวิตเช่นนี้ได้    และสำหรับตัวครูผู้สอนเอง  ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับจากประชาคมวิชาชีพครูเช่นกัน

 

­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­­_________________________________________________________

 

หมายเลขบันทึก: 505779เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2012 01:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท