กษิณานุสรณ์ รำลึก


สิ่งที่ดีงาม ที่น้อง ๆ จัดให้ เกินกว่าราคาทองคำในวันนั้น ซึ่งประมินค่าไม่ได้เลย

กษิณานุสรณ์

รำลึก

 

 

 

             วันเวลา หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ๓๐ กันยายน ของทุกปี เป็นวันสิ้นสุดชีวิตข้าราชการไทย

             หนึ่งปีเต็ม หลังจากเกษียณ อีกไม่กี่วัน ก็จะครบ ๖๑ ปี ชีวิตวัยเกษียณ แสนจะสุข ไม่มีใคร มาเป็นนายเรา ไม่ต้องรอฟังคำสั่งคน สุขไหนเท่า สุขที่เราเกษียณ ไม่มีวันเสาร์ อาทิตย์ เราพักผ่อนได้ทุกวัน

            เมื่อวันวาน กันยายน  ๒๕๕๔ ที่น้อง ๆ จัดแสดงมุทิตาจิต ภาพอดีตยังจำได้ไม่รู้ลืมเพราะ ในช่วงของชีวิตข้าราชการมีได้ครั้งเดียวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะลืมได้

            คำถามจากคนรอบข้าง เพื่อนฝูง น้อง ๆ ที่ยังไม่เกษียณ มักถามด้วยความเป็นห่วง จะทำอะไร จะอยู่อย่างไร จึงจะหมดไป วัน ๆ สำหรับผู้เขียน เวที Gotoknow นี่แหละทำให้เรามีเพื่อน มีกัลยาณมิตร และเปิดโอกาสให้ได้ฝึกสมอง ไม่ให้ฟ่อไปตามวัย ขอบคุณ Gotoknow ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่าน ที่ให้กำลังใจ ให้คำนิยม ให้ข้อเสนอแนะ ที่ดีงาม และแบ่งปันประสบการณ์ที่วิต อย่างหลากหลาย นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่ง

            เมื่อต้นปี ก่อนเปิดภาคเรียน วิทยาลัยแห่งหนึ่งในตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ติดต่อให้ผู้เขียนไปเป็น ครูพิเศษ  โดยให้ค่าตอบแทน ๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน  ผู้เขียน ทบทวนหลายรอบ เงินนะอยากได้ แต่เมื่อคิด ให้ถ้วนถี่แล้วไม่คุ้มกับ การเดินทาง ไป-กลับ๑๒๘ กิโลเมตรโดยประมาณ  ต้องเดินทางไปในตัวจังหวัด

           เมื่อถึงวัยพักผ่อนก็ต้องพักผ่อน รักษาสุขภาพ จึงตัดสินใจไม่ไป อีกอย่าง ไปสอน สายอาชีวศึกษา ให้ไปสอนวิชาสามัญ ผู้เขียนเคย สอนนักเรียนมัธยมศึกษา แผนอุตสาหกรรม เขาจะไม่สนใจ วิชาสามัญ ดังนั้น หากไปสอนคงทำใจไม่ได้ จะทำให้เสียสุขภาพจิต จึงตัดสินใจบอกงด ไม่ไป เผื่อเขาจะได้สรรหาคนไหม่ ก่อนเปิดภาคเรียน

            ภาพที่ประทับใจผู้เขียนเมื่อวันเกษียณ  น้อง ๆ จัดเป็นซุ้ม ๔ ซุ้ม ครบจำนวนผู้เกษียณ เพื่อให้ผู้เกษียณไปยืนรอรับของที่ระลึก และพูดจาปราศรัย จากผู้ที่เคารพนับถือที่มาร่วมแสดงมุทิตาจิตก่อนถึงพิธี เมื่อถึงเวลา ผู้มาร่วมงาน ประจำที่ ในงาน

          น้อง ๆ จัด ขบวนแห่ สำหรับนำผู้เกษียณ  เข้าภายในบริเวณงาน ผ่าน บรรดาผู้มาแสดงมุทิตาจิตที่นั่งประจำโต๊ะ  สองข้าง ประดับประดาด้วยโคมไฟ จัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสีม่วง ตั้งพื้นสองด้านเป็นระยะๆ  ตามช่องทางที่จะนำผู้เกษียณสู่ที่นั่ง สำหรับพิธีรดน้ำ ดำหัว ผูกข้อต่อแขน โดยมีพานบายศรี ๖ ชั้น ตั้งตระหง่านตรงกลาง ผู้เกษียณ นั่งฝั่งละ ๒ คน ขณะที่แห่ มีนางรำฟ้อน ออกหน้าขบวน อย่างสวยสดงดงาม เมื่อผู้เกษียณ นั่งประจำที่ นักเรียนบนเวที ร้องทำนองสรภัญญะ ประกาศเกียรติคุณผู้ เกษียณ ทุกคน โดยมีน้อง ๆ ครูในกลุ่มสาระภาษาไทย ประพันธ์

          สรภัญญะ เป็นทำนองร้อง หรือใช้สวดอย่างหนึ่ง วันนั้น ทำนองสรภัญญะเป็นสำเนียง อีสาน ฟังแปลกหู สามารถสะกดผู้ไปร่วมงานอย่างน่าประหลาด หลังจากนั้น แขกที่มาร่วมงานจะทยอย ขึ้นไปรดน้ำ ดำหัว และผูกแขน

          ขณะนั้นบนเวที และข้างล่าง มีการฟ้อนรำบายศรี ผู้แสดงแต่งชุดไทย ด้วยผ้าซิ่นตีนแดง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ท้องถิ่น ผู้แสดงล้วนเป็นลูกศิษย์ ทั้งปัจจุบันและสำเร็จการศึกษาไปแล้วมาร่วมงาน วันนั้น ภาพบนเวที่ ผู้เกษียณ ยังจำได้ไม่รู้ลืม มองภาพที่ไรเหมือนหนึ่งนางสวรรค์ มาร่ายรำ บนวิมาน น้อง ๆ เพื่อนครู ที่ร่วมจัดงานวันนั้น ร่วมใจกัน แต่งชุดไทย สวยงาม ประทับใจผู้เกษียณยิ่งนัก แสดงออกถึงความพิถีพิถัน ในการจัดงานอย่างตั้งใจ  แม้แต่ตัวอักษร ที่เป็นข้อความ ที่เป็น ชื่อผู้เกษียณ ยังเลือกสีที่ตรงกับวันเกิดของ แต่ละคนที่เกษียณ  สุดยอดในด้านความคิดที่ประณีต งดงาม

            เมื่อจบการรดน้ำ  ดำหัว ผูกแขน มีการแสดง ละครนอกเรื่องสังข์ทอง  นำมาร่ายรำ จับตอนรจนาเลือกคู่กับเงาะป่า ประทับใจในศิลปวัฒนธรรมไทย ที่สวยงาม ที่น้อง ๆ จัดมาเป็นพิเศษ เมื่อเสร็จ ตัวละคร ทั้ง สอง นำ พวงมาลัย ที่เงาะเสียงทาย มามอบให้ผู้เกษียณ วันนั้น ตื้นตันใจมาก

 

 

            พิธีถัดมา เป็นการฉายวีดีทัศน์ เกี่ยวกับ ประวัติ และชีวิตของผู้เกษียณ สิ่งที่ทำให้ผู้เขียน ประทับใจอีกประการคือ ลูกศิษย์ คนหนึ่งที่ผู้เขียน เคยสอน และนำเขาไปประกวด แข่งขัน บทร้อยกรองชิงโล่พระราชทาน  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕๐ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่งเพลง ประกอบ วีดีทัศน์ ของผู้เขียนให้ได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง  ชื่อเพลง “ทางไกล ใจยังมีครู” ลูกศิษย์คนนี้ชื่อ “ภาสกร  บาลไธสง”  จากเนื้อหาของเพลง ทำให้ผู้เขียนผูกพันกับศิษย์คนนี้ เหมือนลูกของตน เขาไปสอบที่ใด จะพาไป ทุกที่ แม้กระทั่งเขาบรรจุได้ ก็ไปส่งถึงโรงเรียน เพราะผู้เขียนเคยสอนที่กรุงเทพมหานคร เขาบรรจุได้ที่ กรุงเทพมหานคร จึงพาไปเลือกโรงเรียน  ผู้เขียนทำ เป็น CD เปิดฟังประจำ ฟังครั้งใด คิดถึง ลูกศิษย์คนนี้ทันที ปัจจุบันเขาเป็นครู เดินตามรอย ผู้เกษียณ อย่างภาคภูมิ

 

            เมื่อสิ้นสุดการแสดง น้อง ๆ ที่จัดไว้มาจูงผู้เกษียณ ขึ้นบนเวที เพื่อรับมอบของที่ระลึกจากโรงเรียน โดย ผู้อำนวยการคน ก่อน ๆ ที่เกษียณไป แล้ว ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ประธานสถานศึกษา  และนายอำเภอ ผู้เขียนได้รับเกียรติจากนายอำเภอวิกรานต์  เป็นผู้มอบ ปกติตามธรรมเนียมของโรงเรียน  ตั้งเกณฑ์ไว้ สำหรับผู้เกษียณ โรงเรียนจะมอบทองคำรูปพรรณ  คนละ ๑ บาท ปีที่ผู้เขียนเกษียณ ทองขึ้นราคา ผู้อำนวยการให้เป็นราคาเงิน  คือ คน ละ ๑๕,๐๐๐(หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) กรรมการ ทุกคนตกลง ต้องให้ ๑ บาท ตามประเพณี แต่ ผู้อำนวยการไม่ให้ ดังนั้น จึงได้ สมญานามว่า “เกษียณรุ่นไม่เต็มบาท”

            ผู้เขียนไม่ติดใจ เพราะสิ่งที่ดีงาม ที่น้อง ๆ จัดให้ เกินกว่าราคาทองคำในวันนั้น ซึ่งประมินค่าไม่ได้เลย  เกษียณปีนี้ ผู้เขียนมีโอกาสไป ร่วมมุทิตาจิต หลาย ๆ แห่ง แต่ปรากฏว่า รูปแบบในการจัดเพียง ร่วมรับประทานอาหาร มอบของที่ระลึก ธรรมดา ๆ ซึ่งไม่เหมือนเมื่อครั้ง น้องจัดให้ผู้เขียน อย่าง อลังการณ์ จึงหวนระลึกถึง  ขอบคุณ น้อง ๆ ทุกคน ที่ร่วมจัด ให้  ครบ ๑ ปี สำหรับ “กษิณานุสรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔”

 

            หลังจากนั้น ศิษย์ แต่ละรุ่นก็ทยอย จัดให้ ตลอดเดือน ตุลาคม ๒๕๕๔ โดยเฉพาะอย่าง ยิ่ง ลูกศิษย์ รุ่น ที่ ๒๐ แต่เป็น รุ่น ที่ ๒ สำหรับผู้เขียน ที่สอนพวกเขา จัดให้เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ จัดได้อย่าง ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้โรงเรียนจัดให้ ผู้เขียน ขอบคุณ ลูกศิษย์ทุก รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รุ่น ๒๐ ขอบคุณท่านผู้ใหญ่ที่เคารพ คุณครูที่เคยสอน  และญาติจากเกษตรวิสัย ที่มาร่วมแสดงมุทิตาจิต... สวัสดีครับ       

           

หมายเลขบันทึก: 504476เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2012 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

คำว่า กษิณ น่าจะผิดนะครับ ต้องเป็น กษณ จึงจะถูกนะครับ ถ้าน้ำนมใช้ กษิร แต่ถ้าเกษียณอายุต้อง กษณะ นะครับ

 

  • ขอบคุณ คุณลูกสายลม ที่เห็นคุณค่าภาษาไทย คำที่คุณสายลม แนะนำมา กษณ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ครู คราว บาลีใช้ ขณ
  • กษิร ที่ คุณลูกสายลมให้ควาหมาย ว่า น้ำนม ถูกต้อง
  • คำที่ แว่นธรรมทอง นำมาสร้างขึ้น "กษิณานุสรณ"(อนุสรณ์การเกษียณ) โดยนำคำว่า "กษิณ" (สันสกฤต บาลีใช้ ขีณ) สมาสแบบสนธิกับคำว่า "อนุสรณ์"
  • คำที่มีเสียงพ้องกัน ๓ คำ แต่ความหมายต่างกัน ที่ทำให้คนเข้าใจผิด มีดังนี้
  • เกษียณ แปลว่า สิ้นไป เช่น เกษียณราชการ
  • เกษียร  แปลว่า น้ำนม เช่น เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม)                
  • เกษียน แปลว่า ข้อความที่เขียนไว้หัวกระดาษคำสั่ง (เกษียนหนังสือ)...สวัสดีครับ

 

ครู คือพ่อคนที่สองของผม... และผมก็รักพ่อคนนี้มากเช่นกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำจึงออกมาจากใจและเกิดผลอันงดงาม แม้จะลำบากและเหน็ดเหนื่อยเท่าใด...แต่ศิษย์คนนี้ก็มีความสุขมาก อยากให้มีวันสำหรับคุณครูสักร้อยพันครั้ง ... ก็ไม่คุ้มคุณที่ครูเพียรสั่งสอนมาจนถึงวันนี้... ทุกวันนี้จึงได้แต่คิดและทำหน้าที่ครูให้ดีที่สุดของการเป็นครูเพื่อรำลึกถึงคุณครูและเดินตามรอยเท้าของครู...ดั่งเพลง " ทางไกลใจมีครู" คิดถึงครูครับ.... "พ่อครู"

  • ขอบคุณ สุกรณ์
  • ขอแก้ ความหมายที่ อธิบายคุณลูกสายลม ความหมาย ของ "กษณ" ลืม วรรณยุกต์ เอก ไม่แปลว่า "ครู" แปลว่า "ครู่"

สวัสดีครับ พอดีผมแวะไปตอบคุณ สุกรณ์มานะครับ เลยแวะมาตอบคุณ แว่นทองอีกที

ขีณ ที่คุณแว่นกล่านนะครับ เป็นกิริยากิตที่สำเร็จรูปแล้วนะครับ จะนำไปเทียบกับสันสกฤตไม่ได้นะครับ ถ้าจะเทียบ ข เป็น กษ ได้ครับ ขณ เป็น กษณ ได้ครับ คำนี้ถ้าดูมา ขี ธาตุในความสิ้น บวกกับ อิณ ปัจจัยในตัทธิตที่แปลว่าแล้วร่วมกันได้ว่า สิ้นแล้วนะครับ

แต่ของสันสกฤตก็มีได้หลายความหมาย โดยเป็นกิริยาเลย มี กษณ ธาตุ แปลว่าสิ้น แตก ทำลาย พัง เป็นต้น

จะเทียบ ข เป็น กษ ได้ แต่จะเทียบทุกตัวไหม ตอบว่าไม่ใช่หลักครับ

ส่วนคำว่า อนุสรณ์ที่ใช้นะครับ เป็นอย่างไทยแล้วผมก็ถือว่าเป็นไทยนะครับ

แต่จริง ๆ แล้วถามว่าแปลว่าไร ผมจะขอกล่าวว่าไทยใช้ผิดนะครับ

แท้จริงคำว่า อนุสรณ์ คำนี้ แปลว่า เดินตาม นะครับ

ถ้าจะแปลว่า ระลึก ต้องเป็น อนุสสรณ์นะครับ โดยเพิ่ม ส อีกตัวครับ

ถ้าถ้าเคยใช้แล้ว ผมก็อยากให้ถุกนะครับ

ขอเสริมอีกนิดนะครับ

คำว่า กษณ นั้น มีทั้งคำกริยา และคำนาม

นาม แปลว่าหนังสือเวียน หรือสิ่งที่เขียนไว้ที่หัวกระดาษได้ครับ

ส่วนกริยานั้น ก็ตามที่ผมอธิบายนะครับว่าหมายถึง สิ้น พัง แตก นะครับ

เมื่อสืบค้นแล้วก็ยังไม่เห็นเค้าที่ท่านบอกเลยนะครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณ คุณลูกสายลม สำหรับความรู้เกี่ยวกับประวัติของคำ การสร้างคำ บาลี-สันสกฤต "แว่นธรรมทอง" ไม่มีความรู้เกี่ยวกับ ภาษาบาลีสัน-สกฤต จึงอาศัย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หากคำใดไม่แน่ใจ จะยึดตามพจนานุกรม สำหรับคำ ที่นำมาจากพจนนุกรมดังนี้ "กษณ หน้า ๖๖ และ เกษียณ เกษียน เกษียร จากหน้า ๑๑๒" หากไม่ถูกต้องตาม ที่คุณลูกสายลม แนะนำมา จะแจ้งให้ราชบัฌฑิตยสถานแก้ไข พจนานุกรม ขอบคุณอีกครั้งครับ สำหรับคำแนะนำที่ดี ๆ ..สวัสดีครับ

เสริมคุณแว่นทองธรรม

การทำจัดทำของราชบัณฑิตนั้น เป็นปัญหามานานแล้วครับ

ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ที่ไม่แน่นอน ยกตัวอย่างที่ สัปดาห์ (สับ ดา)สมัยเด็กอาจารย์สอนว่า คนที่อ่านว่า สับ ปะ ดา เป็นคน สับ ปะ ดน สมัยนี้ กับอ่านว่า สับ ปะ ดา ได้ครับ สิ่งเหล่านี้ นักเรียนและอาจารยืที่สอนจึงตระหนักว่า ต้องเชื่อที่ต้นศัพท์ไว้ก่อนหรือสถาบันที่เราเรียนและสอนมากกว่านะครับ

และการทำงานของราชบัณฑิต ไม่ใช่แต่ว่ามีผู้รู้เรื่องศัพท์ทั้งหมดครับ การทำงานเป็นองค์คณะ หรือคณะกรรมการ ในการจัดทำนะครับ ผู้ที่มีความรู้ไม่ได้มาจากสาขาภาษาและวรรณดคีไทยหรือเกี่ยวข้องทั้งหมดนะครับ อาจมีสาขาอื่นมาร่วมด้วยนะครับ อาจจะมีเพียงไม่กี่ท่านนะครับที่มีความรู้ด้านนี้จริง

แต่ท่านแว่นทองธรรมบอกมานะครับ ผมก็รับและเข้าใจนะครับ และเคารพในองค์ความรู้นะครับ

เพียงแค่เป็นส่วนเสริมมากกว่านะครับว่า ถ้าจะนำศัพท์ใด ๆ มาประกอบนะครับ ว่าถ้าเรานำมาผิด เด็ก ๆที่จำก็จะจำผิดไปด้วยนะครับ และถ้าไม่แน่ใจก็จะไม่พูดหรือนำมากล่าวนะครับ เพื่อไม่สร้างองค์ที่ผิดนะครับ

แต่ถ้ามีในพจนานุกรม ก็สามารถใช้ได้ครับ แต่ กษิณา นั้น ไม่มีในพจนานุกรม นะครับ ฉะนั้น จึงไม่ควรมีนะครับ

ขอบคุณกับการสร้างองค์ความรู้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท